การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4007 นิติปรัชญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงสรุปเปรียบเทียบปรัชญากฎหมายธรรมชาติของนักบุญอไควนัส (St. Thomas Aquinas) และปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย/ยุคปัจจุบัน
ธงคำตอบ
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติของอไควนัสปรากฏในงานนิพนธ์ชิ้นสำคัญของเขาคือ เรื่อง “Summa Theologica” เป็นการนำเสนอโดยเชื่อมวิธีคิดแบบเหตุผลนิยมเข้ากับเจตนนิยม โดยนำเอาปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาสังเคราะห์กับปรัชญาทางคริสต์ศาสนา ในขณะที่อริสโตเติ้ลยืนยันว่ามนุษย์สามารถค้นพบกฎหมายธรรมชาติได้โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์เอง อไควนัสก็ได้พยายามเชื่อมโยงเรื่องเหตุผลดังกล่าวเข้ากับเจตจำนงของพระเจ้า โดยถือว่าเหตุผลของพระเจ้าเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์ถูกต้องมากกว่าเหตุผลของมนุษย์ ในการค้นหากฎหมายธรรมชาติตรงจุดนี้อไควนัสสรุปว่า “หลักธรรมหรือโองการหรือเจตจำนงของพระเจ้าคือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ”
อไควนัสได้แบ่งกฎหมายออกเป็น 4 ประเภท คือ
1 กฎหมายนิรันดร์
2 กฎหมายธรรมชาติ
3 กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์
4 กฎหมายของมนุษย์
กฎหมายธรรมชาติในทรรศนะของอไควนัสถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายนิรันดร์ที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ โดยอาศัยเหตุผลอันเป็นคุณสมบัติธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้ ถึงแม้ว่ากฎหมายธรรมชาติจะเป็นเสมือนภาพสะท้อนอันไม่สมบูรณ์ซึ่งเหตุผลอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า แต่ก็ถือเป็นหลักชี้นำการกระทำต่างๆของมนุษย์โดยมีหลักธรรมอันแน่นอนต่างๆ ในจำนวนนี้หลักธรรมอันเป็นมูลฐานที่สุดก็คือ “การทำความดีและละเว้นความชั่ว”
ทางด้านกฎหมายของมนุษย์ อไควนัสหมายถึงกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นใช้ในสังคมซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกำหมายนิรันดร์ กฎหมายธรรมชาติ และกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ โดยอไควนัสนิยามกฎหมายของมนุษย์ว่าเป็น “ระเบียบเหตุผลที่ผู้ปกครองได้บัญญัติและประกาศใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน” กฎหมายของมนุษย์ที่มีเนื้อหาไม่เป็นธรรมและขัดต่อกฎหมายธรรมชาติ อไควนัสไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย แต่เป็นความวิปริตของกฎหมาย ซึ่งอยู่ห่างไกลจากลักษณะของกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายให้ทุกคนเป็นคนดี
ส่วนปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยหรือยุคปัจจุบันในจุดที่จะนำมาเปรียบเทียบก็คือ บทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในแง่ทฤษฎีกฎหมายซึ่งสนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นในเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางแห่งกฎหมาย ความเชื่อมั่นในเรื่องความสัมพันธ์ที่จำต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่างๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ถือว่ามีสิ่งที่เรียกว่าหลักความยุติธรรมหรือหลักกฎหมายอุดมคติ ซึ่งแน่นอน เป็นสากล หรือใช้ได้ทุกกาละสถานที่ นอกจากนี้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยยังมีลักษณะผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้น กล่าวคือ ไม่มีการยืนยันว่ากฎหมายบัญญัติใดที่ขัดแย้งกับหลักอุดมคติ หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติต้องตกเป็นโมฆะ หรือไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลใช้บังคับในทางกฎหมาย
ฟุลเลอร์ นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยเชื่อมั่นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธหลักกฎหมายธรรมชาติในแง่ความเป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดา รวมทั้งยืนกรายปฏิเสธทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติใดซึ่งพยายามจะสร้างหรือวางหลักประมวลหลักกฎหมายธรรมชาติล่วงหน้าที่เป็นนิรันดร์
จอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย เจ้าของผลงานหนังสือชื่อ กฎหมายธรรมชาติและสิทธิธรรมชาติ ได้กล่าววิจารณ์การตีความหมายอย่างผิดๆของพวกนักวิจารณ์ ต่อคำขวัญหรือสุภาษิตที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิใช่เป็นกฎหมาย” (Lex Injusta Est Lex) ซึ่งในสายตาของฟินนีส กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้เป็นโมฆะในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอำนาจผูกมัดทางมโนธรรม ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ ดังนั้นสำหรับฟินนีสแล้วหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจึงอาจจำต้องมีอยู่ หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแล้วจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นธรรมในส่วนรวม
