การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายทนงลูกจ้างรายวัน ได้รับค่าจ้างวันละ 336 บาท (42 บาทต่อชั่วโมง) ทํางานที่กรุงเทพฯ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. ต่อมานายพิภพ (นายจ้าง) มีคําสั่งให้นายทนง เดินทางไปทํางานที่จังหวัดน่าน โดยให้เดินทางในวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 07.30 น. ถึงจุดหมายปลายทาง เวลา 20.30 น. และให้ทํางานวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ถึง 21.00 น. เช่นนี้ นายทนงจะมีสิทธิ อะไรบ้าง เป็นจํานวนเงินเท่าใด ตามกฎหมายมาตราใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 56 “ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทํางานสําหรับวันหยุด ดังต่อไปนี้

(1) วันหยุดประจําสัปดาห์ เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน โดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 62 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือ มาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทํางานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้

(2) สําหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า สองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําหรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 63 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 71 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างเดินทางไปทํางานในท้องที่อื่น นอกจากท้องที่สําหรับ การทํางานปกติ ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 ในระหว่างเดินทาง แต่สําหรับการเดินทางในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทํางานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามมาตรา 56 (1) สําหรับการเดินทางนั้น”

มาตรา 72 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างเดินทางไปทํางานในท้องที่อื่น นอกจากท้องที่สําหรับการทํางานปกติ ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 ในระหว่างเดินทาง แต่สําหรับการเดินทางในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทํางานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามมาตรา 56 (1) ด้วย เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลา ในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายทนงลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 336 บาท (เฉลี่ยชั่วโมงละ 42 บาท) ทํางานที่กรุงเทพฯ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. ต่อมานายพิภพ (นายจ้าง) มีคําสั่งให้นายทนงเดินทางไปทํางานที่จังหวัดน่านนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างเดินทางไปทํางานใน ท้องที่อื่นตามมาตรา 71 และเมื่อนายทนงเป็นลูกจ้างรายวันซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามมาตรา 56 (1) ซึ่งตามมาตรา 71 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสําหรับการเดินทางในวันหยุดเท่ากับค่าจ้างในวันทํางานให้แก่ ลูกจ้าง ดังนั้น ในวันเสาร์นายทนงจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้าง 336 บาท สําหรับการเดินทางดังกล่าว แต่นายทนงไม่มี สิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 สําหรับการเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72

ส่วนการที่นายจ้างให้นายทนงทํางานในวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ถึง 21.00 น. นั้น ถือเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุดตามมาตรา 28 (วันหยุดประจําสัปดาห์) ดังนั้น นายทนงจึงมีสิทธิ ได้รับค่าจ้างทํางานในวันหยุด ดังนี้คือ

1 ค่าทํางานในวันหยุดตั้งแต่เวลา 13.00 น. ถึง 17.00 น. รวม 4 ชั่วโมง ตามมาตรา 62 (2) ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางาน ซึ่งนายทนงจะได้รับ ค่าจ้างเป็นเงิน 336 บาท (42 x 2 x 4)

2 ค่าทํางานล่วงเวลาในวันหยุดตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึง 21.00 น. รวม 4 ชั่วโมง ตาม มาตรา 63 ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้เป็น 2 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางาน ซึ่งนายทนงจะได้รับค่าจ้าง เป็นเงิน 500 บาท (42 x 3 x 4)

สรุป

นายทนงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับการเดินทางในวันเสาร์เป็นเงิน 336 บาท และ จะได้รับค่าจ้างเป็นค่าทํางานในวันอาทิตย์อีกเป็นเงิน 840 บาท (336 + 504)

 

ข้อ 2. นายสุรเดชเป็นหัวหน้าควบคุมงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ทํางานมาแล้ว 7 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 40,000 บาท ต่อมานายภักดี (นายจ้าง) ต้องการปรับปรุงหน่วยงานกระบวนการผลิต จึงได้นํา เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ จึงได้บอกกล่าวแก่นายสุรเดชในวันจ่ายสินจ้างคือวันที่ 31 มีนาคม ว่าจะบอกเลิกสัญญาจ้างและได้บอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 เมษายน และจ่ายค่าชดเชยให้ เป็นจํานวนเงิน 280,000 บาท แต่นายสุรเดชเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร จะมีสิทธิ ได้รับอะไรบ้าง เป็นจํานวนเงินเท่าใด เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 67 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้าง จึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

(4) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดของสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้าง ไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป”

