การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายหนึ่งเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท และนายสองเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 320 บาท บริษัททำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 12.00 น. และ 13.00 น. ถึง 17.00 น. ในวันอังคารและวันพุธ นายจ้างให้เลิกงานเวลา 16.00 น. และต่อมาในวันพฤหัสบดี นายจ้างมีคำสั่งให้นายหนึ่งและนายสองทำงานจนเลิกงานเวลา 18.00 น. แต่งานไม่เสร็จจึงขอให้ ทำงานต่อไปจนถึงเวลา 21.00 น. เช่นนี้ นายหนึ่งและนายสองจะได้รับค่าตอบแทนอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 23 วรรคแรกและวรรคสอง ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดย กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงาน ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง ในกรณีที่เวลาทำงานวันใดน้อยกว่าแปดชั่วโมง นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือนั้นไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละเก้าชั่วโมงและเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไมเกินสี่สิบแปดชั่วโมง เว้นแต่งานที่ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่ง ไม่เกินเจ็ดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไมเกินสี่สิบสองชั่วโมง

ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงาน ปกติอื่นตามวรรคหนึ่งเกินกว่าวันละแปดชั่วโมง ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้าง ต่อชั่วโมงวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายชั่วโมง หรือไมน้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง ของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ในชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงาน

มาตรา 61 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ให้แกลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไมน้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

มาตรา 68  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาใน วันหยุด ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหมายถึง ค่าจ้างรายเดือน หารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย

วินิจฉัย

สำหรับลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน หากวันใดต้อง ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง แม้ว่านายจ้างและลูกจ้างตกลงให้นำเวลาส่วนที่เหลือของวันทำงานปกติมารวมด้วยก็ตาม ลูกจ้างดังกล่าวก็จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับชั่วโมงการทำงานที่ทำเกิน 8 ชั่วโมงนั้น ในอัตราไมน้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง ของค่าจ้างในวันทำงานปกติ แต่ไม่ใช่ค่าล่วงเวลา

กรณีตามอุทาหรณ์ นายหนึ่งและนายสองจะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอย่างไร เห็นว่า นายหนึ่ง เป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท และนายสองเป็นลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 320 บาท ทั้งสองคนทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 12.00 น. และ 13.00 น. ถึง 17.00 น. ในวันอังคาร และวันพุธนายจ้างให้นายหนึ่งและนายสองเลิกงานเวลา 16.00 น. และในวันพฤหัสบดีนายจ้างมีคำสั่งให้นายหนึ่ง และนายสองทำงานจนเลิกงานเวลา 18.00 น. กรณีเช่นนี้นายจ้างสามารถที่จะกระทำได้ ตามมาตรา 23 วรรคแรก และมาตรา 23 วรรคสองได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างรายวัน

ดังนั้น สำหรับการทำงานในวันพฤหัสบดีตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. (1 ชั่วโมง) นายสอง ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวัน จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามชั่วโมงที่ทำเกิน เมื่อนายสองได้รับค่าจ้างวันละ 320 บาท อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง (320 หารด้วย 8) เท่ากับ 40 บาท คิดเป็นหนึ่งเท่าครึ่ง (40 คูณดัวย 1.5) เท่ากับ 60 บาท ส่วนนายหนึ่งในระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 18.00 น. ไม่มีสิทธิ ได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากนายหนึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 23 วรรคสอง

สำหรับการทำงานในวันพฤหัสบดีตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 21.00 น. (3 ชั่วโมง) เป็นกรณีที่ นายจ้างให้นายหนึ่งและนายสองมาทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ตามมาตรา 61 โดยทั้งสองคนจะได้รับค่าล่วงเวลา ในวันทำงานในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ เช่นนี้

กรณีนายหนึ่ง เมื่อนายหนึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนโดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงเท่ากับค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงในวันทำงานโดยเฉลี่ย (12,000 หารด้วย 30) เท่ากับ 400 บาท เป็นอัตราค่าจ้างรายวัน และ (400 หารด้วย 8) เท่ากับ 50 บาท เป็น อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง (มาตรา 68) คิดเป็นหนึ่งเท่าครึ่ง (50 คูณด้วย 1.5) เท่ากับ 75 บาท เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ในกรณีนี้ นายหนึ่งจะได้รับเป็นจำนวน (75 คูณด้วย 3) เท่ากับ 225 บาท

กรณีนายสอง ค่าจ้างในอัตราหนึ่งเท่าครึ่งของนายสอง เท่ากับ 60 บาท เมื่อทำงานล่วงเวลา เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ในกรณีนี้ นายสองจะได้รับค่าล่วงเวลาในวันทำงานเป็นจำนวน (60 คูณด้วย 3) เท่ากับ 180 บาท

สรุป นายหนึ่งและนายสองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนี้

นายหนึ่งได้รับ เท่ากับ 225 บาท

นายสองได้รับ 180 บวก 60 เท่ากับ 240 บาท

 

ข้อ 2. นายสามและนายสี่เป็นลูกจ้างตามสัญญาไมมีกำหนดเวลา ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ทั้งสองคน มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีอยู่อีกคนละ 4 วัน ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดีนัก นายจ้างจึงบอกเลิกจ้างนายสาม ในวันที่ 30 เมษายน ทันที ซึ่งนายสามทำงานมาครบสามปีพอดี ส่วนนายสี่ทำตัวไม่เหมาะสมในการ ทำงานหลายประการจึงขอลาออกจากงานในวันที่ 30 เมษายนด้วย เช่นนี้ นายสามและนายสี่จะมีสิทธิ ได้รับอะไรหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 วรรคสอง ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจ บอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง คราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้อง บอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไมมีกำหนดระยะเวลาด้วย

มาตรา 67 ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับ ตามมาตรา 30

ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณี ตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แกลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้าง พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างด้งต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไมน้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสามและนายสี่เป็นลูกจ้างตามสัญญาไม่มีกำหนดเวลา ได้รับค่าจ้าง เดือนละ 12,000 บาท ทั้งสองคนมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีอยู่อีกคนละ 4 วัน ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดีนัก นายจ้างจึงได้ บอกเลิกจ้างนายสามในวันที่ 30 เมษายนทันที ส่วนนายสี่ได้ลาออกเอง เช่นนี้ นายสามและนายสี่จะมีสิทธิได้รับ อะไรหรือไม เห็นว่า

กรณีนายสาม เนื่องจากสัญญาจ้างเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลา หากนายจ้างต้องการเลิกจ้าง นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้นายสามทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างใน คราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป ตามมาตรา 17 วรรคสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสามในวันที่ 30 เมษายน กรณีเช่นนี้ ผลแห่งการเลิกสัญญา จะเป็นผลเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในคราวถัดป คือวันที่ 31 พฤษภาคม จึงจะชอบและนายสามยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเป็นจำนวน 4 วัน ตามมาตรา 67 วรรคแรก เมื่อนายสามได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท อัตราค่าจ้างรายวันของนายสาม (12,000 บาท หารด้วย 30) เท่ากับ 400 บาท และคูณกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้งหมด 4 วัน (400 คูณด้วย 4) เท่ากับ 1,600 บาท

และเมื่อนายสาม ทำงานมาครบ 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน) นายสามได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายสามเป็นจำนวน (6 เดือน คูณด้วย 12,000 บาท) เท่ากับ 72,000 บาท ตามมาตรา 118(3)

กรณีนายสี่ ซึ่งโดยหลักแล้วการบอกเลิกสัญญาจ้าง ลูกจ้างเองก็อาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดย บอกกล่าวล่วงหน้า ตามมาตรา 17 วรรคสอง เมื่อนายสี่ได้ขอลาออกจากงานเอง นายจ้างจึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้อง บอกกล่าวล่วงหน้า และกรณีนี้นายจ้างก็ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายสี่ลูกจ้าง เนื่องจากค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้าง ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้าง แต่ลูกจ้าง ลาออกไปเอง ทิ้งงานไป หรือลูกจ้างถึงแกความตาย กรณีเช่นนี้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี นายสี่ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ อีก 4 วัน ตามมาตรา 67 วรรคสอง เมื่อนายสี่ได้รับค่าจ้างรายเดือน ๆ ละ 12,000 บาท อัตราค่าจ้างรายวัน ของนายสี่เท่ากับ (12,000 บาท หารด้วย 30) เท่ากับ 400 และคูณกับวันหยุดที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิทั้งหมด 4 วัน (400 คูณด้วย 4) เท่ากับ 1,600 บาท

