การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. บริษัท อนัตตา จํากัด โดย ประธานบริษัทฯ ได้รับรายงานจากผู้จัดการส่วนบุคคลว่า มีพนักงานบริษัท 2 คน มีปัญหาในการปฏิบัติงาน โดยพนักงานทั้ง 2 คน ทํางานมา 20 ปีกับบริษัท อนัตตา จํากัด ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 คนนั้น บริษัท อนัตตา จํากัด จะเลิกจ้างโดยต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ก) นายสมชายลูกจ้างเล่นหมากรุกระหว่างทํางานทางบริษัท อนัตตา จํากัด ได้ออกหนังสือเตือนนายสมชายไม่ลงนามรับทราบหนังสือเตือน

(ข) นายสมหวังลูกจ้างเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายนายสมหวัง บริษัท อนัตตา จํากัด มีหนังสือเตือนให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่แต่น่ายสมหวังไม่สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(5) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามร้อยวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณ เป็นหน่วย”

มาตรา 119 วรรคหนึ่ง “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุ อันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทํา โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคหนึ่ง นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ บริษัท อนัตตา จํากัด จะเลิกจ้างนายสมชายและนายสมหวังโดยต้องจ่าย ค่าชดเชยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(ก) การที่นายสมชายลูกจ้างของบริษัทฯ เล่นหมากรุกระหว่างทํางานและบริษัทฯ ได้ออกหนังสือเตือน แต่นายสมชายไม่ยอมลงนามรับทราบหนังสือเตือนนั้น แม้ว่าการกระทําของนายสมชายจะเป็นการฝ่าฝืนคําสั่ง และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคําสั่งและระเบียบข้อบังคับอันเป็น กรณีร้ายแรง ดังนั้น ถ้าบริษัทฯ จะเลิกจ้างนายสมชาย บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมชายตาม มาตรา 118 (5) แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3999/2524)

(ข) การที่นายสมหวังลูกจ้างของบริษัทฯ มีอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายนั้น มิใช่การกระทําที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคําสั่งของนายจ้าง และมิใช่การกระทําโดยประการอื่นใดที่จะ เป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง และแม้ว่าบริษัทฯ มีหนังสือเตือนให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่แต่นายสมหวังไม่สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ตาม กรณีก็ไม่ต้องด้วย ข้อยกเว้นตามมาตรา 119 (4) ดังนั้น ถ้าบริษัทฯ จะเลิกจ้างนายสมหวัง บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ นายสมหวังตามมาตรา 118 (5)

สรุป

ถ้าบริษัท อนัตตา จํากัด จะเลิกจ้างนายสมชายและนายสมหวัง บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่ลูกจ้างทั้ง 2 คน ตามมาตรา 118 (5)

 

ข้อ 2. นายพีระได้ทําสัญญาจ้างนายอนุชิตเป็นลูกจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา ตั้งแต่เดือนมิถุนายนมีข้อตกลงว่าจะจ่ายสินจ้างให้เดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน และนายจ้างจะบอกเลิก สัญญาเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ในช่วงของการทดสอบ การทํางาน เมื่อการทํางานเป็นที่พอใจก็จะบรรจุให้เป็นลูกจ้างประจํา นายอนุชิตก็ได้ยินยอม ทําข้อตกลงด้วยโดยได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อย เมื่อนายอนุชิตทํางานมาได้ถึงสิ้นเดือน กันยายน นายพีระประเมินการทํางานของนายอนุชิตแล้วไม่เป็นที่น่าพอใจจึงบอกเลิกสัญญาจ้างทันที นายอนุชิตต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องแต่นายพีระอ้างว่าได้ทําตามสัญญา ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ท่านเห็นว่า เป็นอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทํางานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร”

มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือ ลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึง กําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึง เวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้”

มาตรา 30 วรรคหนึ่ง “ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจําปี ได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทํางาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กําหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือ กําหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน”

มาตรา 67 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่าย ค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้าง พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพีระได้ทําสัญญาจ้างนายอนุชิตเป็นลูกจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา ตั้งแต่เดือนมิถุนายนโดยตกลงว่าจะจ่ายสินจ้างให้เดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือนนั้น ถือว่านายอนุชิต เป็นลูกจ้างของนายพีระแล้วนับแต่วันที่ได้ทําสัญญาจ้างตามนัยของมาตรา 5

