การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายวินัยมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี  2551  ดังนี้

1       รายได้จากการให้คำปรึกษาในประเทศไทยหนึ่งล้านบาท  แต่ได้รับเงินได้ดังกล่าวในต่างประเทศและ

2       เงินปันผลจำนวนเจ็ดแสนบาทโดยบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย  หากในปีภาษี  2551  นายวินัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง  180  วัน  จงวินิจฉัยพร้อมยกมาตราประกอบคำอธิบายของท่านว่า

(ก)  นายวินัยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมินทั้งสองรายการในประเทศไทยหรือไม่

(ข)  หากนายวินัยต้องเสียภาษีจากกรณีเงินปันผล  นายวินัยมีสิทธิได้รับเครดิตตามประมวลรัษฎากรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  41  วรรคแรก  และวรรคสาม  ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ  รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด  ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

มาตรา  47  ทวิ  ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา  40(4)(ข)  ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี  โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้นได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ  ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี  ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา  ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี  ณ  ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด

เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่งให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา  48  เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด  ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย  ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใด  ให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด  หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมิได้เป็นผู้อยุ่ในประเทศไทย

 มาตรา  50  ให้บุคคล  ห้างหุ้นส่วน  บริษัท  สมาคม  หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังต่อไปนี้

(2) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(3)  และ  (4)  ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้  เว้นแต่

(จ)   ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(4)(ข)  ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ  10.0  ของเงินได้

วินิจฉัย

(ก)  นายวินัยมีหน้าที่ต้องนำเงินได้จากการให้คำปรึกษาในประเทศไทยจำนวน  1  ล้านบาทมาเสียภาษีในประเทศไทย  เพราะเงินได้ดังกล่าวเกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย  เนื่องจากหน้าที่งานที่เกิดในประเทศไทย  แม้เงินได้นั้นจะได้รับในต่างประเทศก็ต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก

ส่วนเงินปันผลจำนวน  7  แสนบาท  ที่จ่ายโดยบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  นายวินัยต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีในประเทศไทยโดยบริษัทผู้จ่ายเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี  ณ  ที่จ่ายโดยให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ  10  ของเงินได้ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  50(2)(จ)

(ข)  นายวินัยต้องเสียภาษีจากเงินปันผลโดยบริษัทผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี  ณ  ที่จ่ายในอัตราร้อยละ  10  ของเงินได้  แต่นายวินัยไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามประมวลรัษฎากร  เพราะผู้ที่มีสิทธิได้รับเครดิตเงินปันผลจะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  ตามมาตรา  47  ทวิวรรคสามประกอบมาตรา  41  วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  นายวินัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง  180  วัน  ถือว่านายวินัยไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเครดิตภาษีตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  47  ทวิ  วรรคสาม

สรุป 

(ก)  นายวินัยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมินทั้ง  2  รายการในประเทศไทย

(ข)  นายวินัยไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  2  นายสมชายและนางสมศรีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งสองมีบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูด้วยกันหนึ่งคนคือ  นายน้อย  อายุ  22  ปี  เป็นคนวิกลจริต  นายสมชายเปิดร้านขายเครื่องไฟฟ้าในปี  พ.ศ.2550  มีเงินได้จากการขายเครื่องไฟฟ้าตลอดทั้งปีเป็นเงินจำนวน  500,000  บาท  ส่วนนางสมศรีเปิดร้านขายเสื้อผ้าอยู่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง  ในปี  พ.ศ.2550  มีเงินได้จากการขายเสื้อผ้าตลอดทั้งปีเป็นเงินจำนวน  400,000  บาท  ทั้งสองได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  สิ้นปีนายสมชายและนางสมศรีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี  แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการคำนวณภาษีจึงไปปรึกษานายแดงซึ่งมีร้านค้าอยู่ใกล้เคียงกัน  นายแดงได้ให้คำปรึกษาแก่นายสมชายว่าการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี  (ภ.ง.ด.90)  ให้นายสมชายและนางสมศรีต่างคนต่างยื่นแบบแสดงรายการคนละฉบับ  และต่างคนต่างคำนวณภาษีของตนเอง  ส่วนบุตรชายให้ทั้งสองนำมาหักลดหย่อนได้คนละกึ่งหนึ่ง  เพราะนายน้อยเป็นบุตรที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลทั้งสอง

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำปรึกษาของนายแดงที่ให้แก่นายสมชายถูกต้องตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้  รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอาการที่ผู้จ่ายเงิน  หรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(8) เงินได้จากการธุรกิจ  การพาณิชย์  การเกษตร  การอุตสาหกรรม  การขนส่ง  หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน

(1) ถึง (7) แล้ว

มาตรา  47  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  เมื่อได้หักตามมาตรา  42  ทวิถึงมาตรา  46  แล้ว  เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี  ให้หักลดหย่อนภาษีได้อีกดังต่อไปนี้

(1) ลดหย่อนให้สำหรับ

(ค)  บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย  คนละ  15,000  บาท  แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน

การหักลดหย่อนสำหรับบุตร  ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา  หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์  หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในอุปการะเลี้ยงดู  แต่มิให้หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่  15,000  บาทขึ้นไป  โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา  42

มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก  ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่  ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา  57  ตรีก็ได้

วินิจฉัย

โดยหลักในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น  ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี  และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี

คำปรึกษาของนายแดงที่ให้แก่นายสมชายไม่ถูกต้อง  เพราะนายสมชายและนางสมศรีเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  เมื่อนางสมศรีมีเงินได้จากการขายเสื้อผ้าซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  8  ตามมาตรา  40(8)  นางสมศรีจึงต้องนำเงินได้จากการขายเสื้อผ้าไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีรวมกับนายสมชาย  เพราะถือว่าเงินได้ของนางสมศรีเป็นเงินได้ของนายสมชาย และให้นายสมชายมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีตามมาตรา  57  ตรี  วรรคแรก

สำหรับการหักลดหย่อนบุตร  การที่นายแดงให้คำปรึกษาว่าให้นายสมชายและนางสมศรีนำบุตรมาหักได้คลละกึ่งหนึ่ง  เป็นการให้คำปรึกษาที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน  เพราะบุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนได้จะต้องเป็นผู้เยาว์หรือบุตรที่อายุไม่เกิน  25  ปี  และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย  หรือคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารุและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้เท่านั้น  แต่นายน้อยแม้จะเป็นบุตรที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูแต่นายน้องก็เป็นเพียงคนวิกลจริตเท่านั้น  เพราะศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะนำมาหักลดหย่อนได้ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  47(1)(ค)  วรรคแรกและวรรคสี่ 

สรุป  คำปรึกษาของนายแดงที่ให้นายสมชายไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  3  ในปี  พ.ศ.2550  บริษัทไทยบริการ  จำกัด  ได้จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ประกอบกิจการโรงแรมในประเทศไทย  และเปิดสาขา  (Branch)  ประกอบกิจการภัตตาคารในประเทศเวียดนาม  บริษัทฯมีรายได้จากการประกอบกิจการในประเทศ  20  ล้านบาท  และมีรายได้จากสาขาในประเทศเวียดนาม  7  ล้านบาท  โดยรายได้จากกิจการภัตตาคารไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย  ดังนี้  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2550  บริษัทไทยบริการ  จำกัด  จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ดังกล่าวอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  66  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย  ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องนำรายได้จากทั่วโลก  (Worldwide  Income Basis)  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรโดยรวมสาขาในต่างประเทศทุกสาขา  

บริษัทไทยบริการ  จำกัด  เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ดังนั้น  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2550  บริษัทไทยบริการ  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการประกอบการทั้งหมด  กล่าวคือ  รายได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย  20  ล้านบาท  และรายได้จากสาขาในเวียดนาม  7  ล้านบาท  เป็นจำนวนทั้งสิ้น  27  ล้านบาท  มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร  มาตรา 66  วรรคแรก

สรุป  บริษัทไทยบริการ  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการประกอบการทั้งหมด  27  ล้านบาท  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  4  บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศกัมพูชา  มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพร  ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการใดๆในประเทศไทย  บริษัทต้องการที่จะเผยแพร่สูตรการผลิตยาสมุนไพรในประเทศไทย  โดยผู้ที่ต้องการใช้สูตรในการผลิตยาสมุนไพรต่างๆสามารถติดต่อผ่านทางตัวแทน  คือ  นายเตียฮองซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชา  และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย  เมื่อตกลงกันได้แล้วบริษัทก็จะคิดค่าใช้สูตรในการผลิตโดยตรงจากผู้ที่ขอใช้สูตรดังกล่าว  บริษัทเณรแอร์สมุนไพร  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทย  มีความสนใจในสูตรการผลิตยาสมุนไพรดังกล่าวนี้  จึงได้ติดต่อผ่านทางนายเตียฮอง  และต่อมาสามารถตกลงกันได้โดยบริษัทเณรแอร์ต้องจ่ายค่าสิทธิในการผลิตให้แก่  Cambodia  Herb  เป็นเงินจำนวน  10  ล้านบาทต่อปี  ซึ่งเป็นการจ่ายตรงให้แก่  Cambodia  Herb  ไม่ผ่านทางนายเตียฮองแต่อย่างใด  ดังนี้  อยากทราบว่าบริษัท Cambodia  Herb  จำกัด  นายเตียฮอง  และบริษัทเณรแอร์สมุนไพร  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือ  เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์  ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น  เงินปี  หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม  นิติกรรมอย่างอื่น  หรือคำพิพากษาของศาล

มาตรา  70  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(2)(3)(4)(5)  หรือ  (6)  ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย  ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น  ทั้งนี้ให้นำมาตรา  54  มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  มีลูกจ้าง  หรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อ  ในการประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และไม่มีสาขาในประเทศไทย  หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  กำหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2       มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทย

3       ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทย

บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการใดๆในประเทศไทย  แต่การที่บริษัทมีนายเตียฮองซึ่งเป็นตัวแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินค่าสิทธิในการผลิตยาสมุนไพรอันเป็นเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  ถือว่า บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  ประกอบกิจการในประเทศไทย  นายเตียฮองซึ่งเป็นตัวแทนจึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีสำหรับเงินได้ดังกล่าว  ดังนั้นบริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยโดยนายเตียฮองเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบรายการภาษีดังกล่าว  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก

สำหรับการที่บริษัทเณรแอร์สมุนไพร  จำกัด  ได้จ่ายเงินค่าสูตรในการผลิตสมุนไพรให้แก่บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  แม้ว่าจะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(3)  ก็ตาม  แต่เมื่อเป็นกรณีที่ถือว่า บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  ประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา  76  ทวิ  วรรคแรกแล้ว  จึงไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา  70  วรรคแรกอีก บริษัทเณรแอร์สมุนไพร  จำกัด  จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่งค่าสิทธิในการผลิตยาสมุนไพรที่จ่ายให้แก่บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  แต่อย่างใด

สรุป  บริษัท  Cambodia  Herb  จำกัด  มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยโดยมีนายเตียฮองเป็นผู้มีอำนาจยื่นแบบรายการภาษีดังกล่าว  สำหรับเงินค่าสูตรในการผลิตยา  บริษัทเณรแอร์สมุนไพร  จำกัด  ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี 

Advertisement