การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยสวน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายแสงเป็นคนไทย ทํางานอยู่ที่บริษัท ช็อกโกเวิลด์ จํากัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 100,000 บาท นายแสงได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวและมาเก็บค่าเช่าบ้านที่ตนปล่อยเช่า โดยนํากําไลข้อมือราคา 300,000 บาท ซึ่งนําเงินเดือนสะสมตั้งแต่ต้นปีไปซื้อติดตัวเข้ามาประเทศไทยด้วย เมื่อนายแสงเยี่ยมครอบครัวเสร็จ จึงไปเก็บค่าเช่าบ้านจํานวน 50,000 บาทแล้วรีบกลับประเทศอังกฤษในปลายเดือนมิถุนายน เพราะเกรงว่าตนจะต้องเสียภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่ ให้วินิจฉัยว่านายแสงต้องนําจํานวนเงินได้ข้างต้น มาเสียภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทํา ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ นายแสงจะต้องนําจํานวนเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 กรณีกําไลข้อมือ ซึ่งนายแสงได้นําเงินเดือนสะสมตั้งแต่ต้นปีไปซื้อมาราคา 300,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินในความหมายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แม้เงินได้พึงประเมินดังกล่าวจะเกิดขึ้น เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในต่างประเทศ และนายแสงได้นําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายแสงได้อยู่ในประเทศไทยเพียง 1 เดือน ซึ่งไม่ถึง 180 วันในปีภาษี ดังนั้นนายแสงจึงไม่ต้องนํา จํานวนเงินได้ดังกล่าวนี้มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม
2 กรณีเงินค่าเช่า จํานวน 50,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดจากทรัพย์สินที่อยู่ ในประเทศไทย ดังนั้น นายแสงจึงต้องนําเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยตาม หลักแหล่งเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แม้นายแสงจะมิได้อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันก็ตาม
สรุป
นายแสงไม่ต้องนําเงินได้พึงประเมินจากกําไลข้อมือมาคํานวณเพื่อเสียภาษี แต่จะต้อง นําเงินได้พึงประเมินจากเงินค่าเช่าจํานวน 50,000 บาท มาคํานวณเพื่อเสียภาษีให้กับประเทศไทย
ข้อ 2 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 นายโอ นายเม และนายก้า ได้ตกลงร่วมกันเป็นผู้ก่อการและจะจัดตั้งบริษัท สยามบะหมี่ จํากัด ซึ่งเป็นกิจการค้าขายบะหมี่ โดยกิจการดังกล่าวได้จดทะเบียนจัดตั้ง และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 กิจการฯ ดังกล่าวได้ทําสัญญาว่าจ้างนายฮาร์ดอร์ก้าให้เริ่มงานทันที โดยสัญญาได้ถูกทําขึ้นที่ประเทศมอนเตเนโกร และในขณะทําสัญญานั้นนายฮาร์ดอร์ก้ามีภูมิลําเนา อยู่ที่ประเทศมอนเตเนโกร สัญญาจ้างดังกล่าวกําหนดให้นายฮาร์ดอร์ก้าทํางานที่จังหวัดภูเก็ตในตําแหน่งผู้จัดการเป็นเวลา 10 เดือน ค่าจ้างเดือนละ 400,000 บาท ตลอดระยะเวลาการทํางานนายฮาร์ดอร์ก้านําลูกชาย อายุ 17 ปีมาอยู่ด้วย แต่ในส่วนลูกสาวอายุ 12 ปีให้อยู่กับภริยาที่ประเทศมอนเตเนโกรมิได้เข้ามา ในประเทศไทย ต่อมาเมื่อครบ 10 เดือน ตามสัญญาจ้างแล้ว กิจการค้าขายบะหมีดังกล่าวมีเงินได้พึงประเมิน 10 ล้านบาท โดยนายฮาร์ดอร์ก้ามีส่วนสําคัญที่ทําให้เกิดเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นายโอจึงร่วมเดินทางไปส่งนายฮาร์ดอร์ก้าที่ประเทศมอนเตเนโกร แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินทางดังกล่าวบุคคลทั้งสองได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2559 ที่กิจการค้าขายบะหมี่และนายฮาร์ดอร์ก้า ได้รับจะต้องหักค่าลดหย่อนตามประมวลรัษฎากรอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือ นอกประเทศ
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนให้สําหรับ
(ก) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
(ค) บุตร
(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี หรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท
การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี และยังศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยหรือขั้นอุดมศึกษา หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์…แต่มให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมิน ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42
(3) ในกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย การหักลดหย่อนตาม (1) (ข) และ (1) ให้หักได้เฉพาะสามีหรือภริยาและบุตรที่อยู่ในประเทศไทย
(4) ในกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายมีชีวิตอยู่ ตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย
(6) ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ…ให้หักลดหย่อนได้ตาม (1) (ก) สําหรับผู้เป็นหุ้นส่วน แต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ถึงแก่ความตาย เสียก่อนที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครอง ทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีปฏิบัติแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2559 ที่กิจการค้าขายบะหมี่และ นายฮาร์ดอร์ก้าได้รับ จะต้องหักค่าลดหย่อนตามประมวลรัษฎากรอย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 กิจการค้าขายบะหมี่ การที่นายโอ นายเม และนายก้า ได้ตกลงร่วมกันเป็นผู้ก่อการและจะจัดตั้งบริษัท สยามบะหมี จํากัด ซึ่งเป็นกิจการค้าขายบะหมี่ โดยกิจการดังกล่าวได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 นั้น ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นบริษัท ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อกิจการฯ นี้ประกอบกิจการ
