การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 จากข้อเท็จจริงต่อไปนี้ ให้ท่านวินิจฉัยโดยใช้หลักกฎหมายทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
ก เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับ จากบิดาคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมือง ขณะที่ ก เกิด บิดากับมารดาไม่ได้เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย บิดาเพิ่งมาจดทะเบียน สมรสกับมารดาหลังจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่า ก ได้ หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมาย หรือบิดาซึ่งมิได้สมรส กับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
มาตรา 11 “บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรี มีคําสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
มาตรา 7 วรรคสอง “คําว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรส กับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”
มาตรา 1557 “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์
ก ได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ก เกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2508 จากบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและเกิดก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้ บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลัก ก. ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตาม มาตรา 7 (3)
แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ก จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 เพราะมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (เพราะในขณะ ก เกิด บิดามารดา ไม่ได้เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย) และแม้ว่าต่อมาบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง (ปี พ.ศ. 2518) ทําให้บิดาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ทําให้ ก ซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยไปแล้วจะได้สัญชาติไทยกลับคืนมาอีก เพราะประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3120/2528)
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าบิดาของ ก ไม่ใช่คนต่างด้าว อันจะทําให้ ก ไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา 11 ดังนั้น ก จึงกลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม หลักดินแดน
อีกทั้งเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) หาก ก พิสูจน์ได้ว่าเป็นบุตรที่แท้จริงของบิดา ก ก็จะกลับมาได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักสายโลหิตตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1)
และเมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยบัญญัติให้กรณีที่บิดามารดาได้จดทะเบียน สมรสกันในภายหลังนั้น ผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่เด็กเกิด (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551) ตามมาตรา 1547 และมาตรา 1557 ดังนั้นจากผลของ ป.พ.พ. ที่ได้มีการแก้ไขใหม่ ทําให้ ก. กลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) เพราะเกิด โดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
สรุป
ก จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) และ (3)
ข้อ 2 นายสนธยาทําสัญญาซื้อวัตถุโบราณชิ้นหนึ่งจากนายบุญมีคนสัญชาติลาว โดยสัญญาที่ว่านี้ทําที่ประเทศลาว และขณะทําสัญญาวัตถุโบราณนี้ก็อยู่ที่ประเทศลาว นายสนธยากับนายบุญมีกําหนดไว้ ในสัญญาชัดแจ้งว่าหากมีข้อพิพาทเรื่องผลของสัญญาให้ใช้กฎหมายไทยบังคับ กฎหมายขัดกัน แห่งกฎหมายของประเทศลาวกําหนดว่า สัญญาต้องทําถูกต้องตามแบบกฎหมายของประเทศที่ สัญญาทําขึ้น และกฎหมายแพ่งของประเทศลาวกําหนดให้การซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการซื้อขายรายนี้ทําเป็น หนังสือแต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายสนธยาไม่ยอมชําระราคาและไม่ยอมรับ มอบวัตถุโบราณ นายบุญมีจึงมาฟ้องต่อศาลไทยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย นายสนธยายกข้อต่อสู้ ต่อศาลไทยว่าสัญญาเป็นโมฆะ เพราะมีได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตนจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ในกรณีนี้ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ข้อต่อสู้ของนายสนธยาฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
มาตรา 9 วรรคแรก “นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใด แห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้น ได้ทําขึ้น”
มาตรา 13 วรรคแรกและวรรคท้าย “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็น สาระสําคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยังทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ โดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่ง คู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น
สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผล แห่งสัญญานั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสนธยาทําสัญญาซื้อขายวัตถุโบราณชิ้นหนึ่งจากนายบุญมี คนสัญชาติลาว และขณะทําสัญญาวัตถุโบราณนี้ก็อยู่ที่ประเทศลาว โดยนายสนธยากับนายบุญมีได้ตกลงกันไว้ว่า หากกรณีมีข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย และสัญญาซื้อขาย ฉบับนี้ได้ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ดังนี้ ถ้าพิจารณาตามมาตรา 9 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ที่ว่า ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตาม กฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทําขึ้น ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของลาวได้ กําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น และตามกฎหมายภายในของลาว ก็กําหนดว่า การซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาซื้อขายวัตถุโบราณฉบับนี้ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นสัญญาที่ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 วรรคท้าย ได้กําหนด ไว้ว่า สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญาเมื่อ กรณีตามข้อเท็จจริง กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาได้แก่ กฎหมายไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณี ตามมาตรา 13 วรรคแรก และตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ไม่มีบทบัญญัติบังคับว่าการซื้อขายวัตถุโบราณ ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายวัตถุโบราณระหว่างนายสนธยา กับนายบุญมีจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ ข้อต่อสู้ของนายสนธยาจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป
