การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ยุทธเวท หนุ่มสัญชาติไทย ไปทำมาหากินในประเทศลาว ได้นางแสนคำสาวลาวเป็นภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรในประเทศลาว 5 คน ต่อมายุทธเวทพาบุตร ภรรยา กลับมาอยู่ ณ ประเทศไทย และได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา ถามว่า บุตรและภรรยาได้สัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 9 หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทยถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร
มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
วินิจฉัย
บุตรและภรรยาได้สัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า บุตรทั้ง 5 คนที่เกิดในประเทศลาวจากยุทธเวทบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยและนางแสนคำมารดาซึ่งมีสัญชาติลาว โดยบิดาและมารดานั้นไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน กรณีเช่นนี้ถือว่าบุตรทั้ง 5 คน เกิดในขณะที่ยุทธเวทบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยหลักแล้ว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ไม่ว่าตามหลักดินแดนหรือหลักสายดลหิตตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1)
แต่เมื่อภายหลังยุทธเวทบิดาได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา ย่อมมีผลทำให้บุตรทั้ง 5 คนนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของยุทธเวท และมีผลทำให้ยุทธเวทเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตร เช่นนี้ บุตรทั้ง 5 คน ย่อมได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) โดยผลของมาตรา 10 ที่ให้นำมาตรา 7(1) มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับด้วย ทั้งนี้ในฐานะกฎหมายที่ใกล้เคียง และตามเจตนารมณ์ของการได้สัญชาติไทยตามหลักทั่วไป กล่าวคือ บุคคลในครอบครัวเดียวกัน ควรมีสัญชาติเดียวกัน ดังนั้น บุตรทั้ง 5 คน ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิต
ส่วนนางแสนคำมารดานั้น มีสัญชาติลาว หากต้องการมีสัญชาติไทยต้องดำเนินการยื่นคำขอมีสัญชาติไทยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 9 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีอนุญาตเสียก่อนจึงจะได้สัญชาติไทย
สรุป บุตรทั้ง 5 คนได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิต ส่วนนางแสนคำมารดาต้องยื่นคำขอมีสัญชาติไทยก่อน และเมื่อรัฐมนตรีอนุญาตจึงจะได้สัญชาติไทย
ข้อ 2 นายพงษ์ศักดิ์คนสัญชาติไทยส่งคำเสนอขายเข็มขัดทองฝังเพชรราคา 4 แสนบาท ให้แก่นายอาหมัดคนสัญชาติมาเลเซีย โดยนายพงษ์ศักดิ์จะนำเข็มขัดทองฯนั้น มามอบให้แก่นายอาหมัดที่มาเลเซีย และนายอาหมัดจะต้องส่งเงิน 4 แสนบาท ผ่านทางธนาคารมาเลเซียมาเข้าบัญชีธนาคารของนายพงษ์ศักดิ์ที่กรุงเทพฯ นายอาหมัดก็ตอบรับคำเสนอโดยทำเป็นจดหมายมอบให้กับนายราซัคให้เดินทางมาส่งให้แก่นายพงษ์ศักดิ์ด้วยตนเอง ขณะที่นายราซัคมาถึงกรุงเทพฯ ปรากฏว่า นายพงษ์ศักดิ์กำลังโดยสารเรือเดินสมุทรจากกรุงเทพฯไปยังประเทศญี่ปุ่น นายราซัคจึงลงเรือเดินสมุทรอีกลำหนึ่งติดตามไปส่งจดหมายฉบับนั้นให้แก่นายพงษ์ศักดิ์ได้ ในขณะที่เรืออยู่กลางทะเลหลวง ต่อมานายพงษ์ศักดิ์ส่งมอบเข็มขัดทองฯนั้นให้แก่นายอาหมัดที่มาเลเซียแล้ว แต่นายอาหมัดไม่ยอมส่งเงิน 4 แสนบาทผ่านทางธนาคารมาเลเซียมาเข้าบัญชีของนายพงษ์ศักดิ์ที่กรุงเทพฯ นายพงษ์ศักดิ์จึงฟ้องคดีต่อศาลไทย เพื่อบังคับให้นายอาหมัดชำระราคาค่าเข็มขัดทอง ฯ นั้นเป็นจำนวนเงิน 4 แสนบาทให้แก่ตน ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในกรณีเช่นนี้ ศาลไทยควรจะนำกฎหมายใดมาใช้บังคับเพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 13 วรรคแรกและวรรคสอง ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น
ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ถิ่นที่ถือว่าสัญญานั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นคือ ถิ่นที่คำกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสำคัญหรือผลของสัญญานั้น กรณีเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคแรก ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็นกรณีตามลำดับได้ดังนี้
1 กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายให้นำมาใช้บังคับ ก็ให้นำกฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ
2 กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา
(ก) ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ
(ข) ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น
