การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 (LA 403, LW 403) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. จงอธิบายที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศโดยสังเขป และที่มาประเภทใดที่ยึดถือว่ามีความสำคัญ มากที่สุด (สองประการ) อธิบาย เพื่อให้เห็นจริงประกอบด้วย

ธงคำตอบ

กฎหมายระหว่างประเทศนั้น สามารถแบ่งที่มาออกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่

1.         สนธิสัญญา ถือว่าเป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะหลังจะมีการรวบรวมจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาบัญญัติไว้เป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสนธิสัญญา และโดยที่สนธิสัญญาเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ (สองฝ่ายหรือหลายฝ่าย) ซึ่งก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมายแก่คู่สัญญา ดังนั้นเมื่อคู่สัญญามีข้อพิพาทเกิดขึ้น เกี่ยวกับสนธิสัญญา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็มักจะอาศัยการตีความหมายจากสนธิสัญญาเพื่อใช้เป็นหลักใน การวินิจฉัยขี้ขาดคดีในศาลของตน

2.         จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร มีลักษณะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ หรือยกเลิกได้ โดยการปฏิบัติหรือไม่รับปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ การก่อให้เกิดเป็นจารีตประเพณีที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องประกอบด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ

(1)       การปฏิบัติ (ปัจจัยภายนอก) หมายถึง รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติอย่างเดียวกัน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลานานพอสมควร สำหรับระยะเวลานานเท่าใดไม่มีกำหนดแน่นอน แต่ก็คงต้องเป็น ระยะเวลายาวนานพอควร และไม่มีประเทศใดคัดค้าน แต่การปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องเป็นการปฏิบัติของรัฐทุกรัฐในโลก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติของรัฐกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอ

(2)       การยอมรับ (ปัจจัยภายใน) หมายถึง การจะเปลี่ยนการปฏิบัติให้เป็นจารีตประเพณี ระหว่างประเทศนั้น จะต้องได้รับการยอมรับการกระทำดังกล่าวจากสมาชิกสังคมระหว่างประเทศ คือ รัฐหรือ องค์การระหว่างประเทศได้ตกลงยอมรับลักษณะบังคับของการปฏิบัติเช่นนั้นว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่จำต้องยอมรับโดยทุกประเทศ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศอาจเกิดจาก

(1)       เกิดจากจารีตประเพณีหรือกฎหมายภายในหรือคำตัดสินของศาลยุติธรรมของ รัฐหนึ่ง แต่ประเทศอื่นเห็นว่าดีก็นำหลักการดังกล่าวมาปฏิบัติ จนนานเข้าก็กลายเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

(2)       เกิดจากสนธิสัญญาประเภทกฎหมาย คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษา

ของศาลระหว่างประเทศ

3.         หลักกฎหมายทั่วไป เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศ ต่าง ๆ ที่มีความศิวิไลซ์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง

(1) หลักเกณฑ์ทางกฎหมายทั่วไปที่ยอมรับและใช้บังคับอยู่ในกฎหมายภายในของรัฐ ทั้งหลาย โดยบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายภายในของรัฐต่าง ๆ หรือกฎหมายภายในของประเทศที่มี ความเจริญในทางกฎหมาย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป อันอาจนำมาเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัยคดีได้

เช่น หลักที่ว่าสัญญาจะต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้ทำสัญญา หลักความสุจริตใจ หลักกฎหมายปิดปาก หลักผู้รับโอน ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

(2) หลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐต่าง ๆ ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ โดยทั่วไป โดยมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น หลักความเสมอภาค เท่าเทียมกันของรัฐไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น

4.         หลักความยุติธรรม ถือเป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศชั้นรองลงมาจากสนธิสัญญา จารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระบุว่า ศาลอาจวินิจฉัยคดีโดยอาศัยหลักความยุติธรรมและความรู้สึกผิดชอบอันดี หากคู่ความตกลงให้ปฏิบัติ เช่นนั้น” กล่าวคือ เมื่อมีข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลจะวินิจฉัยคดีโดยยึดหลักความยุติธรรมได้ต่อเมื่อไม่มี กฎหมายระหว่างประเทศใดที่จะยึดถือเป็นหลักในการพิจารณาคดีได้ เช่น ไม่มีสนธิสัญญา ไม่มีจารีตประเพณีระหว่าง ประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไปใด ๆ ที่จะยึดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีได้ และคู่กรณีตกลงยินยอมให้ศาลใช้หลัก ความยุติธรรมและความรู้สึกผิดชอบอันดีมาใช้พิจารณาตัดสินแทนได้ และแนวการตัดสินดังกล่าวจะพัฒนาเป็น หลักกฎหมายในเรื่องนั้นในที่สุด แต่ศาลจะนำมาใช้โดยพลการไม่ได้ ต้องได้รับความยิบยอมจากคู่กรณีก่อน อีกทั้ง ต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย

5.         คำพิพากษาของศาล มีอิทธิพลในการสร้างกฎหมายภายในอย่างมาก แต่คำพิพากษา ของศาลยังไม่ถือว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเพียงแต่แหล่งที่มาอีกประการหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไมใช่แหล่งที่มาโดยตรงเหมือนเช่นสนธิสัญญาและจารีตประเพณีระหว่างประเทศ กล่าวคือ คำพิพากษาของศาล ในคดีก่อนเป็นเพียงวิธีการเสริมที่ช่วยผู้พิพากษาหรืออนุญาโตตุลาการในการใช้กฎหมายหรือแปลความหมายของ กฎหมายเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลก็มีบทบาทในการบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศโดยทางอ้อม

6.         ความเห็นของนักนิติศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการ วินิจฉัยหลักกฎหมาย เพื่อตัดสินคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อีกทั้งนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมักจะได้รับ การแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงอาจถือได้ว่าบทความ การเสนอแนะ หรือการ ตีความต่าง ๆ ของนักนิติศาสตร์เหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยขี้ขาดตัดสินคดีเช่นเดียวกัน

และที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 6 ประเภทนั้น ที่มาที่ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดคือ สนธิสัญญาและจารีตประเพณีระหว่างประเทศ เพียงแต่สนธิสัญญานั้นคือสภาพปัจจุบันของการจัดทำกฎหมาย ระหว่างประเทศ แต่ในอดีตการเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศหรือความตกลงระหว่างประเทศมักจะเกิดขึ้น ในรูปของจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงถือว่าจารีตประเพณีระหว่างประเทศเป็นที่มาของกฎหมาย ระหว่างประเทศที่สำคัญเช่นเดียวกับสนธิสัญญา เพียงแต่ไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจารีตประเพณีระหว่างประเทศจะไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีลักษณะเป็น กฎหมายระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ถ้าประเทศใดไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ย่อมถือว่าประเทศนั้นละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ข้อ 2 สนธิสัญญา อาจสิ้นสุดการบังคับใช้ หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป ในกรณีใดบ้าง  

ธงคำตอบ

สนธิสัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เมื่อได้ปฏิบัติไปตามนั้นแล้ว สนธิสัญญาก็ถือว่าสิ้นสุดลง เช่น การยกดินแดนให้แก่อีกรัฐหนึ่ง เป็นต้น แต่สำหรับสนธิสัญญาที่คู่สัญญาต้อง ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำนั้นอาจสิ้นสุดการบังคับใช้ หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป มีได้ใน กรณีดังต่อไปนี้คือ

1.         ในสนธิสัญญานั้นได้กำหนดวาระสิ้นสุดเอาไว้ กล่าวคือได้มีการกำหนดเอาไว้แน่นอน ในสนธิสัญญาว่าให้มีผลสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งเมื่อครบเวลาที่กำหนดไว้เมื่อใดก็ถือว่าสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ หรือในกรณีที่ รัฐคู่สัญญาเห็นพ้องต้องกัน ก็สามารถทำการตกลงยกเลิกสนธิสัญญานั้นได้ แม้ว่าระยะเวลาในการบังคับใช้จะยัง ไม่สิ้นสุดลงก็ตาม

