การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ริกะเกิดที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2538 จากมารดาและบิดาคนสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งจดทะเบียนสมรสกันโดยบิดาและมารดาของริกะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทําวิจัยในประเทศไทย ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ริกะเป็นผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมาย หรือบิดาซึ่งมิได้ สมรสกับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รกะเกิดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2538 นั้น ถือว่าริกะเกิดในราชอาณาจักรไทย ภายหลังจากที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ประกาศใช้บังคับแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบิดาและ มารดาของริกะเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกัน โดยบิดาและมารดาของริกะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาต ให้เข้ามาทําวิจัยในประเทศไทย ดังนั้น แม้ว่าริกะจะเกิดในราชอาณาจักรไทย ริกะก็ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 (2) เนื่องจากริกะเป็นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง (2) กล่าวคือ ริกะเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดา และมารดาเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่ริกะเกิดนั้นบิดาตามกฎหมายหรือมารดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

สรุป

ริกะไม่ได้รับสัญชาติไทย

 

ข้อ 2 นายทงยูคนสัญชาติเกาหลีได้สละสัญชาติเกาหลี และได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ และต่อมา นายทงยูก็ถูกถอนสัญชาติไทย โดยปัจจุบันนายทงยูมีถิ่นที่อยู่ประเทศคิวบา ในขณะเดียวกันนั้นเอง เกิดคดีขึ้นสู่ศาลไทย และประเด็นข้อพิพาทมีว่านายทงยูมีความสามารถทํานิติกรรมซื้อเครื่องเพชร จากนายสุดหล่อที่กรุงเทพฯ หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรนํากฎหมายประเทศใด ขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคสาม “ สําหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลําเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ”

มาตรา 10 วรรคหนึ่ง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตาม กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ศาลไทยควรนํากฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักใน การพิจารณาและวินิจฉัย เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า นายทงยูจะมีความสามารถทํานิติกรรมซื้อเครื่องเพชร จากนายสุดหล่อที่กรุงเทพฯ ได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตาม กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายทงยุคนสัญชาติเกาหลีมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศคิวบา โดยได้สละสัญชาติเกาหลีและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายทงยได้ ตกเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะนายทงยูได้ถูกถอนสัญชาติไทยแล้ว ดังนั้น การจะนํากฎหมายประเทศใดมาปรับ แก่ข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกัน” พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม ซึ่งมีหลักคือ

1 ถ้าปรากฏภูมิลําเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาของบุคคลนั้นบังคับ หรือ

2 ถ้าไม่ปรากฏภูมิลําเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทงยูเป็นบุคคลผู้ไร้สัญชาติและไม่ปรากฏว่ามีภูมิลําเนาอยู่ที่ใด กรณี เช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศคิวบาซึ่งเป็นกฎหมายที่นายทงยูมีถิ่นที่อยู่บังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม

ผลจึงเป็นว่า ศาลไทยจึงควรนํากฎหมายประเทศคิวบาขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย ประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายทงยูที่ว่านี้

สรุป

ศาลไทยควรนํากฎหมายประเทศคิวบาขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็น ข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายทงยู

 

ข้อ 3 นายเดวิด สัญชาติอเมริกัน ได้ใช้อาวุธปืนจี้เครื่องบินซึ่งจดทะเบียนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในขณะที่ผู้โดยสารและลูาเรือได้ขึ้นเครื่องเรียบร้อยและประตูเครื่องบินได้ปิดลงแล้ว แต่เครื่องบิน ยังคงจอดรอที่ช่องจอดเพื่อรอสัญญาณให้นักบินพาเครื่องบินเคลื่อนตัวไปยังทางขึ้นลงของเครื่องบิน (Runway) ของสนามบินประเทศสิงคโปร์ โดยนายเดวิดได้จับตัวนายลีผู้โดยสารอีกคนบนเครื่องบิน ดังกล่าวเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้นักบินนําเครื่องไปที่ประเทศญี่ปุ่นแทนประเทศจีนอันเป็น ปลายทางเดิม อย่างไรก็ตามนักบินได้นําเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานประเทศจีนได้อย่างปลอดภัย โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้ร่วมกันจับตัวนายเดวิดได้ในที่สุด ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า การกระทําของนายเดวิด เป็นความผิด ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 บัญญัติว่า ความผิดฐานสลัดอากาศ หมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้นกระทําการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัย ของอากาศยาน โดยใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยาน หรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชา ของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้รวมถึง การพยายามกระทําความผิด

ความผิดตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ เป็นการกระทําในขณะเครื่องบินกําลังบินหรืออยู่ระหว่างบิน หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่เมื่อประตูเครื่องถูกปิดหลังจากได้มีการขึ้นเครื่องเรียบร้อย จนกระทั่งประตูถูกเปิด เพื่อให้ลงจากเครื่องนั้นอีกครั้ง

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทําของนายเดวิดถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ เนื่องจากเป็น การใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อที่จะยึดเครื่องบินให้เปลี่ยนเส้นทางบินไปลงจอดที่ประเทศญี่ปุ่นแทนประเทศจีน แม้ว่าขณะกระทําความผิดเครื่องบินยังคงจอดอยู่ที่ช่องจอด เพื่อรอสัญญาณให้นักบินพาเครื่องบินเคลื่อนตัวออกจาก ช่องจอดไปยังทางขึ้นลงของเครื่องบิน (Runway) ก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทําภายหลังที่ประตูเครื่องบินได้ถูกปิดลง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาระหว่างบินตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ แม้ว่าในที่สุดนักบินได้นําเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยาน ประเทศจีนได้อย่างปลอดภัย โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้ร่วมกันจับตัวนายเดวิดได้ในที่สุด การกระทําดังกล่าว ก็ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามมาตรา 1 แห่งอนุสัญญากรุงเฮกฯ ค.ศ. 1970 ซึ่งรวมถึงการพยายาม กระทําความผิดด้วย

สรุป

การกระทําของนายเดวิดเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัด การยืดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970)

 

ข้อ 4 จงอธิบายหลักเกณฑ์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างน้อย 5 ประการ มาให้ถูกต้องและครบถ้วน

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ได้แก่

1 บุคคลที่ถูกขอให้ลงตัวเป็นผู้กระทําผิดทางอาญา หรือถูกลงโทษในทางอาญาในเขตของประเทศที่ร้องขอ หรือเป็นคดีอาญาที่มีมูลที่จะนําตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

2 ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ หรือคดีที่ศาลของประเทศใด ได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้

3 บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวจะเป็นคนสัญชาติใดก็ได้ อาจจะเป็นพลเมืองของประเทศที่ร้องขอหรือประเทศที่ถูกขอหรือประเทศที่สามก็ได้

4 ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวได้กระทําไปนั้น ต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาของทั้งสองประเทศ คือประเทศที่มีคําขอและประเทศที่ถูกขอให้ส่งตัว

5 ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายกําหนดโทษจําคุกไม่ต่ำกว่า 1 ปี

6 บุคคลที่ถูกขอตัวได้ปรากฏตัวอยู่ในประเทศที่ร้องขอให้ส่งตัว

7 ประเทศเจ้าของที่เกิดเหตุ เป็นผู้ดําเนินการร้องขอให้ส่งตัวโดยปฏิบัติตามพิธีการต่าง ๆครบถ้วนดังที่กําหนดไว้ในสนธิสัญญา หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

8 ผู้ที่ถูกส่งตัวไปนั้น จะต้องถูกฟ้องเฉพาะในความผิดที่ระบุมาในคําขอให้ส่งตัวเท่านั้นหรืออย่างน้อยที่สุด จะต้องเป็นความผิดที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างกัน

9 ต้องไม่ใช่ความผิดบางประเภทที่ไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดน เช่น คดีการเมือง เพราะมีหลักห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง

Advertisement