การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. สภาพสังคมที่มีความแตกแยกกับทางการเมืองเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจ บริษัทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากรายได้ จนทำให้มีความคิดจะปิดบริษัท

ในฐานะท่านเป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของบริษัทได้รับคำสั่งจากประธานบริษัทให้เตรียมการในการ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงาบบริษัท ให้ท่านบอกหลักเกณฑ์กรณีต้องจ่ายค่าชดเชย และกรณีที่ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ธงคำตอบ

ค่าชดเชย เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไป ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้าง แต่ลูกจ้างลาออกไปเอง ทิ้งงานไป หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย กรณีเช่นนี้ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ค. 2541 มาตรา 118 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย ไว้ดังนี้ คือ “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกับครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย

(3)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(4)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(5)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

กรณียกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่าย คาชดเชยให้แก่ลูกจ้างไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1)       ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2)       จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3)       ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4)       ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5)       ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี

เหตุอันสมควร

(6)       ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

ข้อ 2. นายถนอมกับนายประชาทำงานที่บริษัท ช้างไทย จำกัด ที่สำนักงานกรุงเทพฯ และมีโรงงานอยู่ที่ จังหวัดสุรินทร์ ทั้งสองคนทำงานมาแล้ว 7 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ในปลายเดือน มกราคมเกิดเหตุเพลิงไหม้สำนักงานเนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจรนายจ้างจึงสั่งให้หยุดกิจการหนึ่งเดือน (กุมภาพันธ์) ด้วยมีความจำเป็นไม่สามารถประกอบกิจการได้ ต่อมานายจ้างตัดสินใจย้ายสำนักงาน ไปรวมอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม นายถนอมไปทำงานแต่นายประชาอ้างว่ามีผลกระทบ สำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของครอบครัวจึงไม่ไป นายจ้างให้เงินช่วยเหลือนายประชา 50,000 บาท แต่นายประชาอ้างว่าจะต้องได้รับค่าจ้างในเดือนกุมภาพันธ์ ค่าชดเชยพิเศษแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพิเศษตามที่กำหนดในมาตรา 118 ด้วย เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้อง หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 75 “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง ในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดของสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้าง ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป 

มาตรา 120 วรรคแรก ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการในการนี้ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณีโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท ช้างไทย จำกัด สำนักงานกรุงเทพฯ เกิดเหตุเพลิงไหม้เนื่องจาก ไฟฟ้าลัดวงจรทำให้นายจ้างสั่งให้หยุดกิจการ 1 เดือนนั้น ถือว่ามีความจำเป็นอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ของนายจ้าง ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงิน ให้แก่ลูกจ้างด้วยในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานตามมาตรา 75 วรรคแรก ดังนั้น นายถนอมและนายประชาจึงมีสิทธิ ได้รับเงินค่าจ้างในเดือนกุมภาพันธ์เป็นจำนวนเงินคนละ 15,000 บาท

ส่วนกรณีที่นายจ้างมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ และโรงงานที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อนายจ้างย้ายสำนักงาน ไปรวมอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นกรณีที่นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่แล้วไม่ใช่การย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตร 120 ดังนั้นเมื่อนายประชาไม่ไปทำงานที่จังหวัดสุรินทร์ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง นายประชาจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 118 (4) ที่กำหนดให้ได้รับค่าชดเชย 240 วัน

สรุป ข้ออ้างของนายประชาที่ว่าจะต้องได้รับค่าจ้างในเดือนกุมภาพันธ์นั้นถูกต้อง แต่ข้ออ้าง ที่ว่าจะต้องได้รับค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยพิเศษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 118 ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง

 