จุดเปรียบเทียบระหว่างปรัชญากฎหมายธรรมชาติของอไควนัสกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน มีทั้งจุดเหมือน(คล้ายคลึง) และจุดแตกต่างกันดังจะอธิบายดังนี้
จุดเหมือน ต่างก็ยืนยันว่ากฎหมายควรสอดคล้องกับศีลธรรมหรือความยุติธรรม ต่างก็ยอมรับว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
จุดแตกต่าง อไควนัสถือว่ากฎหมายธรรมชาติสูงกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น ส่วนยุคปัจจุบันไม่ถือเช่นนั้น อย่างฟุลเลอร์ก็ปฏิเสธกฎหมายธรรมชาติในแง่ความเป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดาที่รัฐตราขึ้น
อไควนัสมีการยืนยันว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมตกเป็นโมฆะ ประชาชนไม่จำต้องปฏิบัติตาม เช่น กรณีกฎหมายออกมาเพื่อสนองกิเลสของผู้ออก ออกเกินอำนาจของผู้ออก ส่วนยุคปัจจุบันมีลักษณะผ่อนปรนกว่าคือไม่มีการยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับความยุติธรรมเป็นโมฆะ ดังปรากฏในข้อวิจารณ์ของฟินนีสนั่นเอง
ปรัชญากฎหมายธรรมชาติของอไควนัสจะมีกลิ่นอายของศาสนาคริสต์อยู่เป็นอย่างมาก คำอธิบายจะผูกอิงอยู่กับพระเจ้า ส่วนยุคปัจจุบันจะไม่มีคำอธิบายสิ่งเร้นลับเช่นนั้น โจทย์ของนักกฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยจะอยู่ที่ตรากฎหมายอย่างไรออกมาอย่างเป็นธรรมและมีผลในเชิงปฏิบัติ
ข้อ 2 สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) มีแนวคิดสำคัญในการวิเคราะห์กฎหมาย/ความเป็นจริงของกฎหมาย ตลอดจนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายตุลาการอย่างไร ท่านคิดว่าแนวคิดสัจนิยมทางกฎหมายฯนี้ มีคุณค่าต่อสังคมหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism) มีที่มาจากงานความคิดของโอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendel Holmes) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดนับแต่ปี ค.ศ. 1902
โฮล์มส์ ไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาจะสามารถตัดสินคดีตามใจชอบ โดยมองจากประสบการณ์การทำงานของตน ซึ่งไม่อาจปรุงแต่งกฎหมายให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ เป้าหมายสำคัญที่โฮล์มส์ วิพากษ์วิจารณ์คือ ความคิดที่เชื่อว่าบทบัญญัติทั้งหมดในกฎหมายล้วนมีเหตุผลอันชอบธรรม
โฮล์มส์ เชื่อว่า กฎหมายจำนวนมากถูกเขียนขึ้นบนบริบททางประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในภายหลัง ดังนี้แล้วจึงสมควรให้มีการตรวจสอบทบทวนอย่างสม่ำเสมอต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่ายังมีความเหมาะสมดีอยู่หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะนี้จึงไม่มีกรณีใดๆซึ่งสมควรกล่าวอ้าง (ตามกระบวนการอนุมานความคิด) กฎหมายว่าเป็นเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแน่นอน หากว่าในทางปฏิบัติ ศาลแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แท้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจากความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงของสังคมดังนี้เองทีทำให้เห็นว่ามีเพียงผู้พิพากษา (หรือทนายความ) ซึ่งเข้าใจดีถึงบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจเท่านั้นจึงจะทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมต่อบทบาทของตน
นอกเหนือจากโฮล์มส์ ก็ยังมี จอห์น ชิปแมน เกรย์ ที่ยืนยันว่ากฎหมายประกอบด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆซึ่งศาลยุติธรรมได้กำหนดไว้ บรรดาพระราชบัญญัติเป็นเพียงที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้เท่านั้น
คาร์ล ลูเวลลิน (Karl Llewellyn) ในฐานะสมาชิกคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง กล่าวในทำนองเดียวกันไม่ให้ไว้วางใจนักต่อ “กฎเกณฑ์ในกระดาษ” ควรเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนการวินิจฉัยตีความกฎหมายของศาลซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันตามแต่กาละและสถานที่ ตลอดจนสนใจต่อข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคำตัดสินที่ปรากฏจริงๆ