สรุป นายสามและนายสี่มีสิทธิได้รับ ดังนี้

นายสาม         

1. มีสิทธิทำงานจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

2.         ได้รับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นจำนวน 1,600 บาท และ

3.         ได้รับค่าชดเชยเป็นจำนวน 72,000 บาท

นายสี่ มีสิทธิได้รับค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นจำนวน 1,600 บาท ส่วนค่าชดเชยนาย สี่ไม่ มีสิทธิได้รับ

 

ข้อ 3 นายสุเทพเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท วันหนึ่งในระหว่างการทำงานเกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 5 เดือน แต่กกลายเป็นคนทุพพลภาพ เช่นนี้ นายสุเทพจะ.มีสิทธิอะไรบ้าง

และถ้าหากว่านายสุเทพมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2 ปีก็เสียชีวิต เช่นนี้ ภริยานายสุเทพ บิดามารดา และ น้องชายของนายสุเทพจะมีสิทธิอย่างไรต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้

ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแกกายหรือผลกระทบแกจิตใจ หรือถึงแกความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง

มาตรา 13 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาล ทันทีตามความเหมาะสมแกอันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 15 กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างตามความจำเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 18 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน

เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน สามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไมสามารถทำงานได้ ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้แต่ต้องไมเกินหนึ่งปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภท ของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด แต่ ต้องไม่เกินสิบห้าปี

มาตรา 19 ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18(2) หรือ (3) และต่อมาลูกจ้างได้ ถึงแก่ความตายในขณะที่ยังรับค่าทดแทนไม่ครบระยะเวลาตามสิทธิดังกล่าว ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ ตามมาตรา 20 ต่อไป จนครบกำหนดระยะวลาตามสิทธิ แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนรวมกันต้องไม่เกินแปดปี

มาตรา 20 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแกความตายหรือสูญหาย ให้บุคคล ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1)       บิดามารดา

(2)       สามีหรือภรรยา

มาตรา 21 วรรคแรก ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสุเทพเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท วันหนึ่งในระหว่าง การทำงานนายสุเทพเกิดอุบัติเหตุทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส กรณีเช่นนี้ ถือว่านายสุเทพประสบอันตรายเนื่องจาก การทำงานให้แกนายจ้าง ตามมาตรา 5 ซึ่งนายสุเทพจะได้การคุ้มครองโดยมีสิทธิดังต่อไปนี้

1.         ค่ารักษาพยาบาล เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาล ทันที และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีนี้ นายสุเทพจะได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 45,000 บาท เมื่อนายสุเทพได้รับอันตรายรุนแรง (สาหัส) ก็จะได้รับเพิ่มอีก 65,000 บาท รวมเป็นเงิน 110,000 บาท ตามมาตรา 13

2.         ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานโดยนายจ้างต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตรา ที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีนี้ นายสุเทพจะได้รับเป็นจำนวน 20,000 บาท ตามมาตรา 15

3.         ค่าทดแทนในกรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ เมื่อนายสุเทพต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เป็นเวลา 5 เดือน นายสุเทพจะได้รับค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรก ที่นายสุเทพไมสามารถไปทำงานได้ เมื่อนายสุเทพได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 บาท เท่ากับ 7,200 บาท และคูณกับระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ (7,200 คูณด้วย 5 เดือน) เท่ากับ 36,000 บาท ตามมาตรา 18(1)

4.         ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพ เมื่อนายสุเทพต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพ นายสุเทพจึง มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เมื่อนายสุเทพได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 บาท เท่ากับ 7,200 บาท ในกรณีนี้ นายสุเทพจะได้รับเดือนละ 7,200 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ตามมาตรา 18(3)

