การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ความยุติธรรมคืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
“ความยุติธรรม” เป็นคำหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง
1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมมะ
3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนำเสนอความหมายไว้ที่สำคัญๆได้แก่
เพลโต (Plato) ได้ให้คำนิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทำกรรมดีหรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้
อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคมประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภทคือ
1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ทุกคนไม่มีขอบเขตจำกัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์
2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ
1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกำเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลังๆจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสำคัญของสำนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสำนักนี้ด้วย อาทิเช่น
ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคำสั่งที่เป็นกฎหมาย โดยการปรับใช้คำสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม”
อัลฟ รอสส์ (Alf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ”
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คำพิพากษาเก่าๆและคำพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอๆ แต่คำที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคำไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัย ซึ่งไม่เป้นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”
2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรมได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสรอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็นความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรมซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทำนองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้งเป็นวิธีคิดอุดมคติซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือความยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสารของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกำกับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย
แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มีมาช้านานแล้ว ดังเช่น
คดีอำแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อำแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามีตุลาการก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคำพิพากษานี้ รวมทั้งกฎหมายที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชำระสะสางกฎหมายใหม่จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา
ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจากบุคคลสำคัญของไทย เช่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดำริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพสูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เรื่องเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จึงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”
ศ. จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้ายกฎหมายแนะนำไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่านไว้ว่า “การที่มีคำใช้อยู่ 2 คำ คือ “กฎหมาย” คำหนึ่ง “ความยุติธรรม” คำหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่งเดียวกันไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมายไม่คำนึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้นเป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”
ข้อ 2 จงอธิบายปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ธงคำตอบ
ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น สืบแต่พระองค์ทรงเป็นประมุขของชาติที่ทรงใส่พระทัยอย่างสูงต่อเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ที่ทรงมีต่อนักกฎหมายหรือคณะบุคคลต่างๆ ในหลายวโรกาสได้สำแดงออกซึ่งความคิดเชิงปรัชญากฎหมายอย่างลึกซึ้ง จนมีผู้เรียกขานว่าเป็น ปรัชญากฎหมายข้างฝ่ายไทย
แนวพระราชดำริทางปรัชญากฎหมายของพระองค์ประกอบด้วยประเด็นทางความคิดหลายเรื่อง เช่น เรื่องความยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมและเสรีภาพ กฎหมายกับความเป็นจริงในประชาสังคม ความสำคัญของการปกครองโดยกฎหมาย ปัญหาเรื่องความไม่รู้กฎหมายของประชาชนและการปรับใช้กฎหมาย ตลอดจนเรื่องบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม หัวใจแห่งพระราชดำริคงอยู่ที่เรื่อง “กฎหมายกับความยุติธรรม” ซึ่งเชื่อมโยงโดยใกล้ชิดกับเรื่องกฎหมายกับความเป็นจริงของชีวิตประชาชนในสังคม
ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดถือธรรมหรือความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย อันเป็นความคิดคนละขั้วกับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่เน้นย้ำแต่เรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายหรือถือเอากฎหมายเป็นตัวความยุติธรรม ในพระราชดำริของพระองค์ กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรมโดยตรงและผู้ใช้กฎหมายซึ่งคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นใหญ่ ก็ต้องไม่ติดอยู่กับตัวอักษรกฎหมายอย่างเดียว ในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงๆ ความเช่นนี้อาจพิจารณาได้จากพระบรมราโชวาทในหลายๆวโรกาส เช่น
1 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิต ณ เนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ความว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญไปยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้”
2 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2522 ความว่า “ผู้ที่ได้ผ่านสำนักอบรมกฎหมายทุกคน ควรจะได้รับการชี้แจงเน้นหนักให้ทราบชัดว่า กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม… จึงไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”
ความที่พระองค์ทรงถือเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมายโดยนัยหนึ่งย่อมหมายถึงพระราชประสงค์ที่จะให้กฎหมายกำเนิดขึ้นหรือเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม หาใช่การปล่อยให้กฎหมายและการใช้กฎหมายเป็นไปในลักษณะที่สวนทางกับความยุติธรรมหรือศีลธรรมจรรยา หรือหาใช่ปล่อยให้กฎหมายเป็นกลไกแห่งการกดขี่ของผู้ปกครองไป หลักคุณค่าเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองหรือเสรีภาพ นับเป็นวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายตามพระราชดำริของพระองค์ที่ว่า
“เราจะต้องพิจารณาในหลักว่ากฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการกลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีภาพและอยู่ได้ด้วยความสงบ”
พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันระพี คณะนิติศาสตร์ จุฬา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516
อนี่ง ที่ละเว้นไปเสียมิได้เลยก็คือ ในพระบรมราโชวาทซึ่งทรงพระราชทานในหลายวโรกาสพระองค์ได้ตรัสพาดพิงไปถึงเรื่องการบุกรุกป่าสงวนของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมายกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบันโดยรวมความตามแนวพระบรมราโชวาทแล้วก็มีสาระสำคัญว่า
“กฎหมายกับความเป็นอยู่จริงอาจขัดกันได้ กฎหมายมีช่องโหว่มาก เพราะไปปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยลอกแบบต่างชาติมาโดยไม่ดูว่าเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ บางทีการปกครองก็ไปไม่ถึงชุมชนห่างไกล กฎหมายที่รัฐตราขึ้นเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทำให้เขาตั้งกฎหมายใช้กันเอง ซึ่งบางจุดก็ขัดกับกฎหมายของรัฐ การตราพระราชบัญญัติป่าสงวนที่ผ่านมาปัญหามันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเก้าอี้ขีดบนแผนที่ว่าตรงไหนเป็นป่าสงวน โดยไม่ลงพื้นที่ดูว่าเป็นอย่างไร ความจริงก็คือมีราษฎรเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว อยู่ๆก็ไปตราเป็นกฎหมาย ไปชี้ว่าเป็นป่าสงวน กลายเป็นว่าราษฎรบุกรุกป่าสงวน แน่นอนว่าถ้าดูตามกฎหมายราษฎรก็ผิดเพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติแล้ว คนที่ทำผิดกฎหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปขีดเส้นว่าป่าที่ราษฎรอยู่เป็นป่าสงวน เพราะว่าราษฎรเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ ความหมายก็คือ ทางราชการนั้นแหละไปรุกรานบุกรุกราษฎรไม่ใช่ราษฎรบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง”
สาระสำคัญโดยรวมคือ เป็นแนวพระราชดำริที่ทรงเตือนสติให้คำนึงถึงเรื่องกฎหมายและความสอดคล้องกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งโดยนัยแล้วก็ไม่แตกต่างกับที่ทรงย้ำว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรมหรืออย่ายึดติดอยู่กับถ้อยคำในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมคือจุดหมายปลายทางแห่งการใช้อำนาจรัฐทางด้านกฎหมายและความยุติธรรมต้องผูกติดอยู่กับธรรมะ ความถูกต้อง และความเป็นจริง
ข้อ 3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติคืออะไร และ Fuller กับ Dworkin ได้วิจารณ์แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายของ Hart ว่าอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน 2 ลักษณะ คือ
1 ความหมายทั่วๆไป กฎหมายธรรมชาติหมายถึง
– กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้นเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จำกัดกาลเทศะ
– กฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่างๆ ในอุดมคติ ซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล
– กฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมคติ)
2 ความหมายในแง่ทางทฤษฎี แบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎี คือ
1) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและโรมันถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงศตวรรษที่ 16) กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติจะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย
2) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่า หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายธรรมชาติ แต่ถ้าตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง
สำหรับประเด็นข้อวิจารณ์ของฟุลเอลร์และดวอร์กิ้นที่มีต่อแนวคิดของฮาร์ทนั้น ก่อนจะถึงข้อวิจารณ์ดังกล่าว สมควรที่จะเสนอแนวคิดของฮาร์ทเกี่ยวกับกฎหมายโดยสรุปดังนี้
ฮาร์ท (Hart) ถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับสังคมในสองความหมาย
ความหมายแรก มาจากการที่มันเป็นกฎเกณฑ์ปกครองการกระทำของมนุษย์ในสังคม
ความหมายที่สอง สืบแต่มันมีแหล่งที่มา และดำรงอยู่จากการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์โดยเฉพา
ฮาร์ทเห็นว่าเป็นความจำเป็นทางธรรมชาติที่ในทุกสังคมมนุษย์จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะหน้าที่ในรูปกฎหมาย ซึ่งจำกัดควบคุมความรุนแรง พิทักษ์รักษาทรัพย์สินหรือระบบทรัพย์สินและป้องกันควบคุมการหลอกลวงกัน โดยฮาร์ทถือว่ากฎเกณฑ์ซึ่งจำเป็นเหล่านี้เสมือน “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” ที่ชี้ให้ยอมรับแก่นความหมายในแง่ดีของทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ จนถึงกับกล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เวลาพิจารณากฎหมาย ต้องพิจารณาถึงสัจธรรมข้อนี้ไว้ด้วย ทำให้เกิดการคาบเกี่ยวบางเรื่องระหว่างกฎหมายและศีลธรรม กลายเป็นการดำรงอยู่ของกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมที่ซับซ้อนหลายๆประการ ด้วยเหตุนี้กฎหมายทั้งหมดจึงเปิดช่องให้ทำการวิจารณ์เชิงศีลธรรมได้ แต่อย่างไรก็ตามจุดนี้เองที่ฮาร์ทยอมรับอย่างเปิดเผยในท้ายที่สุดว่า “โดยพื้นฐานแท้จริงแล้วการยึดมั่นของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในบทสรุปของแนวคิดเรื่องการแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมนั้น ในตัวของมันวางอยู่บนเหตุผลทางศีลธรรม”
ฮาร์ทมองเห็นข้อจำกัดของการที่มีแต่กฎเกณฑ์ที่กำหนดพันธะหน้าที่เพียงลำพัง จึงได้สร้างแนวคิดที่เรียกว่า “ระบบกฎหมาย” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1 กฎปฐมภูมิ หมายถึง กฎเกณฑ์ทั่วไปซึ่งวางบรรทัดฐานการประพฤติให้คนทั่วไปในสังคมและก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม (Rule of Obligation) ในลักษณะเป็นกฎหมายเบื้องต้นทั่วไป
