การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายโอลิ้งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ มีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559นายโอลิ้งได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย ในการเดินทางมาครั้งนี้นายโอลิ้งได้นําเงินที่เก็บสะสมได้ ของปี พ.ศ. 2558 เนื่องจากการทํางานที่ประเทศอังกฤษเข้ามาด้วย จํานวน 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 บริษัท ยางสยาม จํากัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทย และได้ทํา สัญญาว่าจ้างนายโอลิ้งในขณะที่อยู่ในประเทศไทย ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 บริษัทฯ ได้ทําสัญญาจ้างใหม่นายโอลิ้งรับตําแหน่งผู้ตรวจการ ดําเนินงานประจําสํานักงานสาขาในประเทศสิงคโปร์ โดยสํานักงานสาขาดังกล่าวเป็นผู้ชําระค่าจ้าง ให้แก่นายโอลิ้งทั้งหมดโดยไม่บันทึกค่าจ้างเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ และส่งนายโอลิ้งไปประจําสาขาฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นเวลา 5 เดือน ต่อมานายโอลิ้งได้เดินทางกลับมาทํางานให้แก่บริษัทฯ ใน ประเทศไทยจนสิ้นปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ เงินค่าจ้างทุก ๆ เดือน ในปี พ.ศ. 2559 นายโอลิ้งจะได้รับโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายโอลิ้ง ในประเทศสิงคโปร์ทุกเดือน อย่างไรก็ตามนายโอลิ้งได้ใช้เงินเดือนส่วนที่ได้รับในขณะที่ตนทํางาน อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด โดยไม่นําเงินเดือนค่าจ้างเข้าประเทศไทยเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า เงินได้รายการดังกล่าวนายโอลิ้งต้องยื่นแบบแสดงรายการชําระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี พ.ศ. 2560 ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทํา ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
ตามอุทาหรณ์ เงินได้รายการต่าง ๆ ดังกล่าวของนายโอลิ้งต้องยื่นแบบแสดงรายการชําระ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี พ.ศ. 2560 ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 เงินจํานวน 5 ล้านบาท นายโอลิ้งไม่ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่านายโอลิ้งจะอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน ในปีภาษี 2559 และได้นําเงินได้จํานวน 5 ล้านบาท ที่ได้จากหน้าที่งานที่ทําในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกับที่ อยู่ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามเงินได้ที่นําเข้ามานั้นมิใช่เป็นเงินได้ที่ได้รับในปีเดียวกับที่อยู่ในประเทศไทย แต่เป็นเงินสะสมที่ได้รับในปี พ.ศ. 2558 จึงไม่เข้าเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
2 ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้ เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย เข้าเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ว่านายโอลิ้ง เป็นคนสัญชาติอังกฤษ มีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศอังกฤษก็ตาม
3 ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ไม่ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะ ถึงแม้ว่านายโอลิ้งจะอยู่ในประเทศครบ 180 วัน ในปีภาษี 2559 แต่นายโอลิ้งได้ใช้เงินเดือนส่วนที่ได้รับในขณะที่ตน ทํางานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด โดยไม่นําเงินเดือนค่าจ้างเข้าประเทศไทยเลย จึงไม่เข้าเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ใช่กรณีตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง เพราะกรณีนี้เป็นเงินได้จากกิจการของ นายจ้างนอกประเทศไทย เนื่องจากนายโอลิ้งรับตําแหน่งงานประจําที่ประเทศสิงคโปร์ และเนื่องจากสํานักงานสาขา ในประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ชําระค่าจ้างให้แก่นายโอลิ้งทั้งหมด โดยไม่บันทึกค่าจ้างเป็นรายจ่ายของบริษัท ยางสยาม จํากัด ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยเลย
4 ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้ เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย เข้าเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ว่านายโอลิ้ง เป็นคนสัญชาติอังกฤษ มีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศอังกฤษก็ตาม
สรุป เงินได้ที่นายโอลิ้งจะต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี พ.ศ. 2560 คือ ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 และที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559
ส่วนเงินจํานวน 5 ล้านบาท และค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไม่ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อ 2 นายรักไทยพ่อหม้าย เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ภาษีอิสระ มีบุตรชอบด้วยกฎหมาย 2 คน คือนางสาวน้ำฟ้า อายุ 22 ปี เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในชั้นปีสุดท้าย และนายเพียงดินอายุ 16 ปี เรียนโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทย ปีภาษี 2559 นี้ นายรักไทยมีรายได้จากปันผล ของการลงทุนในหุ้น 10 ล้านบาท จากการรับวางแผนภาษีให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติคนหนึ่ง ได้รับค่าปรึกษาจํานวน 10 ล้านบาท มีคอนโดมิเนียมให้เช่าจํานวน 10 ห้อง ได้ค่าเช่าตกเดือนละ 200,000 บาท และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานายรักไทยได้รับมรดกเป็นรถยนต์โบราณหนึ่งคัน ราคาหนึ่งล้านบาท จากพินัยกรรมของลุงของนายรักไทยซึ่งเสียชีวิตมูลค่า 10 ล้านบาท เดือนเมษายน นางสาวน้ําฟ้าได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดร้องเพลงจากรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งจํานวน 50,000 บาท และนายเพียงดินได้รับว่าจ้างให้เป็นนายแบบโฆษณาได้รับค่าจ้างเป็นนายแบบครั้งนี้ จํานวน 10,000 บาท อยากทราบว่าปีภาษี 2559 นี้ นายรักไทยได้รับเงินพึงประเมินประเภทใดบ้าง และต้องนําเงินได้พึงประเมินทั้งหมดคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เพราะเหตุใด และหากจะหักลดหย่อนบุตรทั้งสองของนายรักไทยจะสามารถทําได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(4) เงินได้ที่เป็น
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกําไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วน…
(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน
(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม
(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”
มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้
(9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทาง การค้าหรือหากําไร”
มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนสําหรับ
(ก) ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วย กฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย… คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน
การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและยังศึกษาอยู่ ในมหาวิทยาลัย หรือชั้นอุดมศึกษาหรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ อันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42
(ฉ) บุตรของผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนตามเงื่อนไขใน (ค) และยังศึกษาอยู่ใน สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชนหรือโรงเรียนราษฎร์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ให้หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้พึงประเมินที่นายรักไทยได้รับในปีภาษี 2559 เป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทใด และต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 รายได้จากปันผลของการลงทุนในหุ้น 10 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ข) และต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2 รายได้จากการรับวางแผนภาษีให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติโดยได้รับค่าปรึกษาจํานวน 10 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ตามมาตรา 40 (6) เพราะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ และต้อง นํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3 รายได้จากการให้เช่าคอนโดมิเนียม จํานวน 10 ห้อง ตกเดือนละ 200,000 บาท เป็น เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40 (5) เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน และต้องนํามา เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
4 รายได้จากการรับมรดกเป็นรถยนต์โบราณหนึ่งคันราคา 1 ล้านบาท จากพินัยกรรม ของลุงของนายรักไทยซึ่งเสียชีวิตมูลค่า 10 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) แต่ ไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (9)
และเมื่อนายรักไทยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี นายรักไทยจะนําบุตรทั้งสองมาหัก ลดหย่อนได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 กรณีของนางสาวน้ําฟ้า แม้จะมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในปีภาษีนั้น นางสาวน้ําฟ้าได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดร้องเพลง 50,000 บาท ซึ่งถือว่า มีเงินได้พึงประเมินเกิน 15,000 บาท และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ดังนั้น นายรักไทยจะนําบุตรคนนี้มาหักลดหย่อนไม่ได้
2 กรณีของนายเพียงดิน ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีอายุ 16 ปีนั้น นายรักไทยสามารถนําบุตรคนนี้ มาหักลดหย่อนได้ 17,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ค) และ (ฉ) และแม้นายเพียงดินจะมีเงินได้พึงประเมินและเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ก็ตาม แต่เป็นเงินได้ที่มีจํานวนเพียง 10,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 15,000 บาท แต่อย่างใด
สรุป รายได้ที่นายรักไทยได้รับในปีภาษี 2559 เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และต้องนํามา เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่เป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ส่วนการหักลดหย่อนบุตรนั้น นายรักไทยสามารถนํานายเพียงดินมาหักลดหย่อนได้ เพียงคนเดียว โดยหักได้จํานวน 17,000 บาท
ข้อ 3 บริษัท ลอนดอนฟิล์ม จํากัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทจํากัด ค.ศ. 2006 ของประเทศสหราชอาณาจักร (โดยไม่ต้องคํานึงถึงสนธิสัญญาภาษีซ้อน) ในปี พ.ศ. 2559 บริษัทฯ ได้ส่งฟิล์มภาพยนตร์ทางพัสดุไปรษณีย์ทางอากาศมาให้บริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด ซึ่งเป็นบริษัท จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย เช่าฉายในประเทศไทย โดยบริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด ได้ส่งค่าเช่าฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวไปให้บริษัท ลอนดอนฟิล์ม จํากัด ที่ประเทศ สหราชอาณาจักร คิดเป็นเงินไทยจํานวน 10 ล้านบาท และปรากฏว่าเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 2559 บริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด มีกําไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการฉายภาพยนตร์ในประเทศไทย จํานวน 5 ล้านบาท ทั้งนี้อยากทราบว่าบริษัท ลอนดอนฟิล์ม จํากัด และบริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัดมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชําระอย่างไร
ธงตําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน
มาตรา 65 วรรคหนึ่ง “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”
มาตรา 66 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
มาตรา 70 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการ ตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นํามาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท ลอนดอนฟิล์ม จํากัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของ ประเทศสหราชอาณาจักร มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีเงินได้จากค่าเช่าฟิล์มภาพยนตร์ที่บริษัทฯ ได้ ส่งมาให้บริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด ในประเทศไทยเช่าฉายในประเทศไทย และได้รับเงินค่าเช่า ซึ่งถือเป็นเงินได้ พึงประเมินประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40 (5) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ดังนั้น บริษัท ลอนดอนฟิล์ม จํากัด จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคหนึ่ง โดยให้ผู้จ่ายคือบริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด หักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายคือ 10 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 15 แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่น แบบแสดงรายการภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น
ส่วนบริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เมื่อบริษัทฯ มีกําไรสุทธิ ที่ได้รับจากการประกอบกิจการฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยจํานวน 5 ล้านบาท บริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด จึง ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเสียจากฐานกําไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง
สรุป บริษัท ลอนดอนฟิล์ม จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง และบริษัท บางกอกฟิล์ม จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น