การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4007 นิติปรัชญา 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงสรุปอธิบายหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม  ในความเข้าใจของนักศึกษาปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยอมรับความสำคัญของเรื่องวิบากกรรม  บุญกรรมหรือไม่อย่างไร  จงอธิบายโดยยกตัวอย่างในกฎหมายตราสามดวงประกอบ

ธงคำตอบ

หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้  เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสำคัญของพระธรรมศาสตร์  โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย  4  ประการในพระธรรมศาสตร์  หรือหลักกฎหมายทั่วไป  4  ประการในพระธรรมศาสตร์  หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ  4  ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก  ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1        กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ

2       กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมมะหรือศีลธรรม

3       จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4       การใช้อำนาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทำบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

ในส่วนของความเกี่ยวพันกันระหว่างปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม  กับเรื่องของวิบากกรรม  บุญกรรมนั้น   จะเห็นได้ว่าในอดีตประชาชนไทยมีความเชื่อมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นในเรื่องกรรมเก่า  วิบากกรรมต่างอันมีมาแต่ชาติปางก่อน  การอ้างอิงหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องบุญกรรมดูเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายสำหรับฝ่ายต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับเคราะห์

ในกฎหมายตราสามดวงก็มีการบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้หลายบทมาตรา  เช่น  ในพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ  กำหนดให้  ผ๔ถากไม้ใกล้หนทางและขวานหลุดมือไปถูกผู้เข้ามาใกล้จนเสียชีวิต  ผู้นั้นไม่มีความผิดโดยถือเป็นบาปกรรมของผู้ตายเอง  กฎหมายกำหนดเพียงให้ผู้ถากไม้นั้นช่วยทำบุญส่งไปให้ผู้ตาย  ซึ่งเห็นได้ว่า  เคราะห์ร้ายอันเกิดขึ้นโดยมิคาดฝันย่อมถูกปรับความหมายให้เป็นเสมือน  วิบากกรรม  แห่งตนในอดีตชาติได้โดยไม่ขัดเขิน  ส่วนตัวผู้ก่อเคราะห์ร้ายกฎหมายกำหนดหน้าที่เพียงทำบุญหรืออุทิศผลบุญกุศลให้แก่ผู้ตายซึ่งยังติดอยู่ในบ่วงแห่งวิบากกรรมของตนอยู่

นอกจากนี้ยังมีอีกในบทมาตราอื่นๆ  เช่น  ในมาตรา  117  กรณีคนสองคนชกมวกกันด้วยใจสมัครหากเกิดเหตุถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการชกมวยย่อมไม่มีโทษ  เหตุเพราะผู้จัดการชกมวยมิได้มีเจตนาจะให้ถึงชีวิตถือเป็นบาปกรรมของผู้เสียชีวิตนั้นเอง  หรือในมาตรา  127  ก็กำหนดให้เจ้าของควายจ่ายค่าควายแทนผู้ที่ช่วยตีควายของผู้อื่นที่มาชนควายของตนจนบาดเจ็บล้มตายเนื่องจากผู้ช่วยตีควายอาสาที่จะเป็นบาปเป็นกรรมแทนเจ้าของควายนั้นเอง

กฎแห่งกรรมในแง่บาป  บุญจึงเป็นรากฐานของบทกฎหมายโบราณหลายๆมาตรา


ข้อ  2  สำนักสโตอิค  
(Stoic)  มีแนวคิดเชิงปรัชญาเกี่ยวกับมนุษย์ / ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์อย่างไร  คำอธิบายปรัชญากฎหมายธรรมชาติของสำนักปรัชญาสโตอิคแตกต่างจากแนวคิดกฎหมายธรรมชาติของนักบุญ

อไควนัส (St. Thomas  Aquinas) หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

สำนักสโตอิค  (Stoic School)   ก่อตัวขึ้นราวศตวรรษที่  3  ก่อนคริสตกาล  โดยมีเซโน (Zeno)  เป็นผู้ก่อตั้งสำนักคิดนี้  มีความเชื่อว่ามนุษย์ล้วนมีเหตุผลและยังเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีความเสมอกันโดยไม่จำกัดสัญชาติเผ่าพันธุ์  จึงจัดว่าเป็นพวกธรรมชาตินิยม  ที่มองเรื่องการดำรงชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ

สำนักนี้มีแนวความคิดพื้นฐานว่า  เหตุผล  เป็นเสมือนกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่มีลักษณะแน่นอนที่คอยควบคุมความเป็นไปของจักรวาล  ดังนั้นมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของจักรวาล  และเป็นสัตว์โลกที่รู้จักคิดใช้เหตุผล  จึงย่อมถูกกำหนดควบคุมโดยเหตุผลอันเป็นสากลนั้นด้วย และเหตุผลดังกล่าวนั้นมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ด้วยการใช้เหตุผลของเขาเอง

สำนักสโตอิควางหลักจริยธรรมว่า  มนุษย์ต้องจำยอมปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกต้อง  การดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ  เหตุผลหรือคุณความดี  คำสอนเช่นนี้เองทำให้สำนักสโตอิคปฏิเสธเรื่อง  ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ  เผ่าพันธุ์  หรือศาสนา สอนให้คนมีจิตใจกว้างยอมรับเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน  รวมทั้งเรื่องความเป็นสากลของกฎหมายธรรมชาติ

ซิเซโร (Cicero)  นักกฎหมายของสำนักสโตอิค  ก็ได้กล่าวไว้ว่า  กฎหมายอันแท้จริง  คือ  เหตุผลอันชอบธรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยมีผลใช้บังคับอย่างเป็นสากลไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นนิรันดร์มันเป็นบาปต่อการพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้  และไม่อาจยินยอมให้มีการเลิกล้มส่วนใดส่วนหนึ่ง  อีกทั้งเป็นไปไม่ได้ที่จะยกเลิกกฎหมายนี้โดยสิ้นเชิง

เซนต์  โทมัส  อไควนัส  (St. Thomas  Aquinas)  นักบุญชาวอิตาเลียน  (1226  1274) ผู้สร้างงานนิพนธ์ชิ้นสำคัญเรื่อง  “Summa  Theologica” ซึ่งเป็นการเชื่อมวิธีคิดแบบเหตุผลนิยมและเจตนนิยมเข้าด้วยกัน  โดยนำเอาปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณมาสังเคราะห์กับปรัชญาทางคริสต์ศาสนา  ในขณะที่กฎหมายธรรมชาติในยุคก่อนๆยืนยันว่ามนุษย์สามารถค้นพบกฎหมายธรรมชาติได้โดยอาศัย  เหตุผล  ในตัวมนุษย์เอง  อไควนัสก็ได้พยายามเชื่อมโยงเรื่อง  เหตุผล  ดังกล่าวเข้ากับ  เจตจำนงของพระเจ้า  โดยถือว่าเหตุผลที่สมบูรณ์ถูกต้องมากกว่า  ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหากฎหมายธรรมชาตินั้นปรากฏอยู่ใน  เจตจำนงของพระเจ้า  ที่ถือว่ามีความบริสุทธิ์ถูกต้องมากกว่า  เหตุผล ของมนุษย์  ซึ่งอาจมีความผิดพลาดได้  และจากจุดนี้เองอไควนัสสรุปว่า  หลักธรรมหรือโองการหรือเจตจำนงของพระเจ้าคือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ  และที่น่าสนใจคือจากการเชื่อมต่อ  เหตุผล  เข้ากับ  เจตจำนงของพระเจ้า  นั้น  เซนต์  โทมัส  อไควนัส  แบ่งกฎหมายออกเป็น  4  ประเภทคือ

1       กฎหมายนิรันดร์  หมายถึง  กฎหมายสูงสุดที่มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้

2       กฎหมายธรรมชาติ  หมายถึง  ส่วนหนึ่งของกฎหมายนิรันดร์ที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้โดยอาศัย  เหตุผล”

3       กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์  หมายถึง  หลักธรรมต่างๆที่ถูกจารึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

4       กฎหมายของมนุษย์  หมายถึง  กฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นใช้กันเองในสังคม

จากที่กล่าวมาทั้งหมด  จึงเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างแนวความคิดของสำนักสโตอิค  และของนักบุญอไควนัส  ที่สำคัญคือ  ปรัชญากฎหมายธรรมชาติของอไควนัสจะมีกลิ่นอายของศาสนาคริสต์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก  คำอธิบายจะผูกอิงอยู่กับเจตจำนงของพระเจ้า  ส่วนสำนักสโดอิคกลับเชื่อเรื่องความเป็นสากล  ไม่ให้ยึดติดกับความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ  ศาสนา  หรือเผ่าพันธุ์  โดยที่เหตุผลจากธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างประสานกลมกลืน  (มิใช่เหตุผลของพระเจ้า)


