การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เช่าบ้านจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 20,000.- บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 มีกำหนด 3 ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าไปยังจำเลย โดยหนังสือลงทะเบียนตอบรับทางไปรษณีย์ให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านที่เช่าภายในกำหนด 1 เดือน ครั้นเมื่อครบกำหนดตามหนังสือแล้ว จำเลยและบริวารก็ยังไม่ยอมออกจากบ้านที่เช่า โจทก์จึงฟ้องศาลให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเช่าพร้อมกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 25,000.- บาท ตั้งแต่วันครบกำหนดตามสัญญาเช่าจนกว่าจำเลยและบริวารจะยอมออกจากบ้านที่เช่าจำเลยได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นทนายความเพื่อต่อสู้คดีโดยมีข้อต่อสู้ดังนี้
1. จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า จำเลยได้เช่าบ้านพิพาทจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าและตามระยะเวลาที่เช่าดังกล่าวจริง แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าบ้านพิพาทต่อไปในอัตราค่าเช่าเดิมโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่า
2. จำเลยขอปฏิเสธว่า ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกการเช่าจากโจทก์แต่ประการใด
3. จำเลยขอต่อสู้ว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเดือนละ 25,000.- บาทนั้น เกินความจริง ความเสียหายของโจทก์หากจะมีก็ไม่เกินเดือนละ 20,000.- บาทเท่าอัตราค่าเช่าตามฟ้อง
ดังนั้น ให้ท่านในฐานะทนายความของจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีตามความประสงค์ของจำเลย (ให้ร่างแต่ใจความในคำให้การ โดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบฟอร์มศาล)
แนวคำตอบ
ตัวอย่างคำให้การ
ข้อ 1. จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า จำเลยได้เช่าบ้านพิพาทจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าและตามระยะเวลาที่เช่าดังกล่าวจริง แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าบ้านพิพาทต่อไปในอัตราค่าเช่าเดิมโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่า
ข้อ 2. จำเลยขอปฏิเสธว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกการเช่าจากโจทก์แต่ประการใด
ข้อ 3. จำเลยขอต่อสู้ว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเดือนละ 25,000.- บาทนั้นเกินความจริง ความเสียหายของโจทก์จะมีก็ไม่เกินเดือนละ 20,000.- บาทเท่าอัตราค่าเช่าตามฟ้อง
อาศัยเหตุผลดังกล่าว ขอศาลได้โปรดพิพากษายกฟ้องของโจทก์ โดยให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ก. ทนายจำเลย
คำให้การฉบับนี้ ข้าพเจ้า นาย ก ทนายจำเลยเป็นผู้เรียงพิมพ์
ลงชื่อ ก. ผู้เรียงพิมพ์
ข้อ 2. ในคดีพิพาทเกี่ยวกับหุ้นส่วนในบริษัทแห่งหนึ่งระหว่าง นายจิต จิ๋วแจ๋ว ประธานบริษัท ซึ่งเป็นโจทก์ กับ นายยักษ์ ใหญ่มาก กรรมการบริษัทซึ่งเป็นจำเลย ศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 ตุลาคม 2551 เวลา 9.00 น. ในวันพิจารณาดังกล่าวปรากฏว่า ตัวโจทก์ซึ่งเป็นพยานปากแรกและเป็นพยานสำคัญในประเด็นแห่งคดีที่จะต้องเบิกความก่อนพยานโจทก์ปากอื่นไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นประธานบริษัทได้เดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศและมีกำหนดเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 แต่ปรากฏว่าพนักงานประจำท่าอากาศยานในประเทศที่โจทก์ไปร่วมประชุมได้ประท้วงหยุดงานเพื่อขอขึ้นเงินเดือน ทำให้ทุกสายการบินไม่สามารถทำการบินได้ ซึ่งถึงขณะนี้การประท้วงหยุดงานก็ยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้โจทก์ยังคงต้องอยู่ที่ประเทศนั้นต่อไปจนกว่าพนักงานจะกลับมาทำงานตามเดิม ทั้งนี้ โจทก์มีหลักฐานเป็นภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยที่ได้ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดและมีหนังสือซึ่งโจทก์เขียนด้วยลายมือตัวเองส่งจากต่างประเทศมาให้ทนายโจทก์ทางโทรสาร
