การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3111 (LAW 3011) กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยโดยอ้างว่าโจทก์และจําเลยเป็นทายาทของนายรวย โดยนายรวยมีมรดก เป็นที่ดินมีโฉนด 2 แปลง คือ แปลงเลขที่ 1234 และเลขที่ 5678 แต่เมื่อนายรวยตาย จําเลยได้ เป็นผู้จัดการมรดกจึงได้ใส่ชื่อจําเลยเป็นเจ้าของในที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ ขอให้จําเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ตน
จําเลยยื่นคําให้การต่อสู้ว่าที่ดินแปลงที่ 1234 นั้น นายรวยให้ตนไว้ตั้งแต่ก่อนตายแล้ว จึงไม่ใช่ เป็นทรัพย์มรดกอันต้องแบ่งกับโจทก์ ส่วนที่ดินแปลงที่ 5678 นั้นเป็นมรดกที่โจทก์และจําเลย ตกลงกันแล้ว โดยโจทก์ตกลงจะรับเงินไป 1 ล้านบาท และให้จําเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ ทั้งหมด โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ในกรณีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”
มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2. ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)
การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยโดยอ้างว่าโจทก์และจําเลยเป็นทายาทของนายรวย โดยนายรวยมีมรดก เป็นที่ดินมีโฉนด 2 แปลง คือ แปลงเลขที่ 1234 และเลขที่ 5678 แต่เมื่อนายรวยตาย จําเลยได้เป็นผู้จัดการมรดก จึงได้ใส่ชื่อจําเลยเป็นเจ้าของในที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ ขอให้จําเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ตน โดยจําเลยให้การ ต่อสู้ว่าที่ดินแปลงที่ 1234 นั้น นายรวยให้ตนไว้ตั้งแต่ก่อนตายแล้ว จึงไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกอันต้องแบ่งกับโจทก์ ส่วนที่ดินแปลงที่ 5678 นั้นเป็นมรดกที่โจทก์และจําเลยตกลงกันแล้ว โดยโจทก์ตกลงจะรับเงินไป 1 ล้านบาท และให้จําเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ทั้งหมด โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ ขอให้ศาลยกฟ้องนั้น
จากคําฟ้องของโจทก์ และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ที่ดินแปลงที่ 1 คือ แปลงเลขที่ 1234 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายรวยผู้ตายจึงเป็น ทรัพย์มรดก แต่จําเลยให้การว่านายรวยได้ให้ตนไว้ตั้งแต่ก่อนตายจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดก ดังนั้น จากคําฟ้องและ คําให้การดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินแปลงเลขที่ 1234 เป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ และถือว่าเป็น
คดีโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
2. ที่ดินแปลงที่ 2 คือ แปลงเลขที่ 5678 โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายรวยผู้ตาย เมื่อจําเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายรวยผู้ตายและเป็นทรัพย์มรดกจริง จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความ
รับกันแล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันต่อไป และไม่ต้องกําหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท
แต่การที่จําเลยให้การว่าที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 5678 นั้น โจทก์และจําเลยได้ตกลงกัน โดยโจทก์ตกลงจะรับเงินไป 1 ล้านบาท และให้จําเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ทั้งหมด (เท่ากับจําเลย กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 5678 ได้มีการแบ่งแยกกันโดยชอบแล้ว) ดังนั้น จากคําฟ้องและคําให้การ ของจําเลย โดยโจทก์ฟ้องขอให้จําเลยแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ แต่จําเลยต่อสู้ในคําให้การว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ จําเลยแต่พียงผู้เดียว จึงเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างแต่อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ คําคู่ความ ประเด็นข้อพิพาทในกรณีนี้จึงมีประเด็นว่า ที่ดินแปลงเลขที่ 5678 นั้นเป็นการแบ่งมรดกโดยชอบ หรือไม่ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 และมาตรา 183
สรุป คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1. ที่ดินแปลงเลขที่ 1234 เป็นทรัพย์มรดกหรือไม่
2. ที่ดินแปลงเลขที่ 5678 เป็นการแบ่งมรดกโดยชอบหรือไม่
ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้
1. ที่ดินแปลงเลขที่ 1234 เป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ เมื่อทรัพย์สินที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ จําพวกที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียน ย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง อีกทั้งโฉนดที่ดินก็เป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ทําขึ้น ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง ดังนั้น เมื่อจําเลยมีชื่อเป็น
เจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดิน จําเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อโจทก์ กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น ภาระ การพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบจึงตกแก่โจทก์
