การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายวิเชียรทำงานอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนๆละ 50,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2550 นายวิเชียรได้ประกอบพิธีสมรสและจดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิสมัย ในการสมรสครั้งนี้นายสมศักดิ์บิดาของนายวิเชียรได้ยกเรือนหอให้แก่นายวิเชียรและนางพิสมัย 1 หลัง ราคา 3 ล้านบาท ก่อนทำการสมรสนางพิสมัยได้ทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิตจำกัด อายุกรมธรรม์มีกำหนด 15 ปี ส่งเบี้ยประกันปีละ 15,000 บาท หลังจากสมรสแล้วนางพิสมัยไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้นายวิเชียรได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และถูกรางวัล 30,000 บาท ดังนี้อยากทราบว่า
(ก) เงินได้ที่นายวิเชียรได้รับทั้งเงินเดือน เรือนหอ และรางวัลสลากกินแบ่งจะต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นายวิเชียรจะนำนางพิสมัยมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ และเงินเบี้ยประกันชีวิตของนางพิสมัยนายวิเชียรจะนำมาหักลดหย่อนเบี้ยประกันในปีภาษี 2550 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
มาตรา 42 เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
(10) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดกหรือจากการให้โดยเสน่ห์หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
(11) รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสินของรัฐบาล รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขัน ซึ่งผู้รับมิได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน หรือสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามกระทำความผิด
มาตรา 47 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนให้สำหรับ
(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ง) เบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาญาจักร
ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการประกันชีวิตของสามีหรือภริยานั้นตามเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง
วินิจฉัย
(ก) เงินเดือนที่นายวิเชียรได้รับจะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพราะเป็นเงินที่ได้รับจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคแรก
สำหรับเงินได้จากเรือนหอราคา 3 ล้านบาทที่นายวิเชียรและนางพิสมัยได้รับจากนายสมศักดิ์บิดาเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เพราะเรือนหอนั้นได้ให้ในวันสมรส ซึ่งเป็นเงินได้จากการให้โดยเสน่ห์หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(10)
ส่วนเงินได้จากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นายวิเชียรได้รับจำนวน 30,000 บาท ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(11)
(ข) นายวิเชียรสามารถนำนางพิสมัยมาหักลดหย่อนได้เพราะนางพิสมัยเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่จำต้องอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี และนางพิสมัยก็ไม่ได้ประกอบอาชีพใดจึงนำมาหักลดหย่อนได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (1)(ข)
ส่วนเงินเบี้ยประกันชีวิตของนางพิสมัย นายวิเชียรจะนำมาหักลดหย่อนไม่ได้ เพราะการจะหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตนั้นจะต้องเป็นกรณีที่สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ทั้งนี้ให้หักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการประกันชีวิตของสามีหรือภริยาได้ไม่เกิน 10,000 บาท แต่กรณีนี้ นายวิเชียรและนางพิสมัยมิได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี (ปีภาษีคือ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.) จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (1)(ง) วรรคสอง
สรุป
(ก) เงินได้ที่นายวิเชียรได้รับเฉพาะเงินเดือนเท่านั้นที่ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(ข) นายวิเชียรสามารถนำนางพิสมัยมาหักลดหย่อนได้ แต่ในส่วนเบี้ยประกันชีวิตในปีภาษี 2550 นายวิเชียรไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
ข้อ 2 Food Production & Corporation (ชื่อย่อ “Food Production” เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีสาขาอยู่ในประเทศไทย สำนักงานใหญ่ของ Food Production มีข้อผูกพันตามสัญญาที่จะต้องจ่ายค่าบริการในการติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าให้แก่ Machine Service Corporation จำนวน 100 ล้านบาท จึงได้สั่งให้สาขาในประเทศไทยส่งเงินจำนวน 80 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่าบริการดังกล่าว ดังนี้ อยากทราบว่าสาขาในประเทศไทยของ Food Production จะนำเงินจำนวน 80 ล้านบาท ที่ส่งไปชำระค่าบริการของสำนักงานใหญ่มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในประเทศไทยได้หรือไม่ และจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินจำนวนดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 65 วรรคแรก เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนดสิบสองเดือน
มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสิทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย
มาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
(14)รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ
มาตรา 70 ทวิ วรรคแรก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้นตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันจำหน่าย
วินิจฉัย
แม้ว่า Food Production สาขาประเทศไทยและสำนักงานใหญ่จะเป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ Food Production ในกรณีนี้จะต้องเสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชี และการคำนวณกำไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคสอง ดังนั้น ทั้งรายได้และรายจ่ายที่จะใช้ในการคำนวณสุทธิจะต้องเกี่ยวเนื่องกับกิจการในประเทศไทย การที่ Food Production สาขาประเทศไทยส่งเงินจำนวน 80 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ชำระค่าบริการของสำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (14) และไม่อาจนำรายจ่ายดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิของสาขาได้ตามกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตามการที่ Food Production สาขาประเทศไทยส่งเงินจำนวน 80 ล้านบาท ไปใช้ในการชำระค่าบริการซึ่งเป็นรายจ่ายของสำนักงานใหญ่ ถือว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้โดยหักจากจำนวนเงินที่จำหน่ายออกไปตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกรณีนี้คืออัตราร้อยละ 10 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิวรรคแรก
สรุป Food Production ไม่สามารถนำเงินจำนวน 80 ล้านบาท มาหักเป็นรายจ่ายได้แต่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยหักจากจำนวนที่จำหน่ายออกไปในอัตราร้อยละ 10
ข้อ 3 เด็กชายแดงเป็นผู้เยาว์และมีบิดาชอบด้วยกฎหมายคือ นายดำ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าทั้งคู่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตลอดปีภาษี 2550 และในปีภาษีดังกล่าว เด็กชายแดงได้รับเงินปันผลจากหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย เป็นจำนวนเงิน 1,400,000 บาท
จงวินิจฉัยว่าหากเงินได้ดังกล่าวถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีประจำปีแล้ว
(ก) เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินของเด็กชายแดง หรือถือเป็นเงินได้ของนายดำผู้เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย และเพราะเหตุใด
(ข) เงินได้ดังกล่าวจะสามารถเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ และหากได้รับจำนวนเครดิตภาษีจะมีจำนวนเท่าใด และเครดิตดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด (อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 30)
ธงคำตอบ
มาตรา 39 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย
มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(4) เงินได้ที่เป็น
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายดังกล่าว
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้มีเงินได้และความเป็นสามีของบิดาและมาดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดา
มาตรา 47 ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้นได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด
วินิจฉัย
(ก) การที่เด็กชายแดงได้รับเงินปันผลจากหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ข) เมื่อเด็กชายแดงได้รับเงินปันผลในขณะยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยมีนายดำบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ในกรณีเช่นนี้ เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายดำผู้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย อันถือว่าเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายแดง ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ได้รับเงินปันผล ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ข) วรรคสอง
(ข) เงินได้ดังกล่าว สามารถได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 47 ทวิ เนื่องจากบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และผู้รับเงินปันผลเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ในกรณีนี้จะได้รับเครดิตภาษีเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสีย (ร้อยละ30) หารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าว และคูณด้วยจำนวนเงินปันผลที่ได้รับ
และเครดิตภาษีจำนวน 600,000 บาท ดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายดำด้วย
สรุป
(ก) เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้ของนายดำ
(ข) เงินได้ดังกล่าวสามารถได้รับเครดิตภาษีเป็นจำนวน 600,000 บาท และให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายดำด้วย
ข้อ 4 บริษัทอเมริกัน โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทอเมริกันฯได้ซื้อหุ้นของบริษัทเทเลคอมไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000 ล้านบาท ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2550 บริษัทเทเลคอมไทยฯ ได้จ่ายเงินปันผล จำนวน 10 ล้านบาทให้แก่บริษัทอเมริกันฯ โดยโอนเงินผ่านธนาคารและมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
จงวินิจฉัยว่า บริษัทเทเลคอมไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) จะมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(4) เงินได้ที่เป็น
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายดังกล่าว
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้มีเงินได้และความเป็นสามีของบิดาและมาดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดา
มาตรา 70 วรรคแรก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
การหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1 ผู้รับเงินต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และ
3 เงินได้ที่จ่ายจะต้องเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยเท่านั้น
บริษัทอเมริกัน โอลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2550 ได้รับเงินปันผลจำนวน 100 ล้านบาท ที่จ่ายจากประเทศไทยโดยบริษัทเทเลคอมไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เงินได้ดังกล่าวถือว่าเป็นเงินได้จากเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุนส่วนนิติบุคคล อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ข) ดังนั้น บริษัทเทเลคอมไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้จ่าย ต้องมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก
สรุป บริษัทเทเลคอมไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลดังกล่าว