มาตรา 121 “ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจําหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนําเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจํานวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นํามาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้าง แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้าง ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

ในกรณีที่นายจ้างไม่เจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าที่กําหนด ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทํางานหกสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วยด้วย

ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่า นายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย”

มาตรา 122 “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทํางานติดต่อกัน เกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สิบห้าวันต่อการทํางานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทํางานครบหนึ่งปี สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้าง อัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทํางานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

เพื่อประโยชน์ในการคํานวณค่าชดเชยพิเศษกรณีระยะเวลาทํางานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของ ระยะเวลาทํางานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทํางานครบหนึ่งปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายภักดี (นายจ้าง) จะเลิกจ้างนายสุรเดชลูกจ้างเพราะเหตุที่ นายจ้างปรับปรุงหน่วยงานกระบวนการผลิต อันเนื่องมาจากการนําเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้นั้น ถือเป็น การเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ได้กําหนดให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้ ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง (มาตรา 121 วรรคหนึ่ง) ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้าง ที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน (มาตรา 121 วรรคสอง)

และในกรณีที่ลูกจ้างได้ทํางานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้น จากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทํางานครบหนึ่งปี (มาตรา 122 วรรคหนึ่ง)

ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อนายสุรเดชลูกจ้างได้ทํางานมาแล้ว 7 ปี โดยได้รับค่าจ้าง เดือนละ 40,000 บาท เมื่อนายจ้างได้บอกกล่าวแก่นายสุรเดชว่าจะเลิกจ้างในวันที่ 31 มีนาคม และให้มีผลเป็น การเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน โดยจ่ายค่าชดเชยให้นายสุรเดช 280,000 บาทนั้น นายสุรเดชสามารถต่อสู้ได้ว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะนายสุรเดชมีสิทธิได้รับค่าชดเชยดังนี้ คือ

1 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 121 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวันเป็นเงิน 80,000 บาท

2 ค่าชดเชยในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างตามมาตรา 118 (4) เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน) เป็นเงิน 320,000 บาท

3 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 122 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทํางาน ครบหนึ่งปี (ทํางานปีที่ 7 = 15 วัน) เป็นเงิน 20,000 บาท

ซึ่งรวมทั้งหมดนายสุรเดชจะต้องได้รับค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 420,000 บาท

และนอกจากนั้น นายสุรเดชยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างด้วย

สรุป

การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างและจ่ายค่าชดเชยให้ 280,000 บาท นายสุรเดช สามารถต่อสู้ได้ว่าไม่ถูกต้อง เพราะนายสุรเดชมีสิทธิได้รับค่าชดเชยทั้งหมดเป็นเงิน 420,000 บาท รวมทั้งมีสิทธิ ได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีด้วยตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. นายพนมและนายเทวาเป็นเพื่อนกันมีหน้าที่ขับรถยนต์ไปส่งสินค้า ทั้งสองได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายพิมล (นายจ้าง) มีคําสั่งให้นายพนมขับรถยนต์ไปส่งสินค้าที่จังหวัดปราจีนบุรี นายเทวาเห็นว่าเป็นเส้นทางกลับบ้านจึงนั่งไปด้วยโดยจะคอยบอกเส้นทางเดินทางให้ แต่ในระหว่างทาง เกิดรถยนต์ชนต้นไม้ข้างทางอย่างแรงทําให้ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อรักษาตัวได้ 4 เดือน ก็กลายเป็นคนทุพพลภาพ เช่นนี้ ทั้งสองคนจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลัง การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภท ของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายพนมและนายเทวาจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอย่างไรบ้างหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายพนม

การที่นายพนมซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์ไปส่งสินค้า ได้รับคําสั่งจากนายจ้างให้ขับรถยนต์ ไปส่งสินค้าที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่ในระหว่างทางเกิดรถยนต์ชนต้นไม้ข้างทางอย่างแรงทําให้นายพนม (รวมทั้ง นายเทวา) ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องพักรักษาตัวถึง 4 เดือน และต่อมาได้กลายเป็นคนทุพพลภาพนั้น ย่อมถือว่า นายพนมประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ดังนั้น นายพนมจึงได้รับการคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายพนม ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาล ตามมาตรา 13 โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ นายพนมเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งในกรณีนี้ถือว่านายพนม ประสบอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงต้องได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 50,000 บาท และในกรณีบาดเจ็บ รุนแรงอีกไม่เกิน 100,000 บาท รวมกันแล้วไม่เกิน 150,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับอัตรา ค่ารักษาพยาบาลฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 2. และข้อ 3.)