ดังนั้น ให้ท่านในฐานะทนายโจทก์ ร่างคำร้องขอเลื่อนคดีโดยยื่นต่อศาลในวันพิจารณา (ให้ร่างแต่ใจความในคำร้อง โดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)
แนวคำตอบ
ตัวอย่างคำให้การ
ข้อ 1. คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ดังความแจ้งแล้วนั้น
ข้อ 2. เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นพยานปากแรก และเป็นพยานสำคัญในประเด็นแห่งคดีที่จะต้องเบิกความก่อนพยานโจทก์ปากอื่นไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นประธานบริษัทได้เดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศและมีกำหนดเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 แต่ปรากฏว่าพนักงานประจำท่าอากาศยานในประเทศที่โจทก์ไปร่วมประชุมได้ประท้วงหยุดงานเพื่อขอขึ้นเงินเดือน ทำให้ทุกสายการบินไม่สามารถทำการบินได้ ซึ่งถึงขณะนี้การประท้วงหยุดงานก็ยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้โจทก์ยังคงต้องอยู่ที่ประเทศนั้นต่อไปจนกว่าพนักงานจะกลับมาทำงานตามเดิม ทั้งนี้ โจทก์มีหลักฐานเป็นภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดและหนังสือซึ่งโจทก์เขียนด้วยลายมือตัวเองส่งจากต่างประเทศมาให้ทนายโจทก์ทางโทรสาร รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 และ 2
อาศัยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงขอความกรุณาจากศาลขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปอีกนัดหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ก. ทนายจำเลย
คำให้การฉบับนี้ ข้าพเจ้า นาย ก ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ก. ผู้เรียงและพิมพ์
ข้อ 3. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกา นายสมัครกับนายดุสิตได้พากันไปที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 10 ของถนนสาย 3112 ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านบริเวณดังกล่าวนำรถจักรยานยนต์มาจอดเพื่อหนีน้ำท่วม เมื่อไปถึงบริเวณดังกล่าวนายสมัครกับนายดุสิตได้ช่วยกันตัดโซ่ที่คล้องรถจักรยานยนต์ของนายสมชาย ราคา 25,000 บาท ที่จอดในบริเวณดังกล่าวแล้วสตาร์ทเครื่องยนต์ขับออกไป นายสมชายได้ยินเสียงเครื่องยนต์จึงเดินไปดู เห็นว่ารถจักรยานยนต์ของตนถูกลักเอาไป จึงร้องเรียกให้คนช่วยกันจับตัวนายสมัครกับนายดุสิต พอดีมีสิบตำรวจตรีชวลิตกับพวกซึ่งเป็นตำรวจสายตรวจขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จึงได้ขับตามไปในทันทีและสามารถจับตัวนายสมัครได้ ส่วนนายดุสิตกระโดดรถลงไปในบริเวณที่น้ำท่วมหลบหนีไปได้ สิบตำรวจตรีชวลิตกับพวกจึงนำตัวนายสมัคร พร้อมยึดรถจักรยานยนต์ของนายสมชายที่ถูกลักเอาไปเป็นของกลาง นำส่ง ร.ต.อ.เฉลิม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าโมกเพื่อทำการสอบสวนต่อไป ชั้นสอบสวนนายสมัครให้การรับสารภาพ รถจักรยานยนต์ของกลางพนักงานสอบสวนคืนแก่นายสมชายไป ระหว่างสอบสวนนายสมัครถูกควบคุมตัวตลอดมา โดยต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลจังหวัดอ่างทอง ในคดีหมายเลขดำที่ ฝ.423/2551 เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จจึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดอ่างทอง
สมมติว่านักศึกษาเป็นอัยการจังหวัดอ่างทองผู้รับผิดชอบคดีนี้ ได้สั่งฟ้องนายสมัครในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ให้นักศึกษาเรียงคำฟ้องเฉพาะเนื้อหาคำฟ้องเท่านั้น
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่…………………….
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วม
กระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ……………………………..
