การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 หนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่มีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ที่ว่า “ผู้เกิด นอกราชอาณาจักรไทยโดยบิดาผู้มีสัญชาติไทยกับมารดาผู้มีสัญชาติอื่น และบิดามิได้สมรสกับมารดา ย่อมได้สัญชาติไทย” นั้น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบ ให้ชัดเจน
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
มาตรา 7 วรรคสอง “คําว่าบิดาตาม (1) ให้ หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้ จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับหนังสือของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่นั้น เห็นว่า การได้สัญชาติไทยดังกล่าวถือเป็นการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิต ถึงแม้ว่าการได้สัญชาติไทย โดยการเกิดตามหลักสายโลหิตทางบิดาตาม พ.ร.บ. สัญชาติ มาตรา 7(1) เดิมนั้น ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยมาตลอดว่า คําว่า “บิดา” หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ จะต้องเป็นบิดาที่สมรสกับมารดาหรือบิดาที่ได้จดทะเบียน ว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรแล้วก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 7 วรรคสอง ที่ได้มีการแก้ไขใหม่นั้น ให้ความหมายของคําว่า “บิดา” ว่าให้หมายความรวมถึงบิดาตามความ เป็นจริงด้วย แม้จะต้องไปพิสูจน์ว่าเป็นบิดาที่แท้จริงก็ตาม
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยกับหนังสือของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคล ที่ว่า “ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยบิดาผู้มีสัญชาติไทยกับมารดาผู้มีสัญชาติอื่น และบิดามิได้สมรสกับมารดา ย่อมได้สัญชาติไทย”
สรุป
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับหนังสือของกระทรวงมหาดไทยตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2 นายสุนัย คนสัญชาติไทยทําสัญญาซื้อโต๊ะประดับมุกอันเป็นวัตถุโบราณชิ้นหนึ่งจากนายฮอนด้าคนสัญชาติญี่ปุ่น และขณะทําสัญญาโต๊ะฯ ที่ว่านี้ก็อยู่ที่ญี่ปุ่น โดยนายสุนัยและนายฮอนด้าตกลงกัน ไว้ว่าหากกรณีมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย กฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นกําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้น ทําขึ้นและกฎหมายภายในของญี่ปุ่นกําหนดว่าการซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ปรากฏว่าการซื้อขายตามสัญญาฉบับนี้คงทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายสุนัยผิดสัญญาไม่ยอมชําระราคา และรับมอบโต๊ะฯ ที่ว่านี้ นายฮอนด้าจึงฟ้องนายสุนัยต่อศาลไทยเรียกค่าเสียหายเพราะผิดสัญญา นายสุนัยต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตนจึงไม่ผูกพันหรือ ต้องรับผิดตามสัญญา ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า หากท่านเป็นศาลไทย
ท่านควรพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายฉบับนี้เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
มาตรา 9 วรรคแรก “นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมาย อื่นใดแห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้น ได้ทำขึ้น”
มาตรา 13 วรรคแรกและวรรคท้าย “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็น สาระสําคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ โดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่ง คู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น
สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผล แห่งสัญญานั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุนัยคนสัญชาติไทยทําสัญญาซื้อโต๊ะประดับมุกอันเป็นวัตถุโบราณ ชิ้นหนึ่งจากนายฮอนด้าคนสัญชาติญี่ปุ่น และขณะทําสัญญาโต๊ะฯ ที่ว่านี้ก็อยู่ที่ญี่ปุ่น โดยนายสุนัยกับนายฮอนด้า เด้ตกลงกันไว้ว่า หากกรณีมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย และ สัญญาซื้อขายฉบับนี้ได้ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ดังนี้ ถ้าพิจารณาตามมาตรา 9 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ที่ว่า ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรม ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทําขึ้น ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ของญี่ปุ่นได้กําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น และตามกฎหมาย ภายในของญี่ปุ่นก็กําหนดว่า การซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาซื้อขายโต๊ะฯ ฉบับนี้ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นสัญญาที่ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 วรรคท้าย ได้ กําหนดไว้ว่า สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของ สัญญาเมื่อกรณีตามข้อเท็จจริง กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาได้แก่ กฎหมายไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณีตามมาตรา 13 วรรคแรก และตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ไม่มีบทบัญญัติบังคับว่าการซื้อขาย วัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายโต๊ะฯ ระหว่างนายสุนัย กับนายฮอนด้าจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ ข้อต่อสู้ของนายสุนัยจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป
หากข้าพเจ้าเป็นศาลไทย ข้าพเจ้าจะพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ ไม่ตก เป็นโมฆะ
ข้อ 3 เครื่องบินสายการบินฝรั่งเศสขณะที่กําลังบินจากประเทศฝรั่งเศสมายังประเทศไทย นายราห์มานคนสัญชาติบังคลาเทศได้ใช้มีดปอกผลไม้จี้ผู้โดยสารที่นั่งติดกันบนเครื่องบิน โดยขู่ว่าหากกัปตัน ไม่นําเครื่องบินลงจอดที่ประเทศบังคลาเทศจะทําร้ายผู้โดยสารคนดังกล่าว อย่างไรก็ตามกัปตัน ได้นําเครื่องลงจอดที่ประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนายราห์มานไว้ได้ ทั้งนี้ไม่มีได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด การกระทําของนายราห์มานผิดกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 ให้นิยาม ของคําว่า สลัดอากาศ หมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้นกระทําการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน โดยใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยาน หรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยาน ให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้ รวมถึงการพยายามกระทําความผิด
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทําของนายราห์มานถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่าง ประเทศฐานใดหรือไม่อย่างไรนั้น เห็นว่า การที่นายราห์มานซึ่งอยู่ในเครื่องบินลํานั้นใช้มีดปอกผลไม้จี้ผู้โดยสาร และขู่บังคับให้นักบินเปลี่ยนทิศทางการบิน โดยบังคับให้กัปตันนําเครื่องไปลงจอดที่ประเทศบังคลาเทศนั้น ถือว่า เป็นการกระทําการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน โดยใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึด อากาศยานหรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยานเพื่อให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทาง การบินตามที่ตนต้องการ ดังนั้น การกระทําของนายราห์มานจึงเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮก ว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ คศ. 1970 มาตรา 1 แม้ว่านายราห์มานจะถูกจับตัวได้และไม่มี ผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ตาม เพราะความผิดดังกล่าวรวมถึงการพยายามกระทําความผิดด้วย
สรุป
การกระทําของนายราห์มาน ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮก ว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1
ข้อ 4 จงบอกข้ออ้างหรือเหตุผลที่รัฐสามารถยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ส่งคนสัญชาติของตนให้ตามคําร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาโดยครบถ้วนและถูกต้อง
ธงคําตอบ
การส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือ การที่รัฐซึ่งบุคคลนั้นไปปรากฏตัวอยู่ส่งมอบตัวผู้ต้องหา หรือ ผู้ซึ่งต้องคําพิพากษาให้ลงโทษแล้วไปยังรัฐซึ่งผู้นั้นต้องหาว่าได้กระทําความผิดอาญา หรือถูกพิพากษาให้ลงโทษ ทางอาญาแล้ว ในดินแดนของรัฐที่ขอให้ส่งตัว
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อรัฐหนึ่งร้องขอแล้ว รัฐที่รับคําขอก็ควรจะส่งตัวให้ตามคําขอ อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักทั่วไปดังกล่าว ก็ยังมีข้ออ้างหรือเหตุผลที่รัฐสามารถยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ส่งคนสัญชาติของตน ให้ตามคําร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ซึ่งมีอยู่ 3 กรณีคือ
1 ลักษณะของความผิด กล่าวคือ หากเป็นความผิดในลักษณะต่อไปนี้ รัฐนั้นก็สามารถ ยกเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธไม่ส่งคนสัญชาติของตนได้ เช่น เป็นความผิดทางการเมือง ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ ความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา เพราะความผิดเหล่านี้มิได้ก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย อันจะถือเป็นภัยร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติแต่อย่างใด และยังมีหลักสากลกําหนดไว้อีกว่า หากเป็นความผิดเหล่านี้ ห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน
2 สัญชาติของผู้กระทําผิด โดยใช้หลักที่ว่าคนสัญชาติของรัฐใด ก็ควรใช้กฎหมายของ รัฐนั้นลงโทษ ถ้ามีการส่งตัวไปให้รัฐอื่นลงโทษ ก็เท่ากับว่าเป็นการยอมลดหรือสละอํานาจอธิปไตยของรัฐผู้รับคําขอ
3 ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําผิด มีอยู่ 4 ประการ
1) บุคคลที่ถูกสั่งให้ปล่อยตัวแล้ว กล่าวคือ ถ้าบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวนั้นถูกศาลใด ศาลหนึ่งพิจารณาในความผิดที่ขอให้ส่งตัวมาแล้ว และศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว หรือศาลได้พิพากษา ลงโทษและผู้นั้นได้รับโทษแล้ว รัฐผู้รับคําขอย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการส่งตัวได้
2) มีโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว ถ้าความผิดที่ขอให้ส่งตัวนั้น เป็นความผิดที่มี โทษหนักคือโทษประหารชีวิตสถานเดียว รัฐที่รับคําขอชอบที่จะปฏิเสธการส่งตัวนั้นได้ เพราะถือหลักมนุษยธรรมว่า รัฐไม่ควรยอมเป็นเครื่องมือช่วยรัฐอื่นโดยส่งคนที่เข้ามาอยู่ในรัฐตนไปให้รัฐอื่นประหารชีวิตเสีย
3) ความผิดที่ขัดกับหลักศีลธรรมของรัฐที่รับคําขออย่างร้ายแรง เช่น การค้าทาส รัฐที่รับคําขอย่อมปฏิเสธที่จะส่งตัวทาสไปให้รัฐที่มีคําขอได้
4) บุคคลในคณะทูต ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้ให้เอกสิทธิ์และ ความคุ้มกันทางการทูต ในการที่จะไม่ถูกฟ้องคดีอาญาในประเทศที่ไปประจําอยู่