การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายบัวขาวนักชกมวยแชมป์แห่งประเทศไทย ได้ชกมวยชิงแชมป์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ปีภาษี 2557 นี้ นายบัวขาวได้ชกมวยและชนะน็อคจํานวน 3 ครั้งในประเทศไทย ได้รับเงินรางวัล 15 ล้านบาท เงินทั้งหมดฝากธนาคารไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ และปีภาษีเดียวกันนี้นายบัวขาวยังเดินทางไปชกชิงแชมป์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศส ได้รับเงินรางวัลจํานวน 30 ล้านบาทในจํานวน 20 ล้านบาทฝาก เอาไว้ที่ธนาคารประเทศสิงคโปร์อีกเช่นกัน และได้นําติดตัวเข้ามาในไทยในเดือนมิถุนายน 2557 จํานวน 10 ล้านบาท ปีภาษี 2557 นายบัวขาวมีโปรแกรมอยู่ในประเทศไทย คือเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มิถุนายน พฤศจิกายน ธันวาคม นอกจากนั้นจะเดินทางไปแข่งขันที่ต่างประเทศทั้งหมด อยากทราบว่า เงินได้ทั้ง 3 จํานวน อันได้แก่ 15 ล้านบาท 20 ล้านบาท และ 10 ล้านบาทตามลําดับที่นายบัวขาวได้รับตลอดปีภาษี 2557 นี้ ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับ ประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาระ เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้ทั้ง 3 จํานวนที่นายบัวขาวได้รับตลอดปีภาษี 2557 ต้องนํามาเสีย ราษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) เงินได้จากเงินรางวัลการชกมวยจํานวน 15 ล้านบาทที่ได้รับในประเทศไทย ถือเป็น ได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย และเป็นเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศ แม้เงินได้ทั้งหมดนายบัวขาวจะฝากธนาคารไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ นายบัวขาวก็จะต้องนําเงินได้จํานวน 15 ล้านบ ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคแรก
(2) เงินได้จากเงินรางวัลการชกมวยที่ต่างประเทศของนายบัวขาวจํานวน 30 ล้านบาท ใน จํานวน 20 ล้านบาทที่นายบัวขาวได้ฝากไว้ที่ธนาคารประเทศสิงคโปร์นั้น ถือเป็นเงินได้ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ เกิดขึ้นนอกประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในต่างประเทศ เมื่อนายบัวขาว ไม่ได้เอาเงินได้จํานวนดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้และในปีภาษีนายบัวขาว ก็อยู่ในประเทศไทยไม่ครบ 180 วัน ดังนั้น นายบัวขาวจึงไม่ต้องนําเงินได้จํานวน 20 ล้านบาทดังกล่าวมาเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม
ส่วนเงินได้จากเงินรางวัลการชกมวยที่ต่างประเทศอีกจํานวน 10 ล้านบาทนั้น แม้นายบัวขาว จะได้นําติดตัวกลับเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายบัวขาว มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเพราะอยู่ในประเทศไทยไม่ครบ 180 วัน ดังนั้น นายบัวขาวจึงไม่ต้องนําเงินได้ จํานวน 10 ล้านบาทดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม
สรุป
นายบัวขาวจะต้องนําเงินได้จํานวน 15 ล้านบาทที่ได้รับจากการชกมวยในประเทศไทย มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ส่วนเงินได้จํานวน 30 ล้านบาทที่ได้รับจากการชกมวยใน ต่างประเทศนั้นไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย
ข้อ 2 นายโชกุนกับนางดอกไม้เป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือเด็กชายโอ อายุ 13 ปี กําลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง ซึ่งนายโชกุนได้จดทะเบียนรับรอง เด็กชายโอเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว และได้อุปการะเลี้ยงดูตลอดมา นายโชกุนทํางานอยู่ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557 นายโชกุนได้จดทะเบียนสมรสกับนางบางโพ ซึ่งนางบางโพทํางานอยู่บริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในปีภาษี 2558 นายโชกุนและนางบางโพได้ แยกยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.91) สําหรับเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับ โดย นายโชกุนได้นําเด็กชายโอบุตรของตนมาหักค่าลดหย่อน 17,000 บาท ตามที่เคยยื่น ในปีภาษี 2557 ซึ่งนางบางโพมีความประสงค์จะนําเด็กชายโอบุตรของนายโชกุนสามีมาหักลดหย่อนด้วย ดังนี้ ให้ ท่านวินิจฉัยว่า นายโชกุนนําบุตรของตนมาหักลดหย่อน 17,000 บาทชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่
และนางบางโพจะนําบุตรของนายโชกุนมาหักลดหย่อนในส่วนของตนได้หรือไม่ เพียงใดเพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน”
มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนสําหรับ
(ก) ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วย กฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน
การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและยัง ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือขั้นอุดมศึกษาหรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถ อันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปี ภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42
(ฉ) บุตรของผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนตามเงื่อนไขใน (ค) และยังศึกษาอยู่ใน สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชนหรือโรงเรียนราษฏร์ตาม กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ให้หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท”
มาตรา 57 ฉ วรรคสาม “สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันโดยให้ ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษี เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายโชกุนสามีและนางบางโพภริยาได้ทํางานอยู่บริษัทเอกชนและมีเงินได้ คือเงินเดือนนั้น ถือว่าทั้งสองมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน และเมื่อทั้งสองต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และมีความประสงค์จะแยกยื่นแบบแสดง รายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2558 สําหรับเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับย่อมสามารถทําได้ ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม และทั้งสองสามารถนําเด็กชายโอซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโชกุน มาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47 (1) (ค)
ในการหักลดหย่อนนั้น เมื่อเด็กชายโอมีอายุ 13 ปี และกําลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง นายโชกุนย่อมสามารถนําเด็กชายโอมาหักลดหย่อนได้ 17,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ค) (ฉ) ดังนั้น การที่ นายโชกุนนําบุตรของตนมาหักลดหย่อน 17,000 บาท จึงขอบด้วยประมวลรัษฎากร
ส่วนนางบางโพเมื่อได้แยกยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีจากนายโชกุนตามมาตรา 57 ฉ วรรคสาม ก็ย่อมสามารถนําเด็กชายโอซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโชกุนสามีมาหักลดหย่อนใน ส่วนของตนได้ตามมาตรา 47 (1) (ค) (ฉ) โดยหักได้เต็มจํานวนคือ 17,000 บาท เช่นเดียวกัน
สรุป
การที่นายโชกุนนําบุตรของตนมาหักลดหย่อน 17,000 บาทนั้น ชอบด้วยประมวลรัษฎากร
นางบางโพสามารถนําบุตรของนายโชกุนมาหักลดหย่อนในส่วนของตนได้ และหักได้เต็มจํานวนคือ 17,000 บาท
*** หมายเหตุ 1 เดิมประมวลรัษฎากรมาตรา 57 เบญจ ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ สามีและภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และสามีภริยาต่างฝ่ายต่างแยกยื่นรายการและเสียภาษีเงิน ได้พึงประเมินดังกล่าว ในการหักลดหย่อนสําหรับบุตรตามมาตรา 47 (1) (ค) และ (2) นั้นให้หักคนละกึ่งหนึ่ง แต่ ในปัจจุบันมาตรา 57 เบญจได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2556
และมีผลใช้บังคับสําหรับเงินได้ในปีภาษี 2555 เป็นต้นไป (ทําให้สามีและภริยาที่แยกยื่นรายการและเสียภาษี สามารถหักลดหย่อนบุตรได้เต็มจํานวนคือหักได้คนละ 15,000 บาทหรือ 17,000 บาทแล้วแต่กรณี)
2 ประมวลรัษฎากรมาตรา 57 ฉ เป็นบทบัญญัติใหม่ตามพระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2556 ใช้บังคับสําหรับเงินได้ในปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ในรอบระยะเวลาบัญชี 2557 บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีสาขา (Branch) ในประเทศไทย ได้ส่งลูกจ้างเข้ามาในประเทศไทย เป็นตัวแทนทําสัญญากับบริษัท สยามเทคโนโลยี จํากัด เพื่อสร้างเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาระบุให้บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ฯ ทําการผลิต เครื่องจักรดังกล่าวด้วยวัตถุดิบของบริษัทให้แล้วเสร็จ ณ โรงงานของบริษัท หลังจากนั้นให้ส่งมอบ เครื่องจักรฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนการจ่ายเงินบริษัท สยามเทคโนโลยี จํากัด จะชําระเงินโดยวิธี เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ไปยังบริษัทอเมริกันฮาร์ดแวร์ฯ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง จงวินิจฉัย ว่าเงินค่าจ้างที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้รับตามสัญญาจะถือเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยและต้องนํามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสําคัญ นอกจากเครื่องมือ”
มาตรา 66 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
มาตรา 70 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการ ตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นํามาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของ ต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ ได้รับเงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และให้ถือว่า บุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้น มีหน้าที่และความรับผิดในการยืนรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกําไร ที่กล่าวแล้ว”
วินิจฉัย
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่มีสาขา ในประเทศไทย หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก กําหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่
1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
2 มีลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในประเทศไทย
3 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกําไรในประเทศไทย สําหรับตาม เงื่อนไขประการที่ 3 นี้ต้องพิจารณา ตามลักษณะของสัญญาด้วย เช่น สัญญาจ้างทําของหรือให้บริการ ให้ถือเอา สถานที่ให้บริการเป็นสําคัญ หากรับจ้างทําของหรือให้บริการนั้นได้ทําในต่างประเทศ ทั้งหมดก็ไม่ถือว่าบริษัทต่างประเทศนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย แม้สัญญานั้นจะได้ทําในประเทศไทยก็ตาม
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา และไม่มีสาขาในประเทศไทย ได้ส่งลูกจ้างเข้ามาในประเทศไทยเป็นตัวแทนทําสัญญา กับบริษัท สยามเทคโนโลยี จํากัด เพื่อสร้างเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาระบุให้บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ทําการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวด้วยวัตถุดิบของบริษัทให้แล้วเสร็จ ณ โรงงานของบริษัท และหลังจากนั้นให้ส่งมอบเครื่องจักรฯ ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น จะเห็นได้ว่า แม้จะได้มีการทําสัญญากันในประเทศไทย ก็ตาม แต่การผลิตเครื่องจักรอันถือเป็นสาระสําคัญของสัญญาจ้างทําของนั้นได้กระทําที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือไม่ได้ว่า บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือ ผลกําไรในประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนั้นเงินค่าบริการที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้รับตามสัญญาจึงไม่ถือว่า เป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย และไม่ต้องนําเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก กําไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 66 วรรคแรก และมาตรา 76 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
และเงินได้ดังกล่าวเมื่อเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) มิใช่เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 70 วรรคแรก บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด จึงไม่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้จํานวนดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นเงินได้ที่ จ่ายจากประเทศไทยก็ตาม
สรุป
เงินค่าจ้างที่บริษัท อเมริกันฮาร์ดแวร์ จํากัด ได้รับตามสัญญาไม่ถือว่าเป็นเงินได้จาก การประกอบกิจการในประเทศไทย และไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร