การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ปรานีหรือนอม แซ่ผ่าน เป็นบุตรนายยิน แซ่ผ่าน คนต่างด้าว เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ปรานีได้อยู่กินกับนายกู๋ แซโง ญวนอพยพโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรในประเทศไทย 5 คน สามคนแรกเกิดก่อน ปว. 337 ใช้บังคับ อีกสองคนเกิดเมื่อ ปว. 337 ใช้บังคับแล้ว ให้วินิจฉัยว่า บุตรทั้งห้าคนได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
มาตรา 11 บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
วินิจฉัย
บุตรทั้ง 5 คนได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า กรณีสามารถแยกพิจารณาได้ 2 กรณีคือ
1 บุตร 3 คนแรก เกิดในราชอาณาจักรก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) ย่อมได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ต่อมาเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ บุตร 3 คนแรก ก็ไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามข้อ 1(3) เนื่องจากนายกู๋ เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปรานีมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
2 บุตร 2 คนหลัง แม้จะเกิดในราชอาณาจักรไทย ภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ก็ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 และข้อ 1(3) เนื่องจากนายกู๋ เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปรานีมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
อนึ่ง เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับแล้ว (มีผลใช้บังคับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ย่อมมีผลทำให้บุตรทั้ง 5 คนไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก เพราะเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวและในขณะที่เกิด นายกู๋บิดาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้โดยมาตรา 11 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 7 ทวิวรรคแรก ซึ่งทำให้บุตรทั้ง 5 คนไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดนั้น ถือว่าเป็นผลร้ายยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดโดยตรง กรณีจึงไม่ย้อนกลับไปใช้บังคับ ยังคงบังคับตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 และข้อ 2 เพราะในข้อเท็จจริงเดียวกันมีกฎหมายเป็นโทษบังคับหลายฉบับ ให้บังคับตามกฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด ดังนั้น บุตรทั้ง 5 คนจึงยังคงได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)
สรุป บุตรทั้ง 5 คนได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)
ข้อ 2 คริสตีน่า หญิงสัญชาติมาเลเซีย สมรสกับมาร์คอส ชายสัญชาติฟิลิปปินส์ กฎหมายสัญชาติมาเลเซียกำหนดว่าหญิงมาเลเซียซึ่งสมรสกับคนต่างด้าวจะไม่เสียสัญชาติมาเลเซียจนกว่าหญิงนั้นจะแสดงความจำนงสละสัญชาติมาเลเซีย และกฎหมายสัญชาติฟิลิปปินส์กำหนดว่าหญิงต่างด้าวซึ่งสมรสกับชายฟิลิปปินส์ย่อมได้สัญชาติฟิลิปปินส์ ส่วนกฎหมายภายในมาเลเซียกำหนดว่า บุคคลมีความสามารถจะทำนิติกรรมใดๆได้เมื่อมีอายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่ตามกฎหมายภายในฟิลิปปินส์ต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคริสตีน่ายังไม่ได้แสดงความจำนงสละสัญชาติมาเลเซีย ในขณะที่คริสตีน่ามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ คริสตีน่าได้เดินทางมากรุงเทพฯ และทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม จำนวน 10 เครื่อง จากนายสมบูรณ์คนสัญชาติไทย หลังจากนั้นคริสตีน่าและนายสมบูรณ์มีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า คริสตีน่ามีความสามารถทำสัญญาที่ว่านี้หรือไม่ อยากทราบว่า ศาลไทยควรวินิจฉัย ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้อย่างไร พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วย
ธงคำตอบ
มาตรา 6 วรรคแรก ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลำดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ
มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์
วินิจฉัย
ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่าคริสตีน่าจะทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม จากนายนายสมบูรณ์คนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คริสตีน่ามีทั้งสัญชาติมาเลเซียและสัญชาติฟิลิปปินส์อันได้รับมาเป็นลำดับ (ไม่พร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้มาครั้งสุดท้าย อันได้แก่ กฎหมายฟิลิปปินส์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคแรก ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายฟิลิปปินส์แล้ว คริสตีน่าย่อมไม่มีความสามารถทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดว่า บุคคลมีความสามารถจะทำนิติกรรมใดๆ ได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทำนิติกรรม คริสตีน่ามีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี แม้คริสตีน่าจะไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่าลานาคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ดังนี้คือ
1) คนต่างด้าวนั้นได้ทำนิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกำหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดในการทำนิติกรรมตามข้อ 1
3) แต่กฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมตามข้อ 1 ได้
ฉะนั้นแล้ว การที่คริสตีน่าได้ทำนิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของคริสตีน่า(ฟิลิปปินส์) ก็ถือว่าคริสตีน่าเป็นบุคคลผู้ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว คริสตีน่ามีความสามารถทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ เพราะถือว่าคริสตีน่าบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19
ดังนั้น ศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่าคริสตีน่ามีความสามารถทำสัญญาที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง
สรุป ศาลไทยควรวินิจฉัยว่าคริสตีน่ามีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์ม ดังกล่าวได้
ข้อ 3 เครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องบินจดทะเบียนประเทศจีน มีกำหนดการเดินทางจากประเทศเกาหลีใต้มายังประเทศไทย ถูกนายเหว่ยคนสัญชาติจีนจี้เครื่องบินไปลงยังประเทศจีน เมื่อเครื่องลงจอดที่ประเทศจีนแล้วนายเหว่ยจึงถูกจับตัวได้ ตามอนุสัญญากรุงโตเกียวว่าด้วยการกระทำผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 ประเทศจีนปฏิเสธที่จะยอมรับดำเนินคดีกับนายเหว่ยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 นั้น มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเอาไว้ในมาตรา 14 ซึ่งโดยผลแห่งมาตรานี้ จึงอาจมีการส่งผู้ก่อการร้ายฐานจี้เครื่องบินให้รัฐอื่นได้ ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลที่กระทำการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อไปหรือไม่สามารถที่จะเดินทางต่อไปได้อีก และรัฐซึ่งเครื่องบินนั้นแล่นลง ปฏิเสธที่จะยอมรับบุคคลที่ก่อการร้ายนั้น รัฐนั้นๆก็สามารถที่จะส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นคืนไปยังรัฐที่ผู้กระทำความผิดนั้นมีสัญชาติ หรือรัฐซึ่งผู้กระทำความผิดมีถิ่นที่อยู่ประจำ หรืออาจส่งไปยังรัฐซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางทางอากาศของผู้กระทำผิดนั้น แต่ทั้งนี้บุคคลผู้กระทำความผิดที่อาจส่งตัวข้ามแดนนี้จะต้องไม่ใช่บุคคลในสัญชาติหรือบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่เป็นประจำในรัฐที่เครื่องบินนั้นแล่นลง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่เครื่องบินนั้นแล่นลงจะปฏิเสธที่จะยอมรับดำเนินคดีกับนายเหว่ยได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 มาตรา 14 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศจีนย่อมไม่สามารถปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับนายเหว่ยผู้กระทำการยึดอากาศยานโดยมิชอบ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ นายเหว่ยเป็นบุคคลในสัญชาติของรัฐที่เครื่องบินนั้นแล่นลงนั้นเองได้
สรุปเนื่องจากนายเหว่ยได้ทำการจี้เครื่องบินมาลงที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่
ประเทศจีนไม่สามารถปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับนายเหว่ยได้ ตามอนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 มาตรา 14
ข้อ 4 จงอธิบายถึงการแปลงสัญชาติภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาโดยสังเขป
ธงคำตอบ
อธิบาย
การแปลงสัญชาติภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มีหลักทั่วไปว่า “การแปลงสัญชาติไม่มีผลย้อนหลัง” ซึ่งหมายความว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะใช้สิทธิอันเกิดจากการแปลงสัญชาติประการใดนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับสิทธิดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ประกาศรับแปลงสัญชาติเป็นต้นไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะมีผลนับแต่วันที่มีการอนุมัติให้แปลงสัญชาติ ฉะนั้นแล้ว รัฐผู้รับคำขอจึงสามารถพิจารณาคดีนั้นๆได้โดยถือว่าบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนเป็นคนของรัฐอื่น
แต่อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศเยอรมันและประเทศเบลเยียมนั้น ให้ถือว่าการแปลงสัญชาติของผู้ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันถือว่าเป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปดังกล่าว ดังนั้น รัฐผู้รับคำขออาจจะปฏิเสธไม่ส่งบุคคลนั้นข้ามแดนตามคำขอได้ เพราะถือว่าบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนเป็นคนในสัญชาติของตนแล้วนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย ตามหลักกฎหมายไทยถือหลักว่า การแปลงสัญชาติไม่อาจเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากการที่ต้องถูกส่งตัว ซึ่งเท่ากับว่าถือตามหลักทั่วไปดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน