การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายสมคิดเป็นลูกจ้างตามสัญญามีกำหนดเวลา 1 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,160 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือนโดยทำงานวันละ 8 ชั่วโมง นายสมคิดทำงานมาได้ 1 ปี 2 เดือน ปรากฏว่าเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างจึงจ่ายค่าจ้างให้ 8,160 บาท (เฉลี่ยวันละ 272 บาท) ในวันที่ 31 ตุลาคมและบอกเลิกสัญญาจ้าง นายสมคิดเองกำลังจะขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี (ตามมาตรา 30) ซึ่งนายจ้างตกลงให้สะสมและเลื่อนวันหยุดที่ยังมิได้หยุดไปรวมกับปีต่อไปได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่า 10 วัน แต่เมื่อนายสมคิดถูกบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 ตุลาคม เช่นนี้แล้วเป็นการถูกต้องหรือไม่ นายสมคิดจะมีสิทธิอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
นายสมคิดเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลา 1 ปี แต่ได้ทำงานมา 1 ปี 2 เดือน จึงเป็นสัญญาไม่มีกำหนดเวลา ตามมาตรา 581 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อเป็นสัญญาไม่มีกำหนดเวลาต้องปฏิบัติตามมาตรา 17 วรรคสอง จึงบอกกล่าววันที่ 31 ตุลาคม และบอกเลิกสัญญาในวันที่ 30 พฤศจิกายน
สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างมีสิทธิหยุดปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน และอาจตกลงวันสะสมและเลื่อนไปรวมในปีต่อ ๆ ไปได้ ตามมาตรา 30 วรรคแรก และวรรคสาม เมื่อนายจ้างเลิกจ้างและนายสมคิดยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุด (เป็นเวลา 10 วัน) ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ตามส่วนที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับ (ตามมาตรา 67 วรรคแรก) ดังนั้น นายสมคิดจะได้รับ 2,720 บาท (คำนวณตามมาตรา 62(1))
เมื่อนายสมคิดทำงานได้ 1 ปี 2 เดือน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118(2) คือได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน) คิดเป็นจำนวนเงิน 24,480 บาท
ข้อ 2 นางดาราเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท นางดาราป่วยจึงได้เขียนใบลาป่วยเป็นเวลา 25 วัน นางดาราตั้งครรภ์อยู่จึงได้เขียนใบลาป่วยเพื่อไปคลอดบุตรเป็นเวลา 40 วัน นายจ้างได้พิจารณาจากใบลาป่วยจึงจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา 57 เป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท นางดาราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่นนี้ นางดาราจะต่อสู้ว่ามีสิทธิอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
นางดารามีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ตามมาตรา 32 วรรคแรก และได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วัน ตามมาตรา 57 วรรคแรก เมื่อนางดาราลาป่วย 25 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้าง 25 วัน ๆ ละ 300 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 7,500 บาท
นางดารามีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 41 วรรคแรก และได้รับค่าจ้างในวันลานี้ไม่เกิน 45 วัน เมื่อนางดาราลาคลอดบุตร 40 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้าง 40 วัน ๆ ละ 300 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 12,000 บาท
และตามมาตรา 32 วรรคสาม วันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตามมาตรา 32 ดังนั้น นางดาราจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย 7,500 บาท และในวันลาคลอด 12,000 บาท
ข้อ 3 ลูกจ้างบริษัทพรสวรรค์ จำกัด ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ขณะที่ผู้แทนทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินการเจรจา นายจ้างสั่งลดวันทำงานของนางลดา ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจากทำงานสัปดาห์ละ 6 วันเป็นทำงานสัปดาห์ละ 2 วัน และจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่มาทำงาน นางลดาทนไม่ไหวจึงลาออกไป ดังนี้ถือว่านายจ้างกระทำผิดตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เรื่องใดหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13, 121
จากข้อเท็จจริงมีการยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างตามมาตรา 13 นายจ้างลดวันทำงานของนางลดาซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะวันที่มาทำงาน ดังนี้ ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างให้ออกจากงานโดยทางอ้อม การที่นายจ้างลดวันทำงานเป็นการกระทำอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ และเมื่อเกี่ยวกับลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง จึงถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121
ข้อ 4 นายแก้วเป็นนักร้องประจำร้านอาหารเพชรประดับ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่ร้องเพลงตามช่วงเวลาที่นายจ้างจัดให้ และลงเวลาเข้า-ออกจากงานตามปกติ ต่อมานายจ้างมีคำสั่งให้นายแก้วไปร้องเพลงในงานวันเกิดของลูกค้าคนสำคัญที่จังหวัดชัยนาท ระหว่างเดินทางรถประจำทางที่โดยสารไปเสียหลักตกลงข้างทางพลิกคว่ำ นายแก้วได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาหักทั้งสองข้าง ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 7 เดือน เมื่อหายแล้วต้องนั่งรถเข็นมาทำงานซึ่งนายจ้างให้กลับมาร้องเพลงได้อีก แต่นายจ้างอ้างว่านายแก้วไม่ใช่ลูกจ้าง และขณะเกิดเหตุ ไม่ได้มาปฏิบัติงานให้กับนายจ้าง ดังนี้ข้ออ้างของนายจ้างฟังขึ้นหรือไม่ นายแก้วจะได้รับค่าทดแทนหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2534 มาตรา 5 นิยามที่สำคัญ “ลูกจ้าง” “ประสบอันตราย” 13, 15, 18(1), (3)
จากข้อเท็จจริง นายแก้วเป็นนักร้องประจำร้านอาหาร ก็ถือว่าเป็นลูกจ้างเพราะทำงานให้กับนายจ้างและได้รับค่าจ้างประจำทุกเดือน ขณะประสบอุบัติเหตุถือว่าได้ปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้าง นายแก้วจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนข้ออ้างของนายจ้างฟังไม่ขึ้น
– ค่ารักษาพยาบาล ตามมาตรา 13 ไม่เกิน 110,000 บาท
– ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามมาตรา 15 ไม่เกิน 20,000 บาท
– ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถปฏิบัติงานได้ 6,000 บาท เป็นเวลา 7 เดือน
– ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ ขาขาดทั้งสองข้าง ได้ 6,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี