การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 (LA 406),(LW 405) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ชลิตเกิดที่กรุงเทพฯ  เมื่อปี  พ.ศ. 2530  จากบิดาและมารดาสัญชาติจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2521  บิดาได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเมื่อปี  พ.ศ.2527  ส่วนมารดาได้รับใบสำคัญดังกล่าวเมื่อปี  พ.ศ.2532  ชลิตได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย  ถ้าในขณะที่เกิด  บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

มาตรา  11  บทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย  เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ลงวันที่  13  ธันวาคม  2515  ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3)  ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ข้อ  2  บุคคลตามข้อ  1  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว  ไม่ได้สัญชาติไทย  เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

วินิจฉัย

ชลิตได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  ชลิตเกิดที่กรุงเทพฯ  เมื่อ  พ.ศ. 2530  จากบิดามารดาสัญชาติจีน  กรณีจึงถือได้ว่าชลิตเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  14  ธันวาคม  2515)  มีผลทำให้ชลิตได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่  337  ข้อ  2  และข้อ  1(3)  ซึ่งกำหนดให้เฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้นไม่ได้รับสัญชาติไทยคือ

1       มีบิดา  (ที่ชอบด้วยกฎหมาย)  เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  หรือ

2       มีมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ในขณะเกิด  ชลิตมีบิดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยชอบและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวด้วย  แม้มารดาของชลิตจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองก็ตาม  แต่ชลิตก็มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ชลิตจึงได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)  กรณีไม่ต้องด้วยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่  337  ข้อ  2  และข้อ  1(3)  (ฎ. 213/2531)

แต่ครั้นถึงวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ  ฉบับที่  2  มีผลใช้บังคับ  ย่อมทำให้ชลิตไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  เพราะในขณะที่เกิด  (พ.ศ. 2530)  มารดายังไม่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  จึงถือว่ามารดาได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ทั้งนี้โดยมาตรา  11  ของ  พ.ร.บ.  ดังกล่าวได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535  อันเป็นวันที่  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  ใช้บังคับด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม  การบังคับใช้มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ซึ่งทำให้ชลิตไม่ได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดเลยนั้น  ถือว่าเป็นผลร้ายยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดโดยตรง  กรณีจึงไม่ย้อนกลับไปใช้บังคับ  ยังคงบังคับตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  เพราะในข้อเท็จจริงเดียวกันถ้ามีกฎหมายเป็นโทษบังคับหลายฉบับ  ให้บังคับตามกฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด  ดังนั้น  ชลิตจึงยังคงได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

สรุป  ชลิตยังคงได้รับสัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7(3)

 

ข้อ  2  นายโซโนเกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติอินโดนีเซีย  แต่เกิดและมีภูมิลำเนาในประเทศมาเลเซียตามกฎหมายอินโดนีเซียบุคคลย่อมได้สัญชาติอินโดนีเซียหากเกิดจากบิดาเป็นอินโดนีเซียไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศอินโดนีเซีย  และตามกฎหมายมาเลเซียบุคคลย่อมได้สัญชาติมาเลเซียหากเกิดในประเทศมาเลเซีย  กฎหมายอินโดนีเซียกำหนดไว้อีกว่าบุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆเมื่ออายุครบ  19  ปีบริบูรณ์  แต่ตามกฎหมายมาเลเซียต้องมีอายุครบ  21  ปีบริบูรณ์  ในขณะที่นายโซโนมีอายุครบ  20 ปีบริบูรณ์ได้เดินทางมาประเทศไทย  และทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มจำนวน  10  เครื่องจากนายปัญญาคนสัญชาติไทย  ต่อมาบุคคลทั้งสองนำคดีขึ้นสู่ศาลไทยโดยมีประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งว่านายโซโนมีความสามารถทำสัญญาฉบับนี้หรือไม่  ศาลไทยควรจะวินิจฉัยอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  6  วรรคสอง  ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ  และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป  อันได้รับมาคราวเดียวกัน  ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่บังคับ  ถ้าบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่  ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ  ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ  ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ  ในกรณีใดๆที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล  ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย  กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่  กฎหมายแห่งประเทศสยาม

มาตรา  10  วรรคแรกและวรรคสอง  ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม  ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น  ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม  ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  19  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์

วินิจฉัย

ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร  เห็นว่า  ปัญหาข้อพิพาทที่ว่านายโซโนมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มจากนายปัญญาคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น  ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล  ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายโซโนมีทั้งสัญชาติอินโดนีเซียและสัญชาติมาเลเซียซึ่งได้รับมาในขณะเดียวกัน(ได้รับมาพร้อมกัน)  กรณีเช่นนี้  กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ  คือ  กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายโซโนมีภูมิลำเนาอยู่  อันได้แก่  กฎหมายมาเลเซียตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  6  วรรคสอง  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายมาเลเซียแล้ว  นายโซโนย่อมไม่มีความสามารถทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้  เนื่องจากตามกฎหมายมาเลเซียกำหนดว่า  บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทำนิติกรรมใดๆ  ได้เมื่อมีอายุครบ  21  ปีบริบูรณ์  เมื่อในขณะทำนิติกรรมนายโซโนมีอายุเพียง  20  ปี  จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี  แม้นายโซโนจะไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ  แต่อาจถือได้ว่านายโซโนคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้  หากเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังนี้คือ

1       คนต่างด้าวนั้นได้ทำนิติกรรมขึ้นในประเทศไทย  ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2      ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น  ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดในการทำนิติกรรมตาม  ข้อ  1

