การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. The Rule of Law not the Rule of Man ของอริสโตเติล เกี่ยวข้องกับแนวความคิดปรัชญาทางกฎหมายใด แนวความคิดนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง และให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วย หรือไม่หากจะปฏิรูปกฎหมายไทยโดยอาศัยแนวความคิดของอริสโตเติลเพื่อเป็นที่มาของกฎหมาย

ธงคําตอบ

“The Rule of Law not the Rule of Man” ของอริสโตเติลนั้นเกี่ยวข้องกับแนวคิดปรัชญา กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ที่ปรากฏตัวขึ้นในลักษณะที่เป็นการแสดงออกซึ่งความบันดาลใจของมนุษย์ ที่มุ่งมั่นจะค้นหาหลักการอันสูงส่งซึ่งเป็นกฎหมายอุดมคติที่จะคอยกํากับกฎหมายลายลักษณ์อักษรของมนุษย์ ในลักษณะที่เป็นอภิปรัชญา หรือที่เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดตามหลักกฎหมายธรรมชาตินั้น เชื่อว่า มีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่แน่นอนอยู่ อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และความยุติธรรมภายในกฎหมาย ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการ ของกฎหมายธรรมชาติ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติตามความหมายในทางทฤษฎีจะแบ่งออกเป็น 2 นัย ได้แก่

ทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคโบราณจนถึงยุคกลาง ถือว่ากฎหมาย ธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง ดังนั้น กฎหมายใด ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นแล้วขัดหรือแย้งต่อกฎหมายธรรมชาติย่อมไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย

ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่าหลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียง อุดมคติของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้น ดังนั้นการบัญญัติหรือตรากฎหมายจึงควรให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติอาจถือว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ แต่ไม่ถึงกับ เป็นโมฆะหรือไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายเสียเลย

พัฒนาการของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ได้แก่

1 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิตุส นักปรัชญา ชาวกรีกที่มีอายุในช่วง 540 – 480 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะความจริง เกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสาร ของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง ระเบียบ และเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 12 โดยประมาณ ส่วน ยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 16 โดยประมาณ ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น แบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคําสอนทางศาสนา หรือบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอํานาจเหนือฝ่ายอาณาจักร โดยยืนยันได้จากความคิดของเซนต์ ออกัสติน ที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป ฝ่ายอาณาจักร ขึ้นมามีอํานาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สําเร็จ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจาก คริสต์ศาสนาเช่นกัน รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม คล้าย ๆ กับปรัชญากฎหมายธรรมชาติใน ยุคกรีกโบราณ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่มบทบาท ความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว โดยผ่านนักคิดหลาย ๆ คนในยุคนี้ เช่น พูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์ สปินโนซ่า, จอห์น ลอค, มองเตสกิเออ, รุสโซ, วูล์ฟ เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นําไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม, นําไปสู่ข้อยืนยันว่ากําลังหรืออํานาจไม่ใช่ ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่, สนับสนุนเรื่องความเสมอภาค ของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สําคัญคือเป็นที่มาหรือ รากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นยุคแห่งเหตุผล” เนื่องจาก อิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงําไปทั่วยุโรป

4 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาติรัฐนิยม

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งกฎหมาย ธรรมชาติในยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งเล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมนั้นเป็นเพราะว่า เกิดกระแสสูงของลัทธิชาตินิยมเข้ามาบดบังลัทธิปัจเจกนิยมที่เป็นแกนกลางสําคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ และเพราะ ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาทแบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานทําให้เกิด ลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่ง ได้รับความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่า จะเป็นกฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

ส่วนสาเหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือขึ้นมา อีกครั้งในตอนท้ายนั้นเป็นเพราะว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ปฏิฐานนิยม ทางกฎหมายก็ถูกนําไปใช้สนับสนุนเรื่องอํานาจนิยม การใช้อํานาจโดยมิชอบ ที่สําคัญก็คือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิด ๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติ หรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยม จึงปรากฏความสําคัญขึ้นอีกครั้ง

5 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในยุคปัจจุบันปรัชญากฎหมายธรรมชาติจะมีบทบาทอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ

1) ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการ ยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย หรือยืนยันในความเชื่อมั่น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จําต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่าง ๆ

2) ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สําคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้น กล่าวคือ ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ ตามความคิดแบบเก่า ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฏจากความคิดของจอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย ที่บอกว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมาย ที่ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอํานาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ หน้าที่ทางศีลธรรม ที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจําต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จะนํามาซึ่ง ความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติทั้ง 5 ยุค จะเห็นได้ว่า ยุคโบราณนักปราชญ์พยายามค้นหาแก่นแท้ของกฎหมาย ซึ่งพอสรุปได้ว่ากฎหมายเป็นเหตุผลตามธรรมชาติ จนกระทั่งยุคต่อมาที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง หลักคิดของกฎหมายจึงอยู่ที่ความเป็นเอกภาพของโลกและจักรวาลกับ หลักกฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเสมือนโองการของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งภายหลังก่อให้เกิดข้อกังขาถึงการพิสูจน์ความเป็นกฎหมายที่แท้จริง ทําให้ปรัชญากฎหมายอื่นขึ้นมามีบทบาทสําคัญแทนที่ปรัชญากฎหมาย ธรรมชาติ จนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เป็นแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่มีแนวคิดในการให้ความสําคัญกับ วัตถุประสงค์ของกฎหมายและพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสําคัญกับศีลธรรมและสิทธิมนุษยชน

จากการที่ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในอดีตมีส่วนที่ทําให้เห็นถึงการมองกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในฐานะ ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีการปกครองโดยผู้ปกครองอาศัยอํานาจภายใต้การปกครองของตน สิ่งที่ประชาชน แสวงหาคือความเป็นธรรมและความยุติธรรม กฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กําหนดขึ้นในสังคมควรกําหนดโดยมีพื้นฐานจาก อํานาจหรือเหตุผลของมนุษย์ที่ถือเป็นธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่และสามารถเข้าใจได้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ จึงเป็นอุดมคติในทางกฎหมายที่เป็นมูลฐานสําคัญจากแนวคิดนักกฎหมายในยุคกรีกเป็นต้นมาจนมีพัฒนาการถึง 5 ยุค ในแต่ละยุคก็มีลักษณะที่ทําให้เห็นถึงแนวคิดทางกฎหมายที่นําไปกําหนดสร้างกฎหมายในการปกครอง บ้านเมืองในยุคสมัยนั้น ๆ และจากพัฒนาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแนวคิดทางกฎหมายที่สําคัญและมีบทบาทต่อ การกําหนดสร้างกฎหมายในบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อมา

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยเป็นแนวคิดกฎหมายธรรมชาติที่มีการพัฒนาแนวคิดทางกฎหมาย ที่มีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกและโรมัน คือมีเนื้อหาและหลักการที่มี ความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับวิธีคิดร่วมสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการเข้าสู่แนวคิดแบบชุมชนนิยมที่มีลักษณะก้าวหน้า แต่ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยยังคงลักษณะที่เป็น ทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรมและทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง โดยแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติให้ความสําคัญกับสิทธิมาตั้งแต่ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันที่หลายประเทศให้ความสําคัญ และกําหนดอยู่ใน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ในด้านอุดมคติเชิงจริยธรรม แสดงออกที่ความคิดและความเชื่อถือเรื่องอุดมคติที่อยู่เหนือกฎหมายของรัฐ หรือกฎหมายของรัฐควรบัญญัติให้สอดคล้องทั้งในด้านคุณธรรมและความยุติธรรมในฐานะที่เป็น จุดหมายปลายทางแห่งกฎหมาย ความสัมพันธ์กับกฎหมายและความยุติธรรม ความเป็นอุดมคติที่มีความแน่นอน เป็นสากล ใช้ได้ทุกสถานที่ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นกฎหมายธรรมชาติในเชิงปฏิบัติ และ มีลักษณะของความผ่อนปรน ประนีประนอมมากขึ้นกว่ากฎหมายธรรมชาติอันมีลักษณะอุดมคติแบบเก่าในอดีต

The Rule of Law not the Rule of Man ในความหมายดั้งเดิมของกฎหมายและของอริสโตเติลนั้น จะมีความสัมพันธ์กับหลักนิติธรรมในยุคสมัยปัจจุบันในฐานะเป็นรากฐานความคิดในทางกฎหมายเป็นใหญ่ เป็นการปกครองด้วยกฎหมายไม่ใช่ด้วยบุคคล และพัฒนามาสู่การยอมรับต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลภายใต้ กฎหมาย รัฐรวมถึงผู้ปกครองที่ปกครองด้วยกฎหมายต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน และทุก ๆ คน ต้องมีสถานะที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย กล่าวคือ แม้ตามหลักของการแบ่งแยกอํานาจของ อริสโตเติล ผู้ปกครองจะมีอํานาจอันชอบธรรมในการออกและบังคับใช้กฎหมายก็ตาม แต่ตัวผู้ปกครองหรือรัฐเอง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่พวกเขาออกและบังคับใช้ด้วยเฉกเช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่น ๆ ในรัฐ เพื่อจะทําให้ การเมืองนั้นวางอยู่บนรากฐานของกฎหมาย และรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่จํากัดโดยตัวกฎหมายเป็นสําคัญ

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเราควรจะปฏิรูปกฎหมายไทยโดยอาศัยแนวความคิด The Rule of Law not the Rule of Man ของอริสโตเติลดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเพื่อเป็นที่มาของกฎหมาย

หมายเหตุ สําหรับในความเห็นของนักศึกษานั้น จะเห็นด้วยหรือไม่กับการปฏิรูปกฎหมายไทย โดยอาศัยแนวความคิดดังกล่าวของอริสโตเติลก็ได้ เพียงแต่ต้องอธิบายและแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย

 

ข้อ 2. (ก) จงอธิบายแนวความคิดของ ซาวิญยี่ ที่ว่า “กฎหมายของชาติใดย่อมเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของชาตินั้น”

(ข) ความยุติธรรมคืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) แนวความคิดของซาวิญยี่ที่ว่า “กฎหมายของชาติใดย่อมเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของชาตินั้น” มีที่มาจากสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์จากช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศสประกอบกับช่วงเวลาที่ให้ความสําคัญของชาติ ซึ่งจากแนวความคิดของซาวิญยี่ดังกล่าว เสดงให้เห็นความคิดของซาวิญยี่ที่ได้อธิบายว่า กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอํานาจ จะกระทําตามอําเภอใจ แต่กฎหมายนั้นเป็นผลผลิตต่อสังคมที่มีรากเหง้าในประวัติศาสตร์ของประชาชน กําเนิดและ เติบโตจากประสบการณ์และหลักความประพฤติทั่วไปของประชาชน ซึ่งปรากฏในรูปประเภทหรือจิตวิญญาณร่วมของประชาชน กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามใจชอบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตัวของมันเองแล้วเติบโต เปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปตามประวัติศาสตร์ หรือลักษณะของชนชาติเหมือนกับต้นไม้ คนหรือสัตว์ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะค่อย ๆ เติบโตไปตามหลักเกณฑ์วิวัฒนาการ หรือกฎหมายเปรียบเสมือนภาษาประจําชาติ ซึ่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการไป ทั้งนี้เพราะกฎหมายเป็นผลผลิตของชนชาติ กฎหมายของชนชาติใดย่อมเป็นไปตามความคิดความรู้สึก ของชนชาติหรือที่เรียกว่าจิตวิญญาณของชนชาติ โดยเขาอธิบายว่าชนชาติแต่ละชนชาติมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ความคิด ความรู้สึกหรือจิตใจย่อมแตกต่างกัน กฎหมายของแต่ละชนชาติเกิดจากจิตวิญญาณของชนชาติที่แสดงออก เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหรือเป็นกว่าหมายประเพณีเป็นสําคัญ

ดังนั้น ชาวิญยี่จึงเสนอว่า ในการบัญญัติกฎหมายจะต้องศึกษาถึงจารีตประเพณีของชนชาติก่อน ฉะนั้นก่อนที่จะมีประมวลกฎหมายจะต้องรู้จารีตประเพณีของชนชาติ ความคิดของซาวิญยี่จึงเน้นจารีตประเพณี และเน้นประวัติศาสตร์ของชนชาติ

(ข) “ความยุติธรรม” เป็นคําหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไร ก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง

1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมะ

3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีนักปราชญ่สมัยกรีกโบราณได้ให้นิยามของความหมายความยุติธรรมไว้ดังนี้

พิทากอรัส (Pythagoras) เป็นผู้เริ่มต้นอธิบายแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในแง่ของความเสมอภาค โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความยุติธรรมในการลงโทษ โดยอธิบายว่าความยุติธรรมนั้นเปรียบได้กับตัวเลขยกกําลังสอง กล่าวคือ มันให้เท่ากันคืนแก่สิ่งที่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นตัวคูณสองตัวที่เหมือนกัน ความยุติธรรมจึงบังคับ ให้ตอบแทนหรือให้รางวัลกรรมดีในระดับหรือปริมาณเดียวกับกรรมดีนั้น หรือในแง่ตรงข้ามหมายถึงการลงโทษบุคคล ให้สาสมเท่าเทียมกับความผิดที่ก่อขึ้น

เพลโต (Plato) ได้ให้คํานิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทํากรรมดีหรือการทําสิ่งที่ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสําคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคม ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ ทุกคนไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบ ตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ

1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและ ความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกําเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลัง ๆ จนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสําคัญของสํานักปฏิฐานนียม ทางกฎหมายที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของ สํานักนี้ด้วย อาทิเช่น

ฮันส์ เคลเซ่น (Hens Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคําสั่งที่เป็นกฎหมาย โดยการปรับใช้คําสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม”

อัลฟ รอสส์ (AIf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง อันเป็น สิ่งตรงข้ามกับการกระทําสิ่งใดตามอําเภอใจ”

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คําพิพากษาเก่า ๆ และคําพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอ ๆ แต่คําที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคําไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัย ซึ่งไม่เป็นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไรเป็นยุติธรรม ไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่ จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”

