การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 นายอาร์กู้ยืมเงินจากนายเอ 20,000,000 บาท เพื่อนําเงินไปวางมัดจําในการซื้อรถยนต์ซุปเปอร์คาร์ ยี่ห้อรัมโพนิกี้ รุ่นมาร์ธาร์ออ จากนายวีพ่อค้าในราคา 35,000,000 บาท ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวนายวีได้รับซื้อมาจากนายยอร์นนี่ในราคา 10,000,000 บาท ซึ่งนายยอร์นนี่ ได้ลักขโมยจากเจ้าของในต่างประเทศและได้ถูกลักลอบนําเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย โดยนายอาร์ ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 539589 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 80 ตารางวา ให้นายโอยึดไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าว ทั้งนี้นายโอไม่ทราบเหตุผลในการกู้ยืมดังกล่าว โดยที่นายวียังมิได้บอกเหตุผลดังกล่าวให้บุคคลใดทราบเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นายโอได้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวต่อจากนายอาร์ในราคา 45,000,000 บาท โดยนายโอและนายอาร์ได้ตกลงหักกลบลบหนี้กันจํานวน 20,000,000 บาท แล้ว และให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับหมดสิ้น แต่นายโอไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 589589 ดังกล่าว ให้แก่นายอาร์ โดยอ้างว่า ขอเก็บไว้เป็นที่ระลึกและนายอาร์ก็ไม่ติดใจเรียกเอาโฉนดที่ดินดังกล่าว คืนอีกเลย ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอาร์ นายโอ และนายวี ได้ออกไปนอกราชอาณาจักรไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในปีภาษี 2560 เงินได้พึงประเมินรายการดังกล่าว ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้พึงประเมินตามรายการดังกล่าว จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่นายอาร์กู้ยืมเงินจากนายโอ 20,000,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ยนั้น ถือว่าการที่ นายอาร์ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเป็นประโยชน์ที่นายอาร์ได้รับซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน ประโยชน์ที่นายอาร์ ได้รับดังกล่าวซึ่งคิดเป็นเงินได้จํานวน 1,500,000 บาท (20,000,000 x อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี) จึงถือ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเงินได้ที่นายอาร์ได้รับแล้วตามเกณฑ์เงินสด ดังนั้น นายอาร์จึงต้องนําเงิน 1,500,000 บาท มาคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2 การที่นายวีได้ขายรถยนต์ซุปเปอร์คาร์ ยี่ห้อรัมโพนิกี้ รุ่นมาร์ธาร์ออ ให้แก่นายอาร์ ในราคา 35,000,000 บาท ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวนายวีได้รับซื้อมาจากนายยอร์นนี้ในราคา 10,000,000 บาท ทําให้ นายวีได้กําไร 25,000,000 บาทนั้น เงินกําไรดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ตามหลักเกณฑ์เงินสด นายวีจะต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทย และเป็นเงินได้เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง

3 การที่นายอาร์ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายโอในราคา 45,000,000 บาท ทําให้ นายอาร์ได้กําไร 10,000,000 บาท เงินกําไรที่นายอาร์ได้รับจํานวน 10,000,000 บาทดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 ตามหลักเกณฑ์เงินสด นายอาร์จะต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้ เนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทย และเป็นเงินได้เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง

ส่วนการที่นายโอได้รับมอบเอกสารโฉนดที่ดิน เลขที่ 589589 จากนายอาร์เพื่อยึดถือไว้เป็น หลักประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวนั้น แม้โฉนดที่ดินจะเป็นทรัพย์สินและถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ที่นายโอได้รับเนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อนายโอยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามโฉนดที่ดินดังกล่าว นายโอจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด

