การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นาโอมิเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2516 จากมารดาผู้มีสัญชาติไทย ส่วนบิดาเป็นนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นซึ่งเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นครั้งคราว นาโอมิสมรสกับนายชาตรีคนสัญชาติไทย เมื่อปี พ.ศ.2537 นาโอมิมาปรึกษาท่านว่าจะขอมีสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา 9 จะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 9 หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทยถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
มาตรา 10 บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว
ข้อ 2 บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
วินิจฉัย
นาโอมิจะขอมีสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา 9 ได้หรือไม่ เห็นว่า นาโอมิเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2516 กรณีถือว่านาโอมิเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรภายหลังวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว (มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) นาโอมิจึงไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 และข้อ 1(2) เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่นาโอมิเกิดบิดาของนาโอมิได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยในลักษณะเพียงชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) นาโอมิกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ที่กำหนดให้บุคคลผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งนี้โดยผลมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้กำหนดให้บทบัญญัติมาตรา 7(1) มาใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับด้วย นาโอมิจึงได้รับสัญชาติไทยโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิด เพราะมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย
และเมื่อกรณีนี้นาโอมิได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่นาโอมิจะขอมีสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา 9 อีกแต่อย่างใด
สรุป นาโอมิได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด จึงไม่ต้องขอมีสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา 9 แต่อย่างใด
ข้อ 2 นายโตโยต้าคนสัญชาติญี่ปุ่นมีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศบราซิล ได้สละสัญชาติญี่ปุ่นและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต่อมานายโตโยต้าถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 หลังจากนั้นคดีขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า นายโตโยต้ามีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องปั่นด้ายทำผ้าไหมไทย จำนวน 50 เครื่องจากนายเลิศที่จังหวัดนครราชสีมาหรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่านี้
ธงคำตอบ
มาตรา 6 วรรคสาม สำหรับบุคคลผู้ไรสัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
มาตรา 10 วรรคแรก ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลไทยควรนำกฎหมายใดขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัย เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ว่านายโตโยต้าจะมีความสามารถทำนิติกรรมซื้อเครื่องปั่นด้ายทำผ้าไหมจากนายเลิศได้หรือไม่นั้น ถือว่าเป็นเรื่องความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มารา 1 0 วรรคแรก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายโตโยต้าคนสัญชาติญี่ปุ่น มีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายในประเทศบราซิล ได้สละสัญชาติญี่ปุ่นและได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งในขณะเกิดข้อพิพาทที่ว่านี้นายโตโยต้าได้ตกเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะนายโตโยต้าได้ถูกถอนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังนี้ การจะนำกฎหมายประเทศใดมาปรับแก่ข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม ซึ่งมีหลักคือ
1 ถ้าปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับหรือ
2 ถ้าไม่ปรากฏภูมิลำเนาของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโตโยต้าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ และไม่ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด กรณีเช่นนี้จึงต้องใช้กฎหมายประเทศบราซิลซึ่งเป็นกฎหมายที่นายโตโยต้ามีถิ่นที่อยู่บังคับตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสาม
ผลจึงเป็นว่า ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายประเทศบราซิลขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายโตโยต้าที่ว่านี้
สรุป ศาลไทยควรนำกฎหมายประเทศบราซิลขึ้นปรับเป็นหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยความสามารถของนายโตโยต้า
ข้อ 3 นายนัทได้ทำการปลอมเช็คของธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำเช็คดังกล่าวมาขึ้นเงินในประเทศไทย การกระทำของนายนัทถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
วินิจฉัย
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่นายนัทได้ทำการปลอมเช็คของธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำเช็คดังกล่าวมาขึ้นเงินที่ประเทศไทย การกระทำของนายนัทดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่งหมายถึงการกระทำความผิดโดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู มีตำแหน่งหน้าที่การงานและใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนมาเป็นประโยชน์ในการประกอบความผิด
ซึ่งลักษณะของการกระทำผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอกหรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่างๆ รวมตลอดการขโมย หรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือปลอมแปลงสัญญาหรือตั๋วเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่นพวกพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่างๆ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น
สรุป กากระทำของนายนัทถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศที่เรียกว่า “White Collar Crimes”
ข้อ 4 นาย ROBERTO เป็นสมาชิกกลุ่มกองพลน้อยแดงของประเทศอิตาลี ได้วางระเบิดสถานีรถไฟที่กรุงโรม ทำให้มีคนตาย 200 คน และบาดเจ็บ 500 คน หลังจากนั้นได้หลบหนีไปประเทศอังกฤษในการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศอังกฤษตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนขแงประเทศอิตาลี นาย ROBERTO ได้ยกข้อต่อสู้ว่าการกระทำของตนนั้นเป็นการกระทำความผิดทางการเมือง
อยากทราบว่าในกรณีดังกล่าวนี้ประเทศอังกฤษจะตัดสินใจอย่างไร และเพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
อธิบาย
การกระทำใดจะเป็นคดีการเมืองของประเทศอังกฤษต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้คือ
1 ต้องเป็นการกระทำในขณะไม่มีความสงบทางกรเมือง
2 มีความขัดแย้งระหว่างพรรคหรือกลุ่มหรือคณะบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป และ
3 ต่างฝ่ายต่างพยายามให้อีกฝ่ายยอมรับรูปแบบการปกครองตามที่ฝ่ายตนต้องการ
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศอังกฤษจะถือว่าความผิดนั้นเป็นการกระทำความผิดทางการเมืองซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว นาย ROBERTO เป็นสมาชิกกลุ่มกอลพลน้อยแดงซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพียงก่อกวนความสงบสุขของรัฐบาลและประชาชนเท่านั้น หาได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดไม่ และในขณะที่นาย ROBERTO ได้กระทำความผิดนั้น ประเทศอิตาลีก็อยู่ในสภาวะปกติทางการเมือง มิได้มีความขัดแย้งระหว่างพรรคหรือกลุ่มบุคคลแต่อย่างใด การกระทำของนาย ROBERTO จึงไม่ใช่ความผิดทางการเมืองเป็นเพียงการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นกระทำความผิดอาญาธรรมดาฐานฆ่าคนตาย และทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ กรณีจึงสามารถส่งข้ามแดนได้
สรุป ประเทศอังกฤษสามารถตัดสินใจส่งนาย ROBERTO ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้