เยโรม แฟรงค์ (Jerome Frank) ผู้พิพากษาที่ถือว่าเขาเป็น “ผู้ที่ไม่เชื่อใจต่อข้อเท็จจริง” หมายความว่า แม้ในกรณีที่กฎเกณฑ์มีความชัดเจนง่ายดายต่อการตีความแล้วก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็อาจส่งผลสะเทือนน้อยเต็มทีในคำตัดสินของศาลระดับล่าง เฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบลูกขุน เนื่องจากบุคคลดังกล่าวสามารถยกข้อเท็จจริงใดๆ ที่ตนพึงพอใจมาปรับเข้ากับกฎเกณฑ์ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ตามที่ตนต้องการในที่สุดได้ นอกจากนี้ เหตุปัจจัยเรื่องความสมบูรณ์หรือบกพร่องของพยานหลักฐาน ความสามารถของทนายความหรือผู้พิพากษาก็เป็นตัวกำหนดอันสำคัญต่อผลของคำพิพากษา ความลื่นไหล ความไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมนับเป็นอุปสรรคในการคาดทำนายการตัดสินใจของศาล
ส่วนแนวคิดสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน มีคุณค่าต่อสังคมหรือไม่อย่างไรนั้น ถ้ามองในเชิงวิจารณ์แล้วต้องยอมรับว่าทฤษฎีนี้เป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว เพราะสมมุติว่ามีผู้ขับขี่รถยนต์ 10 คนที่ต่างถูกฟ้องร้องในข้อหาว่าขับรถเกินกำหนดความเร็ว 30 ไมล์ต่อชั่วโมง ในเขตที่อยู่อาศัย โดยที่ทั้งหมดถูกฟ้องร้องต่อหน้าศาลซึ่งต่างมีอคติต่างๆกัน หากเราสมมุติต่อว่าจริงๆแล้วมีคนขับรถยนต์ 5 คนเท่านั้นที่ขับเกินความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมง ส่วนอีก 5 คน ขับรถที่ความเร็ว 20 ไมล์ต่อชั่วโมง เมื่อพิจารณาถึงเหตุปัจจัยอันผันแปรต่างๆ อาทิเช่น การปรากฏตัวของผู้จะมาเป็นพยาน ฐานะหรือระดับชนชั้นของคนเหล่านี้ และเหตุอื่นๆพร้อมกับเห็นพ้องว่า กฎเกณฑ์ไม่มีความสำคัญใดๆ หรือไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆอยู่เบื้องหน้าการวินิจฉัย เช่นนี้แล้วก็ดูไม่น่าเป็นไปได้ว่า คนที่ขับรถเกินความเร็วจริงๆจะถูกตัดสินลงโทษขณะซึ่งคนที่มิได้ฝ่าฝืนจะได้รับการปล่อยตัว จึงเห็นได้ว่าสัจนิยมนี้จะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นคุณค่าต่อสังคมจึงไม่มีมากมายสักเพียงใดนัก
ข้อ 3 การปฏิรูปกฎหมายในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมอย่างไร และท่านคิดว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ให้การยอมรับต่อปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายโดยสิ้นเชิงหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
การปฏิรูปกฎหมายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อธิบายได้ดังนี้
การปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่โยงใยมาด้านความคิดทางกฎหมายเป็นเรื่องวิธีการฟื้นฟูพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์กระทำผ่านกลไกทางกฎหมายโดยเฉพาะด้านการนิติบัญญัติ แม้ความจริงแล้วตามปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีอำนาจนิติบัญญัติที่แท้จริงก็ตาม ดังนั้นประเด็นเรื่อง “ราชศาสตร์” “ธรรมศาสตร์” “กฎหมายชั่วคราว” “กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์” จึงดูมีบทบาทลดถอยลงเรื่อยๆ ความสัมพันธ์กับตะวันตกที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคม และโดยเฉพาะปัญหาสังคมใหม่ๆที่เกิดขึ้นในลักษณะที่นอกเหนือกรอบความคิด หรือโครงสร้างแห่งกฎหมายของธรรมศาสตร์ เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนทำให้แนวคิดด้านการนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางนิติบัญญัติอย่างเต็มที่โดยปราศจากการบังคับควบคุมอันแท้จริงของ “ธรรมศาสตร์”
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจด้านการนิติบัญญัติ เช่น ในปี พ.ศ. 2417 เมื่อมีการพระราชบัญญัติสำคัญสองฉบับที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างฐานพระราชอำนาจ กล่าวคือ พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตตและแนวพระราชบัญญัติปรีวิวเคาน์ซิล ผลของกฎหมายสองฉบับนี้ทำให้เกิดองค์กรใหม่คือ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินหรือรัฐมนตรีสภา และที่ปรึกษาในพระองค์ หรือองคมนตรีสภา ซึ่งมีบทบาทในการคานอำนาจเสนาบดีภายใต้ระบอบจตุสดมภ์แบบเก่า
สว่นในข้อที่ว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ให้การยอมรับต่อปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายโดยสินเชิงหรือไม่อย่างไรนั้น เห็นว่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็หาได้ยอมรับในปรัชญากฎหมายนี้โดยสิ้นเชิงไม่ ดังที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ในเล็คเชอร์ว่าด้วยกฎหมายว่า “อนึ่ง คำอธิบายกดหมายที่ว่ามาแล้วนั้น ก็ยังมีที่ติ” หรือ “คำอธิบายกดหมายที่ได้ว่ามานี้ก็ไม่สู้ดีนัก ด้วยเหตุผลว่าไม่ตรงแท้แก่ความจริงหลายประการ” ในทัศนะของพระองค์คำอธิบายที่ว่ากฎหมายเป็นคำสั่งขององค์รัฏฐาธิปัตย์มีข้อบกพร่องหลายประการนับแต่เรื่อง
1 การมองข้ามความสำคัญของจารีตประเพณีซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ได้ทำกันมา
2 การมองข้าม “กดหมายธรรมดา” หรือกฎหมายที่ศาลตั้งขึ้นเองในเรื่องที่ไม่มีกฎหมายของรัฐบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
3 การไม่ยอมรับความยุติธรรมที่นำมาเป็นบทตัดสินคดีในความเป็นจริง