การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 

Advertisement

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ1. จงอธิบายลักษณะของจารีตประเพณีระหว่างประเทศโดยละเอียด และแตกต่างจากหลักกฎหมาย ทั่วไปอย่างไร ยกตัวอย่างประกอบการอธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจนด้วย

ธงคำตอบ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไมได้บัญญัติไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร มีลักษณะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ หรือยกเลิกได้ โดยการปฏิบัติหรือไม่รับปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ ซึ่งการก่อให้เกิดเป็นจารีตประเพณีที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องประกอบด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ

1.         การปฏิบัติ (ปัจจัยภายนอก) หมายถึง รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติอย่างเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร สำหรับระยะเวลานานเท่าใดไม่มีกำหนดแน่นอน แต่ก็คงต้องเป็น ระยะเวลายาวนานพอควร และไม่มีประเทศใดคัดค้านแต่การปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องเป็นการปฏิบัติของรัฐทุกรัฐในโลก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติของรัฐกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอ

2.         การยอมรับ (ปัจจัยภายใน) หมายถึง การจะเปลี่ยนการปฏิบัติให้เป็นจารีตประเพณี ระหว่างประเทศนั้น จะต้องได้รับการยอมรับการกระทำดังกล่าวจากสมาชิกสังคมระหว่างประเทศ คือ รัฐหรือ องค์การระหว่างประเทศได้ตกลงยอมรับลักษณะบังคับของการปฏิบัติเช่นนั้นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ (เสมือนเป็นกฎหมาย) แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่จำต้องยอมรับโดยทุกประเทศ

ส่วนหลักกฎหมายทั่วไป เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศ ต่าง ๆ ที่มีความศิวิไลซ์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง

1.         หลักเกณฑ์ทางกฎหมายทั่วไปที่ยอมรับและใช้บังคับอยู่ในกฎหมายภายในของรัฐ ทั้งหลาย โดยบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายภายในของรัฐต่าง ๆ หรือกฎหมายภายในของประเทศที่มี ความเจริญในทางกฎหมาย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป อันอาจนำมาเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัย คดีได้ เช่น หลักที่ว่าสัญญาจะต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้ทำสัญญา หลักความสุจริตใจ หลักกฎหมายปิดปาก หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

2.         หลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐต่าง ๆ ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ โดยทั่วไป โดยมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นหลักความเสมอภาค เท่าเทียมกันของรัฐไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น

จะเห็นว่าหลักกฎหมายทั่วไปเกิดจากการที่รัฐต่าง ๆ ยอมรับคล้ายกับจารีตประเพณี แต่ยัง ไม่ถึงขั้นที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ เพราะไม่ได้เกิดจากการยอมรับปฏิบัติติดต่อกับมาเหมือนจารีต ประเพณี แต่เกิดจากการที่สังคมระหว่างประเทศยอมรับเพราะถือว่าชอบด้วยเหตุผลทวงกฎหมาย ซึ่งจะแตกต่าง กับจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เกิดจากการที่รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าเรื่อง ดังกล่าวจะชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จารีตประเพณีระหว่างประเทศจึงแตกต่างจาก หลักกฎหมายทั่วไปใบเรื่องของเหตุผลทางกฎหมายนั่นอง

ในกรณีที่มีคดีเกิดขึ้นและไม่มีสนธิสัญญาหรือจารีตประเพณีทีจะนำมาใช้พิจารณาคดีได้ ศาลก็อาจจะนำหลักกฎหมายทั่วไปมาวินิจฉัยคดีได้ เคยมีหลายคดีขึ้งศาลได้ใช้หลักกฎหมายทั่วไปเป็นแนวทางตัดสินคดี เช่น คดีเขาพระวิหารซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินชี้ขาด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ให้เขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา โดยอ้างหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายปิดปาก เป็นต้น

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงขั้นตอนการจัดทำสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา ให้ชัดเจนและขั้นตอนใดของสนธิสัญญาที่จะทำให้รัฐผูกพันตามสนธิสัญญาและรัฐที่ไม่ได้ร่วม จัดทำสนธิสัญญาสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาได้โดยวิธีใดบาง อธิบายประกอบโดยสังเขป