2 ปีต่อมาได้ความว่า นายสุเทพเสียชีวิตโดยรับค่าทดแทนยังไม่ครบตามกำหนดระยะเวลาตาม มาตรา 18(3) กรณีเช่นนี้ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนที่เหลืออยู่ให้แกภริยาและบิดามารดาของนายสุเทพ โดย ทั้งสามคนจะได้รับคนละ 2,400 บาท เป็นระยะเวลาอีกเพียง 6 ปี ตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 20(1)(2) และ มาตรา 21 วรรคแรก เพราะระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนในกรณีนี้รวมกันต้องไม่เกิน 8 ปี

ส่วนน้องชายของนายสุเทพ ตามกฎหมายไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิ ตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. เงิน ทดแทน จึงไม่ได้รับสิทธิใดๆ เลย

สรุป เมื่อนายสุเทพประสบอันตรายจะได้รับการคุ้มครองโดยมีสิทธิ ดังนี้

1.         ค่ารักษาพยาบาล 110,000 บาท

2.         ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน 20,000 บาท

3.         ค่าทดแทนในกรณีที่ไมสามารถทำงานได้ 36,000 บาท

4.         ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพได้รับเดือนละ 7,200 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี เมื่อนายสุเทพได้ถึงแกความตาย โดยรับค่าทดแทน ตามมาตรา 18(3) ยังไม่ครบ ภริยาและบิดามารดาของ นายสุเทพมีสิทธิได้รับค่าทดแทนต่อไปคนละ 2,400 บาท เป็นระยะเวลาอีกเพียง 6 ปี

ส่วนน้องชายของนายสุเทพไม่ได้รับสิทธิใด ๆ เลย

 

ข้อ 4. ถ้าฝ่ายลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อฝ่ายนายจ้าง และ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเรียกทั้งสองฝ่ายให้มา เจรจากันแล้ว ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้อีก ฝ่ายลูกจ้างจะทำการนัดหยุดงานได้หรือไม่ ให้อธิบาย ขั้นตอนในทางกฎหมายในกรณีลูกจ้างจะนัดหยุดงานว่าเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

กรณีห้ามปิดงานหรือนัดหยุดงาน (ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34)

1.         ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือนัดหยุดงาน เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังมิได้แจ้งข้อเรียกร้องเป็น หนังสือไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง (ตามมาตรา 13) หรือแจ้งข้อเรียกร้องไปแล้วแต่ข้อเรียกร้องนั้นยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงาน ที่ตกลงกันไม่ได้ (ตามมาตรา 22 วรรคสาม)

2.         เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ตามมาตรา 18 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง

3.         เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยสำเร็จ และฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง นั้น ได้ปฏิบัติตามโดยดีแล้ว

4.         เมื่อฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ได้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นแล้ว

5.         ในขณะที่ยังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือมี คำวินิจฉัยของรัฐมนตรี ตามมาตรา 23 หรือคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามมาตรา 24

6.         เมื่ออยู่ในระหว่างการชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตั้งขึ้น ตามมาตรา 25 หรือ

มาตรา 26

ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปิดงานหรือนัดหยุดงานโดยที่มิได้แจ้ง เป็นหนังสือไปยังพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมิได้แจ้งเป็นหนังสือ ไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง

ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ลูกจ้างได้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้าง (มาตรา 13) และทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เข้าพนักงานประนอมข้อพิพาทเรียกทั้ง 2 ฝ่าย มาเจรจากันแล้วก็ยังไมสามารถตกลงกันได้อีก กรณีเช่นนี้ ถือว่าข้อเรียกร้องนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกัน ไม่ได้แล้ว

ดังนั้น ฝ่ายลูกจ้างจึงมีสิทธิดำเนินการนัดหยุดงานได้ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 22 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้สิทธิแกลูกจ้างไว้ ทั้งกรณีดังกล่าวก็ไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 34 อนุ 1 ถึงอนุ 6 แต่อย่างใด แต่ไมว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและ ให้ฝ่ายนายจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้งก่อนที่จะนัดหยุดงานด้วย จึงจะถือว่า การนัดหยุดงานของลูกจ้างชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 34 วรรคสอง)

Advertisement