การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายธรรมชาติคืออะไร มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ 5 ยุค อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1 ความหมายทั่ว ๆ ไป กฎหมายธรรมชาติหมายถึง กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้นเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จํากัดกาลเทศะ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่าง ๆ ในอุดมคติซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น

ซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล กฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่ม ส่วนรวม หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมการณ์)

2 ความหมายในทางทฤษฎี แบ่งเป็น 2 ทฤษฎี คือ

1) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและโรมันถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16) ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมาย อุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ จะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย

2) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่า หลักกฎหมายธรรมชาติ เป็นเพียงอุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับ หลักการของกฎหมายธรรมชาติ แต่ถ้าตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ แต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรน ประนีประนอมมากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ดังนี้ 1 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน มีสาระสําคัญดังนี้

1) จุดก่อตัวและช่วงเวลา ยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิส นักปรัชญาชาวกรีกที่มีอายุในช่วง 540 – 480 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะ ความจริงเกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสารของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง ระเบียบและเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2) การเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติ แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต (427 – 347 ปีก่อนคริสตกาล) อธิบายว่า เข้าถึงได้โดยการใช้ญาณปัญญา อันบริสุทธิ์ แต่ก็มีเพียงนักปราชญ์เท่านั้นที่เพลโตเห็นว่าจะเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้

อริสโตเติล (384 – 322 ปีก่อนคริสตกาล) ศิษย์ของเพลโตเห็นว่า กฎหมายธรรมชาตินั้นมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยการใช้ “เหตุผลอันบริสุทธิ์” เนื่องจากอริสโตเติลพบว่าเหตุผลของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

สํานักสโตอิค (ก่อตั้งขึ้นศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลโดยเซโน) ยืนยันตามแนวคิด ของอริสโตเติลว่า “มนุษย์เข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้โดยการใช้เหตุผล” เหตุผลที่ว่านี้ก็อยู่ในฐานะเป็นพลังทางจักรวาล ซึ่งเข้าครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งเป็นพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรมด้วย

3) บทบาทความสําคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต ให้ความสําคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่าเป็นแบบหรือความคิดอันไม่มีวัน เปลี่ยนแปลง ที่ให้เป็นบรรทัดฐานต่อกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายใด ๆ ที่รัฐตราขึ้นต้องสอดคล้องกับแบบหรือ กฎหมายธรรมชาตินี้ มิเช่นนั้นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นกฎหมายได้

อริสโตเติล ให้ความสําคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่า เป็นกฎหมายที่เหมาะสม ในการปกครองสังคม แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกฎหมายที่รัฐตราขึ้นขัดกับกฎหมายธรรมชาติผลจะเป็นอย่างไร

2 โสฟิสต์บางกลุ่ม อ้างกฎหมายธรรมชาติขึ้นมาต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งอ้างเพื่อผลักดันให้ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และระบบทาส (โสฟิสต์เป็นกลุ่มนักคิด ชอบใช้วาทะในการโต้เถียง มีในสมัยศตวรรษที่ 4 – 5 ก่อนคริสตกาล)

ในชั้นของอาณาจักรโรมัน ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนก็ถือว่า กฎหมายธรรมชาติมีส่วนในการพัฒนาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคคล ทรัพย์ หนี้ มรดกหรือลาภมิควรได้

2 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง มีสาระสําคัญดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม ยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 12 โดยประมาณ ส่วนยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 16 โดยประมาณ ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น แบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคําสอนทางศาสนา หรือบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอํานาจเหนือฝ่ายอาณาจักร โดยยืนยันได้จาก ความคิดของเซนต์ ออกัสติน ที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

2) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ เนื่องจากกฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ เป็นแบบคริสเตียน จึงปรากฏงานนิพนธ์ของ เซนต์ โทมัส อไควนัส (ค.ศ. 1226 – 1274) เรื่อง “Summa Theologica” สรุปว่า “หลักธรรมหรือโองการหรือเจตจํานงของพระเจ้าคือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ” เป็นการหักมุมแนวคิด ของอริสโตเติลที่ว่า “มนุษย์สามารถค้นพบกฎหมายธรรมชาติได้โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์เอง” กล่าวคือ อไควนัส เห็นว่าเครื่องมือในการค้นหากฎหมายธรรมชาตินั้นปรากฏอยู่ใน “เหตุผลของพระเจ้า” ไม่ใช่เหตุผลของมนุษย์

3) คุณค่าความสําคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ปรากฏในงานเขียนของอไควนัส ซึ่งเขาได้แบ่งกฎหมายออกเป็น 4 ประเภท กฎหมายธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น อไควนัสบอกว่า กฎหมายธรรมชาติ มนุษย์สามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยเหตุผลเหมือนกับอริสโตเติล แต่อไควนัสนั้นบอกว่า เหตุผลของมนุษย์เป็น คุณสมบัติธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้อีกทีหนึ่ง ไม่ใช่มีอยู่และในธรรมชาติเหมือนอริสโตเติลนําเสนอไว้

อไควนัส ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นเสมือนภาพสะท้อนอันไม่สมบูรณ์ซึ่งเหตุผล อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า แต่กฎหมายธรรมชาตินี้ก็มีความสําคัญในฐานะเป็นหลักชี้นําการกระทําต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยมีหลักธรรมพื้นฐานคือ การทําดีและละเว้นความชั่ว ซึ่งกฎหมายธรรมชาตินี้ อไควนัสถือว่ามีค่าบังคับสูงกว่า กฎหมายที่มนุษย์หรือรัฐบัญญัติขึ้น กล่าวคือ ถ้าขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติก็จะไม่ถือว่ากฎหมายนั้น เป็นกฎหมาย แต่เป็นความวิปริตของกฎหมายไป

3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป มีสาระสําคัญดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม ยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป ฝ่ายอาณาจักร ขึ้นมามีอํานาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สําเร็จ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจาก คริสต์ศาสนาเช่นกัน รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม คล้าย ๆ กับที่อริสโตเติลหรือสํานักสโตอิค แห่งกรีกโบราณนําเสนอไว้

2) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ ว่าจะตราหรือบัญญัติกฎหมายอย่างไรขึ้นใช้ในสังคม ถูกนําเสนอโดยฮูโก โกรเซียส ชาวเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1583 – 1645) มีแนวคิดว่า “เหตุผลและสติปัญญาของ มนุษย์คือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ” โดยถือว่าเหตุผลและสติปัญญานี้ปรากฏอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์เอง สิ่งที่โกรเซียสยืนยันก็คือ “ธรรมชาติของมนุษย์คือมารดาของกฎหมายธรรมชาติ และซึ่งจะคงปรากฏอยู่มาตร (แม้) ว่าจะไม่มีพระเจ้าแล้วก็ตาม”

(3) ลักษณะและความสําคัญในเชิงบทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ถือว่ามีบทบาทที่สําคัญยิ่ง เริ่มที่โกรเซียสได้นําเอาหลักกฎหมายธรรมชาติ บางเรื่องไปเป็นรากฐานในการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ ควบคุมกิจการหรือกติกาในการทําสงครามระหว่างรัฐ จนได้รับยกย่องว่า เป็นบิดาของกฎหมายระหว่างประเทศเลยทีเดียว

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่ม บทบาทความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว โดยผ่านนักคิดหลาย ๆ คนในยุคนี้ เช่น พูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์, สปินโนซ่า, จอห์น ลอค, มองเตสกิเออ, รุสโซ, วูล์ฟ เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นําไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม, นําไปสู่ข้อยืนยันว่ากําลังหรืออํานาจไม่ใช่ ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่, สนับสนุนเรื่องความเสมอภาค ของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สําคัญคือเป็นที่มา หรือรากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นยุคแห่งเหตุผล” เนื่องจาก อิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงําไปทั่วยุโรป

4 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาติรัฐนิยม (ความเสื่อมและการฟื้นตัวของกฎหมายธรรมชาติ) มีสาระสําคัญดังนี้

1) ภาพโดยรวมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคนี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 18 กฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งแล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

2) เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมลง มีสาเหตุหลัก 2 เรื่องคือ

กระแสสูงของลัทธิชาตินิยม ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามและเข้ามาบดบังลัทธิ ปัจเจกชนนิยมที่เป็นแกนกลางสําคัญในปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาท แบบวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐานทําให้เกิดลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของ ศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่าจะเป็นกฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

3) เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับการเชื่อถืออีกครั้ง สาเหตุที่ทําให้ กฎหมายธรรมชาติได้รับการนิยมขึ้นมาอีก เพราะวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ปฏิฐานนิยม ทางกฎหมายก็ถูกนําไปใช้สนับสนุนเรื่องอํานาจนิยม การใช้อํานาจโดยมิชอบ ที่สําคัญก็คือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิด ๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติ หรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยมจึงปรากฏความสําคัญขึ้นอีกครั้ง

4) บทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติภายหลังที่ฟื้นตัวแล้ว พออธิบายได้ดังนี้