ธงคำตอบ

การจัดทำสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอน การจัดทำดังนี้ คือ   

1. การเจรจา

2.         การลงนาม

3.         การให้สัตยาบัน

4.         การจดทะเบียน

1.         การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทำสนธิสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอำนาจในการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาจะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอำนาจใน การเจรจาอาจจะไม่ทำการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอำนาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทำการเจรจาแทน แต่ต้องทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนำมามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย

การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทำความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

2.         การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดข้อความเด็ดขาดใน สนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทำเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว

การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้อง มีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์

3.         การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการจัดทำสัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทำในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคำรับรองที่จะปฏิบัติตาม ข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น

4.         การจดทะเบียน เมื่อมีการทำนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนำสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นำไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

และจากขั้นตอนในการจัดทำสนธิสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่ทำให้สนธิสัญญามีผล ผูกพันกับภาคีสมาชิกคือขั้นตอนการให้สัตยาบันนั่นเอง

และการที่รัฐใดไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดทำสนธิสัญญากับรัฐอื่น สามารถ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้

1.         การลงนามภายหลัง (Deferred Signature) เป็นกรณีทีรัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน การทำสนธิสัญญานั้นแต่แรก แต่เข้ามามีส่วนในขั้นตอนหลังจากการเจรจาผ่านไปแล้วและอยู่ในระยะของขั้นตอนที่ 2 คือการลงนาม การลงนามภายหลังนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับการเข้าร่วม แต่ต่างกันตรงที่การเข้าร่วมนั้นจะมีผลผูกพัน นับแต่มีการปฏิญญาขอเข้าร่วมในสนธิสัญญา ส่วนการลงนามภายหลังนี้รัฐที่ลงนามภายหลังยังไม่มีพันธกรณี ตามสนธิสัญญา เพราะจะต้องให้สัตยาบันก่อนจึงจะถือว่าเป็นภาคีสนธิสัญญาและมีผลผูกพันรัฐนั้น

2.         ภาคยานุวัติหรือการเข้าร่วม (Adhesion) คือ การที่รัฐหนึ่งรัฐใดไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการทำสนธิสัญญาตั้งแต่แรก แต่เมื่อสนธิสัญญาผ่านขั้นตอนการลงนามจนมีผลใช้บังคับ และมิได้ระบุห้ามการ ภาคยานุวัติไว้ รัฐนั้นก็อาจเข้าไปร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นในภายหลังหลังจากระยะเวลาการลงนามได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยยอมรับผูกพันตามสิทธิและหน้าทีที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งมีผลผูกพันนับแต่วับทำภาคยานุวัติ ไม่มีผลย้อนหลังแต่อย่างใด

อนึ่งอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 ได้กำหนดว่า ความยินยอมของรัฐที่จะรับพันธกรณีตามสนธิสัญญาด้วยการทำภาคยานุวัติ จะทำได้ในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

1)         สนธิสัญญานั้นกำหนดไว้โดยตรงให้มีการทำภาคยานุวัติได้

2)         ทุกรัฐที่เป็นภาคีของสนธิสัญญานั้นตกลงให้มีการภาคยานุวัติได้

 

ข้อ 3. นายรักรามเป็นผู้สนใจในข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ พบว่ามีรัฐเกิดขึ้นใหม่หลายรัฐ เมื่อไม่นานมานี้ แต่นายรักรามไม่เข้าใจในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรัฐในสังคมระหว่างประเทศว่า มีสาระสำคัญที่ควรจะรับรู้อย่างไร จึงมาขอคำอธิบายจากท่านในฐานะที่ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมาแล้ว ท่านจะอธิบายให้นายรักรามเข้าใจอย่างไรว่า สภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจะเริ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร และความเป็นรัฐจะเป็นที่รับรู้ได้อย่างไรในสังคมระหว่างประเทศ และมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ให้ท่านยกตัวอย่างกรณีของประเทศไต้หวันและติมอร์ตะวันออก อธิบายประกอบ หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ชัดเจน และวิเคราะห์ให้เข้าใจว่าสถานะความเป็นรัฐของทั้งสองประเทศ แตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างไร

งคำตอบ

ตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าจะให้คำอธิบายแก่นายรักราม ดังนี้ คือ

สภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจะเริ่มเกิดขึ้นได้ จะต้องมีองค์ประกอบ ของความเป็นรัฐครบ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1.         ดินแดน กล่าวคือ รัฐต้องมีดินแดนให้ประชาชนได้อยู่อาศัย ซึ่งดินแดนของรัฐนั้น รวมทั้งพื้นดิน ผืนน้ำ และท้องฟ้าเหนือดินแดนด้วย ดินแดนไม่จำเป็นต้องเป็นผืนเดียวติดต่อกัน อาจจะเป็น ดินแดนโพ้นทะเลก็ได้ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้กำหนดขนาดของดินแดนไว้ ฉะนั้นรัฐจะมีดินแดนมากน้อย เพียงใดไม่ใช่ข้อสำคัญ แต่ต้องมีความแน่นอนมั่นคงถาวร และกำหนดเขตแดนไว้แน่นอนชัดเจน

2.         ประชากร กล่าวคือ มีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความแน่นอน ซึ่งกฎหมาย ระหว่างประเทศก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีจำนวนประชากรมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ต้องมีจำนวนมากพอสมควรที่จะสามารถดำรงความเป็นรัฐได้ ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐนี้ไม่จำเป็นต้องมีชนชาติเดียวกัน อาจมี เชื้อขาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่มีความผูกพันทางนิตินัยกับรัฐ คือ มีสัญชาติเดียวกัน

3.         รัฐบาล กล่าวคือ มีคณะบุคคลที่ใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรมาทำการ บริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน จัดระเบียบการปกครองภายใน รักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตน ดำเนินการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความเจริญของประเทศ และรักษา สิทธิผลประโยชน์ของประชาชน

4.         อำนาจอธิปไตย (หรือเอกราชอธิปไตย) กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อำนาจอิสระภายใน หมายถึง อำนาจของรัฐในการจัดกิจการภายในประเทศ ได้อย่างอิสรเสรีแต่เพียงผู้เดียว โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ส่วนอำนาจอิสระภายนอก หมายถึง อำนาจของรัฐในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐอื่น และได้รับการปฏิบัติ อย่างเสมอภาคกับรัฐอื่น

และเมื่อมีสภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศเพราะมีองค์ประกอบที่สำคัญครบ ทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความเป็นรัฐจะเป็นที่รับรู้ในสังคมระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อได้รับการรับรอง สภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทำการติดต่อสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการรับรอง ความเป็นรัฐโดยรัฐอื่นนั้น มีทฤษฎีเกี่ยวกับการรับรองรัฐอยู่ 2 ทฤษฎี คือ

1.         ทฤษฎีว่าด้วยเงื่อนไข (การก่อกำเนิดรัฐ) หมายความว่า แม้รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นจะมี องค์ประกอบของความเป็นรัฐครบ 4 ประการแล้วก็ตาม สภาพของรัฐก็ยังไม่เกิดขึ้น สภาพของรัฐจะเกิดขึ้นและ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องมีการรับรองรัฐโดยรัฐอื่นด้วย และเมื่อรัฐอื่นได้ให้การรับรองแล้ว รัฐที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะมีสภาพบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสามารถที่จะติดต่อกับรัฐอื่นในสังคมระหว่างประเทศได้

2.         ทฤษฎีว่าด้วยการประกาศ (ยืนยัน) ซึ่งทฤษฎีนี้ถือว่าการรับรองนั้นไม่ก่อให้เกิด สภาพของรัฐ เพราะเมื่อรัฐที่เกิดขึ้นใหม่มีองค์ประกอบความเป็นรัฐครบถ้วนแล้วก็ย่อมเป็นรัฐที่สมบูรณ์แม้จะ ไม่มีการรับรองจากรัฐอื่นก็ตาม และรัฐนั้นก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ การรับรองนั้นถือว่าเป็นเพียงการยืนยันหรือประกาศความเป็นจริง (ความเป็นรัฐ) ที่เป็นอยู่แล้วเท่านั้น

 

สำหรับกรณีของประเทศ ไต้หวัน ’’ และประเทศ ติมอร์ตะวันออก” นั้น ถือว่ามีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สำคัญครบทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น คือมีดินแดนและมีประชากรที่อยู่อาศัยในดินแดนที่แน่นอน มีรัฐบาลที่ใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรทำการ บริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ และที่สำคัญคือการมีอำนาจอธิปไตย ในอันที่จะดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งภายในและภายนอกรัฐ อาทิเช่น มีอำนาจในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสระโดยปราศจากการ แทรกแซงจากภายนอก และมีอำนาจในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐอื่น เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม สถานะความเป็นรัฐของทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันในสาระสำคัญ คือ กรณีของประเทศไต้หวันนั้น ความเป็นรัฐยังไม่สมบูรณ์และยังมีสถานะไม่มั่นคง เพราะมีการรับรองความเป็นรัฐ จากรัฐอื่นไม่มากนัก โดยเฉพาะประเทศจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และประเทศที่ยังคงติดต่อทำมาค้าขายกับ ประเทศจีนยังไม่ให้การรับรอง

วนประเทศติมอร์ตะวันออกนั้น ความเป็นรัฐถือว่าสมบูรณ์และมีสถานะที่มั่นคง เพราะมี การรับรองความเป็นรัฐจากรัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ประเทศติมอร์ตะวันออกได้แยกตัวออกไป ยังได้ให้การรับรองความเป็นรัฐ และที่ว่าประเทศติมอร์ตะวันออกมีสถานะความเป็นรัฐที่มันคง คือ การได้เข้าไปเป็น สมาชิกกับองค์การสหประชาชาตินั่นเอง

 

ข้อ 4. จงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่เรียกว่า “’การไกล่เกลี่ย” ว่ามีลักษณะของ การดำเนินการอย่างไร และมีความแตกต่างจากกระบวนการที่เรียกว่า ประนีประนอม” ในสาระสำคัญ อย่างไร

ธงคำตอบ

การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่เรียกว่า การไกล่เกลี่ย” (Mediation) เป็นกรณี ที่รัฐที่สามหรือบุคคลที่สามเป็นผู้ติดต่อให้คู่กรณีมีการเจรจากัน และตนก็เข้าร่วมในการเจรจาด้วย รวมทั้งสามารถ เสนอแนวทางในการยุติข้อพิพาทให้คู่กรณีพิจารณาได้ด้วย แต่ไม่ผูกพันรัฐคู่พิพาท ซึ่งอาจจะยอมรับแนวทาง การไกล่เกลี่ยนั้นหรือไม่ก็ได้ เพราะกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความสมัครใจของทุกฝ่าย

การไกล่เกลี่ยรูปนี้มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ

1.         ผู้เสนอตัวหรือผู้รับการไกล่เกลี่ยเป็นไปด้วยความสมัครใจ

2.         ข้อเสนอการไกล่เกลี่ยรัฐคู่พิพาทอาจจะรับหรือไม่ก็ได้

ส่วนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยกระบวนการที่เรียกว่า การประนีประนอม” นั้น เป็นวิธีการยุติข้อพิพาทโดยการจัดตั้งคณะบุคคล หรือคณะกรรมการพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริงพร้อมกับการเสนอลู่ทางที่จะยุติข้อพิพาท แต่ข้อเสนอนั้นจะไม่ผูกพันคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้น การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่เรียกว่า การไกล่เกลี่ย” จะแตกต่างกับ วิธี การประนีประนอม” ตรงที่ว่า การไกล่เกลี่ยนั้นฝ่ายที่สามเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางเท่านั้น ไม่จำเป็นต้อง ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเช่นวิธีการประนีประนอม

Advertisement