การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2530 จากบิดาคนสัญชาติไทยส่วนมะขิ่น มารดาเป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ซึ่งทำงานในสวนยางพารา แต่ก็ได้รับอนุญาตจากทางการให้ทำงานได้ นายดำบิดาเพิ่งมาจดทะเบียนรับรองประเสริฐเป็นบุตรชายเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ให้ท่านวินิจฉัยว่า ประเสริฐได้หรือเสียสัญชาติไทย อย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้
วินิจฉัย
ประเสริฐได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2530 กรณีจึงถือได้ว่าประเสริฐเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลบังคับใช้ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) มีผลทำให้ประเสริฐไม่ได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) แม้จะเกิดในราชอาณาจักรไทยก็ตาม ทั้งนี้ เพราะประเสริฐเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ขณะนั้นบิดาและมารดาของประเสริฐมิได้จดทะเบียนสมรสกัน) และในขณะที่เกิดนั้น มารดาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 และข้อ 1(3)
และประเสริฐก็ไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เพราะในขณะเกิด บิดาของประเสริฐยังไม่ได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีสัญชาติไทย กรณีก็ไม่ต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว
อนึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นายดำบิดาของประเสริฐจะได้มาจดทะเบียนรับรองประเสริฐเป็นบุตรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 อันนี้มีผลทำให้ประเสริฐกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำบิดา และมีผลทำให้นายดำเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของประเสริฐก็ตาม ก็หาทำให้ประเสริฐกลับได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) ไปไม่ เพราะผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) กำหนดให้มีผลนับแต่วันที่บิดาจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตร และคำว่า “บิดา” ตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7(1) หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะเกิดเท่านั้น (ฎ. 1119/2527 ฎ. 3120/2528)
แต่อย่างไรก็ดีเมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขบัญญัติใหม่เป็นว่า “การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด” (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551) ผลของการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้ประเสริฐกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เพราะเกิดโดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
สรุป ประเสริฐได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7(1) ตั้งแต่เกิดเพราะเกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ข้อ 2 ลานาหญิงสัญชาติบรูไนสมรสกับฮุนชายสัญชาติเกาหลี กฎหมายสัญชาติบรูไนกำหนดว่าหญิงบรูไนซึ่งสมรสกับคนต่างด้าวจะไม่เสียสัญชาติบรูไนจนกว่าหญิงนั้นจะแสดงความจำนงสละสัญชาติบรูไนและกฎหมายสัญชาติเกาหลีกำหนดว่าหญิงต่างด้าวซึ่งสมรสกับชายเกาหลีย่อมได้สัญชาติเกาหลีโดยการสมรส ส่วนกฎหมายภายในบรูไนกำหนดว่าบุคคลมีความสามารถจะทำนิติกรรมสัญญาใดๆได้เมื่ออายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายเกาหลีต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าลานายังไม่ได้แสดงความจำนงสละสัญชาติบรูไนและในขณะที่ลานามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ลานาได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อทำสัญญาซื้อรถไถนาจำนวน 10 คัน จากนายประดิษฐ์คนสัญชาติไทย หลังจากนั้นลานาและนายประดิษฐ์ มีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า ลานามีความสามารถทำสัญญาฉบับที่ว่านี้หรือไม่
ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 6 วรรคแรก ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลำดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ
มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์
วินิจฉัย
ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่าลานาจะทำสัญญาซื้อรถไถนาจากนายประดิษฐ์คนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลานามีทั้งสัญชาติบรูไนและสัญชาติเกาหลีอันได้รับมาเป็นลำดับ (ไม่พร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้มาครั้งสุดท้าย อันได้แก่ กฎหมายเกาหลีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคแรก ซึ่งเมื่อพิจารณาตามกฎหมายเกาหลีแล้ว ลานาย่อมไม่มีความสามารถทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายเกาหลีกำหยดว่า บุคคลมีความสามารถจะทำนิติกรรมใดๆ ได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทำนิติกรรม ลานามีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี แม้ลานาจะไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่าลานาคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ดังนี้คือ