การที่นายพีระได้ทําสัญญาจ้างนายอนุชิตเป็นลูกจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา และมีข้อตกลงว่า นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ในช่วงของ การทดสอบการทํางานนั้น ย่อมถือว่าเป็นการทําข้อตกลงที่ขัดกับมาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 118 ซึ่งเป็น กฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

เมื่อนายอนุชิตทํางานมาได้ถึงสิ้นเดือนกันยายน นายพีระประเมินการทํางานของนายอนุชิตแล้ว ไม่เป็นที่น่าพอใจจึงบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีโดยกล่าวอ้างว่าได้ทําข้อตกลงไว้แล้วนั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะตาม มาตรา 17 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า นายพีระจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะ ถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า คือนายพีระสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ในวันที่ 31 ตุลาคม หรือจะจ่ายสินจ้างให้แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ นายพีระก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า นายอนุชิตได้ทํางานตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม นายอนุชิตย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (1) คือได้รับค่าชดเชย 30 วัน เป็นจํานวนเงิน 15,000 บาท

ส่วนค่าจ้างของลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีตามที่กําหนดไว้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งนั้น เมื่อนายอนุชิตยังทํางานไม่ครบ 1 ปี นายอนุชิตจึงยังไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากนายอนุชิตยังไม่มีวันหยุดพักผ่อน ประจําปี (ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง)

สรุป

การที่นายพีระบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีโดยอ้างว่าได้ทําตามข้อตกลงในสัญญานั้นไม่ถูกต้อง นายอนุชิตมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 15,000 บาท แต่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปี

 

ข้อ 3. สามารถเป็นลูกจ้างของบริษัท มวยไทยเจริญ จํากัด โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์กีฬาเกี่ยวกับกีฬามวยไทยทุกชนิด สามารถทํางานกับบริษัทฯ อยู่ในตําแหน่งเช็คสต๊อกสินค้า จัดเตรียม สินค้าพร้อมส่งตามคําสั่งของลูกค้า และหากจําเป็นนายจ้างจะให้สามารถไปส่งสินค้าแทนพนักงาน ส่งสินค้าของบริษัทฯ ได้ และถือให้เป็นส่วนหนึ่งของภาระงานของสามารถ วันเกิดเหตุสามารถ ได้รับมอบหมายให้ไปส่งสินค้าให้เยาวเรศซึ่งเป็นลูกค้าสําคัญของบริษัทฯ สามารถนําสินค้าไปส่ง ให้กับลูกค้าเรียบร้อย ขณะอยู่ในระหว่างเดินทางกลับบริษัทฯ เกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยรถยนต์ที่สามารถ ขับขี่ไปชนกับรถยนต์ที่กําลังวิ่งทางตรง และสามารถได้รับบาดเจ็บถูกนําตัวส่งโรงพยาบาล สามารถ ได้รับสิทธิตามกฎหมายเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยานาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพการทํางาน และ ค่าทดแทนฯ แต่นายจ้างแสดงเจตนาเข้ารับสิทธิดังกล่าวจากกองทุนเงินทดแทนในนามของสามารถ โดยนายจ้างอ้างว่า สามารถมีภาระในการชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายจ้างกรณีซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุ ต้องคืนนายจ้างกรณีนายจ้างได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีเพราะผลของการเกิดเหตุมาจากการที่สามารถเป็นผู้กระทําละเมิดและถือเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้วย และนายจ้างยังอ้างว่า สามารถได้ทําบันทึกข้อตกลงให้นายจ้างมีสิทธิในเงินทดแทนเพื่อเป็นการหักกลบลบหนี้กันกับส่วนที่ สามารถต้องชดใช้ให้กับนายจ้างแล้ว ดังนี้ การแสดงเจตนาของนายจ้างและข้ออ้างของนายจ้าง ในการเข้าใช้สิทธิในเงินทดแทนรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 23 “ห้ามมิให้นายจ้างหักเงินทดแทนเพื่อการใด ๆ และเงินทดแทนไม่อยู่ในความรับผิด แห่งการบังคับคดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สามารถเป็นลูกจ้างของบริษัท มวยไทยเจริญ จํากัด ได้รับมอบหมายให้ไป ส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ และเมื่อส่งสินค้าให้กับลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ขณะอยู่ในระหว่างเดินทางกลับบริษัทฯ เกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยรถยนต์ที่สามารถขับขี่ไปชนกับรถยนต์ที่กําลังวิ่งทางตรงและสามารถได้รับบาดเจ็บถูกนําตัว ส่งโรงพยาบาลนั้น ถือเป็นกรณีที่สามารถประสบอันตรายจากการทํางาน และเมื่อปรากฏว่าสามารถได้รับสิทธิใน เงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพการทํางานและค่าทดแทนฯ ตามกฎหมายเงินทดแทนแล้ว

