การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิซา LAW4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นรัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. รัฐภาคสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสนธิสัญญาสองฝ่าย และถอนตัวจากสนธิสัญญาหลายฝ่ายได้หรือไม่ อย่างไร และจะเกิดผลอย่างไรต่อสนธิสัญญาดังกล่าวนั้น
ธงคำตอบ
ตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา ข้อ 55 นั้น รัฐภาคีสามารถใช้ สิทธิบอกเลิกสนธิสัญญาสองฝ่ายได้ในกรณีที่ได้มีข้อตกลงไว้ในสนธิสัญญาว่า ให้รัฐภาคีสามารถใช้สิทธิบอกเลิก ฝ่ายเดียวได้ แต่ถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ดังนี้ รัฐภาคีก็ยังสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสนธิสัญญาได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศยอมให้คู่กรณี บอกเลิกได้ เช่น เกิดสงครามระหว่างรัฐที่เป็นคู่สัญญา เป็นต้น
สำหรับกรณีสนธิสัญญาหลายฝ่าย รัฐภาคีก็สามารถขอถอนตัวออกจากการเป็นภาคีได้ ถ้าได้ มีการตกลงกันไว้ในสนธิสัญญา แต่ถ้าไม่ได้มีการตกลงกันไว้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐภาคีทุกฝ่ายในสนธิสัญญานั้น
ส่วนผลของการบอกเลิกสนธิสัญญา จะต้องพิจารณาว่าเป็นสนธิสัญญาสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ถ้าเป็นสนธิสัญญาสองฝ่าย การบอกเลิกทำให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลง แต่ถ้าเป็นสนธิสัญญาหลายฝ่ายการบอกเลิก มีผลเพียงการถอนตัวของภาคีที่บอกเลิกจากพันธะของสนธิสัญญาเท่านั้น ไม่ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงแต่อย่างใด ภาคีสนธิสัญญาที่เหลือยังคงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเช่นเดิม
ข้อ 2. สนธิสัญญาจะต้องจดทะเบียนหรือไม่ และหากไม่จดทะเบียนจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 102 กำหนดว่า
“สนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับ ซึ่งสมาชิกใด ๆ แห่งสหประชาชาติได้เข้าเป็นภาคี ภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบันใช้บังคับ จะต้องจดทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักงานนี้
ภาคีโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ เช่นว่าใด ๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ ไม่อาจ ยกเอาสนธิสัญญา หรือความตกลงนั้น ๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ”
ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 102 นั้น ได้บังคับให้สนธิสัญญาทุกฉบับที่รัฐภาคีขององค์การ สหประชาชาติได้ไปจัดทำไว้นั้น จะต้องนำมาจดทะเบียนต่อองค์การสหประชาชาติ ถ้าหากไม่นำไปจดทะเบียนก็ จะไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสนธิสัญญา สนธิสัญญานั้นจะไม่ตกเป็นโมฆะ หรือโมฆียะแต่ประการใด แต่จะเกิดผลเสียก็คือถ้าเกิดมีการละเมิดต่อสนธิสัญญา รัฐหนึ่งรัฐใดจะนำเอาสนธิสัญญาดังกล่าวนั้นมาฟ้องร้อง ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือร้องขอให้องค์การสหประชาชาติบังคับให้ไม่ได้แต่อย่างใด
ข้อ 3. นายรักรามเป็นผู้สนใจในเรื่องข่าวสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ไม่เข้าใจในประเด็น เกี่ยวกับรัฐต่างประเทศที่มีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารปกครองประเทศของตนแทนรัฐบาลเดิมว่า จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่เสมอไปหรือไม่ และมีแนวคิดในการพิจารณาเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลอย่างไรบ้าง นอกจากนี้หากเป็นกรณีที่เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้รับการรับรองจะเกิดผลเสียอย่างไร ท่าน ในฐานะที่ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมาแล้ว จะอธิบายให้นายรักรามเข้าใจอย่างชัดเจนอย่างไร
