การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “จําเลยทําสัญญากู้เงินกับโจทก์ไว้ 500,000 บาท ไม่ยอมชําระ ขอให้จําเลย ชําระเงินกู้” โดยแนบเอกสารสัญญากู้ไปในคําฟ้อง จําเลยยื่นคําให้การว่า “หนี้ดังกล่าวไม่ใช่การกู้เงินแต่เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะขอให้ศาลยกฟ้อง”

Advertisement

ต่อมาในวันชี้สองสถาน จําเลยให้การด้วยวาจาเพิ่มเติมว่า “หนี้ดังกล่าวเกิดตั้งแต่ 11 ปีที่แล้ว การฟ้องคดีนี้จึงเป็นกรณีที่ขาดอายุความ”

ให้ท่านจงตั้งประเด็นข้อพิพาท และกําหนดภาระการพิสูจน์ในคดีนี้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็น ประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า
ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า “จําเลยทําสัญญากู้เงินกับโจทก์ไว้ 500,000 บาท ไม่ยอมชําระ ขอให้จําเลยชําระเงินกู้” โดยแนบเอกสารสัญญากู้ไปในคําฟ้อง จําเลยยื่นคําให้การว่า “หนี้ดังกล่าวไม่ใช่การกู้เงิน แต่เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะขอให้ศาลยกฟ้อง” นั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจําเลยกู้เงินจากโจทก์จริงหรือไม่ ย่อมเป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ต้องสืบพยานเพราะมิใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดี แต่การที่จําเลย ให้การว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยกล่าวอ้างขึ้นใหม่ และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่รับ กรณีนี้จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทว่า “สัญญากู้เป็นโมฆะเนื่องจากเล่นการพนันหรือไม่” และเมื่อจําเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบจึงตกแก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

(2) ในวันชี้สองสถาน การที่จําเลยให้การด้วยวาจาเพิ่มเติมว่า “หนี้ดังกล่าวเกิดตั้งแต่ 11 ปีที่แล้ว การฟ้องคดีจึงเป็นกรณีที่ขาดอายุความ” นั้น เมื่อประเด็นเรื่องอายุความไม่อยู่ในคําคู่ความ เพราะมิใช่คําให้การ ที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3)
มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นเดียวคือ “สัญญากู้เป็นโมฆะเนื่องจากเล่นการพนัน
หรือไม่” และเมื่อจําเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์ในคดีนี้จึงตกแก่ฝ่ายจําเลย

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า “สัญญากู้เป็นโมฆะเนื่องจากเล่นการพนันหรือไม่” และภาระ การพิสูจน์ในคดีนี้ตกแก่ฝ่ายจําเลย

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายและวินิจฉัยดังต่อไปนี้

2.1 จากโจทก์ข้อ 1. ถ้าโจทก์ไม่ได้ระบุเอกสารสัญญากู้ในบัญชีพยานของโจทก์ ศาลจะรับฟัง เอ เสารสัญญากู้ได้หรือไม่

2.2 หากจําเลยต้องการจะนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าหนี้ดังกล่าวมิได้เป็นหนี้จากการกู้แต่เป็นหนี้ การพนัน พยานบุคคลนั้นจะต้องห้ามรับฟังตามมาตรา 94 หรือไม่

2.3 หากเอกสารอยู่กับบุคคลภายนอกคดีแล้วจําเลยต้องการนํามาเป็นพยานหลักฐานจะมีวิธีการ
ขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารนั้นมายังศาลได้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่

(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐาน อันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจรับฟังพยาน หลักฐานเช่นว่านั้นได้”

มาตรา 88 “เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจํานงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใด….เพื่อเป็นพยานหลักฐาน สนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน…”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93
และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความ ครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
ส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

2.1 จากโจทก์ข้อ 1. ถ้าโจทก์ไม่ได้ระบุเอกสารสัญญากู้ในบัญชีพยานของโจทก์นั้น โดยหลักแล้ว ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานคือเอกสารสัญญากู้นั้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ โจทก์ฟ้องจําเลยนั้น โจทก์ได้แนบเอกสารสัญญากู้ไปในคําฟ้องด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้แสดงความจํานงที่จะ อ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้ระบุเอกสารสัญญากู้ในบัญชีพยานของโจทก์ แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานนั้นเนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่สําคัญเกี่ยวกับ ประเด็นสําคัญในคดี ศาลย่อมมีอํานาจรับฟังพยานหลักฐานคือเอกสารสัญญากู้นั้นได้ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 87 (2) ประกอบมาตรา 88

2.2 การที่จําเลยต้องการจะนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าหนี้ดังกล่าวมิได้เป็นหนี้จากการกู้แต่เป็น หนี้การพนันนั้น ไม่ถือว่าเป็นการนําสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อได้นําเอกสารมาแสดง แล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) แต่อย่างใด แต่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จําเลยจึงสามารถนําพยานบุคคลเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง

2.3 ในกรณีที่เอกสารอยู่กับบุคคลภายนอกคดีแล้วจําเลยต้องการนํามาเป็นพยานหลักฐานนั้น จําเลยย่อมสามารถทําได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 โดยยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลให้สั่งให้บุคคลภายนอก ส่งต้นฉบับเอกสารนั้นได้ และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ให้ศาลมีคําสั่งให้บุคคลภายนอกยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่จําเลยจะต้องส่ง คําสั่งศาลให้แก่บุคคลภายนอกผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

สรุป
2.1 ศาลสามารถรับฟังเอกสารสัญญากู้ได้
2.2 จําเลยสามารถนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าหนี้ตามเอกสารสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ได้
2.3 จําเลยจะต้องขอให้ศาลเรียกเอกสารนั้นโดยปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายประพันธ์จําเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ โดยมีนายกวีเป็นผู้เสียหาย ในวันสืบพยานพนักงานอัยการนํานายมานะพยานโจทก์คนแรกเข้าสืบโดยมีนายโจเซฟชาวฝรั่งเศสพยานโจทก์คนที่สอง และนายมนัสพยานจําเลยนั่งฟังการสืบพยาน อยู่ด้วย เมื่อสืบพยานนายมานะเสร็จสิ้น พนักงานอัยการอ้าง น.ส.ทอฝัน เป็นล่ามแปลภาษาให้กับ นายโจเซฟซึ่งฟังและพูดภาษาไทยไม่ได้ ก่อนเบิกความนายโจเซฟได้สาบานตนเป็นภาษาอังกฤษ และมี น.ส.ทอฝันแปลคําถามและคําตอบให้โดยที่ น.ส.ทอฝันไม่ได้ทําการสาบานตนก่อนการ ทําหน้าที่เป็นล่าม เมื่อนายโจเซฟสืบพยานเสร็จ ทนายจําเลยก็นํานายมนัสพยานจําเลยเข้าสืบต่อโดยฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ ปรากฏว่าหมดเวลาทําการ ศาลจึงเลื่อนสืบพยานนายมนัส ต่อในนัดหน้า ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลยไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบ อุบัติเหตุถูกรถชนถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการจึงได้ทําการคัดค้านมิให้ศาลรับฟังคําซักถามที่ นายมนัสเบิกความไว้ก่อนแล้ว โดยมิได้มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์ ส่วนทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้าน ไม่ให้ศาลรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองที่ได้รับฟังคําเบิกความของนายมานะพยานโจทก์คนแรกด้วย

หากศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้และการที่นายโจเซฟฟังคําเบิกความของพยานคนก่อนนั้นไม่มีผลต่อคําเบิกความของนายโจเซฟเนื่องจากนายโจเซฟไม่อาจเข้าใจในคําพูดของนายมานะพยานโจทก์คนแรกได้ จึงรับฟังคําเบิกความ ของนายโจเซฟ และคําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลย เช่นนี้การรับฟังคําเบิกความดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่

มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมี อํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้

แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีก ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัย ชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”

มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว

เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้ ….”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 13 วรรคสี่ “เมื่อมีล่ามแปลคําให้การ คําพยานหรืออื่น ๆ ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่ามต้อง สาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทําหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล”

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะพยานโจทก์คนแรกได้เบิกความต่อหน้านายโจเซฟพยานโจทก์ ซึ่งจะเบิกความเป็นคนที่สองนั้น แม้ว่าการเบิกความของนายมานะจะขัดต่อ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 และทนายฝ่ายจําเลยได้คัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังแล้วก็ตาม แต่ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาด ของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้ และศาลอาจรับฟังคําเบิกความ ของนายโจเซฟพยานโจทก์คนที่สองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝัน นั้น มิได้ทําการสาบานตนก่อนการทําหน้าที่เป็นล่าม จึงถือว่าเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อาญา มาตรา 13 วรรคสี่ ดังนั้น แม้ศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส. ทอฝัน มีน้ําหนักน่าเชื่อถือได้ก็ตาม ศาลก็จะรับฟัง คําแปลคําเบิกความนั้นไม่ได้

ส่วนคําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยที่ฝ่ายจําเลยได้ซักถามนายมนัสจนเสร็จ ปรากฏว่าเมื่อหมดเวลาทําการ ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานนายมนัสต่อในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดนายมนัสพยานจําเลย ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถชนถึงแก่ความตาย ทําให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจถามค้าน นายมนัสได้นั้นก็มิได้มีบทบัญญัติใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ที่กําหนดให้การถามพยานจะต้องทําครบถ้วน ทุกขั้นตอนก่อนจึงจะรับฟังได้ (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539) ดังนั้น ศาลสามารถรับฟังคําเบิกความ ของนายมนัสพยานจําเลยได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป ศาลจะรับฟังคําเบิกความของนายโจเซฟตามคําแปลของ น.ส.ทอฝันไม่ได้ แต่สามารถรับฟัง คําเบิกความของนายมนัสพยานจําเลยได้

Advertisement