การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4002  การว่าความ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2551 นายเกษมได้กู้เงินไปจากนายสมัยเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท โดยนายเกษมยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มีกำหนดใช้คืนภายใน 1 ปี นายเกษม ได้รับเงินจำนวนที่กู้ไปเป็นการถูกต้องแล้ว และนายเกษมได้ทำสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐานในวัน ดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาแล้ว นายเกษมก็ไมยอมชำระหนี้ เงินกู้จำนวนดังกล่าวคืนให้แกนายสมัย อีกทั้งไม่เคยชำระดอกเบี้ยมาตั้งแต่ต้น นายสมัยได้ ทวงถามแล้ว แต่นายเกษมก็เพิกเฉย นายสมัยจึงได้มอบหมายให้ท่านเป็นทนายความฟ้องนายเกษม เพื่อเรียกเงินต้นคืน พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เป็นเงิน 60,000 บาท

ฉะนั้น ให้ท่านในฐานะทนายความของนายสมัยผู้ให้กู้ ร่างคำฟ้องให้ตามความประสงค์ของตัวความ (ให้ร่างแต่ใจความในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)

ธงคำตอบ

คำฟ้อง

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2551 จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์เป็นจำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดให้ใช้คืนภายใน 1 ปี จำเลยได้รับ เงินจำนวนที่กู้ไปเป็นการถูกต้องแล้วและได้ทำสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐานในวันดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตาม ภาพถ่ายสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2551 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

ข้อ 2. เมื่อครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้ จำนวนดังกล่าวคืนแกโจทก์ อีกทังยังไมเคยชำระดอกเบี้ยมาตั้งแต่ต้น โจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลย เพิกเฉยเสีย โจทก์จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งได้โปรดบังคับชำระหนี้ให้กับโจทก์ต่อไป ทั้งนี้จำเลยได้ค้างเงินต้น จำนวน 400,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เป็นจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 60,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้กับโจทก์ทั้งสิ้น 460,000 บาท (สี่แสนหกหมื่นบาทถ้วน)

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ…..(ลายมือชื่อนักศึกษา)……ทนายโจทก์

คำฟ้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ระบุชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนักศึกษา)……ผู้เรียงและพิมพ์

คำขอท้ายฟ้อง

1.         ให้จำเลยใช้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 460,000 บาท (สี่แสน หกหมื่นบาทถ้วน) แกโจทก์

2.         ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นจำนวน 400,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะใช้เงินทั้งหมดแก่โจทก์

3.         ให้จำเลยซดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นจากจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนในบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท จำเลยได้รับหมายเรียกของศาลและสำเนาคำฟ้องของโจทก์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 และครบกำหนดที่จำเลยจะต้องยื่นคำให้การต่อศาลในวันที่ 25 กันยายน 2552 แต่จำเลยเพิ่งมาติดต่อให้นายสมบูรณ์เป็นทนายแก้ต่างให้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 นายสมบูรณ์ ทนายความมีเวลาที่จะเตรียมเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนร่างคำให้การต่อสู้คดีเพื่อยื่นต่อศาลเพียงวันเดียว เนื่องจากคดีนี้มีทุนทรัพย์จำนวนสูงอีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซึ่งนายสมบูรณ์จะต้อง สอบหาข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อีกทั้งต้องค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ จึงจะร่างคำให้การได้ นายสมบูรณ์ทนายความจึงไม่สามารถที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ทันภายใน กำหนดระยะเวลาดังกล่าว

ดังนั้น จึงให้ท่านซึ่งเป็นนายสมบูรณ์ ทนายจำเลยในคดีนี้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ต่อศาลในวันที่ 25 กันยายน 2552 ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดเดิม (ให้ร่างแต่ใจความ ในคำร้องเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงแบบพิมพ์ศาล)

งคำตอบ

คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ

ข้อ 1. คดีนี้ จำเลยได้รับหมายเรียกของศาลและสำเนาคำฟ้องของโจทก์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 และครบกำหนดที่จำเลยจะต้องยื่นคำให้การต่อศาลในวันนี้ ดังรายละเอียดปรากฏในสำนวนแล้ว

ข้อ 2. เนื่องจากจำเลยเพิ่งมาติดต่อให้ทนายจำเลยแก้ต่างให้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 ทนายจำเลยจึงมีเวลาที่จะสอบข้อเท็จจริงเพื่อยื่นคำให้การต่อศาลเพียงวันเดียว เนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์จำนวนสูง มีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซึ่งทนายจำเลยจะต้องสอบหาข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อีกทั้งยังต้องค้นคว้า เอกสารที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ทนายจำเลยจึงไม่สามารถที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยจึงขอความกรุณาศาลได้โปรดมีคำสั่งขยาย ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยออกไปอีก 15 วัน นับจากวันครบกำหนดเดิม ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมีควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ……(ลายมือชื่อนายสมบูรณ์)…..ทนายจำเลย

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (นายสมบูรณ์) ทนายจำเลยเป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ…….(ลายมือชื่อนายสมบูรณ์)…….ผู้เรียงและพิมพ์

