การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3112 (LAW 3012) กฎหมายปกครอง
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 คณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขและจํานวนเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลง มีมติให้นายแดงเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพและได้ออกประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิและไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย และแจ้งให้ทราบ โดยวิธีจัดส่งประกาศให้นายอําเภอ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอําเภอ ที่ทําการ กํานัน ผู้ใหญ่บ้านตามลําดับ ขอให้ท่านวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นนิติกรรมทาง ปกครองประเภทใดหรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 5 “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติ ท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
“คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่า จะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการ รับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
วินิจฉัย
กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองโดยนัยของมาตรา 5 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ
1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่
2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย
3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคล
4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขและจํานวนเงินชดเชยพิเศษ แทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพจังหวัดลพบุรี มีมติให้นายแดงเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ และได้ออกประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิและไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย และได้แจ้งให้ทราบ โดยวิธีจัดส่งประกาศให้นายอําเภอ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอําเภอ ที่ทําการกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามลําดับนั้น มติของคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของนายแดง
ในการได้รับเงินชดเชยพิเศษฯ โดยตรง และเมื่อมตินั้นได้ออกโดยการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ โดยมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งและมีผลใช้บังคับกับบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง
ดังนั้น มติของ คณะกรรมการฯ ดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมทางปกครองประเภทคําสั่งทางปกครอง ตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
สรุป มติของคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว เป็นนิติกรรมทางปกครองประเภท คําสั่งทางปกครอง
ข้อ 2 นายเขียวร้องต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า นายขาวทนายความของตนยักยอกเงินคณะกรรมการสภาทนายพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีมูลจึงมีคําสั่งไม่รับคํากล่าวหาคดีมารยาททนายความ แต่เนื่องจากข้อบังคับมารยาททนายความไม่ได้กําหนดเรื่องอุทธรณ์คําสั่งไว้โดยเฉพาะ ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเขียวจะฟ้องขอให้เพิกถอนคําสั่งไม่รับคํากล่าวหาคดีมารยาททนายความต่อศาลปกครองโดยตรงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 3 “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกําหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนด ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้ ในกฎหมาย”
มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”
มาตรา 44 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใด ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณี อุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว
คําอุทธรณ์ต้องทําเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย”
และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
มาตรา 42 วรรคสอง “ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไข ความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการ ดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลา อันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกําหนด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวร้องต่อคณะกรรมการสภาทนายความซึ่งเป็นหน่วยงานทาง ปกครองว่า นายขาวทนายความของตนยักยอกเงิน แต่คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีมูล จึงมีคําสั่งไม่รับคํากล่าวหาคดีมรรยาททนายความดังกล่าวนั้น คําสั่งไม่รับคํากล่าวหาคดีมรรยาททนายความของ คณะกรรมการสภาทนายความดังกล่าวถือเป็นคําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
และด้วยเหตุที่ข้อบังคับมรรยาททนายความไม่ได้กําหนดเรื่องการอุทธรณ์คําสั่งไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวของนายเขียวจึงต้องนําเรื่องการอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 3 มาใช้บังคับ กล่าวคือ นายเขียวจะต้องอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าว โดยทําเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการสภาทนายความภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเขียวไม่ได้อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด แต่นายเขียวจะฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคําสั่งไม่รับคํากล่าวหาคดีมรรยาททนายความโดยตรงเลยนั้น นายเขียวไม่อาจทําได้เพราะ ต้องห้ามตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งได้ วางหลักไว้ว่า การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนคําสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
จะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้มีการดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายได้กําหนดไว้แล้ว คือได้มีการอุทธรณ์ คําสั่งทางปกครองนั้นแล้วนั่นเอง ดังนั้น เมื่อนายเขียวไม่ได้อุทธรณ์คําสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความไว้ ก่อนแต่อย่างใด นายเขียวจึงไม่สามารถนําคดีนั้นไปยื่นฟ้องเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวได้
สรุป นายเขียวจะฟ้องขอให้เพิกถอนถอนคําสั่งไม่รับคํากล่าวหาคดีมรรยาททนายความต่อศาลปกครองโดยตรงไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวไว้ก่อน
ข้อ 3 โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งทําสัญญาซื้อขายเครื่องมือจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาปรากฏว่า โรงพยาบาลดังกล่าวได้ผิดสัญญาบางข้อเกิดขึ้น ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า บริษัทเอกชนรายนี้จะฟ้องให้ โรงพยาบาลรับผิดตามสัญญาได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง”
และตามมาตรา 3 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ไว้ว่า
“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทํา บริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทธรณ์ การที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ทําสัญญา ซื้อขายเครื่องมือจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งนั้น แม้สัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาที่ทําขึ้นระหว่างหน่วยงานทาง ปกครองฝ่ายหนึ่งกับบริษัทเอกชนอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อเป็นสัญญาที่คู่สัญญามีเจตนาที่จะผูกพันตนบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคกัน อีกทั้งวัตถุประสงค์ของสัญญานั้นก็ไม่ใช่สัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญา ที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครองตามนัยของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น เมื่อต่อมาปรากฏว่าโรงพยาบาลดังกล่าวได้ผิดสัญญาบางข้อเกิดขึ้น ข้อพิพาท เกี่ยวกับการผิดสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณา พิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ดังนั้น ถ้าบริษัทเอกชนรายนี้จะฟ้องให้โรงพยาบาลรับผิด ตามสัญญา จึงต้องฟ้องโรงพยาบาลที่ศาลยุติธรรม จะนําคดีไปฟ้องที่ศาลปกครองไม่ได้
สรุป บริษัทเอกชนรายนี้จะต้องฟ้องโรงพยาบาลให้รับผิดตามสัญญาได้ที่ศาลยุติธรรม
ข้อ 4 คนงานของเทศบาลแห่งหนึ่งทําการลอกคลองและทําความสะอาดถนน ทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ นายเหลืองได้รับความเสียหายเสื้อผ้าสกปรกและต้องผิดนัดในการเจรจาธุรกิจ เนื่องจากต้องกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าและไปเจรจาธุรกิจสําคัญไม่ทันเกิดความเสียหาย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเหลือง จะฟ้องเทศบาลให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)
“ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คําสั่งทางปกครองหรือคําสั่งอื่น หรือ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) กรณีที่จะถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเรียกว่า “ละเมิดทางปกครอง” และจะเป็น คดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ดังนี้ คือ
1 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ
2 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้ คือ
(1) การใช้อํานาจตามกฎหมาย
(2) การออกกฎ คําสั่งทางปกครอง หรือคําสั่งอื่น
(3) การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ
(4) การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คนงานของเทศบาลแห่งหนึ่งได้ทําการลอกคลองและทําความสะอาดถนนและได้ทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายเหลืองได้รับความเสียหายเสื้อผ้าสกปรกและต้องผิดนัดในการเจรจาธุรกิจนั้น การกระทําของคนงานของเทศบาลดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการกระทําละเมิดเนื่องจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด และไม่ใช่เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีอื่น ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแต่อย่างใด แต่เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่ว ๆ ไปของคนงานที่ไม่ได้ใช้ ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณี จึงไม่ใช่การทําละเมิดทางปกครอง แต่เป็นละเมิดทางแพ่ง ดังนั้น ข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธี พิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หากนายเหลืองจะฟ้องให้เทศบาลรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ในกรณีดังกล่าว นายเหลืองจะต้องฟ้องเทศบาลเป็นคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรม
สรุป นายเหลืองจะต้องฟ้องเทศบาลให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่ศาลยุติธรรม