ธงคำตอบ
ข้าพเจ้าจะอธิบายให้นายรักรามเข้าใจในประเด็นการรับรองรัฐบาลใหม่ ดังนี้คือ
ในกรณีที่รัฐต่างประเทศมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารปกครองประเทศของตนแทนรัฐบาลเดิมนั้น จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่เสมอไปหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1. กรณีไม่จำเป็นต้องรับรอง คือกรณีที่รัฐบาลใหม่ได้ขึ้นมาบริหารประเทศตามกระบวนการ ตามปกติวิสัยหรือตามวิถีทางของกฎหมายภายในของรัฐนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือโดย วิธีการอื่น ๆ ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นต้องรับรองรัฐบาลชุดใหม่นี้ เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องและชอบธรรมแล้ว
2. กรณีที่จะต้องมีการรับรองรัฐบาลใหม่ จะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
(1) กรณีที่รัฐบาลใหม่มิได้ขึ้นมาปกครองประเทศตามวิถีทางของกฎหมาย คือ เป็น กรณีที่มีคณะบุคคลขึ้นครองอำนาจโดยวิธีการที่ผิดแปลกไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งโดยปกติที่ปรากฏให้เห็น อยู่เสมอ คือ การปฏิวัติรัฐประหาร หรือการได้อำนาจโดยการใช้กำลังบังคับ
(2) กรณีที่มีการตั้งรัฐบาลขึ้นมีอำนาจปกครองดินแดนส่วนหนึ่งของรัฐ โดยการ แย่งอำนาจปกครองจากรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐ ทำให้มี 2 รัฐบาลในรัฐเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลที่ตั้งขึ้นใน กรณีดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลโดยพฤตินัย จึงสมควรที่จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐอื่น
การตัดสินใจในการให้การรับรองรัฐบาลใหม่นี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐที่จะให้การรับรองหรือไม่ และอาจจะรับรองโดยมีเงื่อนไขก็ได้ การรับรองรัฐบาลนี้มีผลในลักษณะของการประกาศให้นานาชาติทราบถึง สถานภาพของรัฐบาลที่ได้รับการรับรองเช่นเดียวกับการรับรองรัฐ
สำหรับแนวคิดในการพิจารณาเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลใหม่นี้ มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ
1. ทฤษฎี Tobar เป็นหลักการรับรองรัฐบาลโดยพิจารณาถึงความชอบธรรมของรัฐบาลที่ ขึ้นมามีอำนาจปกครองประเทศว่าเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้เป็นความคิดที่พยายามจะป้องกัน กาวปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยในลาตินอเมริกา ซึ่ง Tobar รัฐมนตรีต่างประเทศเอกวาดอร์ เห็นว่ารัฐไม่ควร รับรองรัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยการปฏิวัติรัฐประหาร เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลใหม่จะทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนชอง รัฐธรรมนูญ โดยได้รับความยินยอมจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งเสียก่อน
ทฤษฎี Tobar ใช้เฉพาะในทวีปอเมริกาเท่านั้น ประเทศในยุโรปไม่ยอมรับนับถือปฏิบัติ โดยหลักการแล้วทฤษฎีดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะการรับรองรัฐบาลใหม่ก็เหมือนกับการรับรองรัฐ ซึ่งเป็นเพียงการยืนยันหรือประกาศสภาพของรัฐบาลที่มีอยู่แล้วเท่านั้น และการปฏิเสธการรับรองรัฐบาลโดยอ้างว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น ดังนั้นทฤษฎี Tobar จึงไม่ได้รับการยึดถือ ปฏิบัติตั้งแต่ปลายมี ค.ศ. 1932 เป็นต้นมา
2. ทฤษฎี Estrada เป็นหลักการรับรองรัฐบาลโดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลนั้น ว่ามีอำนาจอันแท้จริงในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่าง ประเทศได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลมีความสามารถเช่นว่านี้ก็เพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์ได้ โดยมิต้องไป พิจารณาถึงความถูกต้องตามกฎหมายภายในของรัฐบาล เพราะเป็นกิจการภายในของรัฐนั้น รัฐอื่นไม่มีหน้าที่ไป พิจารณา รัฐทุกรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ซึ่งสังคมระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ยึดถือตามทฤษฎี Estrada นี้
และในกรณีที่เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้รับการรับรองจะเกิดผลเสีย ดังนี้คือ
(1) กิจการภายใน เช่น กฎหมาย การกระทำของฝ่ายปกครอง คำพิพากษาของศาล หรือ กิจการภายนอก เช่น ข้อตกลง สนธิสัญญา ที่รัฐบาลได้ไปทำไว้ อาจจะไม่สมบูรณ์ในสายตาของรัฐที่ไม่ได้ให้การรับรอง
(2) ประเทศที่ไม่ได้ให้การรับรองอาจจะไม่ทำการติดต่อสัมพันธ์ด้วย
(3) สิทธิในทางศาล อาจถูกปฏิเสธในรัฐที่ไม่ได้ให้การรับรอง
(4) สิทธิในทรัพย์สมบัติในประเทศที่ไม่ได้ให้การรับรองอาจถูกปฏิเสธ หรืออาจถูกปฏิเสธ สิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สมบัติในประเทศที่ไม่ได้ให้การรับรอง
ข้อ 4. จงอธิบายวิธีการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่เรียกว่า “การไกล่เกลี่ย” (Mediation) ว่ามีลักษณะของการดำเนินการอย่างไร และหากเปรียบเทียบวิธีการไกล่เกลี่ยกับวิธีการที่เรียกว่า “Good Office” และ “การเจรจา” (Negotiation) จะมีข้อแตกต่างหรือคล้ายกันในสาระสำคัญอย่างไร
ธงคำตอบ
การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่เรียกว่า “การไกล่เกลี่ย” (Mediation) เป็นกรณีที่รัฐที่สามหรือบุคคลที่สามเป็นผู้ติดต่อให้คู่กรณีมีการเจรจากัน และตนก็เข้าร่วมในการเจรจาด้วย รวมทั้งสามารถ เสนอแนวทางในการยุติข้อพิพาทให้คู่กรณีพิจารณาได้ด้วย แต่ไม่ผูกพันรัฐคู่พิพาท ซึ่งอาจจะยอมรับแนวทาง การไกล่เกลี่ยนั้นหรือไม่ก็ได้ เพราะกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความสมัครใจของทุกฝ่าย
การไกล่เกลี่ยรูปนี้มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
1. ผู้เสนอตัวหรือผู้รับการไกล่เกลี่ยเป็นไปด้วยความสมัครใจ
2. ข้อเสนอการไกล่เกลี่ยรัฐคู่พิพาทอาจจะรับหรือไม่ก็ได้
ส่วน “Good Offices” เป็นกรณีที่รัฐที่สามหรือบุคคลที่สามเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ คู่กรณีทำการเจรจากันโดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นกรณีที่รัฐที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะตัวกลางเพื่อโน้มน้าว ชักจูง ประสานให้คู่กรณีมาพบกัน เพื่อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างกัน โดยตนไม่ได้เข้าไปมีสวนร่วมในการเจรจา หรือเสนอข้อยุติแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกจัดให้มีการเจรจากันเท่านั้น เช่น จัดสถานที่เจรจาให้ เป็นต้น
การไกล่เกลี่ย (Mediation) กับ Good Offices ต่างกันตรงที่รัฐที่ทำหน้าที่ Good Offices จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการระงับข้อพิพาทเช่นรัฐที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและการระงับกรณีพิพาทด้วยวิธี “การเจรจา” (Negotiation) เป็นกรณีที่คู่กรณีตกลง ที่จะมาเจรจากันเองโดยตรง ไม่มีรัฐที่สาม หรือบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งจะแตกต่างกับวิธีการ ไกล่เกลี่ย และ Good Offices