3      แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมตามข้อ  1)  ได้

ฉะนั้นแล้ว  การที่นายโซโนได้ทำนิติกรรมในประเทศไทย  ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก  และตามกฎหมายสัญชาติของนายโซโน(มาเลเซีย)  ก็ถือว่านายโซโนไร้ความสามารถหรือมมีความสามารถอันจำกัด  แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว  นายโซโนกลับมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้  เพราะถือว่านายโซโนบรรลุนิติภาวะแล้วตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  19  ดังนั้นศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่านายโซโนมีความสามารถทำสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  10  วรรคสอง

สรุป  ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายโซโนมีความสามารถทำสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มดังกล่าวได้

 

ข้อ  3  อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ.1963  อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ.1970  และอนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน  ค.ศ.1971  นั้น  มีข้อบกพร่องที่สำคัญอยู่หรือไม่  อย่างไร  ให้ท่านตอบมา

ธงคำตอบ

อธิบาย

ในปัจจุบัน  มีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินและการก่อวินาศกรรมอยู่  3  ฉบับด้วยกัน  คือ

1       อนุสัญญาโตเกียวว่าด้วยการกระทำความผิดบนอากาศยาน  ค.ศ. 1963  (The  Tokyo  Convention  of  Offences  Committed on  board  Aircraft  of  1963)

2       อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  (The  Hague  Convention  for  the  Suppression of  Unlawful  Seizure  of  Aircraft  1970)

3       อนุสัญญามอลทรีล  ว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน  ค.ศ. 1971  (The  Montreal  Convention  for  the  Suppression  of  Unlawful Acts  Against  the  Safety  of  Civil  Aviation  1972)

อนุสัญญา  2  ฉบับแรกนั้นเกี่ยวข้องกับการจี้เครื่องบินโดยเฉพาะ  ส่วนอนุสัญญาหลังกว้างครอบคลุมถึงการกระทำทุกชนิดที่กระทบต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ

อนุสัญญาทั้ง  3  ฉบับนี้  แม้จะได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความผิด  เขตอำนาจศาล  และสร้างพันธะให้แก่รัฐภาคีอันที่ต้องลงโทษผู้กระทำความผิด  แต่อย่างไรก็ตาม  ก็มิได้หามาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะลงโทษรัฐภาคีที่ทำการละเมิดพันธะที่กำหนดไว้  กรณีจึงถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญของอนุสัญญาทั้ง  3  ฉบับดังกล่าว

 

ข้อ  4  จงอธิบายหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการแปลงสัญชาติภายหลังการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาโดยสังเขป  พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคำตอบ

อธิบาย

การแปลงสัญชาติภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น  มีหลักทั่วไปว่า  การแปลงสัญชาติไม่มีผลย้อนหลัง  ซึ่งหมายความว่า  บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะใช้สิทธิอันเกิดจากการแปลงสัญชาติประการใดนั้น  ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับสิทธิดังกล่าว  ตั้งแต่วันที่ประกาศรับแปลงสัญชาติเป็นต้นไป  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  จะมีผลนับแต่วันที่มีการอนุมัติให้แปลงสัญชาติ  ฉะนั้นแล้ว  รัฐผู้รับคำขอจึงสามารถพิจารณาคดีนั้นๆได้โดยถือว่าบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนเป็นคนของรัฐอื่น

 แต่อย่างไรก็ดี  สำหรับประเทศเยอรมันและประเทศเบลเยียมนั้น  ให้ถือว่าการแปลงสัญชาติของผู้ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  อันถือว่าเป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปดังกล่าว  ดังนั้น  รัฐผู้รับคำขออาจจะปฏิเสธไม่ส่งบุคคลนั้นข้ามแดนตามคำขอได้  เพราะถือว่าบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนเป็นคนในสัญชาติของตนแล้วนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย  ตามหลักกฎหมายไทยถือหลักว่า  การแปลงสัญชาติไม่อาจเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากการที่ต้องถูกส่งตัว  ซึ่งเท่ากับว่าถือตามหลักทั่วไปดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน

ตัวอย่าง  นายชินเน  เป็นคนสัญชาติไทยได้กระทำความผิดในประเทศไทย  แล้วหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  และในขณะดังกล่าวนายชินเนก็ได้แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองของประเทศอังกฤษ  ต่อมาประเทศไทยได้มีคำขอให้ประเทศอังกฤษ  (ที่จำเลยได้แปลงสัญชาติ)  ส่งตัวนายชินเนกลับประเทศ  ดังนี้  การแปลงสัญชาติของนายชินเนไม่มีผลย้อนหลัง  กล่าวคือ  ในขณะที่นายชินเนกระทำความผิด  นายชินเนยังไม่มีสัญชาติอังกฤษ  นายชินเนจึงไม่อาจยกเหตุการณ์แปลงสัญชาติขึ้นมาต่อสู้มิให้ส่งตัวได้

แต่ถ้าคำร้องขอข้างต้น  นายชินเนได้กระทำความผิดและหลบหนีไปยังประเทศเบลเยี่ยมหรือประเทศเยอรมันและได้แปลงสัญชาติ  กรณีเช่นนี้นายชินเนอาจยกต่อสู้ในการที่ตนแปลงสัญชาติเพื่อไม่ให้ถูกส่งข้ามแดนได้เนื่องจากทั้ง  2  ประเทศยังไม่ได้ยึดถือหลักทั่วไปนี้  หรือถือว่า  การแปลงสัญชาติย่อมมีผลย้อนหลังนั่นเอง.

Advertisement