การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายแพทย์ฮูจินฟู แพทย์ทางเลือกสัญชาติจีน เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง คุณหมอมีภรรยาเป็นคนไทยมีบุตรเกิดในประเทศไทยสองคนประกอบอาชีพคลินิกรักษาโรคทั่วไป คุณหมอมาปรึกษาท่านว่าอยากจะมีสัญชาติไทย ท่านจะแนะนำคุณหมออย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
อธิบาย
นายแพทย์ฮูจินฟู ควรจะแปลงสัญชาติเป็นไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 10 กล่าวคือ คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติครบถ้วน 5 ประการดังต่อไปนี้อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้
1 บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทย และกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ กล่าวคือ บรรลุนิติภาวะโดยมีอายุเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 19) ประการหนึ่ง หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส คือการสมรสได้ทำเมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1448) อีกประการหนึ่ง
และนอกจากจะต้องบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายไทยแล้ว ยังต้องบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายภายในของประเทศที่คนต่างด้าวนั้นมีสัญชาติอีกด้วย
2 มีความประพฤติดี กล่าวคือ ต้องไม่ใช่คนเกเร เสเพล ติดสุรา ยาเสพติด หรือเคยต้องคดีอาญามาแล้ว ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะพิจารณา
3 มีอาชีพเป็นหลักฐาน กล่าวคือ สามารถหารายได้มาเลี้ยงตนและครอบครัวได้ (ในกรณีสมรสแล้ว) โดยอาชีพที่แน่นอนและเป็นหลักแหล่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เป็นภาระแก่รัฐบาลในการที่ต้องช่วยเหลือหาอาชีพให้ทำมาหากินอีกด้วย
4 มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี กล่าวคือ ก่อนวันที่จะร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย คนต่างด้าวนั้นต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลาติดต่อกันไม่ขาดสายไม่น้อยกว่า 5 ปี
5 มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กล่าวคือ ต้องพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ โดยให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลเป็นผู้สอบความรู้ภาษาไทยสำหรับคนต่างด้าวผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนคนต่างด้าวผู้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้นๆเป็นผู้สอบความรู้ภาษาไทย
พึงสังเกตด้วยว่า หลักเกณฑ์ของการแปลงสัญชาติเป็นไทยทั้ง 5 ประการตามมาตรา 10 นี้ คนต่างด้าวผู้ร้องขอแปลงสัญชาติต้องมีลักษณะและคุณสมบัติครบทั้ง 5 ประการ จะขาดประการหนึ่งประการใดไม่ได้ มิฉะนั้นจะขอแปลงสัญชาติไม่ได้
อนึ่ง ชาวต่างชาติที่สมรสกับหญิงไทยไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยการสมรสตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 9 เพราะการได้สัญชาติไทยโดยการสมรส มีได้เฉพาะหญิงต่างด้าวสมรสกับชายสัญชาติไทยเท่านั้น
ดังนั้น ข้าพเจ้าจะแนะนำนายแพทย์ฮูจินฟู ว่าควรจะแปลงสัญชาติเป็นไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 10 ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2 นายแฟรงค์คนสัญชาติอังกฤษมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศบรูไน ได้สละสัญชาติอังกฤษและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต่อมานายแฟรงค์ถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 หลังจากนั้นเกิดคดีขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่านายแฟรงค์มีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องปั้นโถลายครามจำนวน 10 เครื่อง จากนายโบราณที่จังหวัดราชบุรีหรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพาทที่ว่านี้
ธงคำตอบ
มาตรา 6 วรรคสาม สำหรับบุคคลผู้ไรสัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
มาตรา 10 วรรคแรก ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ว่านายแฟรงค์จะมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องปั้นโถลายครามจากนายโบราณได้หรือไม่นั้น ถือว่าเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มารา 1 0 วรรคแรก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายแฟรงค์คนสัญชาติอังกฤษ มีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศอังกฤษ ได้สละสัญชาติอังกฤษและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายแฟรงค์ได้ตกเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะนายโทนี่ได้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังนี้ การจะนำกฎหมายประเทศใดมาปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม ซึ่งมีหลักคือ
1 ถ้าปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับหรือ
2 ถ้าไม่ปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายแฟรงค์เป็นบุคคลไร้สัญชาติ และไม่ปรากฏว่านายโทนี่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด กรณีเช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศบรูไนซึ่งเป็นกฎหมายที่นายแฟรงค์มีถิ่นที่อยู่บังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม
ผลจึงเป็นว่า ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายประเทศบรูไนขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายแฟรงค์ที่ว่านี้
สรุป ศาลไทยควรนำกฎหมายประเทศอังกฤษขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายแฟรงค์
ข้อ 3 เครื่องบินของสายการบินเจแอร์ไลน์ซึ่งเป็นเครื่องบินจดทะเบียนประเทศญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ถูกนายอับดุลห์คนสัญชาติมาเลเซียจี้เครื่องบินไปลงยังประเทศสิงคโปร์ เมื่อเครื่องลงจอดที่ประเทศสิงคโปร์แล้วนายอับดุลห์หนีไปได้ โดยต่อมาถูกจับตัวที่ประเทศไทยอยากทราบว่ารัฐภาคีใดบ้างในอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ.1970 ที่อาจร้องขอต่อประเทศไทยให้ส่งตัวนายอับดุลห์ให้แก่ตนได้ และหากมีรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไปเรียกร้องให้ส่งตัวนายอับดุลห์อนุสัญญาฉบับดังกล่าวมีแนวทางแก้ไขไว้หรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
อธิบาย
โดยหลักแล้ว การกระทำความผิดเกี่ยวกับการจี้เครื่องบินหรือยึดอากาศยานโดยมิชอบ เป็นความผิดที่สามารถส่งตัวผู้กระทำความผิดข้ามแดนได้
ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 ได้มีบทบัญญัติที่ยินยอมให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ในมาตรา 8 โดยเฉพาะในอนุมาตรา 4 นั้น จึงทำให้รัฐภาคีในอนุสัญญารัฐใดรัฐหนึ่งเป็นรัฐที่เครื่องบินนั้นจดทะเบียน หรือรัฐที่เครื่องบินนั้นแล่นลง หรือรัฐผู้เช่าเครื่องบินนั้น อาจร้องขอต่อรัฐภาคีอื่นๆที่ผู้กระทำความผิดปรากฏตัวให้ทำการส่งผู้กระทำความผิดนั้นให้แก่ตนได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นรัฐที่เครื่องบินจดทะเบียนและประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นรัฐที่เครื่องบินแล่นลงสามารถร้องขอให้ประเทศไทยส่งตัวนายอับดุลห์ให้แก่ตนได้
อย่างไรก็ตาม อนุสัญญากรุงเฮกฯ ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติใดวางมาตรการในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่มีรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป เรียกร้องให้ส่งตัวนายอับดุลห์ ผู้กระทำความผิดในคดีจี้เครื่องบินรายเดียวกันนั้นให้แก่ตน เมื่อต่างฝ่ายต่างเรียกร้อง ต้องการตัวผู้กระทำความผิด เช่นนี้ตามมาตรา 12 ให้รัฐภาคีนำข้อโต้แย้งดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาและวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ หากไม่สำเร็จก็อาจนำข้อโต้แย้งขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่อไปได้
ข้อ 4 จงอธิบายหลัก Attentat Clause ประเทศใดที่นำหลักนี้มาใช้เป็นประเทศแรก มีเหตุผลและรายละเอียดอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
อธิบาย
โดยเหตุที่มีความผิดบางประเภทซึ่งมีลักษณะทางการเมือง แต่หลายประเทศกำหนดไว้ไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง ข้อกำหนดหรือบทบัญญัติในเรื่องนี้เรียกว่า Attentat Clause ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับการประทุษร้าย” ซึ่งประเทศเบลเยียมนำมาใช้เป็นประเทศแรก โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของตนเมื่อ ค.ศ. 1865 หลังจากที่ศาลเบลเยียมปฏิเสธไม่ส่งตัวผู้กระทำความผิดฐานพยายามปลงพระชนม์พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ไปให้ฝรั่งเศสในคดี Jacquin ค.ศ. 1854
กล่าวคือ ข้อกำหนดหรือบทบัญญัติ Attentat Clause นี้ เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเบลเยียม ค.ศ. 1833 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม โดยเพิ่มข้อความลงไปอีกวรรค (clause) หนึ่ง ซึ่งมีข้อความดังนี้ “การประทุษร้ายต่อบุคคลผู้เป็นประมุขของรัฐบาลต่างประเทศหรือบุคคลซึ่งอยู่ในเครือญาติหรือราชสกุลของประมุขนั้น ไม่ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดทางการเมือง หรือเป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเมือง หากปรากฏว่าเป็นการประทุษร้ายที่เป้นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือลอบฆาตกรรม หรือเป็นการฆาตกรรมด้วยพยายามมาดหมายหรือด้วยการวางยาพิษ”
สำหรับเจตนารมณ์ทางกฎหมายของ Attentat Clause นี้มุ่งหมายที่จะไม่ให้ถือว่าความผิดฐานประทุษร้ายต่อชีวิตที่กระทำต่อประมุขของประเทศหรือบุคคลในครอบครัวประมุขของประเทศเป็นความผิดทางการเมือง
ส่วนผลของ Attentat Clause นั้นทำให้ความหมายของคดีการเมืองแคบลง กล่าวคือ เมื่อมีฆาตกรรมเข้ามาในลักษณะนี้แล้วย่อมส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้