การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา
คําแนะนํา
ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 กิมเกิดที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 จากบิดาคนสัญชาติจีนและมารดาคนสัญชาติลาว ทั้งนี้ บิดาและมารดาของกิมไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โดยบิดาของกิมนั้นเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา ทําวิจัยในประเทศไทย ส่วนมารดาเป็นผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ให้นักศึกษา วินิจฉัยว่ากิมเป็นผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508
มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง”
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมาย หรือบิดาซึ่งมิได้ สมรสกับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กิมเกิดที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 นั้น แม้กิมจะเกิดในประเทศไทย กิมก็ไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3) เพราะกิมเกิดในขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) เนื่องจากกิมเกิดในราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
และเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ประกาศใช้บังคับ กิมก็ไม่ได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 7 (2) แม้กิมจะเกิดในราชอาณาจักรไทยก็ตาม เพราะกิมเป็นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง กล่าวคือ กิมเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว และในขณะที่เกิดมารดาของกิมเป็นผู้ที่ เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
สรุป
กิมจะไม่ได้รับสัญชาติไทย
ข้อ 2 นายสุดหล่อคนสัญชาติไทยได้ทําสัญญาซื้อจรวดจํานวน 100 ลําจากนายเดวิดคนสัญชาติอเมริกันซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยทําสัญญาฉบับนี้กันที่ประเทศสิงคโปร์ และขณะทําสัญญา จรวดทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่สิงคโปร์ เมื่อซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าเครื่องยนต์ของจรวดทั้ง 100 ลํานั้น อยู่ในสภาพชํารุดใช้การไม่ได้ นายสุดหล่อจึงขอเปลี่ยน แต่นายเดวิดไม่ยอมเปลี่ยนให้โดยโต้แย้งว่า ตนในฐานะผู้ขายไม่จําต้องรับผิดในกรณีการชํารุดที่ว่านี้ ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่าคู่สัญญาไม่ได้ แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สัญญาฉบับนี้ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าหากศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ไว้พิจารณา ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านี้ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
มาตรา 13 วรรคหนึ่ง “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญหรือผล แห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสําคัญหรือผลของ สัญญานั้น กรณีเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจแยกพิจารณา เป็นกรณีตามลําดับได้ดังนี้
1 กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้นํากฎหมายของประเทศใดมาใช้บังคับ ก็ให้นํากฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ
2 กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้ บังคับแก่สัญญา
(ก) ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ
(ข) ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้นมาใช้บังคับ
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรจะนํากฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่า นายเดวิด (ผู้ขาย) จะต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องในทรัพย์สิน (จรวด) ที่ซื้อขายกันเพียงใดหรือไม่อันเป็นปัญหาในเรื่อง ผลของสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าให้นํากฎหมาย ประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยังทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ว่า คู่สัญญาจะให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ข้อพิพาทนี้ และเมื่อทั้งนายสุดหล่อและนายเดวิดคู่สัญญาก็ไม่ได้มีสัญชาติ เดียวกัน กรณีเช่นนี้กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่ กฎหมายประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญา ฉบับนี้ได้ทําขึ้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น หากได้ความว่าศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ไว้พิจารณา ศาลไทยจึงควรนํากฎหมายประเทศ สิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าว
สรุป
ศาลไทยควรนํากฎหมายประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3 นายโมฮัมหมัด สัญชาติซีเรีย ได้ใช้อาวุธปืนจี้เครื่องบินซึ่งจดทะเบียนประเทศฝรั่งเศสภายหลังที่ประตูเครื่องบินได้ถูกปิด เเละนักบินกําลังจะนําเครื่องบินเคลื่อนตัวออกจากช่องจอดไปยังทางขึ้นลง ของเครื่องบิน (Runway) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยนายโมฮัมหมัดได้จับตัวนายเฟรเดอริก ผู้โดยสารอีกคนบนเครื่องบินดังกล่าวเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้นักบินนําเครื่องไปลงจอดที่ ประเทศซีเรียแทนประเทศฝรั่งเศสอันเป็นปลายทางเดิม อย่างไรก็ตามนักบินได้นําเครื่องลงจอดที่ ท่าอากาศยานฝรั่งเศส เด้อย่างปลอดภัย โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้ร่วมกันจับตัวนายโมฮัมหมัด ได้ในที่สุด และไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บแต่อย่างใด ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า การกระทําของนายโมฮัมหมัดเป็นความผิด ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
วินิจฉัย
อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 มาตรา 1 บัญญัติว่า ความผิดฐานสลัดอากาศ หมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้นกระทําการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัย ของอากาศยาน โดยใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยาน หรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของ อากาศยานให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้รวมถึงการ พยายามกระทําความผิด
ความผิดตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ เป็นการกระทําในขณะเครื่องบินกําลังบินหรืออยู่ระหว่างบิน หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่เมื่อประตูเครื่องถูกปิดหลังจากได้มีการขึ้นเครื่องเรียบร้อย จนกระทั่งประตูถูกเปิด เพื่อให้ลงจากเครื่องนั้นอีกครั้ง
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทําของนายโมฮัมหมัดถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ เนื่องจาก เป็นการใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อที่จะยึดเครื่องบินให้เปลี่ยนเส้นทางบินไปลงจอดที่ประเทศซีเรีย แทนประเทศฝรั่งเศส และเป็นการกระทําภายหลังที่ประตูเครื่องบินได้ถูกปิดลง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาระหว่างบิน ตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ แม้ว่าในที่สุดนักบินได้นําเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานฝรั่งเศสได้อย่างปลอดภัย โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้ร่วมกันจับตัวนายโมฮัมหมัดได้ในที่สุด และไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บแต่อย่างใด การกระทําดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามมาตรา 1 แห่งอนุสัญญากรุงเฮกฯ ค.ศ. 1970 ซึ่งรวมถึง การพยายามกระทําความผิดด้วย
สรุป
การกระทําของนายโมฮัมหมัดเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วย การขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970
ข้อ 4 จงอธิบายฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําความผิดมาโดยถูกต้องครบถ้วน
ธงคําตอบ
ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําความผิดที่รัฐผู้รับคําขอสามารถยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ส่ง คนสัญชาติของตนให้ตามคําร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มี 4 ประการ ได้แก่
1 บุคคลที่ถูกสั่งให้ปล่อยตัวแล้ว กล่าวคือ ถ้าบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวนั้นถูกศาลใดศาลหนึ่ง พิจารณาในความผิดที่ขอให้ส่งตัวมาแล้ว และศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว หรือศาลได้พิพากษา ลงโทษและผู้นั้นได้รับโทษแล้ว รัฐผู้รับคําขอย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการส่งตัวได้
2 มีโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว ถ้าความผิดที่ขอให้ส่งตัวนั้น เป็นความผิดที่มีโทษหนัก คือ โทษประหารชีวิตสถานเดียว รัฐที่รับคําขอชอบที่จะปฏิเสธการส่งตัวนั้นได้ เพราะถือหลักมนุษยธรรมที่ว่า รัฐไม่ควรยอมเป็นเครื่องมือช่วยรัฐอื่นโดยส่งคนที่เข้ามาอยู่ในรัฐตนไปให้รัฐอื่นประหารชีวิตเสีย
3 ความผิดที่ขัดกับหลักศีลธรรมของรัฐที่รับคําขออย่างร้ายแรง เช่น การค้าทาส รัฐที่รับคําขอ ย่อมปฏิเสธที่จะส่งตัวทาสไปให้รัฐที่มีคําขอได้
4 บุคคลในคณะทูต ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ทางการทูต ในการที่จะไม่ถูกฟ้องคดีอาญาในประเทศที่ไปประจําอยู่