แนวคำตอบ
ถ้าข้าพเจ้าเป็นพนักงานอัยการจังหวัดอ่างทอง ข้าพเจ้าจะเรียกคำฟ้องดังต่อไปนี้
ข้อ 1.เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยนี้กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหนึ่งคน ได้บังอาจร่วมกันตัดโซ่ที่คล้องรถจักรยานยนต์อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์นั้น แล้วลักเอารถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน ราคา 25,000 บาท ของนายสมชาย ผู้เสียหาย ซึ่งจอดในที่หรือบริเวณที่มีเหตุอุทกภัย ไปโดยทุจริต
เหตุเกิดที่ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
ข้อ 2. ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ภายหลังจากที่จำเลยกับพวกลักเอารถจักรยานยนต์ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ไปแล้ว เจ้าพนักงานจับจำเลยนี้ได้นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน
ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ
รถจักรยานยนต์ของกลางพนักงานสอบสวนคืนแก่ผู้เสียหายไปแล้ว
ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวมาตลอด ตามหมายขังของศาลนี้ ในคดีหมายเลขดำที่ ฝ.423/2551 ขอศาลเบิกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ข้อ 4. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 นายเทียนชัย สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสดสวย ได้ตกลงว่าจ้างนายยุติธรรม ทนายความ ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับนางสดสวย ในข้อหาหรือฐานความผิด หย่า แบ่งสินสมรส นายเทียนชัยได้ชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องและดำเนินคดีเบื้องต้นเป็นเงิน 200,000 บาท ส่วนค่าทนายความที่เหลือนายเทียนชัยตกลงให้นายยุติธรรม เรียกจากส่วนแบ่งของทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ในอัตราร้อยละ 10 ของทรัพย์สินที่ได้รับจากการแบ่งสินสมรส นายยุติธรรม จึงตกลงทำสัญญาจ้างว่าความและรับทำคดีให้แก่นายเทียนชัย ต่อมาคดีเสร็จสิ้น นายเทียนชัยได้รับส่วนแบ่งสินสมรสในคดีดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท นายยุติธรรมจึงทวงถามค่าทนายความส่วนที่เหลือจากนายเทียนชัย ตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่นายเทียนชัย ไม่ยอมชำระค่าทนายในส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 10 ของทรัพย์สินที่ได้รับจากการแบ่งสินสมรส ซึ่งเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่นายยุติธรรม นายยุติธรรมจึงฟ้องนายเทียนชัยในข้อหาหรือฐานความผิด ผิดสัญญาจ้างว่าความ
ให้ท่านวินิจฉัยว่า การที่นายยุติธรรม ทนายความ ได้ตกลงทำสัญญาจ้างว่าความกับนายเทียนชัย โดยเรียกเอาส่วนแบ่งของทรัพย์สินที่ได้รับจากการแบ่งสินสมรสนั้น เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ในหมวด 3 มรรยาทต่อตัวความหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
แนวคำตอบ
ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวด 3 มรรยาทต่อตัวความ ข้อ 9 ถึง ข้อ 15
ข้อ 9 กระทำการอันใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกัน ในกรณีอันหามูลมิได้
ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง
(1) หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
(2) อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
(3) อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใด อัน
กระทำให้เขาหลงว่า ตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษ
นอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้น
ช่วยเหลือคดีในทางใด ๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าให้ตนว่าคดีนั้นแล้ว
จะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้
ข้อ 11 เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล
ข้อ 12 การกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ
(1) จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี
(2) จงใจละเว้นหน้าที่ ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ
ข้อ 13 ได้รับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่ง แล้วภายหลังไปรับเป็นทนายหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ในกรณีเดียวกัน
ข้อ 14 ได้รับเป็นทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้
ข้อ 15 กระทำการอันใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครองหรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุโดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร
เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวดที่ 3 แล้วเห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความและตกลงเรียกค่าจ้างว่าความโดยวิธีเอาส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันพึงได้แก่ลูกความ เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่นายยุติธรรม ทนายความ ได้ตกลงทำสัญญาจ้างว่าความกับนายเทียนชัยดังกล่าวข้างต้น จึงไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวดที่ 3 แต่อย่างใด (เทียบได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1260/2543 (ประชุมใหญ่) ที่ 5229/2544 และที่ 6919/2544