2.         เมื่อรัฐภาคีเดิมได้ทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมาในเรื่องเดียวกันนั้น ซึ่งจะมีผลทำให้ สนธิสัญญาเดิมนั้นสิ้นสุดการใช้บังคับโดยปริยาย

3.         สนธิสัญญาที่ให้สิทธิแก่รัฐหนึ่งรัฐใดบอกเลิกฝ่ายเดียวได้ ซึ่งในกรณีที่เป็นสนธิสัญญา สองฝ่าย (ทวิภาคี) เมื่อรัฐหนึ่งรัฐใดใช้สิทธิบอกเลิกแล้วสนธิสัญญานั้นก็สิ้นสุดลงโดยไม่ต้องได้รับความยิบยอมจาก อีกรัฐหนึ่ง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าสนธิสัญญานั้นได้กำหนดว่าให้บอกเลิกได้ และจะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ สนธิสัญญานั้นได้กำหนดไว้ด้วย

แต่ถ้าเป็นสนธิสัญญาหลายฝ่าย (พหุภาคี) การใช้สิทธิบอกเลิกนั้นให้ถือว่าเป็นเพียงการถอนตัวของรัฐที่บอกเลิกเท่านั้น ไม่ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงแต่อย่างใด

4.         เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีการละเมิดสนธิสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิบอกเลิกได้

5.         เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เช่น มีการทำสงครามกันระหว่างรัฐคู่สัญญา เป็นต้น

6.         เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยของรัฐคู่สัญญา ซึ่งมีผลทำให้สนธิสัญญาที่มี

ระหว่างกันสิ้นสุดลง

7.         สนธิสัญญาที่ทำขึ้นนั้นขัดต่อหลักเกณฑ์บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ กล่าวคือ ถ้าได้เกิดมีหลักเกณฑ์บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ หากสนธิสัญญาที่ได้ทำขึ้นมาก่อนหน้านั้น มีข้อความขัดกับหลักเกณฑ์บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ สนธิสัญญานั้นย่อมสิ้นสุดลง ไม่สามารถใช้บังคับได้อีกต่อไป

 

ข้อ 3. รัฐอาจแบ่งเป็นรูปแบบใดได้บ้าง และยกตัวอย่างประกอบในแต่ละรูปแบบด้วย

ธงคำตอบ

รูปแบบของรัฐ อาจแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ รัฐเดี่ยว และรัฐรวม

1.         รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐซึ่งมีการปกครองเป็นเอกภาพไม่ได้แบ่งแยกออกจากกัน มีรัฐบาลกลาง ปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว แม้จะมีการกระจายอำนาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ในความควบคุมของ รัฐบาลกลาง มีประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และมีองค์กรนิติบัญญัติเพียงองค์กรเดียว ตัวอย่างของรัฐเดียว ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม อิตาลี และประเทศไทย เป็นต้น

2.         รัฐรวม หมายถึง รัฐหลายรัฐมารวมกันโดยเหตุการณ์หรือผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐรวมระหว่างหลายรัฐดังกล่าวอาจจะเป็นรัฐรวมแบบสมาพันธุรัฐ หรือแบบสหพันธรัฐก็ได้

สมาพันธรัฐ (Confederation of State) เป็นการรวมกลุ่มระหว่างรัฐหลายรัฐโดยสนธิสัญญา เพื่อวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ร่วมกันบางประการ เช่น การป้องกันทางทหาร การเศรษฐกิจการค้า เป็นต้น มีลักษณะการรวมคล้ายกับสมาคมของรัฐ โดยไม่ก่อให้เกิดฐานะเป็นรัฐใหม่ขึ้นอีก จะไม่มีรัฐบาลกลาง แต่มีองค์กรกลาง ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประสานงานและดำเนินการบางอย่างตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา

ลักษณะสำคัญของสมาพันธุรัฐ มีดังต่อไปนี้

1.         รัฐที่เข้ามารวมเป็นสมาพันธรัฐยังคงมีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ สามารถติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้ สามารถที่จะรับส่งผู้แทนทางการทูตได้ เพียงแต่มอบกิจการบางอย่างตามที่ได้ ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาเท่านั้นที่ให้สมาพันธุรัฐดำเนินการแทน

2.         รัฐที่เข้ามารวมเป็นสมาพันธุรัฐเกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญา ซึ่ง จะกำหนดจุดประสงค์และขอบเขตอำนาจขององค์กรกลางของสมาพันธุรัฐ แต่รัฐสมาชิกสมาพันธรัฐยังมีอำนาจอิสระ อย่างสมบูรณ์ไนกิจการที่ไม่ได้มอบหมายหน้าที่ให้องค์กรกลางกระทำ

3.         สมาพันธุรัฐไม่มีอำนาจเหนือประชาชนภายในรัฐของสมาชิกสมาพันธุรัฐโดยตรง ดังนั้น มติขององค์กรกลางจะใช้บังคับแก่ประชาชนของรัฐสมาชิกได้ ก็ต่อเมื่อรัฐสมาชิกนำมตินั้นมาออกเป็นกฎหมาย ภายในของรัฐตน จึงจะมีผลใช้บังคับได้

4.         รัฐสมาชิกสามารถถอนตัวออกจากสมาพันธุรัฐได้ ไม่เป็นกบฏ

เห็นได้ว่า กลไกการบริหารงานในรูปสมาพันธุรัฐนั้นยากแก่การปฏิบัติ เช่น มติขององค์กรกลาง ต้องเป็นเอกฉันท์ ถ้าผู้แทนของรัฐเพียงรัฐเดียวไม่ยินยอม มตินั้นก็ถือว่าไม่ได้รับการอนุมัติ หรือการให้รัฐสมาชิก สามารถถอนตัวออกจากสมาพันธุรัฐได้ เป็นต้น ปัจจุบันการรวมแบบสมาพันธรัฐไม่มีแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาเคยเป็น สมาพันธรัฐ (ค.ศ. 1781 – 1787) ต่อมาเปลี่ยนเป็นรูปของสหรัฐ หรือสมาพันธุรัฐเยอรมัน (ค.ศ. 1815 – 1866) ก็กลายเป็นรูปสหรัฐเช่นกัน

สำหรับรัฐรวมแบบสหพันธรัฐหรือสหรัฐ เป็นการรวมกันของรัฐหลายรัฐในลักษณะที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว ซึ่งรัฐเดิมที่เข้ามารวมนี้จะสูญสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป โดยยอม สละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการภายนอก เช่น อำนาจในการ ป้องกันประเทศ อำนาจในการติดต่อกับต่างประเทศ ส่วนกิจการภายในรัฐสมาชิกยังคงมีอิสระเช่นเดิม

ลักษณะสำคัญของสหพันธรัฐ มีดังต่อไปนี้

1.         การรวมในรูปสหพันธรัฐไม่ใช่การรวมแบบสมาคมระหว่างรัฐ แต่เป็นการรวมที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว และจะมีรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครอง กำหนดหน้าที่ของ รัฐบาลกลางและหน้าที่ของรัฐสมาชิก

2.         รัฐที่มารวมจะหมดสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป ซึ่งรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศเพียงรัฐเดียว

3.         อำนาจการติดต่อภายนอก เช่น การทำสนธิสัญญา การรับส่งผู้แทนทางการทูต การป้องกัน ประเทศ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางแต่ผู้เดียว แต่รัฐสมาชิกก็ยังมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในกิจการ ภายในของตนเอง แต่รัฐธรรมนูญของมลรัฐจะขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐไมได้

4.         มลรัฐมีส่วนในการบริหารงานของสหพันธรัฐ โดยสภาสูงจะประกอบด้วยผู้แทนของ

แต่ละมลรัฐ

5.         ในกรณีที่มลรัฐไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่างประเทศ สหพันธรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

สหพันธรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดจากหลายรัฐมารวมกันในรูปของสหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ หรือเกิดการเปลี่ยนรูปจากรัฐเดียวมาเป็นสหพันธรัฐ เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น โดยปกติแล้วรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐจะไม่สามารถถอนตัวออกไปได้ เว้นแต่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ของสหพันธรัฐให้รัฐสมาชิกถอนตัวออกได้

ในปัจจุบันมีรัฐเป็นจำนวนมากที่มีรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และมาเลเซีย เป็นต้น

 

ข้อ 4. จงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีการที่เรียกว่า Retorsion และ Reprisals ให้ชัดเจน และการที่ประเทศซาอุดีอาระเบียไม่อนุญาตให้คนงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศของตน จะเป็นกระบวนการตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีการที่เรียกว่า รีทอร์ชั่น (Retorsion) และรีไพรซัล (Reprisals) ต่างก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับทำสงคราม เพียงแต่จะมีลักษณะที่ แตกต่างกัน ดังนี้คือ

รีทอร์ชั่น (Retorsion) เป็นการกระทำที่รัฐหนึ่งกระทำตอบแทนการกระทำที่ไม่เป็นมิตร ไม่ยุติธรรม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนของรัฐอื่น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ระหว่างประเทศซึ่งโดยปกติจะเป็นการตอบโต้ทางเศรษฐกิจการคลังโดยมีเจตนาจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น โดยไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่มักจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับภาษีศุลกากร เช่น การขึ้นอัตราอากรขาเข้า หรือตัดโควตาปริมาณสินค้าเข้าของประเทศที่กระทำต่อตน หรือการลดค่าเงินตรา จำกัดโควตาคนเข้าเมืองของพลเมืองของประเทศนั้น หรือการไม่ให้เรือของรัฐนั้นเข้ามาในท่า ซึ่งโดยหลักการแล้วรัฐจะใช้วิธีรีทอร์ชั่นก็ต่อเมื่อ รัฐบาลไม่พอใจในการกระทำของรัฐนั้น และวิธีการใช้รีทอร์ชั่นกระทำต่อรัฐอื่นนั้น อาจจะเป็นแบบเดียวกันกับที่รัฐนั้น ถูกกระทำหรือจะเป็นแบบอื่นก็ได้

รีโพรซัล (Reprisals) เป็นมาตรการตอบโต้การกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ของอีกรัฐหนึ่ง เพื่อให้รัฐนั้นเคารพในสิทธิของตนและรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการตอบโต้นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แต่เป็นการกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ดังนั้นรัฐที่เสียหายจากการถูกละเมิดจากรัฐอื่น ควรหาทางให้รัฐที่ละเมิดชดใช้ก่อน ถ้าไม่เป็นผล ค่อยนำมาตรการนี้มาใช้ โดยมีเงื่อนไขคือ

1.         การกระทำนั้นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

2.         ไม่สามารถตกลงโดยวิธีอื่น

3.         รัฐที่เสียหายต้องเรียกร้องค่าทดแทนก่อน

4.         มาตรการตอบโต้ต้องแบบสมเหตุผลกับความเสียหายที่ได้รับ

การตอบโต้อาจทำในรูปเดียวกันกับที่ถูกกระทำหรือรูปแบบอื่นก็ได้ โดยอาจกระทำต่อบุคคลหรือ ทรัพย์สินก็ได้ ซึ่งการตอบโต้บั้นจะต้องตอบโต้ต่อรัฐที่ทำผิดและต้องทำโดยองค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตาม คำสั่งของรัฐ

สำหรับการที่ประเทศซาอุดีอาระเบียไม่อนุญาตให้คนไทยเข้าไปทำงานในประเทศของตนนั้น ถือว่าเป็นมาตรการตอบโต้เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทย แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นวิธีการรีทอร์ชั่น (Retorsion) ดังที่ได้อธิบายไว้ ข้างต้น

Advertisement