การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4002 การว่าความและการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน จำนวน 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ทนายความได้แถลงโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ๆ ได้พยายาม อธิบายให้ทนายเข้าใจ ทนายกลับย้อนศาลว่า “ท่านอย่ามาตีฝีปากกับผม ๆ ระดับมหาบัณฑิตน๊ะครับ คนละชั้นกัน” ความประพฤติของทนายเช่นนี้จะผิดมรรยาทของทนายความตามข้อบังคับว่าด้วย มรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 อย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529
ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ในศาล หรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทนายความได้กล่าวถ้อยคำย้อนศาลว่า “ท่านอย่ามาตีฝีปากกับผม ๆ ระดับมหาบัณฑิตน๊ะครับ คนละชั้นกัน” การกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของทนายความ นอกจากจะไม่ให้เกียรติศาล หรือผู้พิพากษาแล้ว ยังเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาล อันทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา ซึงเป็นการกระทำที่ผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 6
สรุป การที่ทนายความกล่าวถ้อยคำดังกล่าวย้อนศาล ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดมรรยาททนายความ
ข้อ 2 การเตรียมคดี “เบื้องต้น” ก่อนนำคดีไปสู่ศาลมีหลักการอย่างไร จงอธิบายพอสังเขป
ธงคำตอบ
อธิบาย
การเตรียมคดีในเบื้องต้นก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล มีหลักการดังนี้
1. สอบสวนข้อเท็จจริงจากตัวความ กล่าวคือ การสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดการกระทำผิด หรือ เกิดการโต้แย้งสิทธิ ละเมิดสิทธิ หรือมูลเหตุโดยละเอียด สอบหลักฐานของอำนาจและสิทธิที่ตัวความพึงมี ตามกฎหมาย ตลอดจนนิติสัมพันธ์ที่ตัวความอ้างอิงในกรณีนั้นแล้วนำมาปรับกับกฎหมายสารบัญญัติว่าควรจะ ดำเนินคดีประเภทใดต่อไป เช่น ควรฟ้องเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาหรือคดีอื่น ๆ…ฯลฯ
ทั้งนี้ ทนายความควรจะแจ้งให้ตัวความทราบและเข้าใจว่าไม่ควรบัดบังอำพรางความจริง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้การนำข้อกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไปด้วย
2. สอบสวนพยานบุคคล กล่าวคือ สอบสวนผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งได้ยินหรือได้ทราบ ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นประจักษ์พยาน พยานบอกเล่า พยานแวดล้อม พยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานผู้ชำนาญการ แล้วแต่กรณี แล้วบันทึกถ้อยคำไว้
3. ตรวจสอบพยานเอกสาร กล่าวคือ พยานเอกสารในที่นี้หมายถึง เอกสารที่แท้จริง เช่น นิติกรรมสัญญาต่าง ๆ พินัยกรรม หรือบันทึกข้อตกลงต่าง ๆ ของผู้ตายในคดีมรดก เป็นต้น ซึ่งหากยังสงสัย ในพยานเอกสารต่าง ๆ นั้น จะต้องสอบถามจากตัวความให้ชัดเจน
4. ตรวจสอบวัตถุพยาน กล่าวคือ ตรวจสอบสถานที่ อาจเป็นร่องรอยต่าง ๆ หรือเป็น วัตถุที่ยังหลงลืมที่พอจะใช้พิสูจน์ความจริงได้ เช่น ซากกำแพง หลักแบ่งเขตที่ดิน ร่องรอยการถูกรถชน เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้เข้าใจสภาพที่แท้จริงได้
การสอบสวนข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ถือเป็นช่องทางให้การใช้ข้อกฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง และประการที่สำคัญทนายความก็ควรมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายนั้นอย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะศึกษาจาก แนวคำพิพากษาของศาลฎีกา หรือความเห็นของนักนิติศาสตร์ เป็นต้น
ข้อ 3 สมมติข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 เวลาประมาณ 13 นาฬิกาเศษ นายเอกได้มาหลอก นายดวงที่บ้านแขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ว่านายเขียวพี่ชายของนายดวงใช้ให้มาเอา คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ฝากไว้ ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงนายเขียวไม่ได้ใช้ให้มาเอาแต่ประการใด นายดวงหลงเชื่อจึงได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ราคา 40,000 บาทเศษ ให้ไป ภายหลังต่อมา นายดวงมาทราบความจริงต้องการฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญาด้วยตนเอง ฐานฉ้อโกงตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 341 สมมติให้นักศึกษาเป็นทนายของนายดวง จงเรียบเรียงคำฟ้องคดีอาญา ฐานฉ้อโกง เฉพาะเนื้อหาตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 158(5)
ป. อาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำถอน หรือทำลาย เอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง…ฯลฯ”
ธงคำตอบ
คำฟ้องอาญา
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยนี้ได้บังอาจกระทำผิดต่อ กฎหมาย กล่าวคือ จำเลยนี้โดยทุจริตบังอาจหลอกลวงโจทก์โดยกล่าวแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่านายเขียวพี่ชายของ โจทก์ใช้ให้จำเลยมาเอาเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ฝากโจทก์ไว้อันเป็นข้อความเท็จ ความจริงนายเขียวพี่ชาย ของโจทก์ไมได้ใช้จำเลยให้มาเอาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กแต่ประการใด โดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวนั้นทำไห้ โจทก์หลงเชื่อ ได้มอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ราคา 40,000 บาทเศษให้จำเลยไป
เหตุเกิดที่แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ข้อ 2. โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ เพราะประสงค์จะดำเนินคดีอาญาด้วยตนเอง
ข้อ 4. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 กันยายน 2549 เวลา 9.30 น. แต่พยานโจทก์ตามที่โจทก์ได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานอันดับ 5 และ 6 เป็นบุคคลภายนอก โจทก์ ไม่สามารถนำมาศาลได้โจทก์มีความประสงค์จะขอให้ศาลหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวให้มาศาล ตามนัด สมมตินักศึกษาเป็นทนายโจทก์จงเรียบเรียงคำขอหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหา โดยให้ทนายลงลายมือชื่อผู้ขอ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ด้วย
ธงคำตอบ
คำขอหมายเรียกพยานบุคคล
ข้อ 1. คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 กันยายน 2549 เวลา 9.30 น. โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้ว แต่เนื่องจากพยานบุคคลตามบัญชีระบุพยานอันดับ 5 และ 6 เป็นบุคคลภายนอก โจทก์ ไม่สามารถนำมาศาลได้ จึงขอความกรุณาศาลได้โปรดหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวให้มาศาลตามนัดด้วย ขอศาลได้โปรดกรุณาอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ…..(ลายมือชื่อนักศึกษา)…..ทนายโจทก์
ค่าขอฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ…..(ลายมือชื่อนักศึกษา)…..ผู้เรียงและพิมพ์