ข้อต่อสู้ของนายสนธยาฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 ตามที่เคยมีข่าวว่า เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติไทยซึ่งออกเดินทางจากประเทศสิงคโปร์กลับมายังประเทศไทย ถูกกลุ่มบุคคลจากเรืออีกลํายิ่งมีอาวุธบุกปล้น โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จับตัวลูกเรือ ทั้งหมดขังไว้ในห้องเครื่องยนต์ และนําอุปกรณ์มาสูบถ่ายน้ำมันไปยังเรืออีกลําที่เตรียมไว้ โดยเหตุ ดังกล่าวเกิดนอกชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ภายหลังลูกเรือทั้งหมดของเรือบรรทุกน้ำมันปลอดภัยและได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ดังนี้ การกระทําของกลุ่มบุคคลดังกล่าวถือเป็นความผิด ตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย
อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 (Geneva Convention on High Sea 1958)
มาตรา 15 ได้ให้ความหมายของคําว่า “การโจรสลัด” ว่าต้องประกอบด้วยการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1 การกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็น การปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทํา
(ก) ในทะเลหลวง ต่อเรือหรืออากาศยานอีกลําหนึ่ง หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือหรืออากาศยานเช่นว่านั้น
(ข) ต่อเรือ อากาศยาน บุคคลหรือทรัพย์สินในที่ที่อยู่ภายนอกอํานาจของรัฐใด
2 การกระทําใดอันเป็นการเข้าร่วมด้วยใจสมัครในการดําเนินการของเรือ
3 การกระทําอันเป็นการยุยงหรืออํานวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทําที่ได้ กล่าวไว้ในวรรคแรก หรืออนวรรคสอง ของมาตรานี้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กลุ่มบุคคลจากเรืออีก ซึ่งมีอาวุธบุกปล้นเรือบรรทุกน้ำมัน สัญชาติไทย โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จับตัวลูกเรือทั้งหมดขังไว้ในห้องเครื่องยนต์ และนําอุปกรณ์มาสูบถ่ายน้ํามัน ไปยังเรืออีกลําที่เตรียมไว้นั้น การกระทําดังกล่าวถือเป็นการกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็นการปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของ เรือเอกชนมุ่งกระทําในทะเลหลวง ต่อเรือหรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือ จึงถือว่าการกระทําดังกล่าว เป็น ความผิดฐานโจรสลัด ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 มาตรา 15
สรุป
การกระทําของกลุ่มบุคคลดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ฐานโจรสลัด
ข้อ 4 กฎหมายระหว่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 นั้น มีวัตถุที่ประสงค์เพื่ออะไร และตามกฎหมายดังกล่าวมีกรณีใดบ้างที่เป็นข้อยกเว้น “ห้าม” ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ธงคําตอบ
คําว่า “ผู้ร้าย” หมายถึง บุคคลผู้กระทําผิดอาญา ซึ่งอาจจะอยู่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจําเลย หรือผู้ซึ่งต้องคําพิพากษาให้ลงโทษ อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้กระทําผิดอาญาในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีข้ามแดนไปอยู่ อีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่ความผิดได้กระทําลงร้องขอให้ประเทศที่ผู้ร้ายหลบหนีไปอยู่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อ นํามาพิจารณาลงโทษ
ดังนั้น คําว่า “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” จึงหมายถึง การที่ประเทศซึ่งผู้ร้ายไปปรากฏตัวอยู่ ส่งมอบตัว ผู้ร้ายนั้นไปยังประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวนั่นเอง
สําหรับวัตถุประสงค์ของกฎหมายระหว่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและ พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 นั้น ได้แก่
1 พยายามให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการกระทําผิดอาญาและ อาชญากรรมต่าง ๆ เพื่อความสงบสุขของประชาชนโลกทั้งปวง
2 เพื่อให้เป็นไปตามหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาที่ว่า ผู้กระทําผิดอาญาจะต้องได้รับโทษ เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
3 เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทําผิดอาศัยการหลบหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เพื่อให้ตนรอดพ้น จากการถูกลงโทษ
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อรัฐหนึ่งร้องขอแล้ว รัฐที่รับคําขอก็ควรจะส่งตัวให้ตามคําขอ อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักทั่วไปดังกล่าว ก็ยังมีกรณีที่ถือเป็นข้อยกเว้นที่ห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน ได้แก่
1 ลักษณะของความผิด กล่าวคือ หากเป็นความผิดในลักษณะต่อไปนี้ กฎหมายระหว่าง ประเทศห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน เช่น เป็นความผิดทางการเมือง ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ ความผิดต่อกฎหมาย การพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา เพราะความผิดเหล่านี้มิได้ก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย อันจะถือเป็นภัย ร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติแต่อย่างใด และยังมีหลักสากลกําหนดไว้อีกว่า หากเป็นความผิดเหล่านี้ห้ามส่งผู้ร้าย ข้ามแดน
2 ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทําผิด มีอยู่ 4 ประการ
1) บุคคลที่ถูกสั่งให้ปล่อยตัวแล้ว กล่าวคือ ถ้าบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวนั้นถูกศาลใด ศาลหนึ่งพิจารณาในความผิดที่ขอให้ส่งตัวมาแล้ว และศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว หรือศาลได้ พิพากษาลงโทษและผู้นั้นได้รับโทษแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน
2) มีโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว ถ้าความผิดที่ขอให้ส่งตัวนั้น เป็นความผิดที่มี โทษหนักคือโทษประหารชีวิตสถานเดียว กฎหมายระหว่างประเทศห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะถือหลัก มนุษยธรรมว่า รัฐไม่ควรยอมเป็นเครื่องมือช่วยรัฐอื่นโดยส่งคนที่เข้ามาอยู่ในรัฐตนไปให้รัฐอื่นประหารชีวิตเสีย
3) ความผิดที่ขัดกับหลักศีลธรรมของรัฐที่รับคําขออย่างร้ายแรง เช่น การค้าทาส เป็นต้น
4) บุคคลในคณะทูต ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้ให้เอกสิทธิ์และความ คุ้มกันทางการทูต ในการที่จะไม่ถูกฟ้องคดีอาญาในประเทศที่ไปประจําอยู่
ส่วนเรื่อง สัญชาติของผู้กระทําผิด หากผู้กระทําผิดมีสัญชาติของประเทศผู้รับคําขอ โดย หลักแล้วรัฐมีสิทธิไม่ส่งคนสัญชาติตนไปให้รัฐอื่นพิจารณาลงโทษ แต่ไม่ใช่ห้ามส่งข้ามแดนเสียทีเดียว เพราะ อาจจะอยู่ในดุลพินิจหรือมีข้อยกเว้นตามสนธิสัญญา หรือในความผิดที่เป็นภัยร้ายแรง เป็นต้น