1) คนต่างด้าวนั้นได้ทำนิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกำหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดในการทำนิติกรรมตามข้อ 1
3) แต่กฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมตามข้อ 1 ได้
ฉะนั้นแล้ว การที่ลานาได้ทำนิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของลานา (เกาหลี) ก็ถือว่าลานาเป็นบุคคลผู้ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว ลานามีความสามารถทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ เพราะถือว่าลานาบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่ามีความสามารถทำสัญญาที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง
สรุป ศาลไทยควรวินิจฉัยว่าลานามีความสามารถทำสัญญาซื้อรถไถนาดังกล่าวได้
ข้อ 3 เครื่องบินโดยสารของสายการบินแห่งหนึ่งเดินทางมาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถูกชาวลิเบีย 2 คน เรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทางนำเครื่องบินไปร่อนลงที่ลิเบีย ในเครื่องบินโดยสารลำนี้มีผู้โดยสาร 130 คน ต่อมานักบินนำเครื่องบินร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานนาริตะประเทศญี่ปุ่น โดยอ้างว่า จำเป็นต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ชาวลิเบียทั้ง 2 คน ได้ปล่อยตัวผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องทั้งหมด และยอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากข่าวดังกล่าวการกระทำของชาวลิเบียถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
วินิจฉัย
อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ให้นิยามของคำว่า สลัดอากาศ ว่าหมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำนั้นกระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน โดยใช้กำลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้ รวมถึงการพยายามกระทำความผิด
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของชาวลิเบียถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่อย่างไร เห็นว่า การกระทำของชาวลิเบีย 2 คน ซึ่งอยู่ในเครื่องบินลำนั้นที่เรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทางเครื่องบินไปร่อนลงที่ประเทศลิเบีย แทนที่จะไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาตามกำหนดการเดิม ถือเป็นการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยานซึ่งเป็นการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อที่จะยึดอากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน และแม้ได้ความว่า สลัดอากาศทั้ง 2 คน ได้ยอมจำนนซึ่งยังไปไม่ถึงประเทศลิเบียก็ตาม การกระทำของทั้งคู่ก็ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 แล้ว ทั้งนี้เพราะความผิดดังกล่าวได้บัญญัติให้รวมถึงการพยายามกระทำความผิดด้วย
สรุป การกระทำของชาวลิเบีย ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1
ข้อ 4 จงอธิบายลำดับขั้นตอนในการพิจารณาคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐผู้รับคำขอมา โดยถูกต้องและครบถ้วน
ธงคำตอบ
อธิบาย
โดยเหตุที่ประเทศต่างๆในสมัยก่อน ถือหลักอำนาจอธิปไตยของตนเป็นใหญ่ในการพิจารณาปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประเทศที่ถูกร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้าย ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของตนที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตตามคำร้องขอหรือไม่ ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศต่างๆ มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจยึดถือและปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่มีอยู่ระหว่างกัน หรือมีกฎหมายภายในบัญญัติไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นเมื่อมีปัญหาขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งมีสัญชาติเดียวกับรัฐผู้รับคำขอเกิดขึ้น รัฐผู้รับคำขอจึงต้องพิจารณาคำร้องและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศตามลำดับขั้นตอนดังนี้ คือ
1 ประเทศทั้งสองมีสนธิสัญญา หรือสัญญาต่อกันในเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไว้หรือไม่
2 ถ้าไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน รัฐผู้รับคำขอต้องนำกฎหมายภายใน คือ พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาพิจารณา
3 ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายภายใน รัฐผู้รับคำขอสามารถใช้เอกสิทธิ์ในการพิจารณาได้
อนึ่งในการนี้ รัฐผู้รับคำขอมีอำนาจพิจารณาว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอหรือไม่ได้โดยอิสระ ยกเว้นเป็นคดีความทางการเมืองที่ห้ามส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยเด็ดขาด