การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ        1. ข้อสงวนของสนธิสัญญาคืออะไร และมีหลักเกณฑ์ในการตั้งข้อสงวนอย่างไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ข้อสงวนของสนธิสัญญา (Reservation) หมายถึง ข้อความซึ่งรัฐคูสัญญาได้ประกาศออกมาว่า ตนไม่ผูกพันในข้อความหนึ่งข้อความใดในสนธิสัญญา หรือตนเข้าใจความหมายของข้อกำหนดอย่างไร หรือตน รับจะปฏิบัติแต่เพียงบางส่วน

อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า การตั้งข้อสงวน ได้แก คำแถลง ฝ่ายเดียวของรัฐภาคีรัฐหนึ่งรัฐใดของสนธิสัญญาที่ได้ทำขึ้นขณะที่ลงนาม ให้สัตยาบัน ยอมรับ อนุมัติ หรือ ทำภาคยานุวัติสนธิสัญญา โดยคำแถลงนี้แสดงว่าต้องการระงับหรือเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของบทบัญญัติ บางอย่างของสนธิสัญญาในส่วนที่ใช้กับรัฐนั้น

เห็นได้ว่า การตั้งข้อสงวนคือวิธีการที่รัฐภาคีแห่งสนธิสัญญาต้องการหลีกเลี่ยงพันธกรณีตาม สนธิสัญญาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือในหลายเรื่อง เป็นวิธีการจำกัดความผูกพันตามสนธิสัญญาของรัฐ เช่น แจ้งว่าตน จะไม่รับพันธะที่จะปฏิบัติทั้งหมด หรือรับที่จะปฏิบัติบางส่วน หรือว่าตนเข้าใจความหมายของข้อกำหนดนั้นว่าอย่างไร

การตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญานั้น จะกระทำได้เฉพาะในสนธิสัญญาประเภทพหุภาคีเท่านั้นสำหรับสนธิสัญญาประเภททวิภาคีนั้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะการตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญาประเภททวิภาคีนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธการให้สัตยาบันและยื่นข้อเสนอใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อเมื่อคูสัญญายอมรับ ถ้าอีกฝ่ายไมยอมรับ ข้อเสนอสนธิสัญญาย่อมตกไป ดังนั้นสนธิสัญญาประเภททวิภาคีจึงไม่อาจมีข้อสงวนได้

สำหรับการตั้งข้อสงวนของสนธิสัญญานั้น รัฐคูสัญญาไมสามารถดำเนินการได้เสมอไป เพราะ อนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 มาตรา 19 ระบุว่า รัฐคูสัญญาย่อมตั้งข้อสงวนได้ เว้นแต่

1.         สนธิสัญญามีข้อกำหนดห้ามการตั้งข้อสงวนไว้ชัดแจ้ง

2.         สนธิสัญญากำหนดกรณีที่อาจตั้งข้อสงวนได้ นอกเหนือจากกรณีที่กำหนดแล้ว รัฐไม่อาจ ตั้งข้อสงวนได้

3.         ข้อสงวนนั้นขัดต่อวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของสนธิสัญญา

การตั้งข้อสงวนหรือการรับข้อสงวนหรือการคัดค้านการตั้งข้อสงวน ต้องทำเป็นหนังสือและ แจ้งไปให้รัฐคูสัญญาทราบ และการตั้งข้อสงวนนั้น รัฐที่ตั้งข้อสงวนอาจจะขอถอนคืนข้อสงวนของตนได้ เว้นแต่  สนธิสัญญาดังกล่าวได้ระบุห้ามการถอนคืนข้อสงวนไว้

 

ข้อ 2. ที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศในกรณีของจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไป มีลักษณะอย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไมได้บัญญัติไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร มีลักษณะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ หรือยกเลิกได้ โดยการปฏิบัติหรือไม่รับปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ ซึ่งการก่อให้เกิดเป็นจารีตประเพณีที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องประกอบด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ

1.         การปฏิบัติ (ปัจจัยภายนอก) หมายถึง รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติอย่างเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง

และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร      สำหรับระยะเวลานานเท่าใดไม่มีกำหนดแน่นอนแต่ก็คงต้องเป็นระยะเวลายาวนานพอควร และไม่มีประเทศใดคัดค้าน แต่การปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องเป็นการปฏิบัติของรัฐทุกรัฐ ในโลก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติของรัฐกลุ่มหนึ่งก็เพียงพอ

2.         การยอมรับ (ปัจจัยภายใน) หมายถึง การจะเปลี่ยนการปฏิบัติให้เป็นจารีตประเพณี ระหว่างประเทศนั้น จะต้องได้รับการยอมรับการกระทำดังกล่าวจากสมาชิกสังคมระหว่างประเทศ ดือ รัฐหรือ องค์การระหว่างประเทศได้ตกลงยอมรับลักษณะบังคับของการปฏิบัติเช่นนั้นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ (เสมือนเป็นกฎหมาย) แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศไม่จำต้องยอมรับโดยทุกประเทศ

ส่วนหลักกฎหมายทั่วไป เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศ ต่าง ๆ ที่มีความศิวิไลซ์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง

1.         หลักเกณฑ์ทางกฎหมายทั่วไปที่ยอมรับและใช้บังคับอยูในกฎหมายภายในของรัฐ ทั้งหลาย โดยบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายภายในของรัฐต่าง ๆ หรือกฎหมายภายในของประเทศที่มี ความเจริญในทางกฎหมาย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป อันอาจนำมาเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัย คดีได้ เช่น หลักที่ว่าสัญญาจะต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้ทำสัญญา หลักความสุจริตใจ หลักกฎหมายปิดปาก หลักผู้รับโอนไมมีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

2.         หลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐต่าง ๆ ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติโดย ทั่วไป โดยมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น หลักความเสมอภาค เท่าเทียมกันของรัฐไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น

จะเห็นว่าหลักกฎหมายทั่วไปเกิดจากการที่รัฐต่าง ๆ ยอมรับคล้ายกับจารีตประเพณี แต่ยังไม่ถึง ขั้นที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ เพราะไม่ได้เกิดจากการยอมรับปฏิบัติติดต่อกันมาเหมือนจารีตประเพณี แต่เกิดจากการที่สังคมระหว่างประเทศยอมรับเพราะถือว่าชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งจะแตกต่างกับ จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เกิดจากการที่รัฐทั่วไปยอมรับปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ไมว่าเรื่องดังกล่าว จะชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือไมก็ตาม ดังนั้น จารีตประเพณีระหว่างประเทศจึงแตกต่างจากหลักกฎหมาย ทั่วไปในเรื่องของเหตุผลทางกฎหมาย

 

ข้อ 3. จงอธิบายให้ชัดเจนว่า ดินแดนของรัฐประกอบด้วยบริเวณใดบ้าง และดินแดนของรัฐเกี่ยวข้องกับ อำนาจอธิปไตยของรัฐอย่างไร นอกจากนี้การจะเป็นดินแดนชองรัฐจะต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญอย่างไร ให้นักศึกษาอธิบายกรณีของประเทศปาเลสไตน์ ในประเด็นดังกล่าวนี้ให้เข้าใจประกอบด้วย

ธงคำตอบ

ดินแดนของรัฐ คือ บริเวณที่รัฐสามารถมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งดินแดนของรัฐจะสอดคล้องกับเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐ กล่าวคือ รัฐย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและอำนาจ เหนือบุคคลก็เฉพาะในดินแดนของรัฐเท่านั้น

ดินแดนของรัฐจะประกอบไปด้วย

1.         พื้นดิน พื้นดินที่เป็นดินแดนของรัฐย่อมรวมถึงพื้นดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นของเอกชน หรือของรัฐ หรือของชาวต่างประเทศที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐ ดินแดนของรัฐถูกกำหนดโดยเส้นเขตแดน และรวมถึงพื้นที่ใต้พื้นดินด้วย ทั้งนี้ดินแดนที่รวมกันเป็นอาณาเขตของรัฐไมจำเป็นต้องติดต่อกัน อาจจะอยู่ใน ดินแดนของประเทศอื่นก็ได้

2.         พื้นน้ำบางส่วนที่เป็นน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขต น่านน้ำภายใน หมายถึง น่านน้ำ ที่อยู่ถัดจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตเข้ามาทางแผ่นดิน

ทะเลอาณาเขต หมายถึง ส่วนหนึ่งของพื้นน้ำซึ่งอยู่ระหว่างทะเลหลวงกับรัฐ

3.         ห้วงอากาศ เหนือบริเวณต่าง ๆ ดังกล่าว

และการจะเป็นดินแดนของรัฐได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ

1. มีความแน่นอน กล่าวคือ จะต้องสามารถรู้ได้แน่นอนว่าส่วนใดบ้างเป็นดินแดนของรัฐ และจะต้องมีความมั่นคงถาวรด้วย

2. สามารถกำหนดขอบเขตได้ชัดเจน คือ สามารถกำหนดเขตแดนของรัฐได้ชัดเจนนั่นเอง โดยอาจจะใช้เส้นเขตแดนในการกำหนดดังกล่าว ซึ่งดินแดนของรัฐจะเล็กหรือใหญ่ หรือมีอาณาเขตติดต่อกัน หรือไม่ไม่สำคัญ แต่ดินแดนของรัฐจะต้องมีความชัดเจนแน่นอน

กรณีของประเทศปาเลสไตน์ จะมีปัญหาในเรื่องความแน่นอนของดินแดนของรัฐ ซึ่งปาเลสไตน์ ยังไมสามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับประเทศอิสราเอล (ประเทศปาเลสไตน์ เป็นประเทศที่แยกตัวออกมาจากประเทศอิสราเอล)

 

ข้อ 4. จงอธิบายโดยสังเขปว่า กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีมีลักษณะสำคัญ อย่างไร แตกต่างจากการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับทำสงครามในประเด็น สำคัญอย่างไร โดยให้ยกตัวอย่างประกอบการอธิบายในแต่ละกรณี และวิเคราะห์เปรียบเทียบ ให้เห็นความแตกต่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้งด้วย

ธงคำตอบ

การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี เป็นวิธีการแรก ๆ ที่จะถูกนำมาใช้เมื่อมี ข้อพิพาทระหว่างรัฐเกิดขึ้น ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญดังนี้ คือ

1.         จะต้องเกิดความสมัครใจของรัฐคูกรณี มิได้เกิดจากการตัดสินใจดำเนินการของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

2.         จะมีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือในการระงับกรณีพิพาทด้วย โดยฝ่ายที่สามนี้ อาจเพียงแต่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้คูกรณีได้ทำการเจรจาตกลงกัน หรือเข้ามา มีส่วนร่วมในการเจรจาหรือเสนอข้อยุติด้วยก็ได้

ซึ่งการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี อาจจะกระทำได้หลายวิธี เช่น การเจรจา การไกลเกลี่ย การไต่สวน การประนีประนอม ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

ส่วนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับทำสงคราม เป็นวิธีการที่รัฐนำมาใช้ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐขึ้นและไม่สามารถตกลงกันได้โดยสันติวิธี หรือเมื่อรัฐคูกรณีไมต้องการตกลงกัน ซึ่งจะมีลักษณะที่สำคัญ คือ

1.         ไม่ต้องอาศัยความสมัครใจของคู่กรณี กล่าวคือ เป็นการตัดสินใจดำเนินการของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

2.         ไม่มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือในการระงับกรณีพิพาทด้วย

ซึ่งการระงับกรณีพิพาทโดยวิธีที่ยังไม่ถึงขั้นทำสงครามนั้น อาจกระทำโดย การตัดสัมพันธ์ ทางการทูต รีทอร์ชั่น รีไพรซัล การแทรกแซง

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีกับการระงับ กรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับทำสงคราม จึงอยู่ตรงประเด็นสำคัญเรื่อง ความสมัครใจของคู่กรณี และการเข้ามาเกี่ยวข้องของฝ่ายที่สาม ตัวอย่างเช่น การไกล่เกลี่ยเกิดจากความสมัครใจของคู่กรณี และผู้ไกล่เกลี่ย เป็นฝ่ายที่สามเข้ามาช่วยระงับข้อพิพาท แต่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตนั้น เป็นการดำเนินการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงฝ่ายเดียว โดยที่อีกฝ่ายมิได้สมัครใจ และไม่มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องไนการระงับข้อพิพาท เช่น กรณีที่ อังกฤษตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเม็กซิโกในกรณีการเวนคืนบริษัทน้ำมันของอังกฤษ เป็นต้น

Advertisement