ประเด็นการวินิจฉัยมีว่า การที่สามารถกระทําละเมิดโดยเป็นผู้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทําให้เกิดความเสียหาย แก่นายจ้างโดยนายจ้างต้องร่วมรับผิดในทางการที่จ้างกับคู่กรณีและต้องซ่อมแซมรถยนต์คันที่สามารถขับขี่ไป ก่อให้เกิดความเสียหายด้วยนั้น นายจ้างจะนําสิทธิในเงินทดแทนที่สามารถได้รับมาหักกับค่าเสียหายที่สามารถ จะต้องชดใช้กับนายจ้าง โดยการให้นายจ้างเข้ารับสิทธิในเงินทดแทนแทนสามารถ โดยสามารถทําบันทึกข้อตกลง ให้นายจ้างมีสิทธิตามข้อกล่าวอ้างของนายจ้างได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ แล้ว จะเห็นได้ว่า กฎหมาย ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในเงินทดแทนของลูกจ้างไว้ โดยบัญญัติห้ามมิให้นายจ้างหักเงินทดแทนเพื่อการใด ๆ ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายจ้างและข้ออ้างเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงที่ทํากันระหว่างนายจ้างกับสามารถที่ว่า ให้นายจ้างมีสิทธิในเงินทดแทนเพื่อเป็นการหักกลบลบหนี้กันกับส่วนที่สามารถต้องชดใช้ให้กับนายจ้างจึงรับฟังไม่ได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิในเงินทดแทนแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทํางานและถือเป็นสิทธิที่ กฎหมายคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ

สรุป

การแสดงเจตนาของนายจ้างและข้ออ้างของนายจ้างในการเข้าใช้สิทธิในเงินทดแทนรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 4. นายเอกและนายตรีเป็นลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ในระหว่างการเจรจาอยู่นั้นนายเอกไม่ได้มาทํางานตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์ นายจ้าง มีคําสั่งเลิกจ้างนายเอกทันที และย้ายนายตรีไปทํางานที่จังหวัดระยองโดยไม่บอกกล่าวก่อน นายเอก และนายตรีกล่าวอ้างว่านายจ้างไม่สามารถทําได้เพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาตามพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้น ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพ แรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าว และตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จําเป็นต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าว ดําเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง

(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องให้มีการกําหนดหรือแก้ไข เพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างเจรจากัน กฎหมายห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนา เพื่อที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างดังกล่าวให้ออกจากงานไป เพราะถือเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 31 วรรคหนึ่งนี้ ก็มีข้อยกเว้นที่ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ แม้ว่า จะอยู่ในขั้นตอนของการเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นก็ตาม หากลูกจ้างดังกล่าวได้กระทําผิดต่อนายจ้างในกรณีต่าง ๆ ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง (1) – (4)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายเอก แม้ว่านายเอกจะเป็นลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจาก็ตาม แต่การที่นายเอกไม่ได้มาทํางาน ตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์นั้น ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทํางานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31 (4) ดังนั้น นายจ้างจึงมีคําสั่งเลิกจ้างนายเอกได้ทันที และนายเอกจะกล่าวอ้างว่า นายจ้างไม่สามารถทําได้ เพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้

กรณีของนายตรี การที่นายตรีเป็นลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจาตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของนายตรี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจ้างได้มี คําสั่งโยกย้ายหน้าที่การงานของนายตรีโดยให้นายตรีย้ายไปทํางานที่จังหวัดระยองโดยไม่บอกกล่าว และโดย ไม่ปรากฏว่านายตรีได้กระทําการใด ๆ ตามมาตรา 31 (1) – (4) แต่อย่างใดนั้น การกระทําของนายจ้างย่อมถือว่า เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายตรีจึงสามารถกล่าวอ้างได้ว่านายจ้าง ไม่สามารถทําได้ เพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์

สรุป

การที่นายจ้างมีคําสั่งเลิกจ้างนายเอก นายเอกจะกล่าวอ้างว่านายจ้างไม่สามารถทําได้ เพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ไม่ได้ ส่วนการที่นายจ้างมีคําสั่งย้ายสถานที่ทํางาน ของนายตรี นายตรีสามารถกล่าวอ้างได้ว่านายจ้างไม่สามารถทําได้เพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์

Advertisement