การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

ข้อ 1. จงอธิบายถึงอำนาจในการให้สัตยาบันสนธิสัญญาของรัฐว่าแบ่งเป็นอำนาจของฝ่ายใดบ้าง   และอำนาจในการให้สัตยาบันของประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม (ฉบับ พ.ศ. 2540 มาตรา 224) เป็นอำนาจของฝ่ายใดบ้าง

Advertisement

ธงคำตอบ

อำนาจในการให้สัตยาบันสนธิสัญญา แบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ

1.         เป็นของฝ่ายบริหารแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในระบบการปกครองแบบเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์

2.         เป็นของฝ่ายนิติบัญญัติแต่ฝ่ายเดียว

3.         เป็นการแบ่งบันกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญอาจมอบ อำนาจให้ประมุขของรัฐให้สัตยาบันสนธิสัญญาบางชนิดไปได้เลย แต่ถ้าเป็นสนธิสัญญาที่ มีความสำคัญมาก หรือจะต้องออกกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาก็จะต้อง ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะให้สัตยาบัน

จากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อำนาจในการให้สัตยาบันของไทยจัดอยู่ในรูปแบบที่ 3 คือ การแบ่งปันอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยวรรคแรกของมาตรา 224 บัญญัติหลักทั่วไปว่าเป็นอำนาจ ของฝ่ายบริหาร ส่วนในวรรคหลังได้บังคับไว้ว่าถ้าสนธิสัญญานั้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขต อำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน

 

ข้อ 2. อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาได้กำหนดไว้ว่า กรณีใดบ้างที่รัฐไม่สามารถ ตั้งข้อสงวนได้ จงอธิบาย

ธงคำตอบ

อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มาตรา 19 ได้กำหนดไว้ว่า รัฐคู่สัญญา ย่อมตั้งข้อสงวนได้ เว้นแต่

1.         สนธิสัญญาฉบับนั้นห้ามไว้

2.         สนธิสัญญาได้กำหนดกรณีที่จะตั้งข้อสงวนได้

3.         ข้อสงวนขัดต่อวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของสนธิสัญญา

 

ข้อ 3. จงอธิบายให้ชัดเจนว่า การได้ดินแดนของรัฐตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศโดยวิธีการ ครอบครองดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ และการครอบครองโดยปรปักษ์ มีลักษณะสำคัญอย่างไรบ้าง และมีความแตกต่างกันอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

การได้ดินแดนโดยการครอบครองดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ คือการเข้าครอบครองดินแดนที่ยังไม่ ได้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใด หรืออาจเคยอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐมาก่อน แต่รัฐนั้นได้ทอดทิ้งไปแล้ว และต้องครอบครองในนามของรัฐ เอกชนที่เข้าครอบครองไม่มีสิทธิที่จะอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นได้

การครอบครองดินแดนโดยปรปักษ์ เป็นวิธีการที่รัฐเข้าครอบครองและใช้อำนาจอธิปไตยเหนือ ดินแดนนั้นเป็นระยะเวลานาน โดยดินแดนนั้นเป็นหรือเคยเป็นของรัฐอื่นมาก่อน และรัฐที่เข้ามาครอบครองภายหลัง โดยรัฐเดิมไม่ได้คัดค้าน และรัฐอื่นมิได้โต้แย้ง การครอบครองปรปักษ์เป็นหลักการทำนองเดียวกับกฎหมายภายใน แต่ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้อย่างชัดเจน แต่โดยปกติรัฐก็จะต้องครอบครองดินแดนนั้นเป็นเวลานาน

 

ข้อ 4. จงอธิบายว่ากรณีพิพาทระหว่างประเทศสามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง และกระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศในแต่ละประเภท รัฐอาจดำเนินการระงับกรณีพิพาท ระหว่างประเทศโดยสันติวิธีได้โดยวิธีใดบ้าง ซึ่งมักจะนำมาใช้ในการแก้ไขข้อพิพาทในแต่ละประเภท ดังกล่าว

ธงคำตอบ

ข้อพิพาทระหว่างประเทศ แยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.         ข้อพิพาททางกฎหมาย หมายถึง ข้อขัดแย้งซึ่งคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการ บังคับใช้ หรือตีความในกฎหมายที่ใช้อยู่

2.         ข้อพิพาททางการเมือง หมายถึง ข้อพิพาทซึ่งคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้แก้ไขสิทธิหรือ กฎหมายที่ใช้กันอยู่

การระงับข้อพิพาททางกฎหมาย รัฐมักจะแก้ไขโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ศาลอนุญาโตตุลาการ หรือศาล ส่วนการระงับข้อพิพาททางการเมืองนั้น คู่พิพาทมักจะใช้วิธีการทางการทูต เช่น การเจรจาไกล่เกลี่ย หรือประนีประนอม เป็นต้น

Advertisement