การสอบไล่ภาคซ่อม 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4003 (LA 403),(LW 403) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 การทำสนธิสัญญาของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 มาตรา 190 สนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องใดบ้างที่ก่อนการให้สัตยาบันจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาแนวคำตอบหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการให้สัตยาบันตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรค 2 คือ
1. สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ
2. สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตไทย หรือ
3. สนธิสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือ
4. สนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือ
5. สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อ 2 กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
แนวคำตอบ
ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในมีดังนี้คือ
1. ทฤษฎี Dualism กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในไม่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อรัฐเข้าผูกพันเป็นภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่องค์กรภายในของรัฐ เช่น ศาล จะไม่ยอมรับรู้ถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นคนละระบบกับกฎหมายภายใน ดังนั้น จึงต้องทำการแปลงรูปกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเป็นกฎหมายภายใน เช่น การพระราชบัญญัติรองรับ
2. ทฤษฎี Monism กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในมีความสัมพันธ์กัน แต่จะมีศักดิ์ความสูงต่ำต่างกัน โดยกฎหมายระหว่างประเทศมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศจึงเข้ามามีผลเป็นกฎหมายภายในได้โดยไม่ต้องทำการแปลงรูปโดยกฎหมายภายในจะไปขัดหรือแย้งกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้
ข้อ 3 จงอธิบายหลักการป้องกันตนเองของรัฐ (Self Defence) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติพยายามจำกัดขอบเขตของการป้องกันตนเองให้อยู่ในวงแคบ โดยกำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 51 นักศึกษาจงอธิบายลักษณะสำคัญของการใช้สิทธิดังกล่าวให้ชัดเจน และชี้ให้เห็นว่าประเด็นใดได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมในปัจจุบัน
แนวคำตอบ
ลักษณะสำคัญของสิทธิป้องกันตนเอง
1. ลักษณะชั่วคราว กับทำการป้องกันตนเองแล้วรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบ และป้องกันตนเองไปจนกว่าคณะมนตรีฯ เข้ามา
2. ต้องถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธก่อน
3. มาตรการที่ใช้ต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็นในการป้องกันตนเอง และการป้องกันอาจดำเนินการร่วมกับรัฐอื่นได้
ประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ การต้องถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธก่อน จึงจะใช้สิทธิได้ ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน เพราะพัฒนาการทางอาวุธร้ายแรงและก้าวหน้าอย่างยิ่ง จึงมักจะอ้างป้องกันตนเองล่วงหน้ากันบ่อยครั้ง
ข้อ 4 จงอธิบายถึงกระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดเพื่อเป็นหลักหรือพื้นฐานในการตัดสินคดี และคำตัดสินของศาลมีผลผูกพันคู่กรณีหรือไม่ อย่างไร
แนวคำตอบ
ศาลโลกจะใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นหลักในการตัดสินคดี
1. สนธิสัญญา
2. จารีตประเพณีระหว่างประเทศ
3. หลักกฎหมายทั่วไป
4. คำพิพากษาของศาล
5. ความเห็นของนักนิติศาสตร์
6. หลักความยุติธรรม
คำตัดสินของศาลโลก ถือเป็นสิ้นสุดและผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม หากผู้เป็นฝ่ายแพ้คดีไม่ปฏิบัติตาม ผู้เป็นฝ่ายชนะคดีสามารถร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติได้ และคณะมนตรีฯ อาจทำคำแนะนำหรือตัดสิน เพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