ศาลไทยควรจะนำกฎหมายใดมาใช้บังคับ เห็นว่า การที่นายพงษ์ศักดิ์ คนสัญชาติไทย ส่งคำเสนอขายเข้มขัดทองฝังเพชรราคา 4 แสนบาทให้แก่นายอาหมัดคนสัญชาติมาเลเซีย โดยนางพงษ์ศักดิ์และนายอาหมัดไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายว่าให้นำกฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา ทั้งกรณีนี้นางพงษ์ศักดิ์และนายอาหมัดก็ไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น เมื่อนายพงษ์ศักดิ์และนายอาหมัดอยู่คนละประเทศ อันถือว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางซึ่งตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกัน ฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคสอง กำหนดให้ถือว่าสัญญานั้นเกิด ณ ถิ่นหรือประเทศที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ และหากเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น
เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่า สัญญาซื้อขายดังกล่าวนายอาหัดตอบรับโดยทำเป็นจดหมายมอบให้แก่นายราซัคให้เดินทางมาส่งแก่นายพงษ์ศักดิ์ด้วยตนเองและนายราซัคได้ติดตามไปส่งจดหมายฉบับนั้นให้แก่นายพงษ์ศักดิ์ได้ ในขณะที่เรืออยู่กลางทะเลหลวง จึงถือเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบถิ่นหรือประเทศที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ดังนั้น หากนายพงษ์ศักดิ์ประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลไทย เพื่อบังคับให้นายอาหมัดชำระราคาเข็มขัดทอง ฯ ให้แก่ตน ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับนายอาหมัดให้ชำระราคาค่าเข็มขัดนั้น ให้แก่นางพงษ์ศักดิ์เพราะกฎหมายไทยเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องการชำระราคา
สรุป ศาลไทยควรนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับนายอาหมัดให้ชำระราคาเข็มขัดดังกล่าวเพราะเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องการชำระราคา
ข้อ 3 อยากทราบว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบิน 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 และอนุสัญญามอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 ทั้ง 3 ฉบับนี้ มีข้อบกพร่องที่สำคัญหรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
อธิบาย
ในปัจจุบัน มีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินและการก่อวินาศกรรมอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน คือ
1 อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน ค.ศ. 1963 (The Tokyo Convention of Offences Committed on board Aircraft of 1963)
2 อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 (The Hague Convention for the Suppression of Unlawful Seizure of Aircraft 1970)
3 อนุสัญญามอลทรีล ว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 (The Montreal Convention for the Suppression of Unlawful Acts Against the Safety of Civil Aviation 1972)
อนุสัญญา 2 ฉบับแรกนั้นเกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินโดยเฉพาะ ส่วนอนุสัญญาหลังกว้างครอบคลุมถึงการกระทำทุกชนิดที่กระทบต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ
อนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับนี้ แม้จะได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความผิด เขตอำนาจศาล และสร้างพันธะให้แก่รัฐภาคีอันที่ต้องลงโทษผู้กระทำความผิด แต่อย่างไรก็ตาม ก็มิได้หามาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะลงโทษรัฐภาคีที่ทำการละเมิดพันธะที่กำหนดไว้ กรณีจึงถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญของอนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว
ข้อ 4 จงอธิบายหลักในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศฝรั่งเศสมาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
อธิบาย
การพิจารณาคดีการเมืองของประเทศฝรั่งเศสนั้น ถือหลักว่าด้วยการกระทำที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ว่ากฎหมายฝรั่งเศสไม่คำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดแต่ถือสาระสำคัญทางการกระทำ ซึ่งถ้าเป็นการกระทำที่กระทบต่อธรรมนูญการปกครองและรัฐบาล โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างการปกครองของประเทศในหลักอันประกอบไปด้วยอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร รวมทั้งรัฐบาลด้วยแล้ว ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน