การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายไกรมีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 ได้เดินทางไปทํางานที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างที่ทํางานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ นายไกรขายสวนทุเรียนข้างบ้านได้เงิน 3 ล้านบาท นายไกร ได้ส่งเงินที่ได้จากการทํางานที่ประเทศสิงคโปร์ให้แก่นางพลอยใสมารดา 2 หมื่นบาททุกเดือน และนายไกรได้นําเงินที่ทํางานนั้นซื้อนาฬิกาข้อมือราคา 3 แสนบาท เป็นของฝากนางสาวเหมือนฝัน ต่อมานายไกรได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 พร้อมทั้งนํานาฬิกาดังกล่าว และเงินกลับมาด้วยจํานวน 5 แสนบาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า ปีภาษี 2557 เงินได้รายการดังกล่าวต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้
(10) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทํา ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
ตามอุทาหรณ์ เงินได้รายการต่าง ๆ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2557 หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนายไกร
1 เงินได้จากการขายสวนทุเรียน จํานวน 3 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย นายไกรจะต้องนําเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2557 ตามมาตรา 41 วรรคแรก
2 เงินได้เนื่องจากการทํางานในต่างประเทศคือที่ประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นเงินได้ที่ นายไกรได้รับและส่งให้นางพลอยใสมารดาเดือนละ 20,000 บาท เงินที่ใช้ซื้อนาฬิกา 3 แสนบาท และเงิน 5 แสนบาท ที่นายไกรนําเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี 2557 นั้น นายไกรไม่ต้องนําเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคแรก เพราะมิใช่เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง เพราะแม้จะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําใน ต่างประเทศ และนายไกรได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ก็ตาม แต่เมื่อนายไกร มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เพราะมิได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี ดังนั้น นายไกรจึงไม่ต้องเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง และวรรคสาม
กรณีของนางพลอยใส
การที่นางพลอยใสมีเงินได้พึงประเมินที่นายไกรส่งให้เดือนละ 2 หมื่นบาทนั้น นางพลอยใส ไม่ต้องนําเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ที่นางพลอยใสได้รับ เนื่องจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาตามมาตรา 42 (10) จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
กรณีของนางสาวเหมือนฝัน
การที่นางสาวเหมือนฝันจะได้รับนาฬิกามูลค่า 3 แสนบาทจากนายไกรนั้น ถือว่าเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 39 เพราะนาฬิกาเป็นทรัพย์สินที่สามารถคิดคํานวณได้เป็นเงิน ถ้านางสาวเหมือนฝันได้รับ ในปีภาษี 2557 ก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคแรก และถือเป็นเงินได้สําหรับปี 2557 แต่ถ้าได้รับในปีภาษีอื่นใด ก็ต้องนําเงินได้ดังกล่าวไปเสียภาษีในปีนั้น
สรุป
นายไกรจะต้องนําเงินได้เฉพาะเงินได้จากการขายสวนทุเรียน จํานวน 3 ล้านบาท ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2557
นางพลอยใสไม่ต้องนําเงินได้ที่นายไกรส่งให้เดือนละ 2 หมื่นบาท ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นางสาวเหมือนฝันถ้าได้รับนาฬิกามูลค่า 3 แสนบาทจากนายไกร นางสาวเหมือนฝันก็จะต้อง นําเงินได้ดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อ 2 ในปีภาษี 2557 นายสมชายมีเงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้
1 เงินค่าที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายแรงงาน จํานวน 100,000 บาท
2 เงินค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือ จํานวน 80,000 บาท
3 ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารฯจํานวน 30,000 บาท
4 เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าจํานวน 200,000 บาท
5 เงินได้จากการเปิดร้านขายอาหาร จํานวน 300,000 บาท
จงวินิจฉัยว่า เงินได้พึงประเมินของนายสมชายเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดตามประมวลรัษฎากร และจะปฏิบัติในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และสิ้นปีใน เงินได้พึงประเมินดังกล่าวอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลดเงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจําหรือชั่วคราว
(3) ค่าแห่งกู้ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปี อันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคําพิพากษาของศาล
(4) เงินได้ที่เป็น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้
(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน
(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”
มาตรา 56 วรรคแรก “ให้บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้ง ข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกําหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”
มาตรา 56 ทวิ วรรคแรก “เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกําหนดเวลาตามมาตรา 56 ให้ผู้มีหน้าที่ยืนรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา 57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดี กําหนด แสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วย หรือไม่ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ในปีภาษี 2557 เงินได้พึงประเมินที่นายสมชายได้รับ ถือเป็นเงินได้ พึงประเมินประเภทดังต่อไปนี้
1 เงินค่าที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายแรงงาน จํานวน 100,000 บาท ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2)แห่งประมวลรัษฎากร
