การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ธนคารสยามไทย  จำกัด   มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนรัชดา  กรุงเทพมหานคร  ธนาคารสยามไทย  จำกัด  มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ในเดือนมกราคม    2550  ธนาคารสยามไทย  จำกัด  ได้ไปเปิดสาขาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย  ประเทศสหรัฐอเมริกา  การเปิดธนาคารสาขาแห่งใหม่นี้ทางสำนักงานใหญ่ได้ส่งนายเสกสรรซึ่งเป้นพนักงานของธนาคารไปเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาแคลิฟอร์เนีย  เกี่ยวกับเงินเดือนของนายเสกสรรทางสำนักงานใหญ่ได้ส่งเงินเดือนไปให้นายเสกสรรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทุกเดือน  สำหรับสาขาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  นายเสกสรรได้จ้างนางสาวกรุณาซึ่งเป็นคนไทยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาเป้นพนักงานของธนาคารสำหรับบริการลูกค้าที่เป็นคนไทย  โดยธนาคารสาขาในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้แก่นางสาวกรุณาทุกเดือน

ดังนี้  อยากทราบว่า  เงินเดือนของนายเสกสรรและของนางสาวกรุณาจะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  41  วรรคแรก  ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

วินิจฉัย

โดยหลัก  ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้นเกิดเนื่องจาก

1       หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย  หรือ

2       กิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือ

3       กิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือ

4       ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

การที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารสยามไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้ส่งนายเสกสรรซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารไปเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาแคลิฟอร์เนีย  และทางสำนักงานใหญ่ได้ส่งเงินเดือนไปให้นายเสกสรรทุกเดือน  ถือว่าเงินเดือนที่นายเสกสรรได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก  นายเสกสรรจึงต้องมีหน้าที่ต้องนำเงินเดือนที่ได้จากสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย  มาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่านายเสกสรรจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่  และไม่ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม

สำหรับนางสาวกรุณา  นายเสกสรรได้จ้างนางสาวกรุณา  ซึ่งเป็นคนไทยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นพนักงานของธนาคารโดยธนาคารสาขาเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้แก่นางสาวกรุณาทุกเดือน  กรณีนี้นางสาวกรุณาไม่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย  เพราะสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยมิได้เป็นผู้จ่ายเงินเดือน  และธนาคารสาขาในต่างประเทศก็เป็นกิจการนอกประเทศของสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย  ฉะนั้นเงินเดือนที่นางสาวกรุณาได้รับจึงเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศมิใช่เงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  เมื่อนางสาวกรุณามิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  และมิได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย  จึงไม่ต้องเสียภาษี  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก

สรุป

เงินเดือนของนายเสกสรรต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย  ส่วนนางสาวกรุณาไม่ต้องนำเงินเดือนมาเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย

 

ข้อ  2  บริษัทไทยพาณิชยนาวี  จำกัด  เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการขนส่งทางทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ปรากฏว่า  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2550  บริษัทฯมีรายได้จากการขนส่งสินค้าจากประเทศอินเดียและประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยจำนวน  700  ล้านบาท

ดังนี้  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทไทยพาณิชยนาวี  จำกัด  ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  66  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย  ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

วินิจฉัย

โดยหลัก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด  ที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  จะต้องนำรายได้ทั่วโลก  (Worldwide  Income  Basis)  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  ตามประมวลรัษฎากร  โดยรวมทั้งสาขาในต่างประเทศทุกสาขา

บริษัทไทยพาณิชยนาวี  จำกัด  เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  อันถือว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย  ดังนั้นในรอบระยะเวลาบัญชี  2550  บริษัทไทยพาณิชยนาวี  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการขนส่งสินค้า  700  ล้านบาท  มาคำนวณกำไรสุทธิเมื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  66  วรรคแรก

สรุป  บริษัทไทยพาณิชยนาวี  จำกัด  ต้องนำรายได้  700  ล้านบาท  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  3  นายวินิจมีบุตรชาย  1  คน  อายุ  23  ปี  กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทอยู่ในประเทศอังกฤษส่วนภรรยาเสียชีวิตแล้ว  ในปีภาษี 2550  นายวินิจได้รับเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์  จำนวน  3  ล้านบาท  เงินส่วนแบ่งกำไรจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจำนวน  5  ล้านบาท  เงินได้จากการขายรถยนต์ซึ่งซื้อมาใช้ส่วนตัวจำนวน  1  ล้านบาท  และได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยจากการประกันอัคคีภัยบ้านที่ให้เช่าจำนวน  2  ล้านบาท 

ดังนี้  อยากทราบว่า  นายวินิจต้องนำเงินได้พึงประเมินทุกจำนวนไปยื่นแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่  และมีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรและการศึกษาบุตรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  42  เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

(9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก  หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร  แต่ไม่รวมถึงเรือกำปั่น  เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไปเรือกลไฟ

(13)                    ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด  เงินที่ได้จากการประกันภัยหรือการฌาปนกิจสงเคราะห์

(14)                    เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ  หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม

มาตรา  47  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  เมื่อได้หักตามมาตรา  42  ทวิถึงมาตรา  46  แล้ว  เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี  ให้หักลดหย่อนภาษีได้อีกดังต่อไปนี้

(1) ลดหย่อนให้สำหรับ

(ค)  บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย  คนละ  15,000  บาท  แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน

การหักลดหย่อนสำหรับบุตร  ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา  หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์  หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในอุปการะเลี้ยงดู  แต่มิให้หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่  15,000  บาทขึ้นไป  โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา  42

(ฉ)  บุตรของผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนตามเงื่อนไข (ค) และยังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาของทางราชการ  สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชนหรือโรงเรียนราษฎร์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์  ให้หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ  2,000  บาท

วินิจฉัย

เงินส่วนแบ่งกำไรจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ  จำนวน  15  ล้านบาท  ของนายวินิจเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42(14)  เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญจะต้องนำเงินได้ของห้างหุ้นส่วนไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาแล้ว ส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวจึงไม่ต้องเสียภาษีอีก  ส่วนเงินได้จากการขายรถยนต์ซึ่งซื้อมาใช้ส่วนตัว  จำนวน  1  ล้านบาท  เป็นเงินได้เนื่องจากการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร  ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42(9)  และค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยจากการประกันอัคคีภัยบ้านที่ให้เช่าจำนวน  2  ล้านบาท  ก็เป็นเงินได้จากการประกันภัยที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  42(13)  เช่นเดียวกัน  ดังนั้น  นายวินิจจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเฉพาะเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์จำนวน  3  ล้านบาท  ไปยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น

สำหรับบุตรของนายวินิจซึ่งมีอายุ  23  ปี  และกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทซึ่งถือว่าเป็นชั้นอุดมศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ  ก็ย่อมมีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรจำนวน  15,000  บาท  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  47(1)(ค)  วรรคแรกและวรรคสี่  แต่การหักลดหย่อนสำหรับการศึกษาบุตรจำนวน  2,000  บาทนั้น  เนื่องจากบุตรของนายวินิจไม่ได้ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาของทางราชการ  สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันเอกชนตามประมวลรัษฎากร    มาตรา 47(1)(ฉ)  นายวินิจจึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับการศึกษาบุตรในส่วนนี้

สรุป  นายวินิจมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเฉพาะเงินได้จากการให้อสังหาริมทรัพย์ไปยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น  ส่วนเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นได้รับการยกเว้นภาษี  ส่วนบุตร  นายวินิจมีสิทธิหักลดหย่อนจำนวน  15,000  บาท  แต่ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับการศึกษา

 

ข้อ  4  นายสมัคร  อดีตข้าราชการ  อายุวัย  65  ในปี  2550  ได้รับการติดต่อจากบริษัทริชชี่  จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย  ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย  ว่าจ้างให้นายสมัครทำหน้าที่เป็นผู้แทนของบริษัทริชชี่  จำกัด  ในการลงนามขายสินค้ามูลค่า  500  ล้านบาทให้แก่  บริษัทไทยแท้  จำกัด  ผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย  ทั้งนี้การลงนามสัญญามีขึ้นที่กรุงเทพมหานคร  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  จงวินิจฉัยพร้องปรับบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้

(ก)  บริษัทริชชี่  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากการขายสินค้าดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  หากบริษัทริชชี่  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากการขายสินค้าดังกล่าวแล้ว  หน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีในประเทศไทยเป็นหน้าที่ของผู้ใด

(ค)  หากบริษัทริชชี่  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากการขายสินค้าดังกล่าวแล้ว  แต่ไม่ประสงค์จะเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ  30  จะมีเหตุใดตามกฎหมายที่ทำให้เสียภาษีในอัตราที่ลดลง  และเป็นอัตราใด

  ธงคำตอบ

มาตรา  71  ในกรณีที่

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด  ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  17  หรือมาตรา  68  ทวิ  หรือไม่นำบัญชี  เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา  19  หรือมาตรา  23  เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ  5  ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า  ถ้ายอดรายรับก่อนกักรายจ่ายหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าว  ไม่ปรากฏเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป  ถ้ายอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไปไม่ปรากฏให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  มีลูกจ้าง  หรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อ  ในการประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว

ในกรณีที่กล่าวในวรรคแรก  ถ้าบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ได้  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษี  ตามมาตรา  71(1)  มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และไม่มีสาขาในประเทศไทย  หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  กำหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2       มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทย

3       ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทย

(ก)  บริษัทริชชี่  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากการขายสินค้าดังกล่าว  เนื่องจากเป็นบริษัทต่างประเทศจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย  และมีนายสมัครเป็นผู้ทำการแทนในการขายสินค้าในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก

(ข)  เป็นหน้าที่ของนายสมัคร  เนื่องจากนายสมัครเป็นผู้ทำการแทนของบริษัทต่างประเทศ  คือ  บริษัทริชชี่  จำกัด  ในการขายสินค้าในประเทศไทย  วึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก

(ค)  นายสมัครซึ่งเป็นผู้ทำการแทนของบริษัทต่างประเทศ  คือ  บริษัทริชชี่  จำกัด  ในการขายสินค้าในประเทศไทยซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  อาจร้องขอต่อกรมสรรพากรว่าไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้  จึงขอเสียจากยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  71(1)  คือ  ในอัตราภาษีร้อยละ  5  จากยอดขาย  500  ล้านบาท  ทั้งนี้  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคสอง

สรุป

(ก)  บริษัทริชชี่  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย

(ข)  เป็นหน้าที่ของนายสมัครผู้ทำการแทน

(ค)  นายสมัครอาจร้องขอต่อกรมสรรพากรว่าไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้  โดยขอเสียจากยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย

Advertisement