ข้อ 3. ข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 เวลาประมาณ 20.00 น.นายณรงค์ ฉายา ภาพ มือปืนร้อยศพ” ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนลูกซองยิง นายจู๊ด อายุ 45 ปี จำนวน 3 นัด กระสุนถูกบริเวณหน้าอกเสียชีวิตคาที่หน้าบ้าน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 08.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายณรงค์ ได้นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ชั้นสอบสวนนายณรงค์ให้การรับสารภาพว่าเป็นคนฆ่า นายจู๊ดผู้ตายจริง โดยมีนางอัมพรเมียชองนายจู๊ดผู้ตายเป็นผู้จ้างฆ่าในราคา 1 แสนบาท ดังนั้น ในเวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้นำหมายจับของศาลจังหวัดพัทยาเข้าจับกุม นางอัมพร ผู้ต้องหาที่ 2 นำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ชั้นสอบสวนนางอัมพรให้การ รับสารภาพว่าเป็นผู้จ้างฆ่าจริง พนักงานสอบสวนจึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปฝากขัง ศาลจังหวัดพัทยา ตามคดีหมายเลขดำที่ ฝ. 456 ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ จึงสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการจังหวัดพัทยามีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนและเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหาจ้างวานให้ฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน พนักงานอัยการจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของ พนักงานสอบสวน จึงมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองตามข้อกล่าวหา

สมมติว่านักศึกษาเป็นพนักงานอัยการจังหวัดพัทยา ให้นักศึกษาเรียงคำฟ้องคดีนี้เฉพาะเนื้อหาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 เท่านั้น

มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี

มาตรา 289 ผู้ใด

(1) …

(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษประหารชีวิต

ธงคำตอบ

คำฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 โดยการจ้างวานใช้ ของจำเลยที่ 2 ได้บังอาจใช้อาวุธปืนลูกซองยิง นายจู๊ด ผู้ตาย จำนวน 3 นัด กระสุนถูกบริเวณหน้าอก เป็นเหตุให้ ผู้ตายถึงแกความตายสมดังเจตนาของจำเลยทั้งสอง รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ ของแพทย์ท้ายฟ้อง

เหตุเกิดที่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ข้อ 2. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสอง ได้ นำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ระหว่างสอบสวนจำเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวตลอดมา ขณะนี้ต้องขังอยูตามหมายขังศาลในคดีนี้ หมายเลขดำที่ ฝ. 456

 

ข้อ 4. นายชื่นทนายความรับเป็นทนายความในการเขียนอุทธรณ์และฎีกาให้แก่บุตรชายทั้งสองของนายชอบ ในคดีอาญา ค่าทนายความเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท และนายชื่นยังรับวิ่งเต้นคดีให้บุตรชาย ทั้งสองของนายชอบด้วย โดยนายชื่นได้ติดต่อให้นายชุ่มทนายความอีกคนหนึ่งดำเนินการวิ่งเต้นคดี นายชุ่มรู้จักกับผู้พิพากษาให้ช่วยเหลือคดีได้ขอค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นคดี นายชอบได้จ่ายเงินค่า วิ่งเต้นคดีให้แก่นายชื่น จำนวน 200,000 บาท นายชื่นตกลงว่า หากไม่สามารถช่วยทางคดีให้ชนะได้ ก็จะนำเงินจำนวน 200,000 บาท คืนให้แกนายชอบปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษา จำคุกบุตรชายทั้งสองของนายชอบตลอดชีวิต

ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายชื่นและนายชุ่มทนายความ มีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย

ธงคำตอบ

ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529

ข้อ 6 ไมเคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา

ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง

(3) อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถ จะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษ นอกจากทางว่าความหรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใด ๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้วจะหาทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาแพ้

ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชื่นและนายชุ่มทนายความตกลงรับวิ่งเต้นคดี ถือว่าเป็นการหมิ่น ศาลอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา จึงมีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 6

สำหรับการที่นายชื่นและนายชุ่มซึ่งเป็นทนายความไปวิ่งเต้นคดี โดยอ้างกับนายชอบว่า นายชุ่ม รู้จักกับผู้พิพกษา ถือว่าเป็นการหลอกลวงว่าจะไปจูงใจผู้พิพากษาให้ช่วยเหลือให้คดีชนะ จึงมีความผิดตาม ข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 10(3)

ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ นอกจากจะมีหน้าที่ต่อลูกความแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบ ต่อสังคม ต่อกระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้รู้และใช้กฎหมาย ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ความชอบธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องไมประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อ ศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ การที่นายชื่นและนายชุ่มทนายความ กลับส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการ วิ่งเต้นคดี จึงมีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 18 อีกด้วย

ดังนั้น การกระทำของนายชื่นและนายชุ่มทนายความจึงมีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 6 ข้อ 10(3) และข้อ 18 (เทียบคำสั่งสภานายกพิเศษฯ ที่ 1/2547)

สรุป  การกระทำของนายชื่นและนายชุ่มทนายความมีความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 6 ข้อ 10(3) และข้อ 18

Advertisement