2 เงินค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือจํานวน 80,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
3 ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารฯ จํานวน 30,000 เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
4 เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าจํานวน 200,000 บาท เป็นเงินได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินจึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
5 เงินได้จากการเปิดร้านขายอาหารจํานวน 300,000 บาท ถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรเงินได้พึงประเมินที่นายสมชายได้รับในปีภาษี 2557 ดังกล่าวนั้น นายสมชายจะต้องปฏิบัติ ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีและสิ้นปี ดังนี้คือ
1 นายสมชายจะต้องนําเงินได้พึงประเมินตามข้อ 4 คือ เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าตามมาตรา 40 (ก)
และเงินได้พึงประเมินตามข้อ 5 คือ เงินได้จากการเปิดร้านขายอาหาร ตามมาตรา 40 (8) ไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภายในเดือนกันยายนของปี 2557 ตามมาตรา 56 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
และ
2 นายสมชายจะต้องนําเงินได้พึงประเมินทุกประเภทที่ได้รับในปีภาษี 2557 ไปยืนแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจําปี (สิ้นปี) ภายในเดือนมีนาคม ของปี 2558 ตามมาตรา 56 วรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 3 ในรอบระยะเวลาบัญชี 2557 บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีสาขา (Branch) ในประเทศไทยได้ส่งลูกจ้างเข้ามาในประเทศไทย เป็นตัวแทนทําสัญญากับบริษัท สยามเทคโนโลยี จํากัด เพื่อสร้างเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาระบุให้บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ฯ ทําการผลิต เครื่องจักรดังกล่าวด้วยวัตถุดิบของบริษัทให้แล้วเสร็จ ณ โรงงานของบริษัท หลังจากนั้นให้ส่งมอบ เครื่องจักรฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนการจ่ายเงินบริษัท สยามเทคโนโลยี จํากัด จะชําระเงินโดยวิ เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ไปยังบริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ฯ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง จงวินิจฉัยว่า เงินค่าจ้างที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้รับตามสัญญาจะถือเป็นเงินได้จากการ ประกอบกิจการในประเทศไทย และต้องนํามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสําคัญ นอกจากเครื่องมือ”
มาตรา 66 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
มาตรา 70 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการ ตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นํามาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของ ต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ ได้รับเงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และให้ถือว่า บุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้น มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกําไร ที่กล่าวแล้ว”
วินิจฉัย
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่มีสาขา ในประเทศไทย หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก กําหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่
1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
2 มีลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในประเทศไทย
3 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย สําหรับตามเงื่อนไขประการที่ 3 นี้ต้องพิจารณา ตามลักษณะของสัญญาด้วย เช่น สัญญาจ้างทําของหรือให้บริการ ให้ถือเอา สถานที่ให้บริการเป็นสําคัญ หากรับจ้างทําของหรือให้บริการนั้นได้ทําในต่างประเทศ ทั้งหมดก็ไม่ถือว่าบริษัทต่างประเทศนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย แม้สัญญานั้น จะได้ทําในประเทศไทยก็ตาม
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา และไม่มีสาขาในประเทศไทย ได้ส่งลูกจ้างเข้ามาในประเทศไทยเป็นตัวแทนทําสัญญา กับบริษัท สยามเทคโนโลยี จํากัด เพื่อสร้างเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาระบุให้บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ทําการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวด้วยวัตถุดิบของบริษัทให้แล้วเสร็จ ณ โรงงานของบริษัท และหลังจากนั้นให้ส่งมอบเครื่องจักรฯ ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น จะเห็นได้ว่า แม้จะได้มีการทําสัญญากันในประเทศไทย ก็ตาม แต่การผลิตเครื่องจักรอันถือเป็นสาระสําคัญของสัญญาจ้างทําของนั้นได้กระทําที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือไม่ได้ว่า บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือ ผลกําไรในประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนั้นเงินค่าบริการที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้รับตามสัญญาจึงไม่ถือว่าเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย และไม่ต้องนําเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก กําไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 66 วรรคแรก และมาตรา 76 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
และเงินได้ดังกล่าวเมื่อเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) มิใช่เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 70 วรรคแรก บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด จึงไม่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้จํานวนดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นเงินได้ที่ จ่ายจากประเทศไทยก็ตาม
สรุป เงินค่าจ้างที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้รับตามสัญญาไม่ถือว่าเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย และไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร