การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. เพราะเหตุใดจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) กําเนิดขึ้นในลักษณะตอบโต้การรุกของทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายสังคมนิยม และนักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรต่อข้อวิจารณ์ความบกพร่องบางประการในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
ธงคําตอบ
ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอาสังคมวิทยา ไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมายอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมโดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและ ผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการ คือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ สังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิด ความสมดุล
ส่วนทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายสังคมนิยมจะเสนอบทวิพากษ์และคาดทํานายความเป็นจริง ของกฎหมายจากแง่มุมเศรษฐศาสตร์การเมืองและวัตถุนิยม มองกฎหมายเป็นเพียงกลไกเพื่อรับใช้ประโยชน์ของ คนบางชนชั้นที่มีอํานาจในสังคม มิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระในการใช้ประนีประนอมผลประโยชน์ขัดแย้งทั้งหลาย โดยสรุปบทบาทของกฎหมายเป็น 3 ประการ คือ
1 กฎหมายเป็นผลผลิตหรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจโดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น ๆ
2 กฎหมายเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอํานาจของตน
3 ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคมจะเหือดหายและสูญสิ้นไปในที่สุด
ดังนั้น จะเห็นว่าทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายสังคมนิยมจะมีจุดยืนที่มองกฎหมายในแง่ลบ ทําให้เกิดกระแสโต้แย้งกลับจากหลายฝ่าย รวมทั้งนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาที่เชื่อมั่นศรัทธาในกฎหมายและมองกฎหมาย ในแง่บวก ในฐานะเป็นเครื่องมือถ่วงดุลและคานผลประโยชน์ในสังคมให้เกิดความเป็นธรรม
สําหรับข้อวิจารณ์ความบกพร่องบางประการในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นิยามผลประโยชน์, ความไม่แน่ชัดของบรรทัดฐานชี้ขาดความสมดุลผลประโยชน์, ความไร้ประสิทธิภาพของกฎหมาย เพื่อสังคม เป็นประเด็นที่นักศึกษาจึงหยิบยกขึ้นพิจารณาและวิจารณ์อย่างอิสระ
ข้อ 2 หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ของฟุลเลอร์ (Lon Futler) แตกต่างจากหลักนิติธรรมตามแนวคิดของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists : ICI) อย่างไร และใน ทัศนะของนักศึกษา การยึดมั่นปฏิบัติตามหลักนิติธรรมของฟลเลอร์จะนําไปสู่การบัญญัติกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเชิงเนื้อหาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักนิติธรรมของฟุลเลอร์ (Lon Futler) นั้น ปรากฏอยู่ในหลักกฎหมายธรรมชาติ ซึ่งมีแนวคิด ว่า สาระสําคัญที่ขาดไม่ได้ของกฎหมายจนกลายเป็นวัตถุประสงค์กํากับอยู่ก็คือ ความจําเป็นที่ต้องมีศีลธรรม ดํารงอยู่ในกฎหมายดังเงื่อนไขสําคัญ 8 ประการที่ฟูลเลอร์ถือเสมือนว่าเป็นการมีศีลธรรมภายในกฎหมาย หรือเป็น กฎหมายธรรมชาติในเชิงกระบวนการ ได้แก่
1 จะต้องมีลักษณะทั่วไป
2 จะต้องถูกตีพิมพ์เผยแพร่ให้ปรากฏแก่สาธารณะ
3 จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง
4 จะต้องมีความชัดแจ้งและสามารถเข้าใจได้
5 จะต้องไม่เป็นการกําหนดบังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
6 จะต้องไม่มีความขัดแย้งกัน
7 จะต้องมีความมั่นคง แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป
8 จะต้องมีความกลมกลืนกันระหว่างกฎเกณฑ์ที่ถูกประกาศใช้กับการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นเรื่องของความสอดคล้องระหว่างการกระทําของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและตัวบทกฎหมายที่ประกาศใช้
ส่วนคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists : IJ) มีแนวคิดเกี่ยวกับหลักนิติธรรมว่า หมายถึง หลักการ สถาบัน และกระบวนการที่ไม่จําต้องเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ คล้ายคลึงกันโดยทั่วไป ซึ่งจากประสบการณ์และประเพณีของนักกฎหมายในประเทศต่าง ๆ ในโลกซึ่งมีโครงสร้าง การเมืองและพื้นฐานทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า หลักการ สถาบัน และกระบวนการนี้เป็น สิ่งสําคัญต่อการปกครองปัจเจกบุคคลจากรัฐบาลที่ใช้อํานาจตามอําเภอใจ และทําให้เขาสามารถชื่นชมในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ได้ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของการนิติบัญญัติในสังคมแห่งเสรีภาพภายใต้หลักนิติธรรมที่จะต้อง สร้างสรรค์และคงไว้ซึ่งเงื่อนไขที่จะส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ศักดิ์ศรีดังกล่าวมีเพียง เรียกร้องให้มีการยอมรับในสิทธิทางแพ่งและทางการเมืองเท่านั้น แต่หากหมายรวมถึงการสถาปนาเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการพัฒนาบุคลิกภาพในตัวมนุษย์อย่างเต็มที่
ดังนั้น จะเห็นว่า หลักนิติธรรมของฟุลเลอร์นั้น จะเน้นรูปแบบที่เป็นทางการและกระบวนการ นิติบัญญัติที่ชอบธรรม ขณะที่หลักนิติธรรมของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล จะให้ความสําคัญต่อหลักการ สถาบัน และกระบวนการที่ชอบธรรมทางกฎหมาย ผนวกแนวคิดเรืองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ โดยเน้นย้ำเรื่องความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมในตัวกฎหมาย อันเป็นสาระที่ไม่ปรากฏในหลักนิติธรรม ของฟุลเลอร์ และทําให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า การยึดมั่นในหลักนิติธรรมของฟุลเลอร์อาจนําไปสู่การบัญญัติกฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรมเชิงเนื้อหาได้
ข้อ 3. วิเคราะห์-วิจารณ์บทสรุปเรื่องการมีมาตรฐานสองชั้น/สองมาตรฐาน (Double Standard) ทางกฎหมาย/อํานาจในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม และการปฏิรูปบ้านเมือง ศาสนา-กฎหมายในยุคสมัย ร.4 – ร.5 ส่งผลกระทบสําคัญต่อปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
ลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะ ธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู หลักเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา
และเมื่อพิจารณาจากภาพรวมทางความคิดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นด้วยตอบทสรุปเรื่องการมีมาตรฐาน สองชั้นหรือสองมาตรฐาน (Double Standard) ทางอํานาจหรือกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ตามหลักปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมนั้น จะตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะธรรมนิยม แต่ในขณะ เดียวกันก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช รวมทั้งแนวความคิดระบบศักดินา ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในสมัยอยุธยา จนทําให้การใช้พระราชอํานาจของ พระมหากษัตริย์หรือกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมมีลักษณะเป็นมาตรฐานสองชั้นที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น ในสมัยอยุธยานั้น พระราชโองการของพระมหากษัตริย์จะไม่ใช่คําสั่งของมนุษย์ผู้มีอํานาจสูงสุดในแผ่นดินอีกต่อไป แต่กลายเป็นเทวโองการที่มนุษย์ธรรมดาไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดแย้งหรือวิจารณ์หรือแม้แต่จะแสดงความคิดเห็น ในทางใดทั้งสิ้น เป็นต้น (นักศึกษาสามารถวิเคราะห์-วิจารณ์ได้อย่างอิสระ โดยให้เหตุผลที่เหมาะสม)
– ส่วนการปฏิรูปบ้านเมือง-ศาสนา-กฎหมายในยุคสมัย ร.4 ร.5 นั้น ส่งผลกระทบให้เกิดการ ตีความธรรมะในกฎหมายที่มีลักษณะบริสุทธิ์และมนุษยนิยมมากขึ้น รวมทั้งคลายตัวจากแนวคิดอํานาจนิยมและ เทวราชาแบบเก่าซึ่งปรากฏอยู่ในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม และยังต่อเนื่องมาจนถึงสมัย ร.4 อีกทั้งการปฏิรูป ดังกล่าวยังทําให้เกิดการขยายตัวของกฎหมายที่ยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ขณะที่การปฏิรูปกฎหมาย ในสมัย ร.5 นั้น นําไปสู่การตกเสื่อมของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม และการปรากฏตัวของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย กล่าวคือ ปรากฏแนวคิดที่ว่ากฎหมายเป็นผลผลิตหรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยอํานาจปกครองในสังคมนั่นเอง