การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายถึงขั้นตอนการจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาและภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 178
ธงคําตอบ
การจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอน การจัดทําดังนี้ คือ
1 การเจรจา
2 การลงนาม
3 การให้สัตยาบัน
4 การจดทะเบียน
1 การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทําสนธิสัญญาเพื่อกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทําสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอํานาจในการเจรจาเพื่อทําสนธิสัญญาจะถูกกําหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละ ประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอํานาจใน การเจรจาอาจจะไม่ทําการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอํานาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทําการเจรจาแทน แต่ต้องทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนํามามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย
การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทําความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
2 การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกําหนดข้อความเด็ดขาดใน สนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทําเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว
การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้อง มีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์
3 การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการจัดทํา สัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทําในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคํารับรองที่จะปฏิบัติตาม ข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น
4 การจดทะเบียน เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนําสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นําไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน
สําหรับการจัดทําสนวิสัญญาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 178 นั้น โดยหลักแล้ว เป็นอํานาจของฝ่ายบริหารในการที่จะจัดทําสนธิสัญญาและสามารถที่จะให้สัตยาบันได้เอง (มาตรา 178 วรรคหนึ่ง)
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นสนธิสัญญาที่เข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 178 วรรคสอง ก่อนการให้สัตยาบัน ฝ่ายบริหารจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ฝ่ายบริหารจึงจะสามารถให้สัตยาบันได้ ซึ่งสนธิสัญญาที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 178 วรรคสอง ได้แก่
1 สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ
2 สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ
3 สนธิสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือ
4 สนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่าง กว้างขวาง เช่น สนธิสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
ข้อ 2 เหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญาในกรณิการสําคัญผิดตามมาตรา 48 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาจะต้องมีองค์ประกอบที่สําคัญอย่างไร ในคดีปราสาทพระวิหารประเทศไทยได้ยกหลักสําคัญผิดขึ้นมากล่าวอ้างในส่วนของตัวแผนที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีความเห็นเป็นอย่างไรในข้อกล่าวอ้างของไทย
ธงคําตอบ
ตามมาตรา 48 ของอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ได้บัญญัติไว้ว่า
“ข้อ 1 รัฐภาคีอาจจะยกเหตุเรื่องสําคัญผิด หรือการผิดพลาดในสนธิสัญญาขึ้นกล่าวอ้างว่า การแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาของรัฐนั้นไม่สมบูรณ์ หากการผิดพลาดนั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง หรือสถานการณ์ ซึ่งรัฐภาคีดังกล่าวนั้นสําคัญว่ามีอยู่จริงในขณะที่มีการทําสนธิสัญญา และข้อเท็จจริงนั้นเป็นส่วนที่เป็นสาระสําคัญ พื้นฐานที่ทําให้รัฐภาคีนั้นแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญา
ข้อ 2 ข้อความตามวรรคหนึ่งข้างต้นไม่นํามาปรับใช้หากรัฐดังกล่าวมีส่วนในการทําให้เกิด ความผิดพลาดนั้น ทั้งนี้เกิดจากการปฏิบัติของรัฐนั้น ๆ เอง หรือภายใต้สถานการณ์แวดล้อม เช่นนั้นรัฐดังกล่าว น่าจะรู้ถึงความผิดพลาดนั้น และสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้แต่ไม่ได้กระทํา”
ตามมาตรา 48 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ได้บัญญัติถึงเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ ของสนธิสัญญา ในกรณีของการสําคัญผิดที่รัฐผู้เสียหายสามารถยกขึ้นมากล่าวอ้างได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบ ที่สําคัญ ดังนี้ คือ
1 เหตุแห่งการสําคัญผิดนั้นจะต้องเป็นการสําคัญผิดในข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ ซึ่งรัฐภาคีนั้นสําคัญว่ามีอยู่จริงในขณะที่มีการทําสนธิสัญญา
2 ข้อเท็จจริงนั้นจะต้องเป็นส่วนที่เป็นสาระสําคัญพื้นฐานที่ทําให้รัฐภาคีนั้นแสดงเจตนา ผูกพันตามสนธิสัญญา
3 รัฐภาคีผู้เสียหายจะต้องไม่มีส่วนในการทําให้เกิดความสําคัญผิดหรือความผิดพลาดนั้น
สําหรับในคดีปราสาทพระวิหารนั้น ประเทศไทยได้โต้แย้งเกี่ยวกับพยานเอกสารคือตัวแผนที่ว่า เหตุที่ไทยไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับแผนที่ในตอนที่ได้รับมาจากฝรั่งเศสนั้นเป็นเพราะไทยสําคัญผิดไปว่าแผนที่นั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศชี้ว่าไทยไม่สามารถอ้างเหตุสําคัญผิดดังกล่าวได้ เพราะไทยมีส่วนในการก่อให้เกิด เหตุสําคัญผิดด้วย เพราะการนิ่งเฉยไม่โต้แย้งของไทยทําให้ฝรั่งเศสสําคัญผิดไปด้วยว่าแผนที่นั้นถูกต้องแล้ว
ข้อ 3 จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 1 บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ ให้นักศึกษาอธิบายให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะต้องมีลักษณะอย่างไร และมีหลักเกณฑ์ใดของกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวข้องบ้าง
ธงคําตอบ
รูปแบบของรัฐตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ อาจแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ รัฐเดี่ยว และรัฐรวม
1 รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐซึ่งมีการปกครองเป็นเอกภาพไม่ได้แบ่งแยกออกจากกัน โดยมี รัฐบาลกลางปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว แม้จะมีการกระจายอํานาจปกครองให้แก่ท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ใน ความควบคุมของรัฐบาลกลาง มีประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และมีองค์กรนิติบัญญัติเพียงองค์กรเดียว
ตัวอย่างของรัฐเดี่ยว ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม อิตาลี และไทย เป็นต้น
2 รัฐรวม หมายถึง รัฐหลายรัฐมารวมกันโดยเหตุการณ์หรือผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐรวมระหว่างหลายรัฐดังกล่าวอาจจะเป็นรัฐรวมแบบสมาพันธรัฐ หรือแบบสหพันธรัฐก็ได้
สําหรับรัฐรวมแบบสหพันธรัฐหรือสหรัฐ เป็นการรวมกันของรัฐหลายรัฐในลักษณะที่ ก่อให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว ซึ่งรัฐเดิมที่เข้ามารวมนี้จะสูญสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป โดยยอมสละอํานาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่รัฐบาลกลางของสหพันธรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการภายนอก เช่น อํานาจในการป้องกันประเทศ อํานาจในการติดต่อกับต่างประเทศ ส่วนกิจการภายในรัฐสมาชิกยังคงมีอิสระเช่นเดิม
ลักษณะสําคัญของสหพันธรัฐ มีดังต่อไปนี้
1 การรวมในรูปสหพันธรัฐไม่ใช่การรวมแบบสมาคมระหว่างรัฐ แต่เป็นการรวมที่ก่อให้เกิด รัฐใหม่ขึ้นมารัฐเดียว และจะมีรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครอง กําหนดหน้าที่ ของรัฐบาลกลางและหน้าที่ของรัฐสมาชิก
2 รัฐที่มารวมจะหมดสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไป ซึ่งรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศเพียงรัฐเดียว
3 อํานาจการติดต่อภายนอก เช่น การทําสนธิสัญญา การรับส่งผู้แทนทางการทูต การป้องกันประเทศ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางแต่ผู้เดียว แต่รัฐสมาชิกก็ยังมีอํานาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ในกิจการภายในของตนเอง แต่รัฐธรรมนูญของมลรัฐจะขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐไม่ได้
4 มลรัฐมีส่วนในการบริหารงานของสหพันธรัฐ โดยสภาสูงจะประกอบด้วยผู้แทนของ แต่ละมลรัฐ
5 ในกรณีที่มลรัฐไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่างประเทศ สหพันธรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ผู้เดียว
สหพันธรัฐอาจจะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดจากหลายรัฐมารวมกันในรูปของสหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ หรือเกิดการเปลี่ยนรูปจากรัฐเดี่ยวมาเป็นสหพันธรัฐ เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น โดยปกติแล้วรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐจะไม่สามารถถอนตัวออกไปได้ เว้นแต่จะกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ของสหพันธรัฐให้รัฐสมาชิกถอนตัวออกได้
ในปัจจุบันมีรัฐเป็นจํานวนมากที่มีรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และมาเลเซีย เป็นต้น
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็น ราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้” นั้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีรูปแบบของรัฐ เป็นลักษณะของรัฐเดี่ยว ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกการปกครองออกจากกันได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร ที่ยังคงใช้ระบบกษัตริย์ และกําหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นผู้ใช้อํานาจสูงสุดแห่งรัฐที่เรียกว่า อํานาจอธิปไตย โดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้บริหารปกครองประเทศเพียงรัฐบาลเดียว
ข้อ 4 จงอธิบายว่าการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่า Retorsion และ Reprisal มีลักษณะของการดําเนินการอย่างไร และมีข้อแตกต่างกันอย่างไรหรือไม่ และยกตัวอย่างประกอบด้วย
ธงคําตอบ
การระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีการที่เรียกว่า รีทอร์ชั่น (Retorsion) และรีไพรซัล (Reprisals) ต่างก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยวิธีที่ไม่ถึงกับทําสงคราม เพียงแต่จะมีลักษณะที่ แตกต่างกัน ดังนี้คือ
รีทอร์ชั่น (Retorsion) เป็นการกระทําที่รัฐหนึ่งกระทําตอบแทนการกระทําที่ไม่เป็นมิตร ไม่ยุติธรรม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนของรัฐอื่น ซึ่งการกระทําดังกล่าวนั้นไม่ต้องห้ามตามกฎหมายระหว่าง ประเทศ ซึ่งโดยปกติจะเป็นการตอบโต้ทางเศรษฐกิจการคลัง โดยมีเจตนาจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น โดยไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่มักจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับภาษีศุลกากร เช่น การขึ้นอัตราอากรขาเข้า หรือตัดโควตาปริมาณสินค้าเข้าของประเทศที่กระทําต่อตน หรือการลดค่าเงินตรา จํากัดโควตาคนเข้าเมืองของ พลเมืองของประเทศนั้น หรือการไม่ให้เรือของรัฐนั้นเข้ามาในท่า ซึ่งโดยหลักการแล้วรัฐจะใช้วิธีรีทอร์ชั่นก็ต่อเมื่อ รัฐบาลไม่พอใจในการกระทําของรัฐนั้น และวิธีการใช้รีทอร์ชั่นกระทําต่อรัฐอื่นนั้น อาจจะเป็นแบบเดียวกันกับที่ รัฐนั้นถูกกระทําหรือจะเป็นแบบอื่นก็ได้
รีโพรซัล (Reprisals) เป็นมาตรการตอบโต้การกระทําอันละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ของอีกรัฐหนึ่ง เพื่อให้รัฐนั้นเคารพในสิทธิของตนและรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการตอบโต้นั้น เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แต่เป็นการกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ดังนั้นรัฐที่เสียหายจากการถูกละเมิดจากรัฐอื่น ควรหาทางให้รัฐที่ละเมิดชดใช้ก่อน ถ้าไม่เป็นผล ค่อยนํามาตรการนี้มาใช้ โดยมีเงื่อนไขคือ
1 การกระทํานั้นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
2 ไม่สามารถตกลงโดยวิธีอื่น
3 รัฐที่เสียหายต้องเรียกร้องค่าทดแทนก่อน
4 มาตรการตอบโต้ต้องแบบสมเหตุผลกับความเสียหายที่ได้รับ
การตอบโต้อาจทําในรูปเดียวกันกับที่ถูกกระทําหรือรูปแบบอื่นก็ได้ โดยอาจกระทําต่อบุคคล หรือทรัพย์สินก็ได้ ซึ่งการตอบโต้นั้นจะต้องตอบโต้ต่อรัฐที่ทําผิดและต้องทําโดยองค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ที่ ปฏิบัติตามคําสั่งของรัฐ