การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. หากมีผู้สูงอายุ 70 ปี ประสงค์จะทําพินัยกรรม ท่านจะมีหลักเกณฑ์ในการร่างพินัยกรรมอย่างไร ให้ยกตัวอย่างหลักเกณฑ์ในการร่างมาอย่างน้อย 5 ประการ
ธงคําตอบ
หลักเกณฑ์ในการร่างพินัยกรรม หรือสิ่งอันเป็นสาระสําคัญที่จะต้องพิจารณาก่อนทําพินัยกรรม ได้แก่
1 แบบของพินัยกรรม เพราะในการทําพินัยกรรมจะต้องทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ เท่านั้น เช่น จะทําพินัยกรรมแบบธรรมดา พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ หรือพินัยกรรมที่ทําเป็นเอกสารฝ่ายเมือง เป็นต้น
2 เกี่ยวกับผู้ประสงค์จะทําพินัยกรรม กล่าวคือ ผู้ที่ประสงค์จะทําพินัยกรรมนั้น นอกจาก จะต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ในขณะทําพินัยกรรมแล้ว จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วย เช่น
จะต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ในขณะทําพินัยกรรม คือ จะต้องเป็นผู้ที่ มิได้มีอาการจริตวิกล รวมทั้งมิได้เป็นบุคคลที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
การแสดงเจตนาเพื่อทําพินัยกรรมนั้น จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่มิได้เกิดจาก ความสําคัญผิด หรือกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่แต่อย่างใดทั้งสิ้น
3 เกี่ยวกับทรัพย์มรดก จะต้องมีการระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะให้เป็นทรัพย์มรดกเพื่อตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมนั้น ได้แก่ทรัพย์สินประเภทใดบ้าง
4 เกี่ยวกับผู้รับพินัยกรรม จะต้องมีการระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนว่า จะยกทรัพย์มรดก ให้แก่ผู้ใด หรือในกรณีที่จะตัดทายาทโดยธรรมคนใดไม่ให้รับมรดก (ถ้ามี) ก็จะต้องระบุไว้ด้วย
5 การจัดตั้งผู้ปกครองทรัพย์ (ถ้ามี) กล่าวคือ ถ้าผู้ทําพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์มรดก ให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลอื่นนอกจาก บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทําพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น
6 เกี่ยวกับผู้จัดการมรดก ผู้ทําพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็น ผู้จัดการมรดกก็ได้ โดยให้ระบุไว้ให้ชัดเจนในพินัยกรรม
7 เกี่ยวกับพยาน ในการทําพินัยกรรมบางประเภท เช่น พินัยกรรมแบบธรรมดาฯ จะต้อง มีพยานอย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทําพินัยกรรมด้วย
8 เกี่ยวกับพินัยกรรม จะต้องมีการระบุไว้ว่าได้มีการทําพินัยกรรมขึ้นกี่ฉบับ และแต่ละฉบับ ใครเป็นผู้เก็บรักษาพินัยกรรมไว้
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สํานักงานกฎหมายกีรติทนายความ โดยนายกีรติ มีสุข ทนายความและหัวหน้าสํานักงาน ได้รับจ้างว่าความคดีอาญาจากจําเลยนายเดชคม ภิญโญ ในคดีอาญา หมิ่นประมาท เลขคดีดําที่ 6789/2558 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ตามสําเนาคําฟ้องดังกล่าวที่นํามาด้วย โดยตกลงให้การดําเนินคดีความตั้งแต่ศาลชั้นต้นจวบจนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา ซึ่งตกลงกันเป็น ค่าสินจ้างจํานวน 300,000 บาท โดยมีการแบ่งชําระเป็น 2 งวด คือ งวดแรกในวันแต่งตั้งทนายความ 100,000 บาท ตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งชําระเรียบร้อยแล้วตาม ใบเสร็จรับเงินในวันดังกล่าว งวดที่สองคือวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 200,000 บาท เมื่อถึงวัน นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ของเลขคดีดําที่ 6789/2558 นายกีรติฯ ได้ไปศาล พร้อมนายเดชคมฯ แต่นายเดชคมฯ ไม่นําเงินจํานวน 200,000 บาท มาชําระตามข้อตกลง โดย นายเดชคมฯ จะขอชําระในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แต่นายกีรติฯ ก็ทําหน้าที่ทนายความให้กับ นายเดชคมฯ ในฐานะจําเลยครบถ้วนในวันดังกล่าว และอีกหลายนัดทุกนัดจนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มี คําพิพากษายกฟ้องตามคําพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีหมายเลขคดีแดงที่ 89/2559 แต่นายเดชคมฯ ก็ยังคงไม่ยอมชําระเงินส่วนที่เหลือ จนกระทั่งนายกีรติฯ ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียน ไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่หนึ่งเรียกให้นายเดชคมฯ ชําระค่าสินจ้างดังกล่าว แต่นายเดชคมฯ กลับเพิกเฉย นายกีรติฯ จึงได้แต่งตั้งให้นายศรัญญ คงทน ทนายความในสํานักงานได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่สองเรียกให้นายเดชคมฯ ชําระค่าสินจ้าง แต่นายเดชคมฯ กลับ เพิกเฉยอีกครั้ง ดังนั้นนายกีรติฯ จึงทําหนังสือแต่งตั้งให้นายศรัญญฯ เป็นตัวแทนในการดําเนินคดีแพ่ง และเป็นทนายความตนทําการฟ้องคดีแพ่งนายเดชคมฯ เรียกให้นายเดชคมฯ ชําระค่าสินจ้างดังกล่าว ต่อศาล ให้ท่านถือเสมือนเป็นนายศรัญญฯ ทําการร่างคําฟ้องคดีแพ่งและคําขอท้ายฟ้องคดีแพ่ง โดยไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล
ธงคําตอบ
คําฟ้องแพ่ง
ข้อ 1. โจทก์เป็นทนายความและหัวหน้าสํานักงานกฏหมายกีรติทนายความ ได้มอบอํานาจ ให้นายศรัญญ คงทน เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอํานาจ เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 1
จําเลยเป็นอดีตลูกความของโจทก์ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ตามเลขคดีดําที่ 6789/2558 รายละเอียด ปรากฏตามสําเนาคําฟ้องในคดีดําที่ 6789/2558 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โจทก์ได้รับจ้างว่าความคดีอาญาจากจําเลยคดีหมิ่น ประมาทเลขคดีดําที่ 6789/2558 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีจากนายเดชคม ภิญโญ จําเลย โดยตกลงให้การดําเนินคดีความ ตั้งแต่ศาลชั้นต้น จวบจนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา ซึ่งตกลงกันเป็นค่าสินจ้างจํานวน 300,000 บาท (สามแสนบาท) โดยมีการแบ่งชําระเป็น 2 งวด คือ งวดแรกในวันแต่งตั้งทนายความ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) ตามใบแต่ง ทนายความลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งชําระเรียบร้อยแล้วตามใบเสร็จรับเงิน รายละเอียดปรากฏตามสําเนา ใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และสําเนาใบเสร็จรับเงินฉบับ ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และงวดที่สอง คือวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 200,000 บาท (สองแสนบาท)
ข้อ 3. เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ของเลขคดีดําที่ 6789/2558 โจทก์ได้ไปศาลพร้อมจําเลย แต่จําเลยไม่นําเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) มาชําระตามข้อตกลง โดยจําเลยจะขอชําระในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แต่โจทก์ก็ทําหน้าที่ทนายความให้กับจําเลยในฐานะจําเลย ครบถ้วนในวันดังกล่าว และอีกหลายนัดทุกนัดจนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษายกฟ้องจําเลยตามคําพิพากษา ศาลจังหวัดมีนบุรีหมายเลขคดีแดงที่ 89/2559 รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรี หมายเลขคดีแดงที่ 89/2559 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 5 แต่จําเลยก็ยังคงไม่ยอมชําระเงินส่วนที่เหลือ
จนกระทั่งโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่หนึ่งเรียกให้ จําเลยชําระค่าสินจ้างดังกล่าว แต่จําเลยกลับเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ ตอบรับ เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 6 และ 7
ข้อ 4. โจทก์จึงมอบให้ทนายความในสํานักงานได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียน ไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่สองเรียกให้จําเลยชําระค่าสินจ้างจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) แต่จําเลยกลับเพิกเฉย อีกครั้ง รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือบอกกล่าวทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับ เอกสารท้ายคําฟ้อง หมายเลข 8 และ 9
โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คําขอท้ายฟ้อง
ข้อ 1. ขอให้จําเลยชําระค่าสินจ้างที่เหลือเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)
ข้อ 2. ขอให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าสินจ้างจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยจะชําระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
ข้อ 3. ขอให้จําเลยชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
ข้อ 3. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา นายสิน ทองมา ได้ไปพบนายวิชัย สมชาติที่บ้านนายวิชัย ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แล้วบอกนายวิชัยว่า นางเงิน ทองมา ภริยาของตนถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในความ ครอบครอง ตนไม่มีเงินขอปล่อยตัวภริยาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน จึงขอยืมเงินจํานวน 200,000 บาท นายวิชัยเห็นว่านายสินเคยช่วยเหลือตนมา และหลงเชื่อว่านางเงินถูกเจ้าพนักงานจับจริง จึงยอมให้นายสินยืมเงินไปจํานวน 200,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วนางเงินไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานตํารวจ จับกุมแต่ประการใด ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 นายวิชัยทราบความจริงและรู้ว่าตนถูกหลอก จึงไปขอเงินจํานวนดังกล่าวคืนจากนายสิน แต่นายสินหลบหนีไป นายวิชัยจึงประสงค์จะเป็นโจทก์ ฟ้องนายสินในข้อหาฉ้อโกงเอง โดยไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ
ให้นักศึกษาในฐานะทนายความของนายวิชัย เรียงคําฟ้องข้อหาฉ้อโกงเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือต่อไป โดยให้เรียงเฉพาะเนื้อหาคําฟ้องเท่านั้น
ธงคําตอบ
ในฐานะทนายความของนายวิชัย สมชาติ ข้าพเจ้าจะเรียงคําฟ้องข้อหาฉ้อโกงเพื่อยื่นฟ้องต่อ ศาลแขวงพระนครเหนือ ดังต่อไปนี้
คําฟ้องอาญา
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เวลากลางวัน จําเลยนี้ได้บังอาจหลอกลวงโจทก์โดยการแสดง ข้อความอันเป็นเท็จว่า นางเงิน ทองมา ภริยาของจําเลย ถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครอง จําเลยไม่มีเงินขอปล่อยตัวภริยาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน จึงขอยืมเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อ ซึ่งความจริงแล้วนางเงินไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมแต่ประการใด และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น จําเลยได้ไปซึ่งเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) จากโจทก์ผู้ถูกหลอกลวง
เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อนึ่ง คดีนี้โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะโจทก์ประสงค์จะดําเนินคดีเอง