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางาน ตามมาตรา 15 โดยนายจ้างต้องจ่ายตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ในกรณีนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพใน การทํางานให้แก่นายพนมเป็นจํานวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับอัตราการจ่าย ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 4. (1)

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ ตามมาตรา 18 (1) เมื่อนายพนมไม่สามารถ ทํางานได้ 4 เดือน ซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่นายพนมไม่สามารถทํางานได้ เมื่อนายพนมได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของเงิน 12,000 บาท จึงเท่ากับ 7,200 บาท (ซึ่งไม่เกินค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานฯ ประกาศกําหนดคือ 12,000 บาท) ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่นายพนมเดือนละ 7,200 บาท เป็นเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 28,800 บาท

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพ ตามมาตรา 18 (3) เมื่อนายพนมกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งก็คือ 7,200 บาท ให้แก่นายพนมทุกเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี

กรณีของนายเทวา

แม้นายเทวาจะเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับนายพนม และเมื่อเกิดรถยนต์ชนต้นไม้ข้างทางอย่างแรง ทําให้นายเทวาได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวถึง 4 เดือน และต่อมาได้กลายเป็นคนทุพพลภาพก็ตาม แต่นายเทวา ได้นั่งรถไปกับนายพนมเพื่อจะกลับบ้านเท่านั้น มิใช่กรณีที่นายจ้างสั่งให้ไป จึงไม่ถือว่านายเทวาประสบอันตราย เนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ดังนั้น นายเทวาจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนใด ๆ จากนายจ้าง

สรุป

นายพนมจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานจํานวนไม่เกิน 20,000 บาท

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เดือนละ 7,200 บาท เป็นเงิน 28,800 บาท

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพเดือนละ 7,200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี ส่วนนายเทว่าไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนใด ๆ จากนายจ้าง

 

ข้อ 4 ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ในกรณีที่ต้องการเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ถ้าหากว่า “ลูกจ้าง” กับ “สหภาพแรงงาน” ต้องการแจ้งข้อเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ “ลูกจ้าง” กับ “สหภาพแรงงาน”

จะต้องทําอย่างไรตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 15 จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 13 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้อง เป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น…”

 

มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานอาจแจ้งข้อเรียกร้อง ตามมาตรา 13 ต่ออีกฝ่ายหนึ่งแทนนายจ้างหรือลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกได้ จํานวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างต้องมีจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนลูกจ้างทั้งหมด

ในกรณีที่สหภาพแรงงานเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นไม่จําต้องมีรายชื่อและ ลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง”

ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่ต้องการเรียกร้องให้มีการกําหนด ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ถ้าหากว่า “ลูกจ้าง” กับ “สหภาพแรงงาน” ต้องการแจ้งข้อเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ “ลูกจ้าง” กับ “สหภาพแรงงาน” จะต้อง ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนี้คือ

กรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง

1 ฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องนั้นไปยังฝ่ายนายจ้าง โดยทําเป็นหนังสือแจ้งไปยัง ฝ่ายนายจ้าง (มาตรา 13 วรรคหนึ่ง) และข้อเรียกร้องดังกล่าวจะต้อง

(1) มีรายชื่อ และ

(2) มีลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในจํานวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น (มาตรา 13 วรรคสาม)

2 ในกรณีที่ลูกจ้างได้เลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาไว้แล้ว ให้ระบุชื่อผู้แทน ผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจํานวนไม่เกิน 7 คน พร้อมกับการแจ้งข้อเรียกร้องด้วย ถ้าลูกจ้างยังมิได้เลือกตั้งผู้แทน เป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจา ให้ลูกจ้างเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาและระบุชื่อผู้แทนผู้เข้าร่วมในการ เจรจามีกําหนดไม่เกิน 7 คน โดยมิชักช้า (มาตรา 13 วรรคสาม)

กรณีที่สหภาพแรงงานเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง

1 สหภาพแรงงานนั้นจะต้องมีลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของลูกจ้างทั้งหมด (มาตรา 15 วรรคหนึ่ง)

2 ให้สหภาพแรงงานแจ้งข้อเรียกร้องที่ลูกจ้างทําไว้ตามมาตรา 13 วรรคหนึ่งต่อนายจ้าง โดยข้อเรียกร้องนั้นไม่จําต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น (มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง)

Advertisement