การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงสรุปสาระสำคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย และท่านเห็นด้วยหรือไม่กับจุดอ่อนของปรัชญากฎหมายธรรมชาติตามที่มีผู้วิจารณ์
ธงคำตอบ
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย (หรือยุคปัจจุบัน) มีแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายว่า กฎหมายต้องสัมพันธ์กับศีลธรรม หรือกับความยุติธรรม หรือหลักจริยธรรมต่างๆ อีกทั้งในแง่ทฤษฎีปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้ ยังเป็นทฤษฎีที่สำคัญที่สนับสนุนเร่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ ฯลฯ โดยมีนักปรัชญากฎหมายคนสำคัญ ได้แก่
ลอน ฟุลเลอร์ มองกฎหมายธรรมชาติว่า ไม่ใช่กฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา โดยเขาให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายกับศีลธรรม เขาเชื่อว่ากฎหมายต้องอยู่ภายใต้บังคับของศีลธรรม หลักเกณฑ์ทางศีลธรรมจะทำให้กฎหมายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และนำไปสู่ความสมบูรณ์ของกฎหมาย ซึ่งการที่จะบรรลุได้ต้องมีการปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ประการ เช่น กฎหมายต้องมีลักษณะทั่วไปในฐานะเป็นกฎหมายซึ่งใช้เป็นหลักชี้นำการกระทำโดยเฉพาะต่างๆ กฎเกณฑ์ต้องถูกเผยแพร่แก่สาธารณะ กฎเกณฑ์ต้องไม่มีผลย้อนหลัง ฯลฯ เหล่านี้ฟุลเลอร์เรียกว่า “ศีลธรรมในกฎหมาย”
แนวคิดของฟุลเลอร์ที่เน้น “กระบวนการ” อันจะนำไปสู่ความเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์แท้จริงมิได้เน้นสาระเนื้อหาของกฎหมายธรรมชาติที่เป็นนิรันดร์ถาวร แต่ฟุลเลอร์ก็มั่นใจว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆที่ตราขึ้นจะต้องมีเหตุผล และความยุติธรรมเป็นเนื้อหาสาระเสมอ
จอห์น ฟินนีส ได้อธิบายกฎหมายธรรมชาติในลักษณะเป็นนามธรรมเชิงวิธีการ โดยอาศัยสมมุติฐาน 2 ประการ คือ
– ประการแรก “รูปแบบพื้นฐานแห่งความมั่งคั่งรุ่งเรืองของมนุษย์” ได้แก่ ชีวิต ความรู้ ความบันเทิง หรือสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับสุนทรีวิสัย
– ประการที่สอง “สิ่งจำเป็นเชิงวิธีการพื้นฐานครองความชอบธรรมด้วยเหตุผลเชิงปฏิบัติ” เช่น การแสวงหาความดีงาม แผนการชีวิตอันเป็นระบบ หรือความเชื่อมต่อของผลลัพธ์ อย่างมีขอบเขต และเคารพต่อค่านิยมพื้นฐาน เป็นต้น
ฟินนีส เชื่อว่า เมื่อสมมุติฐานประการแรก และประการที่สองประกอบกันจะเกิดเป็นหลักกฎหมายธรรมชาติขึ้นมา
ส่วนในกรณีของจุดอ่อนของปรัชญากฎหมายธรรมชาติที่มีผู้วิจารณ์ไว้ว่า
1 มีความคลุมเครือไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และมีความเป็นนามธรรมอย่างมากจนไม่น่านำมาถือเป็นรากฐานทางกฎหมาย
2 ขาดรูปแบบวิธีกาคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ตรวจสอบความถูกต้องได้โดยอาศัยเครื่องมือใด
3 มักจะเกิดความผิดพลาดเชิงตรรกะได้ง่าย
4 มีความบกพร่องต่อสมมุติฐานที่มาจากความหลากหลายของสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติแต่ละแห่งแตกต่างกัน
5 การเสนอความคิดเห็นมักจะนิยมใช้สามัญสำนึก ซึ่งอาจเอนเอียงไปตามเหตุผลส่วนตัวได้
