การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ลัดดาวัลย์เกิดที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2508 จากบิดาคนสัญชาติไทยส่วนมารดาเป็นคนสัญชาติญวน ที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่เกิดนั้นบิดามารดายังมิได้จดทะเบียนสมรส บิดามารดาเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นเวลาที่ลัดดาวัลย์มีอายุได้ 17 ปีเศษแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่า ลัดดาวัลย์จะได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1. ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

มาตรา 1557 “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ลัดดาวัลย์ได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไรหรือไม่ เห็นว่า ลัดดาวัลย์ เกิดที่จังหวัดสกลนครเมื่อปี พ.ศ. 2508 จากบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักลัดดาวัลย์ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลัก ดินแดนตามมาตรา 7(3)

แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ลัดดาวัลย์จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 เพราะมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (เพราะในขณะลัดดาวัลย์เกิด บิดามารดาไม่ได้ เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย) และแม้ว่าต่อมาบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง (ปี พ.ศ. 2525)

ทำให้บิดาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ทําให้ลัดดาวัลย์ซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยไปแล้ว จะได้สัญชาติไทยกลับคืนมาอีก เพราะประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3120/2528)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยบัญญัติให้กรณีที่บิดามารดา ได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังนั้น ผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาให้มีผลย้อนหลังนับแต่ วันที่เด็กเกิด (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551) ตามมาตรา 1547 และมาตรา 1557 ดังนั้น จากผลของ ป.พ.พ. ที่ได้มีการแก้ไขใหม่ ทําให้ลัดดาวัลย์กลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เพราะเกิดโดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย

สรุป

ลัดดาวัลย์ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7(1) เพราะเกิดโดยบิดา ชอบด้วยกฎหมายมีสัญชาติไทย

 

ข้อ 2 อินทิราหญิงสัญชาติอินเดีย สมรสกับคิมชายสัญชาติเกาหลี กฎหมายสัญชาติอินเดีย กําหนดว่า หญิงอินเดียสมรสกับคนต่างชาติจะไม่เสียสัญชาติอินเดียจนกว่าหญิงนั้นจะแสดงความจํานง สละสัญชาติอินเดีย และกฎหมายสัญชาติเกาหลีกําหนดว่า หญิงต่างชาติซึ่งสมรสกับชายเกาหลี ย่อมได้สัญชาติเกาหลีโดยการสมรส กฎหมายภายในอินเดียกําหนดว่าบุคคลมีความสามารถจะทํานิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายภายในเกาหลีต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ อินทิรายังไม่ได้แสดงความจํานงสละสัญชาติอินเดีย และในขณะที่อินทิรามีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทําสัญญาซื้อเครื่องปั่นด้ายจํานวน 80 เครื่องจากนายสาธิต คนสัญชาติไทย หลังจากนั้นอินทิรากับนายสาธิตมีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาท มีว่าอินทิรามีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมาย ประกอบด้วยว่าศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคแรก “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่ สองสัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลําดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ”

มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อม เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่า อินทิราจะทําสัญญาซื้อเครื่องปั่นด้ายจากนายสาธิตคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นกรณีพิพาทกันเรื่องความสามารถ ของบุคคลซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อินทิรามีทั้งสัญชาติอินเดียและสัญชาติเกาหลีอันได้รับมาเป็นลําดับ (ไม่พร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่จะใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับมาครั้งสุดท้าย อันได้แก่กฎหมายเกาหลีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคแรก ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม กฎหมายเกาหลีแล้ว อินทิราย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายเกาหลี กําหนดว่า บุคคลมีความสามารถจะทํานิติกรรมใด ๆ ได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทํานิติกรรม อินทิรามีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี แม้อินทิราจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่าอินทิราคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวยามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง ดังนี้คือ

1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตาม ข้อ 1)

3) แต่กฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้

ดังนั้น การที่อินทิราได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่ นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของอินทิรา (เกาหลี) ก็ถือว่าอินทรา เป็นบุคคลผู้ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว อินทิรามี ความสามารถทํานิติกรรมซื้อขายดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ เพราะถือว่าอินทราบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่าอินทิรามีความสามารถทําสัญญาที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง

สรุป

ศาลไทยควรวินิจฉัยว่าอินทิรามีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องปั่นด้ายดังกล่าวได้

 

ข้อ 3. นายโฮเซ่คนสัญชาติเม็กซิกัน ได้วางระเบิดเครื่องบินของประเทศจาไมก้า ขณะที่กําลังจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเตรียมจะบินจากประเทศไทยไปยังประเทศจาไมก้า เมื่อวางระเบิดเสร็จแล้ว นายโฮเซได้หนีกลับไปยังประเทศเม็กซิโก และเครื่องบินลําดังกล่าวได้ระเบิดขณะที่กําลังบินอยู่เหนือ ทะเลหลวง การกระทําของนายโฮเซ่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ได้บัญญัติ ถึงลักษณะของการจี้เครื่องบินอันเป็นการกระทําความผิดฐานสลัดอากาศว่า เป็นการกระทําโดย

(1) บุคคลที่อยู่ในเครื่องบินนั้น

(2) การกระทํานั้นเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้กระทําต่อเครื่องบินลํานั้นเอง

(3) การกระทํานั้นเกิดในขณะที่เครื่องบินกําลังบินอยู่

ทั้งนี้หมายความรวมถึงการพยายามกระทําความผิดด้าย การจี้เครื่องบินจึงเป็นการกระทําจาก ผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกําลังบิน (on board an aircraft in flight) หรือที่เราเรียกว่าเป็นการกระทําภายในนั่นเอง

ดังนั้นการกระทําภายนอก เช่น การโจมตีด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยาน หรือก่อวินาศกรรมแก่ เครื่องบินที่จอดอยู่ในสนามบิน ย่อมไม่ใช่การจี้เครื่องบินตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทําของนายโฮเซ่คนสัญชาติเม็กซิกัน เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เห็นว่า การวางระเบิดเครื่องบินโดยนายโฮเซ่นั้นได้กระทํา ในขณะที่เครื่องบินยังจอดอยู่ที่สนามบิน การกระทําดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความหมายของการกระทําภายในของ ความผิดฐานเครื่องบิน ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 เพราะ เป็นการกระทําภายนอก ไม่ใช่การกระทําของผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกําลังบินอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความ ปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 ซึ่งใช้บังคับในเวลาต่อมา ได้บัญญัติให้คลุมถึงการกระทําทุกชนิดที่กระทบ ต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระทําภายนอกด้วย ดังนั้นการกระทําของนายโฮเซ่ จึงเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัย แห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971

สรุป

การกระทําของนายโฮเซ่เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971

 

ข้อ 4 นาย HANZ พร้อมกับเพื่อน ๆ ได้วางระเบิดสถานีรถไฟในประเทศเยอรมัน โดยมีข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวล้วนมีสัญชาติเยอรมันและมักก่อเหตุวุ่นวายเสมอ และผลจากการวางระเบิดครั้งนี้ ทําให้มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจํานวนมาก หลังก่อเหตุนาย HANZ จึงได้หนีไปที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลเยอรมันจึงได้ทําเรื่องร้องขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งตัวนาย HANZ กลับมารับโทษ แต่ระหว่าง การพิจารณา นาย HANZ ได้ยกข้อต่อสู้ขึ้นว่าการกระทําของเขาเป็นความผิดทางการเมือง จึงส่ง ผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้

อยากทราบว่ารัฐบาลอังกฤษจะตัดสินใจอย่างไรและเพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

หลักในการพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีการเมืองของประเทศอังกฤษนั้น จะใช้หลักในการพิจารณาที่ว่า การกระทําที่จะถือว่าเป็นคดีการเมืองนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นการกระทําในขณะไม่มีความสงบทางการเมือง

2 มีความขัดแย้งระหว่างพรรคหรือกลุ่มหรือคณะบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป และ

3 ต่างฝ่ายต่างพยายามให้อีกฝ่ายยอมรับรูปแบบการปกครองตามที่ฝ่ายตนต้องการ

เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศอังกฤษจะถือว่าความผิดนั้น เป็นการกระทําความผิดทางการเมืองซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ตามอุทาหรณ์ เมื่อพิจารณาถึงการกระทําของนาย HANZ กับเพื่อน ๆ ที่ได้วางระเบิดสถานีรถไฟ รวมทั้งมักจะก่อเหตุวุ่นวายเสมอ แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการกระทําที่ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะถือว่าเป็นคดีการเมืองตามหลัก ของประเทศอังกฤษแต่อย่างใดเลย เช่น ไม่ได้กระทําโดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการปกครองในรูปแบบใด ๆ เลย เป็นต้น และเมื่อการกระทําของนาย HANZ ไม่เป็นความผิดทางการเมือง รัฐบาลอังกฤษก็สามารถตัดสินใจส่งตัวนาย HANZ ให้กับรัฐบาลเยอรมันตามที่รัฐบาลเยอรมันร้องขอได้

สรุป

รัฐบาลอังกฤษจะตัดสินใจส่งตัวนาย HANZ ให้กับรัฐบาลเยอรมันตามคําร้องขอ

Advertisement