การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อ 1. นายเทิดรามเข้าใจว่า การที่สนธิสัญญาได้ผ่านขั้นตอนการลงนามและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีก็ถือได้ว่าสนธิสัญญานั้นได้รับการให้สัตยาบันแล้ว นักศึกษาในฐานะที่ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศมาแล้วจะวินิจฉัยและอธิบายให้ชัดเจนได้หรือไม่ ว่าความเข้าใจของเทิดรามถูกต้องหรือไม่ หรืออย่างไร
ธงคำตอบ
สนธิสัญญาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี ยังไม่ถือว่าสนธิสัญญานั้นได้รับ การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันจะต้องมีรูปแบบโดยการจัดทำเป็นเอกสารโดยรัฐคู่สัญญาเรียกว่า “สัตยาบันสาร” ซึ่งกระทำในนามของประมุขของรัฐหรือรัฐบาล ในสัตยาบันสารจะระบุข้อความในสนธิสัญญาและคำรับรองที่จะ ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น โดยผลของสนธิสัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารระหว่างกัน ในกรณีเป็นสนธิสัญญาทวิภาคี หรือวางไว้ ณ สถานที่กำหนดไวในกรณีเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี
ข้อ 2. นักศึกษาจงอธิบายว่าสมาพันธรัฐหรือ Confederation of State มีลักษณะของการรวมรัฐที่ก่อ ให้เกิดฐานะเป็นรัฐใหม่ขึ้นมาหรือไม่ และสมาพันธรัฐมีลักษณะสำคัญอย่างไร
ธงคำตอบ
สมาพันธรัฐ (Confederation of State) เป็นการรวมกลุ่มระหว่างรัฐหลายรัฐโดยสนธิสัญญา เพื่อวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ร่วมกันบางประการ เช่น การป้องกันทางทหาร การเศรษฐกิจการค้า เป็นต้น มีลักษณะการรวมคล้ายกับสมาคมของรัฐ โดยไม่ก่อให้เกิดฐานะเป็นรัฐใหม่ขึ้นอีก จะไม่มีรัฐบาลกลาง แต่มีองค์กรกลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประสานงานและดำเนินการบางอย่างตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา
ลักษณะสำคัญของสมาพันธรัฐ มีดังต่อไปนี้
1. รัฐที่เข้ามารวมเป็นสมาพันธรัฐยังคงมีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ สามารถติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้ สามารถที่จะรับส่งผู้แทนทางการทูตได้ เพียงแต่มอบกิจการบางอย่างตามที่ได้ ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาเท่านั้นที่ให้สมาพันธรัฐดำเนินการแทน
2. รัฐที่เข้ามารวมเป็นสมาพันธรัฐเกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญา ซึ่งจะ กำหนดจุดประสงค์และขอบเขตอำนาจขององค์กรกลางของสมาพันธรัฐ แต่รัฐสมาชิกสมาพันธรัฐยังมีอำนาจอิสระ อย่างสมบูรณ์ในกิจการที่ไม่ได้มอบหมายหน้าที่ให้องค์กรกลางกระทำ
3. สมาพันธรัฐไม่มีอำนาจเหนือประชาชนภายในรัฐของสมาชิกสมาพันธรัฐโดยตรง ดังนั้น มติขององค์กรกลางจะใช้บังคับแก่ประชาชนของรัฐสมาชิกได้ ก็ต่อเมื่อรัฐสมาชิกนำมตินั้นมาออกเป็นกฎหมาย ภายในของรัฐตน จึงจะมีผลใช้บังคับได้
4. รัฐสมาชิกสามารถถอนตัวออกจากสมาพันธรัฐได้ ไม่เป็นกบฏ
เห็นได้ว่า กลไกการบริหารงานในรูปสมาพันธรัฐนั้นยากแก่การปฏิบัติ เช่น มติขององค์กรกลาง ต้องเป็นเอกฉันท์ ถ้าผู้แทนของรัฐเพียงรัฐเดียวไม่ยินยอม มตินั้นก็ถือว่าไม่ได้รับการอนุมัติ หรือการให้รัฐสมาชิกสามารถถอนตัวออกจากสมาพันธรัฐได้ เป็นต้น ปัจจุบันการรวมแบบสมาพันธรัฐไม่มีแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาเคยเป็น สมาพันธรัฐ (ค.ศ. 1781 – 1787) ต่อมาเปลี่ยนเป็นรูปของสหรัฐ หรือสมาพันธรัฐเยอรมัน (ค.ศ. 1815 – 1866) ก็กลายเป็นรูปสหรัฐเช่นกัน
ข้อ 3. กรณีการสืบเนื่องข้อผูกพันระหว่างประเทศของรัฐในกรณีที่รัฐเดิมยังคงอยู่จะระงับการใช้กับดินแดน ที่เสียไปหรือแยกตัวออกไปเสมอไปหรือไม่ (ตัวอย่างกรณีติมอร์ตะวันออก แยกตัวออกไปจาก ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น) นักศึกษาจงอธิบายให้ชัดเจนถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศมีการปฏิบัติอย่างไร
ธงคำตอบ
กรณีที่รัฐเดิมยังคงอยู่ตามหลักทั่วไปแล้ว ถือว่าข้อผูกพันหรือสนธิสัญญาที่รัฐทำขึ้นย่อมมีผล ต่อดินแดนที่ได้รับเพิ่มมา และระงับการบังคับใช้ต่อดินแดนที่เสียไปหรือแยกตัวออกไป แต่มีข้อยกเว้น ถ้าเป็น สนธิสัญญาต่อไปนี้ข้อผูกพันจะมีผลสืบเนื่องต่อดินแดนที่เสียไปหรือแยกออกไป
– สนธิสัญญาประเภทกฎหมาย
– สนธิสัญญาที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจและรัฐที่แยกตัวยอมรับ เช่น สนธิสัญญาการค้า สนธิสัญญาการเดินเรือ ฯลฯ
– สนธิสัญญาที่มีลักษณะเป็นพันธะติดกับดินแดนที่แยกตัวไป เช่น สนธิสัญญาเกี่ยวกับ พรมแดน พันธะการเดินเรือ เป็นต้น
ส่วนสนธิสัญญาทางการเมือง เช่น สนธิสัญญาพันธมิตร สนธิสัญญาค้ำประกันเอกราชของรัฐอื่น สนธิสัญญาความเป็นกลาง ย่อมไม่ถือว่ามีผลสืบเนื่องต่อดินแดนที่เสียไปหรือแยกออกไปนั้น
ข้อ 4. นักศึกษาจงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี โดยวิธีการ “เจรจา” และ “Good office” ว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างไร
ธงคำตอบ
การเจรจาเป็นกรณีคู่กรณีที่พิพาทมาดำเนินการเจรจากันโดยตรง เพื่อหาทางระงับข้อพิพาท รัฐคู่กรณีมักจะใช้วิธีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาก่อนวิธีอื่น ๆ เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะและความคิดเห็นในปัญหาที่ เกิดขึ้นโดยการติดต่อด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ถ้าการเจรจาล้มเหลวตกลงกันไม่ได้ รัฐคู่พิพาทอาจจะใช้วิธี อื่นในการยุติข้อพิพาทต่อไป
Good office เป็นการไกล่เกลี่ยลักษณะหนึ่ง ซึ่งจะมีรัฐเป็นกลางโน้มน้าวชักชวนให้คู่กรณีมา พบกัน โดยจะอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้แต่ไม่มีส่วนในการระงับข้อพิพาทอย่างเป็นทางการเป็นเรื่องของคู่กรณี จะดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกันเอง