การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004  กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. บริษัท เฮง เฮง เฮง จำกัด ประกอบกิจการขายวัสดุก่อสร้างมานานนับ 20 ปี มีลูกจ้างอยู่ 50 คน นายปัญญาลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่ยกเหล็ก หิน ปูน ทราย ซึ่งทำงานกับบริษัท เฮง เฮง เฮง จำกัด มานานถึง 12 ปี เกิดอาการเจ็บป่วยแขนขาไม่มีแรง หยุดงานบ่อย ทำงานไม่ค่อยไหว บริษัทนายจ้างจึงจำเป็นต้อง ให้นายปัญญาออกจากงาน จึงทำหนังสือเลิกจ้างนายปัญญา นายปัญญาไม่ได้รับเงินใด ๆ จากนายจ้าง จึงมาปรึกษาพนักงานตรวจแรงงาน ถ้าท่านเป็นพนักงานตรวจแรงงานจะให้คำปรึกษานายปัญญา อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย

มาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด

ดังต่อไปนี้

(1)       ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2)       จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3)       ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4)       ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5)       ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคันหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี

เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้ กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นพนักงานตรวจแรงงาน ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษานายปัญญา

ดังนี้คือ

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น หากนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่ลูกจ้างด้วย (มาตรา 118) เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

ตามข้อเท็จจริง การที่บริษัทนายจ้างต้องการเลิกจ้างนายปัญญาลูกจ้าง เนื่องจากนายปัญญา เกิดอาการเจ็บป่วยแขนขาไม่มีแรง หยุดงานบ่อย ทำงานไม่ค่อยไหวนั้น โดยหลักแล้วนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้

แต่นายจ้างจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานด้วย กล่าวคือ เมื่อปรากฏว่าการที่นายปัญญาลูกจ้างเกิด อาการเจ็บป่วยนั้นเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกาย มิใช่การกระทำฝ่าฝืนระเบียบหรือดำสั่งของนายจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างตามมาตรา 119 วรรคแรก (1) – (6)

ดังนั้น เมื่อนายจ้างเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายปัญญาด้วย (ฎีกาที่ 4627/2532) และเมื่อปรากฏว่านายปัญญาทำงานติดต่อกันมาครบ 10 ปีแล้ว นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายปัญญาลูกจ้าง ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตามมาตรา 118(5)

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นพนักงานตรวจแรงงาน ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษานายปัญญาดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ2. นายสกุลและนายชาติชาย เป็นลูกจ้างทำงานที่จังหวัดเชียงราย ทำงานมาแล้ว 3 ปี ได้รับค่าจ้าง เดือนละ 15,000 บาท ใบเดือนมีนาคมเกิดแผ่นดินไหวโรงงานพังทลาย นายมานะ (นายจ้าง) ได้สั่ง ให้หยุดงานสองเดือน (คือเดือนเมษายนและพฤษภาคม) และพยายามหาเงินมาก่อสร้างโรงงานใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ไม่สามารถสร้างโรงงานขึ้นใหม่ได้ จึงสั่งให้นายสกุลและนายชาติชายไปทำงานที่โรงงาน ของนายสมคิดที่จังหวัดแพร่ นายสกุลได้ยินยอมไปทำงานที่จังหวัดแพร่ แต่เห็นว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของตนเองและครอบครัว จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างภายในสามสิบวัน ตามมาตรา 120 และเรียกร้องค่าชดเชยพิเศษ ส่วนนายชาติชายไม่ยินยอมไปทำงานที่จังหวัดแพร่ ตามที่นายมานะสั่ง นายมานะเห็นว่านายชาติชายขัดคำสั่งจึงบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยแจ้งเหตุผลว่าขัดคำสั่งและไม่จ่ายค่าขดเชยให้ เช่นนี้ นายสกุลและนายชาติชาย จะต่อสู้และเรียกร้องอะไรได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 13 “ในกรณีที่กิจการใดมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างเนื่องจากการโอน รับมรดก หรือด้วยประการอื่นใด หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอนหรือควบกับ นิติบุคคลใด สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมเช่นใด ให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นว่านั้นต่อไป และให้นายจ้างรับไป ทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ

มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้าง หรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะ ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึง เวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้

มาตรา 75 “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการ ชั่วคราว โดยเหตุหนึ่งเหตุดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง ในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3)       ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกับครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดของสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้าง ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(4)       ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

มาตรา 120 วรรคแรก ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการในการนี้ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณีโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตรค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะนายจ้างสั่งให้นายสกุลและนายชาติชายหยุดงาน 2 เดือน เนื่องจากโรงงานพังทลายเพราะแผ่นดินไหวนั้น ถือเป็นกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด เป็นการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัย ตามกฎหมายแรงงานมาตรา 75 ซึ่งให้สิทธิแก่นายจ้างสามารถหยุดกิจการ ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างระหว่างที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