สรุป

นายอาร์จะต้องนําประโยชน์ที่ได้รับคือดอกเบี้ยจํานวน 1,500,000 บาท และเงินกําไร จากการขายรถยนต์ดังกล่าวจํานวน 10,000,000 บาท มาคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นายวีจะต้องนํากําไรจากการขายรถยนต์ดังกล่าวจํานวน 25,000,000 บาท มาคํานวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนนายโอไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ข้อ 2 ในปีภาษี 2560 นายหมื่นเป็นแพทย์แผนกกุมารเวชที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครได้รับเงินเดือน ๆ ละ 100,000 บาท โดยในช่วงเวลาเย็น นายหมื่นยังเปิดคลินิกของตนเองเพื่อ ตรวจโรคทั่วไปสําหรับเด็กโดยไม่มีเตียงคนไข้สําหรับค้างคืน มีรายได้ตลอดปีจํานวน 1,000,000 บาท และบางวันนายหมื่นได้ออกไปตรวจรักษาคนไข้ที่บ้านของคนไข้เองเป็นการส่วนตัว มีรายได้ตลอดปี จํานวน 200,000 บาท นอกจากนี้นายหมื่นยังได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ของ ธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทยจํานวน 15,000 บาท นายหมื่นมีบุตรชาย 1 คน ชื่อนายพัน อายุ 17 ปี ซึ่งมิได้กําลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาแห่งใด นายพันได้รับของขวัญวันเกิดจากนางสาวผา แฟนสาว เป็นเงินสดจํานวน 31,000 บาท ให้วินิจฉัยว่าเงินได้ของนายหมื่นเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทใด ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีหรือไม่ และนายหมื่นสามารถหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน

(4) เงินได้ที่เป็น

(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่

(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม”

มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้

(8) ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้

(ค) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภท ออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจํานวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดปีภาษี นั้น. (ปัจจุบันมีประกาศกรมสรรพากรฯ ฉบับที่ 55 กําหนดเพิ่มจํานวนดอกเบี้ยเป็น 20,000 บาท)

(28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น”

มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้

(1) ลดหย่อนให้สําหรับ

(ก) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

(ค) บุตร

(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี หรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้ของนายหมื่นเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และต้องนํามารวม เพื่อเสียภาษีหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 เงินเดือนที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดือนละ 100,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา

2 รายได้จากการเปิดคลินิกของตนเองแบบไม่มีเตียงคนไข้สําหรับค้างคืนจํานวน 1,000,000 บาท และรายได้จากการออกไปตรวจรักษาคนไข้ที่บ้านของคนไข้เองจํานวน 200,000 บาท ที่รายได้ มีจํานวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความยากง่ายและปริมาณของงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ตามมาตรา 40 (6) เพราะเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ และต้องนําเงินได้ทั้ง 2 จํานวนดังกล่าวมาคํานวณเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3 ดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์จํานวน 15,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ก) และเมื่อมีจํานวนไม่เกิน 20,000 บาท จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องนํามาคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40 (8) ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับที่ 55

สําหรับการหักลดหย่อนนั้น นายหมื่นสามารถหักลดหย่อนสําหรับตัวผู้มีเงินได้เองจํานวน 60,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ก) และสามารถหักลดหย่อนบุตรได้อีกจํานวน 30,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ค) เนื่องจากนายพันเป็นผู้เยาว์ และเงินได้จํานวน 31,000 บาทขึ้นายพันได้รับจากนางสาวผาแฟนสาว เป็นของขวัญวันเกิดนั้นมีจํานวนไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี และเป็นเงินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาจากบุคคล ซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (28) กรณี จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ให้หักค่าลดหย่อนบุตรตามมาตรา 47 วรรคสามตอนท้ายที่ว่า “แต่มิให้หักลดหย่อน สําหรับบุตรที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้า ลักษณะตามมาตรา 42”