ข้อ 3. เอทำงานอยู่ในบริษัท ซีแทร็กก่อสร้าง จำกัด เอเป็นหัวหน้งานฝ่ายก่อสร้าง ได้ค่าจ้างเดือนละ 24,000 บาท เอมีหน้าที่คุมงานก่อสร้าง ดูแลคนงาน แก้ไขปัญหาความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในการก่อสร้าง ขณะที่เออยู่ในสำนักงาน บีคนงานได้ตามเอไปแก้ไขปัญหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากการติดตั้งประตูกระจก เอจึงเดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้างห่างประมาณ 200 เมตร และเป็น ช่วงเวลาที่อากาศร้อนมาก เอเกิดอาการหน้ามืดล้มลงและเสียชีวิต ออมภริยาของเอเรียกร้องเงิน ทดแทนจากนายจ้าง แต่นายจ้างปฏิเสธกรจ่ายโดยอ้างว่า เอเสียชีวิตเพราะความเครียดเป็นผลให้ ความดันโลหิตสูงขึ้นเอง ไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคเนื่องมาจากการทำงาน ดังนี้ ข้ออ้างของนายจ้างฟังขึ้น หรือไม่ และออมจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

เจ็บป่วย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตาม ลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้นายจ้าง จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

มีกำหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด

มาตรา 20 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคล ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1)       บิดามารดา

(2)       สามีหรือภริยา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอลูกจ้างถึงแก่ความตายนั้น เป็นเพราะโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจาก การทำงานหรือไม่ ซึ่งจากข้อเท็จจริงเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า การที่เอถึงแก่ความตายนั้นเป็นเพราะ 1. ลักษณะของงานมีความรับผิดชอบมาก 2. มีการตรากตรำและใช้กำลังมาก 3. มีปัจจัยคือสภาพอากาศร้อนจัด เป็นเหตุให้เกิดความเครียด ความดันสูงและเสียชีวิต ดังนั้นจึงถือว่า เอได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคเนื่องจากการทำงาน ออมภริยาของเอจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 ข้ออ้างของนายจ้างจึงฟังไม่ขึ้น และเงินทดแทนที่ออม มีสิทธิได้รับ ได้แก่

1.         ค่าทำศพ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำศพให้แก่ออม เป็นจำนวน 100เท่าของอัตราสูงสุด ของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (300 บาท) ตามมาตรา 16 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 30,000 บาท (100 คูณด้วย 300)

2.         ค่าทดแทนในกรณีเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทน ไห้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 คือ ออมซึ่งเป็นภริยาของเอ ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม

ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ออมเดือนละ 14,400 บาท มีกำหนด 8 ปี รวมเป็นเงิน 1,382,400 บาท (14,400 X 12 X 8)

สรุป ข้ออ้างของนายจ้างที่ว่า เอถึงแกความตายไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคเนื่องมาจากการทำงานนั้น ฟังไม่ขึ้น และออมมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ ค่าทำศพเป็นเงิน 30,000 บาท และค่าทดแทนเป็น รายเดือน ๆ ละ 14,400 บาท รวม 8 ปี เป็นเงิน 1,382,400 บาท

 

ข้อ 4. ลูกจ้างบริษัท กรีนเวลล์ จำกัด รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้าง มีการเจรจาและผ่านการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทแรงงาน จนกระทั่งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ นายจ้างมีคำสั่งย้ายด่วนให้อมร ซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องไปประจำยังสาขาของนายจ้างที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้ ถือว่า นายจ้างฝ่าฝืนบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงาบสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 31 วรรคแรก เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ ในระหว่างการจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้าง เลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

วินิจฉัย

ตามมาตรา 31 วรรคแรก ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดหรือ แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างเจรจากับ กฎหมายห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาเพื่อที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างดังกล่าวให้ออกจากงานไป เพราะถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกจ้างบริษัท กรีนเวลล์ จำกัด ได้รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้าง มีการเจรจาและผ่านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน จนกระทั่งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เมื่อข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างเจรจา การที่นายจ้างมีคำสั่งย้ายอมรซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องไปประจำยังสาขาของนายจ้าง ที่ประจวบคีรีขันธ์นั้น การกระทำของนายจ้างย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31 วรรคแรก คือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

สรุป การกระทำของนายจ้าง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31

Advertisement