และมีเงินได้พึงประเมิน 10 ล้านบาท เงินได้ดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการในรูปของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น จึงต้องนําเงินได้พึงประเมินจํานวน 10 ล้านบาท ไปคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยถือว่าผู้มีเงินได้นั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
ในการหักลดหย่อนนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกัน ต้องไม่เกิน 120,000 บาท ดังนั้น เมื่อเงินได้พึงประเมินที่กิจการค้าขายบะหมี่ได้รับในปีภาษี 2559 เมื่อนําไปคํานวณ เพื่อเสียภาษีจึงหักลดหย่อนได้ 120,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ก) และมาตรา 47 (6)
2 เงินได้ที่นายฮาร์ดอร์ก้าได้รับ การที่นายฮาร์ดอร์ก้าได้ทํางานในตําแหน่งผู้จัดการที่ จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 10 เดือน ค่าจ้างเดือนละ 400,000 บาทนั้น เงินได้พึงประเมินที่นายฮาร์ดอร์ก้าได้รับทั้งหมด ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย ดังนั้น นายฮาร์ดอร์ก้าจึงต้องนําเงินได้ดังกล่าวไปคํานวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง และแม้ว่านายฮาร์ดอร์ก้าจะได้ถึงแก่ความตาย ในระหว่างปีภาษี ก็จะต้องนําเงินได้นั้นไปคํานวณเพื่อเสียภาษีโดยให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีเป็นผู้ปฏิบัติแทนตามมาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง
ในการหักลดหย่อนนั้น ให้นายฮาร์ดอร์ก้าหักลดหย่อนได้เสมือนนายฮาร์ดอร์ก้ายังมี ชีวิตอยู่ (มาตรา 74 (4)) และเมื่อนายฮาร์ดอร์ก้าได้ทํางานในประเทศไทย 10 เดือนจึงครบ 180 วัน จึงให้ถือว่า นายฮาร์ดอร์ก้าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสาม) ดังนั้น ในการหักลดหย่อนจึงหักได้ปกติตามเกณฑ์ ที่กฎหมายกําหนดไม่ต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 74 (3) กล่าวคือสามารถหักลดหย่อนในนามของผู้มีเงินได้ ได้ 60,000 บาท ภริยาหักได้ 60,000 บาท และบุตรทั้ง 2 คนหักได้คนละ 30,000 บาท ตามมาตรา 74 (1) (ก) (ข) และ (ค) (1) รวมแล้วจะหักลดหย่อนได้ 180,000 บาท
สรุป
เงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2559 ที่กิจการค้าขายบะหมี่ได้รับหักลดหย่อนได้ 120,000 บาท ส่วนเงินได้พึงประเมินที่นายฮาร์ดอร์ก้าได้รับ หักลดหย่อนได้ 180,000 บาท
ข้อ 3 บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นและประกอบธุรกิจอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งนายโมจิเป็นตัวแทนมาติดต่อทําสัญญาซื้อขายเครื่องจักรโรงงานให้กับ บริษัท ไทยจักรกล จํากัด ในประเทศไทย โดยการชําระราคาเครื่องจักร 10 ล้านบาท ทางบริษัท ไทยจักรกล จํากัด จะส่งเงินไปให้บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยตนเอง กรณีนี้บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด มีภาระภาษีที่ต้องเสียให้กับประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุ ใด หากมีภาระภาษีที่ต้องเสียให้กับประเทศไทยจะเสียด้วยวิธีการใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 65 วรรคหนึ่ง “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี…”
มาตรา 66 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
มาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของ ต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับ เงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและ ให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และ ความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกําไรที่กล่าวแล้ว”
วินิจฉัย
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในการประกอบกิจการ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ประกอบกิจการในประเทศไทย และเมื่อให้ถือว่าเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงเข้า หลักเกณฑ์ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ว่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ คือตามบทบัญญัติในมาตรา 65 วรรคหนึ่งนั่นเอง ซึ่งต้องเสียภาษีจากฐานกําไรสุทธิที่คํานวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการหักด้วย รายจ่ายตามเงื่อนไขที่กฎหมายกําหนด
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ ญี่ปุ่นและประกอบธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งนายโมจิเป็นตัวแทนมาติดต่อทําสัญญาซื้อขายเครื่องจักรโรงงาน ให้กับบริษัท ไทยจักรกล จํากัด ในประเทศไทยนั้น แม้ทางบริษัท ไทยจักรกล จํากัด จะส่งเงินไปให้บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยตนเองก็ตาม ก็ถือว่าบริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียน จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้มีตัวแทนผู้ทําการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ในประเทศไทยจํานวน 10 ล้านบาท ตามมาตรา 76 ทวิ ดังนั้น บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด จึงต้องมีภาระภาษีที่ต้องเสียให้กับประเทศไทย โดยให้นายโมจิเป็นผู้ทําหน้าที่ ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด โดยเสียภาษีจากฐานภาษี กําไรสุทธิที่คํานวณได้จากรายได้จํานวน 10 ล้านบาทดังกล่าวตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 65 วรรคหนึ่ง
สรุป
บริษัท อาคิโนะ แมชชีน จํากัด มีภาระภาษีที่ต้องเสียให้กับประเทศไทย โดยให้นายโมจิ เป็นตัวแทนในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคํานวณจากฐานภาษีกําไรสุทธิที่คํานวณได้ จากรายได้จํานวน 10 ล้านบาท ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 65 วรรคหนึ่ง