หากจะพิจารณาโดยรวมแล้วข้อวิจารณ์ดังกล่าวมีความจริงอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นถ้าเปรียบเทียบกับสำนักคิดปรัชญากฎหมายอื่นๆแล้ว ดูเหมือนว่ากฎหมายธรรมชาติจะมีข้อดีที่มากกว่าข้อเสียดังข้อวิจารณ์ดังกล่าวนั้นมากทีเดียว เพราะเป็นสำนักปรัชญาทางกฎหมายที่มุ่งเน้นความยุติธรรมที่ต้องมาก่อนกฎหมาย อุดมคติทางกฎหมายเชิงศีลธรรม ตลอดจนเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับลัทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแนวคิดนี้เองได้ไปปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฯ และรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก้มีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หมายเหตุ น้องๆอาจมีความคิดเห็นแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ โดยอาศัยแนวความคิดหรือเหตุผลของน้องๆเองครับ
ข้อ 2 จงสรุปอธิบายเงื่อนไขในการตรากฎหมายควบคุมการใช้เสรีภาพของบุคคลตาม “หลักอันตรายต่อสังคม” ของมิลล์ (John Stuart Mill) และท่านเห็นด้วยหรือไม่กับข้อโต้แย้งของสตีเฟน (Sir James Fitzjames Stephen) ต่อแนวคิดของมิลล์ดังกล่าว
ธงคำตอบ
จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ได้ประกาศ “หลักอันตรายของสังคม” ในปี ค.ศ. 1859 ในงานเขียนชิ้นสำคัญเรื่อง “ความเรียงว่าด้วยเสรีภาพ” สรุปความได้ว่า เงื่อนไขในการตรากฎหมายควบคุมการกระทำหรือใช้เสรีภาพของบุคคลได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สังคมและผู้อื่น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่น เป็นเงื่อนไขในการตรากฎหมายควบคุมการใช้เสรีภาพของบุคคล ลำพังเพียงความมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลทำความดีไม่ใช่เป็นข้ออ้างให้กฎหมายเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย มิลล์เห็นว่าการจำกัดเสรีภาพเป็นการทำลายความสุขส่วนบุคคล นอกจากนี้มิลล์ยังไม่เห็นด้วยในการปล่อยให้บุคคลมีเสรีภาพในการทำสัญญาเพื่อยอมตนเป็นทาส ดังที่เขาเน้นย้ำว่า หลักการแห่งเสรีภาพไม่สามารถกำหนดว่าบุคคลควรจะมีเสรีภาพในการไม่มีเสรี
ส่วนข้อโต้แย้งของสตีเฟน (Sir James Fitzjames Stephen) ที่มีต่อแนวคิดของมิลล์ปรากฏในงานเขียนเรื่อง “เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ” ซึ่งสตีเฟนปฏิเสธมติของมิลล์ที่เชื่อว่ามีเหตุผลด้านความปลอดภัยของสังคมสนับสนุนความชอบธรรมในการใช้เสรีภาพดังกล่าว อีกทั้งไม่ยอมรับว่าเราจะสามารถลากเส้นแบ่งแยกอันชัดเจนระหว่างการกระทำที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และการกระทำที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้กระทำเท่านั้น สำหรับสตีเฟนแล้ว การลงโทษต่อสิ่งที่เป็นความผิดบาปทางศีลธรรมอันชัดแจ้งย่อมถือเป็นวัตถุประสงค์อันชอบธรรมของการนิติบัญญัติ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ถือว่านั่นเป็นการลิดรอนเสรีภาพ แต่ตรงกันข้ามการใช้กลไกทางกฎหมายลงโทษเช่นนี้จะเป็นการสนองตอบอารมณ์ความรู้สึกชิงชังของคนทั่วไปต่อความเลวร้ายดังกล่าว และนับเป็นการทดแทนยับยั้งมิให้เกิดผูกพยาบาท ตอบโต้อย่างวุ่นวายสับสน