สแตมม์เลอร์ ชาวเยอรมันประกาศความคิดเรื่อง “กฎหมายธรรมชาติซึ่งมี เนื้อหาอันเปลี่ยนแปลงได้ในฐานะเป็นหลักความยุติธรรม” ซึ่งสะท้อนความต้องการอันไม่แน่นอนของชนชาติหนึ่ง ในยุคสมัยหนึ่ง ๆ ขณะที่มาตรฐานแห่งความยุติธรรมเป็นการเน้นความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ระหว่างปัจเจกชน กับสังคม

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ได้ถูกนําไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในระดับ ข้อเท็จจริงและวิกฤติการณ์ทางคุณค่าด้วย โดยเฉพาะในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายธรรมชาติได้ เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินคดีเพื่อลงโทษทหารนาซีเยอรมัน โดยถือว่ากฎหมายที่ขัดกับมนุษยธรรมที่นาซีบัญญัติขึ้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย นอกจากนั้นการปรากฏตัวขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยมนุษยชน ค.ศ. 1948 ก็เขียนขึ้นภายใต้ อิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

5 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในยุคปัจจุบัน ปรัชญากฎหมายธรรมชาติมีบทบาทอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ

1) ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย หรือยืนยันในความเชื่อมั่น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จําต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่าง ๆ

2) ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สําคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอม มากขึ้น กล่าวคือ ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ ตามความคิดแบบเก่า ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฏจากความคิดของจอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่ บอกว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมายที่ ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอํานาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ หน้าที่ทางศีลธรรม เที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจําต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จะนํามาซึ่ง ความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

 

ข้อ 2. ความยุติธรรมคืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมาย หรือไม่อย่างไร จงอธิบาย ธงคําตอบ

“ความยุติธรรม” เป็นคําหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไร ราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็น

1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมะ

3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนําเสนอความหมายไว้ที่สําคัญ ๆ ได้แก่

เพลโต (Plato) ได้ให้คํานิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทํากรรมดีหรือการทําสิ่งที่ ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสําคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรม อื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคม ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ ทุกคนไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบ ตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ

1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและ ความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกําเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลัง ๆ จนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสําคัญของสํานักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสํานักนี้ด้วย อาทิเช่น

ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคําสั่งที่เป็น กฎหมาย โดยการปรับใช้คําสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม”

เรอัลฟ รอสส์ (Alf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทําสิ่งใดตามอําเภอใจ”

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คําพิพากษาเก่า ๆ และคําพิพากษา เดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอ ๆ แต่คําที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคําไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกัน ตามนิสัย ซึ่งไม่เป็นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่ จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”

2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรม ได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็น ความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรม ซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทํานองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้ง เป็นวิธีคิดอุดมคตินิยมซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฏเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสาร ของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกํากับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มี มาช้านานแล้ว ดังเช่น

คดีอําแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อําแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี ตุลาการก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคําพิพากษานี้ รวมทั้ง กฎหมายที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชําระสะสางกฎหมายใหม่ จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจาก บุคคลสําคัญของไทย เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดําริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพ สูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความ ยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะ ไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้”

ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายแนะนําไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่าน ไว้ว่า “การที่มีคําใช้อยู่ 2 คํา คือ “กฎหมาย” คําหนึ่ง “ความยุติธรรม” คําหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่ง เดียวกันเสมอไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมาย ไม่คํานึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้น เป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”

 

ข้อ 3. จงอธิบายแนวพระราชดําริทางปรัชญากฎหมายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระมหากษัตริย์ปัจจุบัน

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น สืบแต่พระองค์ทรงเป็นพระประมุขของชาติที่ทรงใส่พระทัยอย่างสูงต่อเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระบรม ราโชวาทและพระราชดํารัสของพระองค์ที่ทรงมีต่อนักกฎหมายหรือคณะบุคคลต่าง ๆ ในหลายวโรกาสได้สําแดงออก ซึ่งความคิดเชิงปรัชญากฎหมายอย่างลึกซึ้ง จนมีผู้เรียกขานว่าเป็น ปรัชญากฎหมายข้างฝ่ายไทย

แนวพระราชดําริทางปรัชญากฎหมายของพระองค์ประกอบด้วยประเด็นทางความคิดหลายเรื่อง เช่น เรื่องความยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมและเสรีภาพ, กฎหมายกับความเป็นจริง ในประชาสังคม, ความสําคัญของการปกครองโดยกฎหมาย, ปัญหาเรื่องความไม่รู้กฎหมายของประชาชนและ การปรับใช้กฎหมาย ตลอดจนเรื่องบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม หัวใจแห่ง พระราชดําริคงอยู่ที่เรื่อง “กฎหมายกับความยุติธรรม” ซึ่งเชื่อมโยงโดยใกล้ชิดกับเรื่องกฎหมายกับความเป็นจริง ของชีวิตประชาชนในสังคม

ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดถือธรรมหรือ ความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย อันเป็นความคิดคนละขั้วกับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่เน้นย้ํา แต่เรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายหรือถือเอากฎหมายเป็นตัวความยุติธรรมในพระราชดําริของพระองค์ กฎหมายมิใช่ ตัวความยุติธรรมโดยตรงและผู้ใช้กฎหมายซึ่งคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นใหญ่ ก็ต้องไม่ติดอยู่กับตัวอักษรกฎหมาย อย่างเดียว ในการอํานวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริง ๆ ความเช่นนี้อาจพิจารณาได้จากพระบรมราโชวาทในหลาย ๆ พระวโรกาส เช่น

1 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาผู้สําเร็จการศึกษาเป็น เนติบัณฑิต ณ เนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ความว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษา ความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญไปยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อน กฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้”

2 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2522 ความว่า “ผู้ที่ได้ผ่านสํานักอบรมศึกษากฎหมายทุกคน ควรจะได้รับ การชี้แจงเน้นหนักให้ทราบชัดว่า กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้ เพื่อรักษาความยุติธรรม จึงไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขต ของกฎหมาย จําเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”

ความที่พระองค์ทรงถือเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมายโดยนัยหนึ่งย่อมหมายถึง พระราชประสงค์ที่จะให้กฎหมายกําเนิดขึ้นหรือเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม หาใช่การปล่อยให้กฎหมายและการใช้ กฎหมายเป็นไปในลักษณะที่สวนทางกับความยุติธรรมหรือศีลธรรมจรรยา หรือหาใช่ปล่อยให้กฎหมายเป็นกลไก แห่งการกดขี่ของผู้ปกครองไป หลักคุณค่าเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองหรือเสรีภาพ นับเป็นวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายตามพระราชดําริของพระองค์ที่ว่า “เราจะต้องพิจารณาในหลักว่ากฎหมายมีไว้สําหรับให้มีความสงบสุข ในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สําหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สําหรับให้บุคคลส่วนมาก มีเสรีภาพและอยู่ได้ด้วยความสงบ” พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันระพี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ณ พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516

อนึ่ง ที่ละเว้นไปเสียมิได้เลยก็คือในพระบรมราโชวาทซึ่งทรงพระราชทานในหลายวโรกาส พระองค์ได้ตรัสพาดพิงไปถึงเรื่องการบุกรุกป่าสงวนของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมายกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยรวมความตามแนวพระบรมราโชวาทแล้วก็มีสาระสําคัญว่า “กฎหมายกับความเป็นอยู่จริงอาจขัดกันได้ กฎหมายมีช่องโหว่มาก เพราะไปปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยลอกแบบต่างชาติมาโดยไม่ดูว่าเหมาะสม กับความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ บางทีการปกครองก็ไปไม่ถึงชุมชนห่างไกล กฎหมายที่รัฐตราขึ้นเป็นอย่างไร ก็ไม่รู้ ทําให้เขาตั้งกฎหมายใช้กันเอง ซึ่งบางจุดก็ขัดกับกฎหมายของรัฐ การตราพระราชบัญญัติป่าสงวนที่ผ่านมา ปัญหามันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเก้าอี้ขีดบนแผนที่ว่าตรงไหนเป็นป่าสงวน โดยไม่ลงพื้นที่ดูว่าเป็นอย่างไร ความจริงก็คือมีราษฎรเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว อยู่ ๆ ก็ไปตราเป็นกฎหมาย ไปชี้ว่าเป็น ป่าสงวนกลายเป็น ว่าราษฎรบุกรุกป่าสงวน แน่นอนว่าถ้าดูตามกฎหมายราษฎรก็ผิดเพราะว่าตรามาเป็น กฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติแล้ว คนที่ทําผิดกฎหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปขีดเส้นว่าป่าที่ ราษฎรอยู่เป็นป่าสงวน เพราะว่าราษฎรเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ ความหมายก็คือ ทางราชการ นั้นแหละไปรุกรานบุกรุกราษฎรไม่ใช่ราษฎรบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง” สาระสําคัญโดยรวมคือ เป็นแนวพระราชดําริ ที่ทรงเตือนสติให้คํานึงถึงเรื่องกฎหมายและความสอดคล้องกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งโดยนัยแล้วก็ ไม่แตกต่างกับที่ทรงย้ำว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรมหรืออย่ายึดติดอยู่กับถ้อยคําในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมคือจุดหมายปลายทางแห่งการใช้อํานาจรัฐทางด้านกฎหมายและความยุติธรรมต้อง ผูกติดอยู่กับธรรมะ ความถูกต้อง และความเป็นจริง

Advertisement