การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นาโอมิเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2525 จากบิดาสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะถาวร ส่วนมารดาสัญชาติไทย ขณะเกิดบิดามารดาให้นายทะเบียนจดแจ้งว่านาโอมิมีสัญชาติญี่ปุ่น นาโอมิได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เพาะเหตุใด
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
วินิจฉัย
นาโอมิได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า นาโอมิเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2525 กรณีถือว่านาโอมิเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) นาโอมิย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 และ ข้อ 1(2) เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย แม้จะมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว แต่ในขณะที่เกิดบิดาของนาโอมิเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะถาวร ไม่ใช่เพียงชั่วคราวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) นาโอมิกลับได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งนี้มาตรา 10 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับด้วย ดังนั้น นาโอมิจึงได้สัญชาติไทยโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด เพราะมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ดังนั้น เมื่อนาโอมิเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายแล้ว แม้บิดามารดาของนาโอมิจะไปแจ้งให้นายทะเบียนจดแจ้งว่านาโอมิมีสัญชาติญี่ปุ่น ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สูญเสียสัญชาติไทยแต่อย่างใด นาโอมิจึงยังคงมีสัญชาติไทยอยู่ (ฎ. 2318 – 2319/2530)
สรุป การที่นายทะเบียนจดแจ้งว่านาโอมิมีสัญชาติอื่น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เสียสัญชาติไทยและนาโอมิได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ประกอบมาตรา 10
ข้อ 2 นายโทนี่คนสัญชาติอิตาลี มีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศอินเดีย ได้สละสัญชาติอิตาลีและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต่อมานายโทนี่ถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 หลังจากนั้นเกิดคดีขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาทมีว่านายโทนี่มีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องแยกสารเคมีจำนวน 18 เครื่องจากนายประดิษฐ์ที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้
ธงคำตอบ
มาตรา 6 วรรคสาม สำหรับบุคคลผู้ไรสัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
มาตรา 10 วรรคแรก ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ว่านายโทนี่จะมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องแยกสารเคมีจากนายประดิษฐ์ได้หรือไม่นั้น ถือว่าเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มารา 1 0 วรรคแรก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายโทนี่คนสัญชาติอิตาลี มีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศอินเดีย ได้สละสัญชาติอิตาลีและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายโทนี่ได้ตกเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะนายโทนี่ได้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังนี้ การจะนำกฎหมายประเทศใดมาปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม ซึ่งมีหลักคือ
1 ถ้าปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับหรือ
2 ถ้าไม่ปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโทนี่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ และไม่ปรากฏว่านายโทนี่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด กรณีเช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศอินเดียซึ่งเป็นกฎหมายที่นายโทนี่มีถิ่นที่อยู่บังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม
ผลจึงเป็นว่า ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายประเทศอินเดียขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายโทนี่ที่ว่านี้
สรุป ศาลไทยควรนำกฎหมายประเทศอินเดียขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายโทนี่
ข้อ 3 เครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง มีกำหนดการเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศเยอรมัน ขณะที่เครื่องบินยังจอดอยู่ที่สนามบินเพื่อรอให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องนั้นได้เกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เมื่อมีการสอบสวนปรากฏว่านายบุญช่วยคนสัญชาติไทยและนายอาเหม็จคนสัญชาติอิรักเป็นผู้วางระเบิดโดยทั้งคู่ได้หลบหนีออกนอกประเทศไทยแล้ว ดังนี้การกระทำของนายบุญช่วยและนายอาเหม็จถือเป็นความผิดตามกำหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
วินิจฉัย
อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ได้บัญญัติถึงลักษณะของการจี้เครื่องบินอันเป็นการกระทำความผิดฐานสลัดอากาศว่า เป็นการกระทำโดย
(1) บุคคลที่อยู่ในเครื่องบินนั้น
(2) การกระทำนั้นเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้กระทำต่อเครื่องบินลำนั้นเอง
(3) การกระทำนั้นเกิดในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่
ทั้งนี้หมายความรวมถึงการพยายามกระทำความผิดด้วย การจี้เครื่องบินจึงเป็นการกระทำจากผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกำลังบิน (on board an aircraft in fight) หรือที่เราเรียกว่าเป็นการกระทำภายในนั่นเอง
ดังนั้นการกระทำภายนอก เช่น การโจมตีด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยาน หรือก่อวินาศกรรมแก่เครื่องบินที่จอดอยู่ในสนามบิน ย่อมไม่ใช่การจี้เครื่องบินตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การระทำของนายบุญช่วยและนายอาเหม็จเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เห็นว่า การวางระเบิดของนายบุญช่วยและนายอาเหม็จได้กระทำในขณะที่เครื่องบินยังจอดอยู่ที่สนามบิน การกระทำดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความหมายของการกระทำภายในของความผิดฐานจี้เครื่องบิน ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 เพราะเป็นการกระทำภายนอก ไม่ใช่การกระทำของผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกำลังบินอยู่
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 ซึ่งใช้บังคับในเวลาต่อมา ได้บัญญัติให้คลุมถึงการกระทำทุกชนิดที่กระทบต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระทำภายนอกด้วย ดังนั้นการกระทำของนายบุญช่วยและนายอาเหม็จจึงเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงมอนว่าด้วยการขจัดการกระทำโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ.1971
สรุป การกระทำของนายบุญช่วยและนายอาเหม็จเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานสลัดอากาศ
ข้อ 4 ประเทศเจ้าของที่เกิดเหตุผู้ร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน มีข้อปฏิบัติและหน้าที่ที่จะต้องผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
อธิบาย
เมื่อประเทศที่ร้องขอได้รับตัวผู้ร้ายจากประเทศที่รับคำขอไปแล้ว ประเทศผู้ร้องขอต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องตามแบบพิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และยังมีหน้าที่ผูกพันในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งกฎหมายระหว่างประเทศด้วยความสุจริต มิใช่ว่าเมื่อได้รับตัวแล้วก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยกัน เพราะยังมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาว่าด้วยการส่งตัวผิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเข้าใจผิดของประเทศที่รับคำร้อง หรือการเข้าใจผิดในเรื่องสัญชาติ ในกรณีดังกล่าวนี้ ถือเป็นพันธะและหน้าที่ของประเทศที่ร้องขอจะต้องแจ้งให้ประเทศที่รับคำขอทราบโดยเร็วและต้องรับส่งตัวคืนให้ประเทศนั้นในทันที หรือปัญหาว่าด้วยความผิดอย่างอื่นนอกจากความผิดที่ขอตัว กล่าวคือ ประเทศผู้รับคำขอมีหน้าที่ผูกพันที่ต้องพิจารณาโดยเฉพาะในความผิดที่ได้ระบุไว้ในคำขอเท่านั้น