สรุป

เงินได้พึงประเมินที่นายหมื่นต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ คือ เงินเดือนตาม มาตรา 40 (1) รายได้จากการเปิดคลินิกฯ และรายได้จากการออกไปตรวจรักษาที่บ้านของคนไข้ตามมาตรา 40 (6) แต่ไม่ต้องนําดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) มาคํานวณเพื่อเสียภาษี โดยนายหมื่นสามารถหักลดหย่อนสําหรับตัวผู้มีเงินได้และบุตรได้ ตามมาตรา 47 (1) (ก) และ (ค)

 

 

ข้อ 3 บริษัท เกรท ไฟแนนซ์ กรุ๊ป จํากัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และดําเนินกิจการด้านการเงินครบวงจรในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในรอบบัญชี ปี พ.ศ. 2560 บริษัทฯ ได้ส่งมิสเตอร์เบอร์นี่เข้ามาเป็นตัวแทนในการติดต่อ ทําสัญญา ให้คําปรึกษา และดูแลกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ ที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดจนเกิดรายได้จากการให้คําปรึกษา จํานวน 400 ล้านบาท บริษัทฯ จะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ เพราะเหตุใด และหากมี การส่งรายได้นั้นกลับประเทศสหรัฐอเมริกาไปยังบริษัทฯ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร และจะชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 วรรคหนึ่ง “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”

มาตรา 66 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”

มาตรา 70 ทวิ วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจําหน่ายเงินกําไรหรือเงิน ประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกําไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกําไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้ โดยหักภาษี จากจํานวนเงินที่จําหน่ายนั้นตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนําส่งอําเภอท้องที่ พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันจําหน่าย”

มาตรา 71 “ในกรณีที่

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ไม่ยื่นรายการซึ่งจําเป็นต้องใช้ในการคํานวณภาษี ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ หรือมิได้ทําบัญชีหรือทําไม่ครบตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 17 หรือมาตรา 68 ทวิ หรือ ไม่นําบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทําการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอํานาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขาย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อนหักรายจ่ายหรือ ยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฎเจ้าพนักงานประเมินมีอํานาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอด ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้า ยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไปไม่ปรากฏให้ประเมินได้ตามที่ เห็นสมควร

มาตรา 76 ทวิ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและ ให้ถือว่า บุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้น มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือ ผลกําไรที่กล่าวแล้ว

ในกรณีที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ไม่สามารถจะคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ได้ ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษี ตามมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่มีสาขาใน ประเทศไทย หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง กําหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2 มีลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในประเทศไทย

3 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกําไรในประเทศไทย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เกรท ไฟแนนซ์ กรุ๊ป จํากัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศ สหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และในรอบบัญชีปี 2560 บริษัทฯ ได้ส่งนายเบอร์นี้เข้ามาเป็น ตัวแทนในการติดต่อ ทําสัญญา ให้คําปรึกษา และดูแลกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ ที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นเหตุให้ บริษัทฯ มีรายได้จากการให้คําปรึกษาจํานวน 400 ล้านบาทนั้น ถือว่าบริษัทฯ ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง และให้นายเบอร์นี่ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทฯ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อเสียภาษีแทนบริษัทฯ ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง โดยเสียภาษีจากฐาน กําไรสุทธิตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าหากไม่สามารถคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้เจ้าพนักงานประเมิน มีอํานาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 76 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1)

และในกรณีที่มีการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีแล้ว หากต่อมาได้มีการจําหน่ายเงินกําไร จากรายได้ดังกล่าวกลับไปยังบริษัทฯ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะต้องเสียภาษีจากการจําหน่ายเงินกําไรตาม มาตรา 70 ทวิอีกด้วย

สรุป

บริษัท เกรท ไฟแนนซ์ กรุ๊ป จํากัด โดยนายเบอร์นี่ตัวแทนจะต้องนํารายได้จํานวน 400 ล้านบาทที่ได้รับในประเทศไทยมาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และถ้าหากมีการส่งรายได้นั้น กลับไปยังบริษัทฯ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะต้องเสียภาษีจากการจําหน่ายรายได้นั้นด้วย

Advertisement