การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสรศักดิ์เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2516 ที่กรุงเทพฯ จากนางสมใจมารดาผู้มีสัญชาติไทย ส่วนบิดาเป็นที่ปรึกษาสัญชาตินอร์เวย์ในโครงการการเกษตรระหว่างไทยกับนอร์เวย์เป็นเวลา 2 ปี แล้วก็เดินทาง กลับไป ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าสรศักดิ์จะได้สัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ยอมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว

ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ แล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสรศักดิ์จะได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า การที่นายสรศักดิ์เกิดที่ กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการเกิดในราชอาณาจักรไทย ก็ไม่ทําให้นายสรศักดิ์ได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3) ทั้งนี้เพราะนายสรศักดิ์ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่เกิดบิดาเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 ประกอบกับข้อ 1 (2)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ย่อมมีผลทําให้นายสรศักดิ์กลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ที่กําหนดให้บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้ สัญชาติไทยโดยการเกิด และตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. สัญชาติฯ ฉบับนี้ ยังได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติมาตรา 7 (1)

มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น นายสรศักดิ์จึงได้รับ สัญชาติไทย เพราะเกิดจากนางสมใจมารดาซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยถือว่านายสรศักดิ์ได้รับสัญชาติไทยย้อนหลัง ไปตั้งแต่นายสรศักดิ์เกิด

สรุป

นายสรศักดิ์จะได้รับสัญชาติไทย

 

ข้อ 2 ลานาหญิงสัญชาติบรูไนสมรสกับกิมชายสัญชาติเกาหลี กฎหมายสัญชาติบรูไนกําหนดว่าหญิงบรูไนสมรสกับคนต่างชาติจะไม่เสียสัญชาติบรูไน จนกว่าหญิงนั้นจะแสดงความจํานงสละสัญชาติบรูไน และกฎหมายสัญชาติเกาหลีกําหนดว่าหญิงต่างด้าวซึ่งสมรสกับชายเกาหลีย่อมได้สัญชาติเกาหลี โดยการสมรส ส่วนกฎหมายภายในบรูไนกําหนดว่าบุคคลมีความสามารถจะทํานิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายภายในเกาหลีต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริง ปรากฏว่าลานายังไม่ได้แสดงความจํานงสละสัญชาติบรูไน และในขณะที่ลานามีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อทํานิติกรรมซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มจํานวน 10 เครื่อง จากนายเก่ง คนสัญชาติไทย หลังจากนั้นลานากับนายเก่งมีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า ลานา มีความสามารถทํานิติกรรมที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคแรก “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติ ขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลําดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ”

มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อม เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะ ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่าลานา จะทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์มจากนายเก่งคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นกรณีพิพาทกันเรื่อง ความสามารถของบุคคลซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการ ขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลานามีทั้งสัญชาติบรูไนและสัญชาติเกาหลีอันได้รับมาเป็นลําดับ (ไม่พร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่จะใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับมาครั้งสุดท้ายอันได้แก่ กฎหมายเกาหลีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคแรก ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายเกาหลี แล้ว ลานาย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายเกาหลีกําหนดว่า บุคคล มีความสามารถจะทํานิติกรรมใด ๆ ได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทํานิติกรรมลานามีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี แม้ลานาจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่าลานาคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง ดังนี้คือ

1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตาม ข้อ 1)

3) แต่กฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้

ดังนั้น การที่ลานาได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรม ตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของลานา (เกาหลี) ก็ถือว่าลานาเป็นบุคคล ผู้ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว ลานามีความสามารถ ทํานิติกรรมซื้อขายดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ เพราะถือว่าลานาบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้นศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่าลานามีความสามารถทําสัญญาที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง

สรุป

ศาลไทยควรวินิจฉัยว่าลานามีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม ดังกล่าวได้

 

ข้อ 3 อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทําความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 และอนุสัญญามอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทํา โดยมิชอบด้วยความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 นั้น มีข้อบกพร่องที่สําคัญอยู่หรือไม่อย่างไร ให้ท่านตอบมา

ธงคําตอบ

อธิบาย

ในปัจจุบัน มีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินและการก่อวินาศกรรม อยู่ 3 ฉบับด้วยกัน คือ

1 อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทําความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 (The Tokyo Convention of Offences Committed on board Aircraft of 1963)

2 อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 (The Hague Convention for the Suppression of Unlawful Seizure of Aircraft 1970)

3 อนุสัญญามอลทรีล ว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบิน พลเรือน ค.ศ. 1971 (The Montreal Convention for the Suppression of Unlawful Acts Against the Safety of Civil Aviation 1972)

อนุสัญญา 2 ฉบับแรกนั้นเกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินโดยเฉพาะ ส่วนอนุสัญญาหลังกว้าง ครอบคลุมถึงการกระทําทุกชนิดที่กระทบต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ

อนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับนี้ แม้จะได้กําหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความผิด เขตอํานาจศาล และสร้างพันธะให้แก่รัฐภาคีในอันที่ต้องลงโทษผู้กระทําความผิด แต่อย่างไรก็ตาม ก็มิได้หามาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะลงโทษรัฐภาคีที่ทําการละเมิดพันธะที่กําหนดไว้ กรณีนี้จึงถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่สําคัญของอนุสัญญา ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว

 

ข้อ 4 จงอธิบายหลักเกณฑ์และสาระสําคัญของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Crimes) พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์และสาระสําคัญของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Crimes) มีว่า “ประเทศภาคีแห่งข้อตกลงระหว่างประเทศฯ ทุกประเทศย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาความผิด ดังกล่าวนี้ โดยใช้กฎหมายอาญาของประเทศนั้นได้ หากปรากฏตัวผู้กระทําผิดในดินแดนหรือราชอาณาจักรของ ประเทศนั้น โดยไม่ต้องคํานึงว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศเจ้าของท้องที่เกิดเหตุหรือประเทศผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม”

ตัวอย่างของความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ การฉ้อโกงระหว่างประเทศ การกระทํา ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเงินตรา การค้าทาสและการค้าหญิง การกระทําความผิดเกี่ยวกับสลัดอากาศ เป็นต้น

 

Advertisement