การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. พ.ต.อ.นําชัย สามีนางผ่องศรีกรรมการ บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ได้เป็นผู้บอกเลิกจ้างนายสมบัติซึ่งเป็นช่างเคาะ เพราะนายสมบัติเจ็บป่วยไม่สามารถมาทํางานต่อไปได้ นายสมบัติจึงฟ้องศาลแรงงาน เรียกค่าชดเชย ฝ่ายบริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ต่อสู้ว่า พ.ต.อ.นําชัย บอกเลิกจ้างไม่ได้เพราะต้อง เป็นผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ.ต.อ.นําชัย พูดต่อว่านายสมบัติ เกี่ยวกับการทํางานได้แจ้งให้มีการปรับปรุงการทํางานได้

ให้ท่านวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ การบอก เลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยให้นายสมบัติ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทํางานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง

(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนนายจ้าง

(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลให้ทําการแทนด้วย”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง…”

มาตรา 119 วรรคแรก “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และ

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่

ประเด็นที่ 1 พ.ต.อ.นําชัย บอกเลิกจ้างนายสมบัติได้หรือไม่

เมื่อปรากฏว่า บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี เป็นนิติบุคคล และผู้มีอํานาจบอกเลิกจ้างอันมีผล ผูกพันนิติบุคคลจะต้องเป็นผู้ที่มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล หรือเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลให้ทําการแทน และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พ.ต.อ.นําชัยพูดต่อว่านายสมบัติเกี่ยวกับ การทํางานได้ และแจ้งให้มีการปรับปรุงการทํางานได้ แสดงว่า พ.ต.อ.นําชัยต้องได้รับอํานาจจากกรรมการของบริษัทฯ ดังนั้น พ.ต.อ.นําชัยจึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล และเป็น นายจ้างตามมาตรา 5 พ.ต.อ.นําชัยจึงมีสิทธิบอกเลิกจ้างนายสมบัติได้ (ฎีกาที่ 4659/2536)

ประเด็นที่ 2 บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายสมบัติหรือไม่ จาก ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบัติเจ็บป่วยไม่สามารถมาทํางานต่อไปได้นั้น เหตุเจ็บป่วยดังกล่าว เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกาย มิใช่การจงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย มิใช่การกระทําที่เป็นการ ฝ่าฝืนระเบียบหรือคําสั่งของนายจ้าง และมิใช่การกระทําโดยประการอื่นใดที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ เลิกจ้าง บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ นายสมบัติตามมาตรา 118

สรุป

พ.ต.อ.นําชัย บอกเลิกจ้างนายสมบัติได้

บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมบัติ

 

ข้อ 2. นายปทุม (นายจ้าง) ทําสัญญาจ้างนายพรเทพเป็นลูกจ้างทํางานติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ต่อมาลูกค้าได้ยกเลิกคําสั่งซื้อสินค้าจํานวนมากทําให้เสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลต่อการคงอยู่ของกิจการซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี นายปทุมจึงทําหนังสือ แจ้งให้นายพรเทพทราบในวันที่ 20 ตุลาคม ว่าให้หยุดงานชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายน ปรากฏว่า ต้นเดือนธันวาคมเกิดไฟไหม้โรงงานเสียหายหมด นายปทุมไม่มีทรัพย์สินดําเนินงานต่อจึงบอกเลิก สัญญาจ้าง นายปทุมทําสัญญาตกลงกับนายพรเทพว่าจะให้ค่าชดเชย 60,000 บาท ต่อมานายปทุมก็ไม่ให้ค่าชดเชยนี้ นายพรเทพจึงฟ้องเรียกค่าชดเชยเป็นจํานวน 180 วัน และฟ้องเรียกค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายนด้วย เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 75 “ในกรณีที่นายจ้างมีความจําเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สําคัญอันมีผลกระทบต่อ การประกอบกิจการของนายจ้างจนทําให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทํางาน

การให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่ม หยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทําการ”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นายปทุมมีความจําเป็นเนื่องจากลูกค้าได้ยกเลิกคําสั่งซื้อสินค้าจํานวนมาก ทําให้เสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ของกิจการซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งมิใช่เหตุ สุดวิสัยตามมาตรา 75 วรรคแรก จึงได้ทําหนังสือแจ้งให้นายพรเทพหยุดงานชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายน โดย แจ้งให้นายพรเทพทราบในวันที่ 20 ตุลาคมนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างได้ทราบล่วงหน้าก่อนวัน เริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทําการแล้วตามมาตรา 75 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายปทุมสามารถให้นายพรเทพหยุดงานชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายนได้ก็ตาม นายปทุมก็จะต้องจ่ายเงินให้แก่นายพรเทพไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับ ก่อนหยุด กิจการด้วย ดังนั้น นายปทุมจึงต้องจ่ายเงินให้นายพรเทพเป็นเงินจํานวน 15,000 บาท ตามมาตรา 75 วรรคแรก

กรณีที่ 2 การที่เกิดไฟไหม้โรงงานเสียหายหมดตอนต้นเดือนธันวาคม ทําให้นายปทุมไม่มี ทรัพย์สินดําเนินงานต่อจึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายพรเทพนั้น เมื่อปรากฏว่านายพรเทพได้ทํางานติดต่อกันมา เป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน แล้ว นายปทุมจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายพรเทพไม่น้อยกว่า 180 วัน คิดเป็นเงินจํานวน 120,000 บาท ตามมาตรา 118 (3)

ส่วนการที่นายปทุมทําสัญญาตกลงกับนายพรเทพว่าจะให้ค่าชดเชยเพียง 60,000 บาทนั้น เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อมาตรา 118 (3) จึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้นนายปทุมจึงต้องจ่าย ค่าชดเชยให้นายพรเทพเป็นเงินจํานวน 120,000 บาท

สรุป

นายพรเทพสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้เป็นเงิน 120,000 บาท และฟ้องเรียกค่าจ้าง ในเดือนพฤศจิกายนได้เป็นเงิน 15,000 บาท

หมายเหตุ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

 

ข้อ 3. ดนัยเป็นลูกจ้างบริษัท อินไซเดอร์ จํากัด ตําแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท นายจ้างมอบหมายให้ทํางานหนักขึ้นทําให้ดนัยมีความเครียดจากการทํางาน ดนัย มีอาการเจ็บหน้าอกจึงไปพบแพทย์ ผลการตรวจของแพทย์พบว่า ดนัยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และ มีอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ ดนัยคิดว่าดนัยป่วยเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ดนัยจึงมา ปรึกษาขอคําแนะนําจากนักศึกษาว่าการป่วยเป็นโรคลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการ ทํางาน ตามนิยามมาตรา 5 มีลักษณะอย่างไร และกรณีความเครียดจากการทํางานที่ทําให้ลูกจ้างป่วย เป็นโรคนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ อย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาอธิบายให้ดนัยทราบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“เจ็บป่วย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตาม ลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อดนัยมาปรึกษาขอคําแนะนําจากข้าพเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ดนัยทราบ ดังนี้คือ

1 การป่วยเป็นโรคลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน มีลักษณะอย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาจากคํานิยามของคําว่า “เจ็บป่วย” ตามมาตรา 5 ที่ว่า “เจ็บป่วย” หมายความว่า การที่ลูกจ้าง เจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน ประกอบกับ ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ออกตามความในมาตรา 14 ซึ่งได้กําหนดชนิดของโรคอันถือว่า เกิดขึ้นตามสภาพหรือลักษณะของงาน หรือโรคอันเกิดขึ้นจากการทํางานด้วย

2 กรณีความเครียดจากการทํางานที่ทําให้ลูกจ้างเจ็บป่วยเป็นโรคนั้น ปัจจุบันได้มีคําพิพากษา ฎีกาที่ 1683/2539 วินิจฉัยว่า ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยในคําพิพากษาฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากความดันโลหิตสูง เป็นการถึงแก่ความตายเนื่องจากโรคที่เกิดจากการทํางานเนื่องจาก ลักษณะงานทําให้เกิดความเครียดอันเป็นเหตุก่อให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

แต่อย่างไรก็ดี ตามแนวคําพิพากษาฎีกาดังกล่าว ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 2664/2537 กรณีที่จะถือว่าเป็นการเจ็บป่วยหรือตายเนื่องจากโรคที่เกิดจากการทํางานนั้น จะต้องพิเคราะห์ถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยคือ

(1) ลักษณะของงานว่าจะก่อให้เกิดโรคขึ้นหรือไม่ และ

(2) ลักษณะของการทํางานว่าเป็นงานตรากตรําใช้กําลังมากหรือไม่

(3) สภาพแวดล้อมในขณะทํางาน เช่น ร้อนจัด อับอากาศหรือไม่

 

3 กรณีความเครียดจากการทํางานที่ทําให้ลูกจ้างป่วยเป็นโรค และลูกจ้างมีสิทธิได้รับ เงินทดแทนนั้น เงินทดแทนที่ลูกจ้างจะได้รับ ได้แก่

(1) ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 13)

(2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 15)

(3) ค่าทําศพของลูกจ้างในกรณีลูกจ้างเจ็บป่วยถึงแก่ความตาย (มาตรา 16)

(4) ค่าทดแทนตามมาตรา 18

 

ข้อ 4. ลูกจ้างในบริษัท คิมหันต์คอนสตรัคชั่น จํากัด รวมตัวกันแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ขั้นตอนผ่านการไกล่เกลี่ยจากพนักงาน ประนอมข้อพิพาทแรงงานแต่ไม่สําเร็จจนกระทั่งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและนายจ้างล่วงหน้า 24 ชั่วโมงเพื่อนัดหยุดงาน ช่วงที่ลูกจ้างนัดหยุดงานอยู่นั้น ปรารภซึ่งเป็นลูกจ้างในฝ่ายตรวจสอบ และเป็นผู้นําในการจัดทําข้อเรียกร้องถูกนายจ้างเลิกจ้าง ดังนี้ ปรารภจะได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมายแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 22 “เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 21 แล้ว ให้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดําเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง และฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกัน ภายในกําหนดห้าวันนับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง

ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นํามาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้น เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้บังคับ มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 หรือมาตรา 36”

มาตรา 34 “ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 13 หรือได้แจ้งข้อเรียกร้องแล้ว แต่ข้อพิพาทแรงงานนั้นยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

(2) เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตามมาตรา 18 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง

(3) เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ ไกล่เกลี่ยตามมาตรา 22 วรรคสอง ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง

(4) เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคําชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานซึ่งตั้งตาม มาตรา 25 หรือมาตรา 26 ได้ปฏิบัติตามคําชี้ขาด

(5) เมื่ออยู่ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือมีคําวินิจฉัย ของรัฐมนตรีตามมาตรา 23 หรือคําชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 24

(6) เมื่ออยู่ในระหว่างการชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานซึ่งตั้งตามมาตรา 25 หรือมาตรา 26

ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน โดยมิได้แจ้ง เป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง”

มาตรา 121 “ห้ามมิให้นายจ้าง

(1) เลิกจ้าง หรือกระทําการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพ แรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน ไม่สามารถทนทํางานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัด ชุมนุม ทําคําร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดําเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือนายทะเบียน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาด ข้อพิพาทแรงงาน หรือกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ลูกจ้าง หรือสหภาพแรงงานกําลังจะกระทําการดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกจ้างในบริษัท คิมหันต์คอนสตรัคชั่น จํากัด รวมตัวกันแจ้งข้อ เรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ขั้นตอนผ่านการไกล่เกลี่ย จากพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแต่ไม่สําเร็จ จนกระทั่งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ตามมาตรา 22 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 34 (1) ถึง (6) อีกทั้ง ฝ่ายลูกจ้างก็ได้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 34 วรรคสอง โดยลูกจ้างได้แจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และนายจ้างให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อนัดหยุดงานแล้ว ลูกจ้างจึงมีสิทธิดําเนินการ นัดหยุดงานได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

และตามมาตรา 121 (1) ได้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้าง เลิกจ้าง หรือกระทําการใด ๆ อันอาจ เป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทํางานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้นัดชุมนุม ทําคําร้องหรือยื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ นายจ้างจะเลิกจ้างปรารภซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นผู้นําในการจัดทําข้อเรียกร้องไม่ได้ เพราะ ปรารภย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มาตรา 121 (1)

สรุป

ปรารภจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

Advertisement