2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรมได้รับ การเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็นความคิด อุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรม ซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทํานองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้งเป็น วิธีคิดอุดมคตินิยมซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสาร ของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกํากับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มีมา ช้านานแล้ว ดังเช่น

คดีอําแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อําแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี ตุลาการ ก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคําพิพากษานี้ รวมทั้งกฎหมาย ที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชําระสะสางกฎหมายใหม่จนกลายเป็น กฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจาก บุคคลสําคัญของไทย เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดําริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพ สูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษา ความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อน กฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้”

ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายแนะนําไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่าน ไว้ว่า “การที่มีคําใช้อยู่ 2 คํา คือ “กฎหมาย” คําหนึ่ง “ความยุติธรรม” คําหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่ สิ่งเดียวกันเสมอไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฏหมาย ไม่คํานึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้น เป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”

 

ข้อ 3. (ก) หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยคืออะไร มีอะไรบ้าง จงอธิบาย

(ข) จงเปรียบเทียบหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยกับปรัชญากฎหมายของตะวันตก

ธงคําตอบ

(ก) หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสําคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

หลักทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมอันสําคัญยิ่งสําหรับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง 10 ประการ ดังนี้

1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและให้วิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นและให้ประการอื่น ๆ เช่น กําลังกาย กําลังความคิด ตลอดจนคําแนะนําที่รวมแล้วเรียกว่า ธรรมทาน

2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4 อาซชวะ คือ ความซื่อตรง

5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน

6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสําเร็จโดยไม่ลดละ

7 อักโกระ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใคร

8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์เดือดร้อน

9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลําบาก ทั้งที่เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

หลักธรรมทั้ง 10 ประการนี้ อาจกล่าวว่าเป็นหลักธรรมทางกฎหมายในแง่พื้นฐานของการใช้อํานาจ ทางกฎหมาย ถึงแม้โดยเนื้อหา ทศพิธราชธรรม จะมีลักษณะเป็นจริยธรรมส่วนตัวของผู้ปกครองก็ตาม เพราะหากเมื่อ จริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถือว่าควรอยู่เบื้องหลังกํากับการใช้อํานาจรัฐ โดยบทบาทหน้าที่ของธรรมะแล้วบทบาทดังกล่าว ย่อมอยู่เบื้องหลังการใช้อํานาจทางกฎหมาย ไม่ว่าจะในรูปของการนิติบัญญัติหรือการบังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน มองที่จุดนี้ ทศพิธราชธรรมย่อมดํารงอยู่ในฐานะหลักธรรมสําคัญในปรัชญากฎหมายของไทยอีกฐานะหนึ่งด้วย

(ข) หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1 กฎหมายได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายเห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางาฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

ซึ่งหลักการทั้ง 4 ประการนี้ ถือเป็นหัวใจสําคัญของปรัชญากฎหมายในพระธรรมศาสตร์ ซึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายธรรมชาติของฝ่ายตะวันตกแล้ว เปรียบเสมือนหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยสมัยโบราณ ภายใต้ปรัชญากฎหมายแบบพุทธธรรมนิยม โดยเรียกว่า “หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” ซึ่งมีอิทธิพลความสําคัญต่อสังคมไทยสมัยโบราณเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ และหลักทศพิธราชธรรมซึ่งเป็นหลักการข้อ 4 ของหลักจตุรธรรมก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนา จึงทําให้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมซึ่งทําให้ผู้คน ในบ้านเมืองสมัยนั้นอยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น

และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง “หลักจตุรธรรม” กับปรัชญากฎหมายของตะวันตก หรือกฎหมาย ธรรมชาติที่มีหลักการที่สําคัญ คือ “Lex iniusta non est lex” หรือ “กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมาย” แล้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันตรงที่ว่า ตามหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย จะกําหนดให้พระมหากษัตริย์ จะต้องคํานึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ทุกคราวที่ตรากฎหมาย กล่าวคือ การตรากฎหมายจะต้องไม่ขัดแย้งกับ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เช่น กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีความแตกต่างกันได้ กล่าวคือ ถ้าในกรณีเกิดมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรง สนพระทัยต่อคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์หรือขัดกับหลักจตุรธรรม แห่งปรัชญากฎหมายไทย เช่น ขัดกับธรรมะหรือศีลธรรม ทําให้กฎหมายไม่เป็นธรรม ดังนี้ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้สูง ที่จะมีการดึงดันให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ แต่ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรมหรือเป็น กฎหมายที่เลวอยู่บ้างอย่างเงียบ ๆ และคาดเดากันว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ได้ไม่นานทั้งเป็นกฎหมายที่ไม่ควรเคารพเชื่อฟัง

 

Advertisement