ข้อ  3  ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายยอมรับเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน  
(Civil Disobedience)  หรือไม่  เพราะเหตุใด ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวที่ว่า  ภายใต้หลักนิติกรรมรัฐควรปรับใช้กฎหมายโดยเสมอภาคหรือเคร่งครัดจริงจังแก่ผู้ที่ทำการดื้อแพ่งต่อกฎหมายดังกล่าว

ธงคำตอบ

ทฤษฎีฐานนิยมทางกฎหมาย  ยอมรับไม่ได้ที่จะให้มีการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนด้วยเหตุผลจากแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย  2  ข้อ  คือ

1       การยืนยันว่า  การดำรงอยู่ของกฎหมายใดๆ  มิได้ขึ้นอยู่กับการที่มันสนองตอบหรือสอดคล้องกับหลักคุณค่าทางศีลธรรมอันหนึ่งอันใดที่สามารถปรับใช้ได้อย่างเป็นสากลในทุกระบบกฎหมาย

2       การยืนยันว่า  การดำรงอยู่ของกฎหมายขึ้นอยู่กับการที่มันถูกสร้างขึ้นโดยผ่านการตกลงปลงใจของมนุษย์ในสังคม

ดังนั้นข้อสรุปของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายก็คือ  กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้ผู้คนต้องปฏิบัติตามอยู่  การละเมิดฝ่าฝืนกฎหมายไม่ว่าด้วยเหตุผลใดต้องได้รับโทษเหมือนกันหมด

ส่วนกับคำกล่าวที่ว่า  ภายใต้หลักนิติธรรม  รัฐควรปรับใช้กฎหมายโดยเสมอภาค  หรือเคร่งครัด  จริงจังแก่ผู้ที่ทำการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย  นั้น  ดูจะไม่ถูกต้องนัก  เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวมีความเคร่งครัดแข็งกร้าวจนเกินไป  เพราะกฎหมายนั้นแม้จะอ้างว่าอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมก็ตาม  แต่ต้องยอมรับกันว่ามีทั้งกฎหมายที่ออกมาโดยถูกต้องชอบธรรม  และกฎหมายที่ออกมาโดยจุดประสงค์เพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  กฎหมายนั้นมีทั้งยุติธรรม  และไม่ยุติธรรม  ดังนั้นถ้ามีกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม  แล้วการบังคับใช้กฎหมายนั้นไปมีผลกระทบต่อคนในสังคมแล้ว  ย่อมเป็นการชอบที่จะให้มีการดื้อแพ่งทางกฎหมายได้  และเมื่อผู้ที่ทำการดื้อแพ่งทางกฎหมายมิได้มีมูลเหตุจูงใจที่จะทำผิดกฎหมายอย่างกับอาชญากร  หรือผู้กระทำความผิดอาญาต่างๆ  การบังคับใช้กฎหมายของรัฐในการลงโทษแก่ผู้ที่ทำการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจึงควรมีความยืดหยุ่นไม่เคร่งครัดจริงจังมากจนเกินไป  เช่น  อาจมีการอนุญาตให้มีการชะลอการฟ้องคดี  หรือลงโทษสถานเบา  หรืออาจมีการภาคทัณฑ์ไว้  เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคม  เพราะบุคคลอื่นที่ทำผิดกฎหมายอาจอ้างว่าทำไปเพราะดื้อแพ่งต่อกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ลดหย่อนโทษลง  จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขของกรณีที่จะทำการดื้อแพ่งต่อกฎหมายไว้  ดังเช่นที่  ดวอร์กิ้น  และจอห์น  รอลส์  ได้เสนอไว้  เช่น  ต้องเป็นการดื้อแพ่งโดยไม่มีการยั่วยุความรุนแรงให้เกิดขึ้น  ต้องทำโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ  ไม่ใช้ความรุนแรง  ต้องมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ของสังคม  ต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายฯลฯ

Advertisement