และการที่นายมานะได้สั่งให้นายสกุลและนายชาติชายไปทำงานที่โรงงานของนายสมคิด ที่จังหวัดแพร่นั้น ถือเป็นกรณีทีมีการเปลี่ยนตัวนายจ้างตามมาตรา 13 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างใหม่ คือ นายสมคิดรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่กรณีที่นายจ้าง ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือ ครอบครัวตามมาตรา 120 วรรคแรก ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ตามมาตรา 120 แต่อย่างใด

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า นายสกุลและนายชาติชายจะต่อสู้และเรียกร้องอะไรได้หรือไม่ สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

กรณีของนายสกุล การที่นายสกุลได้ยินยอมไปทำงานที่จังหวัดแพร่กับนายสมคิดนั้น นายสกุล สามารถทำได้ตามมาตรา 13 แต่เมื่อปรากฏว่ากรณีตามข้อเท็จจริงไมใช่กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวตามมาตรา 120 วรรคแรก

ดังนั้น การที่นายสกุลขอบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงถือเป็นการลาออก ไม่ใช่การเลิกจ้างอันจะทำให้นายสกุลมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นข้ออ้างของนายสกุลดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และนายสกุลจะเรียกร้อง ค่าชดเชยพิเศษจากนายมานะนายจ้างไม่ได้

ส่วนกรณีที่นายมานะสั่งให้นายสกุลหยุดงาน 2 เดือนนั้น เมื่อถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตาม มาตรา 75 นายมานะนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับนายสกุลระหว่างหยุดงาน ดังนั้นนายสกุลจะเรียกร้องเอา ค่าจ้างในระหว่างที่ตนหยุดงานไม่ได้เช่นกัน

กรณีของนายชาติชาย การพินายชาติชายไม่ยินยอมไปทำงานกับนายสมคิดที่จังหวัดแพร่นั้น ย่อมเป็นสิทธิของนายชาติชายลูกจ้างที่จะกระทำได้ และไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างตามมาตรา 119(4) แต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายมานะนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยแจ้งเหตุผลว่าขัดคำสั่ง และไม่จ่ายค่าชดเชยให้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนายมานะจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้

1.         เนื่องจากสัญญาจ้างเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา หากนายมานะต้องการเลิกจ้าง นายมานะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างใน คราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปตามมาตรา 17 วรรคสอง เมื่อได้ความว่านายมานะได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสกุลในวันที่ 31 พฤษภาคม ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า และผลแห่งการเลิกสัญญาจะเป็นผล เมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในคราวถัดไป คือ วันที่ 30 มิถุนายน จึงจะ ชอบด้วยกฎหมาย หรือนายมานะอาจจ่ายค่าจ้างให้นายสกุลตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตาม กำหนดที่บอกกล่าว และให้นายสกุลออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม

2.         เมื่อเป็นการเลิกจ้าง นายมานะนายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายชาติชายตามระยะ การทำงานด้วย เมื่อได้ความว่านายชาติชายทำงานมาครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน) นายชาติชายได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท นายจ้างจึงต้องจ่าย ค่าชดเชยให้กับนายชาติชายเป็นจำนวน (6 เดือน คูณด้วย 15,000) เท่ากับ 90,000 บาท ตามมาตรา 118(3)

ส่วนกรณีที่นายมานะสั่งให้นายชาติชายหยุดงาน 2 เดือนนั้น เมื่อถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตาม มาตรา 75 นายมานะนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับนายชาติขายระหว่างหยุดงานดังกล่าว

สรุป นายสกุลและนายชาติชาย จะต่อสู้เรียกร้องอะไรได้หรือไม่ ย่อมเป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. นายช่วยทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบริษัท เอเชียภาพยนตร์ จำกัด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท มีหน้าที่จัดหาสถานที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์และจัดฉากการแสดง นายจ้างมีคำสั่ง ให้นายช่วยเดินทางไปหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ขณะโดยสารเรือเพื่อเดินทางไปเกาะพงันในเวลา 7.00 น. เรือประสบอุบัติเหตุล่มกลางทะเล หน่วยกู้ภัย พยายามค้นหาศพและผู้รอดชีวิต แต่ไม่พบนายช่วย ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี

(ก) ในกรณีที่นายช่วยมีทายาท ได้แก่ ภริยาตั้งครรภ์ 4 เดือน และมารดาจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน หรือไม่ อย่างไร

(ข) ในกรณีนายจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนโดยอ้างว่านายช่วยประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง และอยู่นอกเวลางาน ข้ออ้างของนายจ้างฟังขึ้นหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ค. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

สูญหาย‘’ หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทำงาน หรือปฏิบัติ ตามคำสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือ ทางน้ำ เพื่อไปทำงานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4)       ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

มีกำหนดแปดปี

คำทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าคำทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่ มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด

มาตรา 20 วรรคแรกและวรรคสอง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่

ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1)       บิดามารตา

(2)       สามีหรือภริยา

(3)       บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่

ให้บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุ สูญหายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด

มาตรา 21 วรรคแรก ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างมีคำสั่งให้นายช่วยเดินทางไปหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องใหม่ที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และขณะที่นายช่วยโดยสารเรือเพื่อเดินทางไปเกาะพงัน เรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มกลางทะเลนั้น ถือได้ว่านายช่วยได้สูญหายไปในระหว่างเดินทางเพื่อไปทำงานให้นายจ้าง เพราะพาหนะที่เดินทางนั้น ประสบอันตรายและมีเหตุอันควรเชื่อว่านายช่วยถึงแกความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน มาตรา 5 จะให้ถือว่า เป็นการสูญหาย และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ตอเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 120 วัน นับแต่วันที่ เกิดเหตุนั้น

ประเด็นตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ในกรณีที่นายช่วยมีทายาท ได้แก่ ภริยาตั้งครรภ์ 4 เดือน และมารดานั้นบุคคลเหล่านี้ถือเป็น ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างเมื่อลูกจ้างสูญหายตามมาตรา 20 แต่ทายาทดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับเงิน ทดแทนจากนายจ้างได้นั้นจะต้องรอให้นายช่วยหายไปเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ เสียก่อนตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน มาตรา 5 นิยามคำว่า สูญหาย” โดยทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง ดังนี้คือ

1.         ค่าทำศพ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้จัดการศพเป็นจำนวน 100 เท่าของ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด (300 บาท) ตามมาตรา 16 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 30,000 บาท (100 คูณด้วย 300)

2.         ค่าทดแทนในกรณีสูญหาย โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 คือ ภริยาและมารดาของนายช่วย ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตามมาตรา 18(4)

ซึ่งค่าทดแทนในกรณีสูญหายนี้ ภริยาและมารดาของนายช่วยจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคือคนละ 4,800 บาท ตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 21 และหากต่อมาภริยาของนายช่วยคลอดบุตรภายใน 310 วัน บุตรของนายช่วย ก็จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีสูญหายนี้ด้วย โดยมีสิทธิได้รับนับแต่วันคลอดตามมาตรา 20 วรรคสอง ดังนั้น ค่าทดแทนในส่วนนี้จึงต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน ซึ่งแต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งคนละ 3,200 บาทต่อเดือน

(ข) ในกรณีนายจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทน โดยจ้างว่านายช่วยประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง และอยู่นอกเวลางานนั้น ข้อจ้างของนายจ้างฟังไม่ขึ้น เพราะจากข้อเท็จจริง การที่นายจ้างมีคำสั่งให้นายช่วยเดินทางไป หาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายช่วยได้เดินทางไปทำงานตามคำสั่ง ดังกล่าว จนเกิดเหตุทำให้นายช่วยหายไปนั้น ถือเป็นกรณีที่นายช่วยได้หายไปโดยพาหนะทางน้ำเพื่อไปทำงานให้แก่ นายจ้าง ย่อมถือว่านายช่วยได้สูญหายไปตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน มาตรา 5 นิยามคำว่า สูญหาย” แม้ว่าเหตุการณ์ ดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างเดินทางและอยู่นอกเวลางานก็ตาม ดังนั้น นายจ้างจึงปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนไม่ได้

สรุป (ก) ภริยาตั้งครรภ์ 4 เดือน (รวมถึงบุตรที่จะเกิดมา) และมารดาของนายช่วยจะมีสิทธิ ได้รับเงินทดแทนหรือไม่ อย่างไร เป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

(ข) ข้ออ้างของนายจ้างฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4. ปฐพีและชัยกิจเป็นลูกจ้างบริษัท สมาร์ทอินดัสตรี้ จำกัด ได้ร่วมกับลูกจ้างของบริษัทๆ ทำการแจ้ง ข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างและปรับสวัสดิการ ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการเจจา ปฐพีได้ชักชวนลูกจ้าง ที่เข้าร่วมกับการแจ้งข้อเรียกร้องทำการนัดหยุดงาน ส่วนชัยกิจนายจ้างมีคำสั่งโยกย้ายไปประจำอยู่ที่สาขาย่อยของบริษัท ในจังหวัดพิจิตร ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี้

(ก) ปฐพีและลูกจ้างที่เข้าร่วมกับการแจ้งข้อเรียกร้องจะรวมตัวนัดหยุดงนได้หรือไม่ และต้องทำ อย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ให้นักศึกษาอธิบาย

(ข) ชัยกิจจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 13 “การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ…

มาตรา 16 “เมื่อได้รับข้อเรียกร้องแล้ว ให้ฝ่ายที่รับข้อเรียกร้องแจ้งชื่อตนเอง หรือผู้แทน เป็นหนังสือให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องทราบโดยมิชักช้า และให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจากันภายในสามวันนับแต่วันที่ ได้รับข้อเรียกร้อง

มาตรา 22 “เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 21 แล้ว ให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง และฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันภายใน กำหนดห้าวันนับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง

ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้น เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 หรือมาตรา 36

มาตรา 31 “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่าง การเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(3)       ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าว ดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง

(4)       ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ห้ามมิให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง สนับสนุนหรือก่อเหตุการณ์นัดหยุดงาน

มาดรา 34 “ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในกรณี ดังต่อไปนี้

(1)       เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 13 หรือได้แจ้งข้อเรียกร้องแล้ว แต่ข้อพิพาทแรงงานนั้นยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

(2)       เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตามมาตรา 18 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง

(3)       เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ ไกล่เกลี่ยตามมาตรา 22 วรรคสอง ได้ฏิบัติตามข้อตกลง

(4)       เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานซึ่งตั้งตาม มาตรา 25 หรือมาตรา 26 ได้ปฏิบัติตามคำชี้ขาด

(5)       เมื่ออยู่ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือมีคำวินิจฉัย ของรัฐมนตรีตามมาตรา 23 หรือคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 24

(6)       เมื่ออยู่ในระหว่างการชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานซึ่งตั้งตามมาตรา 25 หรือมาตรา 26

ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน โดยมิได้แจ้ง เป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(ก) ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 34(1) ได้กำหนดถึงการใช้สิทธิและข้อห้ามในการ นัดหยุดงานของลูกจ้างเอาไว้ โดยห้ามมิให้ลูกจ้างนัดหยุดงานในกรณีที่สถานประกอบการนั้นไม่เคยมีข้อตกลง หรือคำชี้ขาดใด ๆ มาก่อนเลย และยังมิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 หรือกรณีที่มีการแจ้งข้อเรียกร้อง ตามมาตรา 13 แล้ว แต่ข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ยหรืออยู่ในระหว่างการวินิจฉัย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งข้อพิพาทแรงงานนั้นยังไม่เป็น ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

ตามข้อเท็จจริง การที่ปฐพีและชัยกิจได้ร่วมกับลูกจ้างของบริษัทฯ ทำการแจ้งข้อเรียกร้อง ขอขึ้นคำจ้างและปรับสวัสดิการตามมาตรา 13 และขั้นตอนยังอยู่ในระหว่างการเจรจาตามมาตรา 16 นั้น ถือเป็น กรณีที่ฝ่ายลูกจ้างได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแก่ฝ่ายนายจ้างแล้วแต่ข้อพิพาทแรงงานยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงาน ที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม ดังนั้น ปฐพีและลูกจ้างที่เข้าร่วมกับการแจ้งข้อเรียกร้องจะรวมตัวกัน นัดหยุดงานไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 34(1) และการที่ปฐพีและลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้นั้น จะต้องรอให้เกิด ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ก่อน จึงจะนัดหยุดงานได้ภายใต้บังคับมาตรา 34

(ข) ชัยกิจจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ เห็นว่า ชัยกิจจะได้รับการ คุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 31 ซึ่งกฎหมายกำหนดคุ้มครองลูกจ้าง ตั้งแต่มีการแจ้งข้อเรียกร้อง ตามมาตรา 13 และข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 – 29 โดยห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ซึ่งจาก ข้อเท็จจริง กระบวนการยังอยู่ระหว่างเจรจา การที่นายจ้างโยกย้ายชัยกิจไปประจำอยู่ที่สาขาย่อยของบริษัท ในจังหวัดพิจิตร โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชัยกิจได้กระทำผิดอันจะเข้าข้อยกเว้นในมาตรา 31 ดังนั้น การกระทำ ของนายจ้างจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ชัยกิจจึงได้รับการคุ้มครอง

สรุป

(ก) ปฐพีและลูกจ้างที่เข้าร่วมกับการแจ้งข้อเรียกร้องจะรวมตัวนัดหยุดงานไม่ได้ จะต้องรอให้เกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ก่อน จึงจะนัดหยุดงานได้

(ข) ชัยกิจจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

Advertisement