เมื่อได้เปรียบเทียบระหว่างแนวคิดของมิลล์ และข้อโต้แย้งของสตีเฟนแล้ว จะเห็นว่าแนวคิดของสตีเฟนมีเหตุผลน่าสนับสนุนอยู่ไม่น้อย โดยจะเห็นได้ว่า แม้ทฤษฎีของมิลล์จะสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องเสรีภาพของบุคคล แต่ก็มีจุดบกพร่องอยู่ในส่วนที่ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใดเป็นภยันตรายต่อสังคม เราจะพิสูจน์ตรวจสอบว่าเป็นภยันตรายต่างๆ ได้อย่างไร ดังนั้นหากไม่ต้องการให้สังคมล่มสลายลงไปเพราะไปคำนึงถึงแต่เสรีภาพมากเกินไป การควบคุมลงโทษพฤติกรรมซึ่งผิดศีลธรรมจึงจำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะจำกัดเสรีภาพไปทุกเรื่อง แต่ว่าต้องปล่อยให้มีเสรีภาพของบุคคลมากที่สุดเท่าที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงทางสังคม
หมายเหตุ ในส่วนของความเห็น น้องๆอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างไปจากนี้ก็ได้นะครับ
ข้อ 3 ความยุติธรรมทางสังคมคืออะไร เหตุใดทฤษฎีความยุติธรรมทางสังคมของรอลส์ (John Rawls) จึงเน้นคุณค่าความสำคัญของเสรีภาพมากกว่าความเสมอภาคเท่าเทียม
ธงคำตอบ
ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) หรือ “ความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน” หรือ “ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีทางจำแนกหรือแบ่งปันสิ่งซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์ หรือสิ่งอันมีคุณค่าในสังคม (เช่น ทรัพย์สิน รายได้ ความสุข การได้รับความพึงพอใจ การได้รับการศึกษา) ให้แก่สมาชิกของสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออย่างเป็นธรรม ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์และคงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ กลมกลืนของสังคมโดยรวม
ส่วนสาเหตุที่ จอห์น รอลส์ (John Rawls) ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพมากกว่าความเท่าเทียมเสมอภาค ก็เพราะรอลส์เชื่อว่า ภายใต้สถานการณ์สัญญาประชาคม ผู้คนจะไม่ยอมเสียสละเสรีภาพอันเสมอภาคกันนั้นเพียงเพื่อการได้มาซึ่งรายได้ ความมั่งคั่งหรือแม้อำนาจ เสรีภาพจะถูกกำจัดลงได้ก็เพียงเพื่อประโยชน์แก่เสรีภาพหรือระบบแห่งเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งหมดเท่านั้น และข้อเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคในสังคมและเศรษฐกิจจะต้องสิ้นสุดลง หากว่าการได้มาซึ่งความเสมอภาคเช่นนั้นมิได้นำไปสู่การเพิ่มพูนเสรีภาพโดยส่วนรวมสำหรับคนทั้งปวงในสังคม
ในการนี้รอลส์ได้เปิดประเด็น “คุณค่าปฐมภูมิของสังคม” ซึ่งหมายถึง เสรีภาพ โอกาส รายได้ ความมั่งคั่งและการเคารพนับถือตนเอง คุณค่าปฐมภูมิเช่นนี้เป็นสิ่งที่วิญญูชนผู้มีเหตุผลทุกคนรวมทั้งผู้คนในสัญญาประชาคมของเขาล้วนต้องการอยากได้ ไม่ว่าเขาจะต้องการสิ่งอื่นร้อยแปดอย่างไร การที่บุคคลในสัญญาประชาคมเลือกให้เสรีภาพมีความสำคัญอันดับแรก ก็เนื่องจากเห็นว่าการเลือกเช่นนั้นจะส่งผลให้พวกเขามีโอกาสดีที่สุดในการได้มาซึ่งคุณค่าขั้นปฐมภูมิของสังคม รวมทั้งช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตตามเป้าหมายเฉพาะของตนได้ รอลส์เชื่อว่าผู้คนจะไม่เลือกหลักการซึ่งเปิดช่องให้ผู้เผด็จการ แย่งยึดเอาเสรีภาพทางการเมืองของเขาไปด้วยเงื่อนไขแลกเปลี่ยนในการเพิ่มความมั่งคั่ง (ในระดับที่เหนือกว่ากฎเกณฑ์ทั่วไปของความมั่งคั่งที่เป็น “คุณค่าปฐมภูมิของสังคม”) ให้แก่ทุกคนเนื่องจากเขาไม่แน่ใจในคุณค่าของสิ่งที่เขาจะได้รับเพิ่มขึ้น ในขณะที่รู้ว่าตนต้องสูญเสียอิสระเสรีภาพทางการเมืองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เกื้อหนุนต่อคุณค่าขั้นปฐมภูมิของสังคมในเรื่องเสรีภาพและการเคารพนับถือตนเอง