2 กฎทุติยภูมิ หมายถึง กฎเกณฑ์พิเศษที่สร้างขึ้นมาเสริมความสมบูรณ์ของกฎปฐมภูมิเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่โดยทั่วไปเหมือนกฎปฐมภูมิ แต่เป็นกฎที่ผู้ใช้กฎหมายต้องพิจารณาและคำนึงถึง โดยสามารถแยกออกเป็นองค์ประกอบย่อยได้ดังนี้
1) กฎกำหนดเกณฑ์การรับรองความเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์หรือเกณฑ์การพิสูจน์ว่ากฎใดคือกฎหมาย
2) กฎกำหนดเกณฑ์การบัญญัติและแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
3) กฎที่กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อมีการละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย
กฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิในทรรศนะของฮาร์ทถือว่าเป็นกฎหลักสองประการที่ทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีความสมบูรณ์จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น “ระบบกฎหมาย” ที่สมบูรณ์และได้มาตรฐานอย่างแท้จริง
ข้อวิจารณ์ของฟุลเลอร์ (Fuller) ที่มีต่อระบบกฎหมายของฮาร์ท
ศาสตราจารย์ฟุลเลอร์ นักทฤษฎีฝ่ายกฎหมายธรรมชาติ ยอมรับข้อเสนอของฮาร์ทที่ว่า “กฎหมายคือระบบของกฎเกณฑ์” แต่ก็ยังยืนยันความสำคัญของเรื่องวัตถุประสงค์ภายในตัวกฎหมาย ฟุลเลอร์กล่าวว่าเราไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า กฎเกณฑ์แต่ละเรื่องคืออะไร จนกว่าเราจะได้ทราบว่ากฎเกณฑ์นั้นๆมีจุดมุ่งหมายอย่างไร อีกทั้งเราไม่อาจเข้าใจเรื่องระบบของกฎเกณฑ์ได้ ถ้าเรามองเพียงในแง่ข้อเท็จจริงทางสังคมล้วนๆจุดสำคัญอยู่ที่ต้องพิจารณากฎเกณฑ์หรือระบบแห่งกฎเกณฑ์ในแง่ของการกระทำที่มีจุดมุ่งหมาย กล่าวคือ “การควบคุมการกระทำของมนุษย์ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์” เมื่อพิจารณากันในประเด็นนี้ก็จะเข้าใจได้ว่ากฎเกณฑ์นั้นไม่สามารถดำรงได้โดยปราศจากคุณภาพทางศีลธรรมภายในตัวกฎนั้น
ฟุลเลอร์ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการที่ฮาร์ทสรุปว่า กฎหมายเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ล้วนๆ และไม่จำต้องเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมหรือหลักคุณค่านามธรรมเสมอไป กล่าวคือ ฟุลเลอร์เห็นว่า กฎหมายนั้น ต้องสนองตอบความจำเป็นหรือวัตถุประสงค์ทางศีลธรรม กฎหมายและศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ กฎหมายจะต้องมีสิ่งที่อาจเรียกว่า “ศีลธรรมภายในกฎหมาย” บรรจุอยู่เสมอ
นอกจากนี้ฟุลเลอร์ไม่เห็นด้วยกับฮาร์ทที่แยกกฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิออกจากกันโดยเด็ดขาด เพราะในบางสถานการณ์กฎอันเดียวกันอาจให้ทั้งอำนาจและกำหนดหน้าที่ไม่จำกัดบทบาทเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดหากแต่ต้องแปรผันไปตามสภาพแวดล้อม
ข้อวิจารณ์ของดวอร์กิ้น (Dworkin) ที่มีต่อระบบกฎเกณฑ์ของฮาร์ท
ดวอร์กิ้นวิจารณ์แนวคิดเรื่องระบบกฎเกณฑ์ของฮาร์ทแบบตรงไปตรงมา โดยดวอร์กิ้นเห็นว่าการถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเรื่องระบบแห่งกฎเกณฑ์ตามความคิดของฮาร์ทนั้น เป็นข้อสรุปที่ไม่สมบูรณ์และคับแคบเกินไป เพราะจริงๆแล้ว “กฎเกณฑ์” ไม่ใช่เนื้อหาสาระเดียวในกฎหมาย การมองกฎหมายว่าเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์เท่านั้นไม่เป็นสิ่งเพียงพอ กฎเกณฑ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายเท่านั้น แท้จริงแล้วยังมีเนื้อหาสาระสำคัญอื่นๆซึ่งประกอบอยู่ภายในกฎหมาย ที่สำคัญคือเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องของ “หลักการ” ทางศีลธรรมหรือความเป็นนามธรรม
“หลักการ” นี้ ดวอร์กิ้น ถือว่าเป็นมาตรฐานภายในกฎหมายซึ่งต้อองเคารพรักษาไว้ หลักการเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม ความเที่ยงธรรมหรือมิติทางคุณค่าด้านศีลธรรมอื่นๆกล่าวอีกนัยหนึ่ง หลักการเป็นมาตรฐานอันพึงเคารพเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นของความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมเป็นสิ่งคุ้มครองสิทธิปัจเจกชน โดยหลักการที่ว่านี้อาจค้นพบได้ในคดีความ พระราชบัญญัติ หรือศีลธรรมของชาวชุมชนต่างๆ
ดวอร์กิ้นกล่าวว่า “หลักการ” ต่างกับ “กฎเกณฑ์” ตรงที่กฎเกณฑ์มีลักษณะใช้ได้ทั่วไปมากกว่า ขณะที่หลักการต้องเลือกปรับใช้ในบางคดี นอกจากนี้หลักการยังมีมิติเรื่องน้ำหนักหรือความสำคัญที่ต้องพิจารณาในการปรับใช้ ขณะที่กฎเกณฑ์ไม่มีมิติเช่นนี้