2. ที่ดินแปลงเลขที่ 5678 เป็นการแบ่งมรดกโดยชอบหรือไม่ เมื่อจําเลยเป็นฝ่ายยกข้อต่อสู้ ขึ้นใหม่ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว จําเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ตามที่จําเลยกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์ หรือหน้าที่นําสืบจึงตกแก่จําเลย
สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท และภาระการพิสูจน์ ดังนี้
1. ที่ดินแปลงเลขที่ 1234 เป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายโจทก์
2. ที่ดินแปลงเลขที่ 5678 เป็นการแบ่งมรดกโดยชอบหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายจําเลย
ข้อ 2. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง นายปิติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.มานะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเพชร เป็นจําเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนฐานการกระทําละเมิดโดยการขับรถโดยประมาททําให้ ด.ช.มานะ อายุ 14 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในวันสืบพยาน ทนายโจทก์อ้างนายปิติโจทก์ ด.ช.มานะผู้ถูกกระทํา ละเมิด นายเพชรจําเลย และนายแพทย์วีระพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานฝ่ายโจทก์ หลังจาก สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น พยานโจทก์ทุกคนต่างลืมสาบานตนก่อนการเบิกความโดยที่ฝ่ายจําเลย ก็มิได้ทักท้วง หากศาลทําการสืบพยานจําเลยจนเสร็จสิ้นและนัดฟังคําพิพากษา ศาลจะรับฟัง คําเบิกความของพยานโจทก์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จง
วินิจฉัย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 95 วรรคหนึ่ง “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น
(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้
(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง…”
มาตรา 97 “คู่ความฝ่ายหนึ่งจะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตน หรือจะอ้างตนเองเป็นพยานก็ได้”
มาตรา 98 “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะอ้างบุคคลใดเป็นพยานของตนก็ได้ เมื่อบุคคลนั้นเป็น ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในศิลป วิทยาศาสตร์ การฝีมือ การค้า หรือการงานที่ทํา หรือในกฎหมายต่างประเทศ และ ซึ่งความเห็นของพยานอาจเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อความในประเด็น ทั้งนี้ไม่ว่าพยานจะเป็นผู้มีอาชีพ ในการนั้นหรือไม่”
มาตรา 112 “ก่อนเบิกความ พยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่
(1) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
(2) บุคคลที่มีอายุต่ํากว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ
(3) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา
(4) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปิติบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.มานะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเพชรเป็นจําเลยเรียกค่าสินไหมทดแทน ฐานกระทําละเมิดโดยการขับรถโดยประมาททําให้ ด.ช.มานะ อายุ 14 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส และในวันสืบพยาน ทนายโจทก์อ้างนายปิติโจทก์ ด.ช.มานะผู้ถูกกระทําละเมิด นายเพชร จําเลย และนายแพทย์วีระพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานฝ่ายโจทก์ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น พยานโจทก์ ทุกคนต่างลืมสาบานตนก่อนการเบิกความโดยที่ฝ่ายจําเลยก็มิได้ทักท้วงนั้น หากศาลทําการสืบพยานจําเลยเสร็จสิ้น และนัดฟังคําพิพากษา ศาลจะรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ได้หรือไม่นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้
การที่ทนายโจทก์อ้างโจทก์เป็นพยานและอ้างนายเพชรจําเลยเป็นพยานนั้น ย่อมสามารถทําได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 97 ส่วนการอ้าง ด.ช.มานะผู้ถูกระทําละเมิดเป็นพยานนั้นก็สามารถทําได้ แม้ ด.ช.มานะ จะมีอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ก็ตาม ก็สามารถเป็นพยานบุคคลได้ ถ้าสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และเป็นผู้ที่ ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 วรรคหนึ่ง และนายแพทย์วีระซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น โจทก์ย่อมสามารถอ้างเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 98
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นพยานโจทก์ทุกคนต่างลืมสาบานตนก่อน การเบิกความ แม้ฝ่ายจําเลยจะมิได้ทักท้วงก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ดังนั้น คําเบิกความของโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน รวมทั้งคําเบิกความของนายเพชรจําเลย และนายแพทย์วีระ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานนั้น จึงรับฟังไม่ได้ ส่วน ด.ช.มานะนั้น เป็นบุคคลที่มีอายุต่ํากว่า 15 ปี จึงได้รับ ยกเว้นไม่ต้องสาบานตนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 (2) ดังนั้น คําเบิกความของ ด.ช.มานะ จึงรับฟังได้
สรุป ศาลจะรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ได้เฉพาะคําเบิกความของ ด.ช.มานะเท่านั้น แต่จะรับฟังคําเบิกความของนายปิติ นายเพชร และนายแพทย์วีระไม่ได้
ข้อ 3. (ก) จงอธิบายกรณีกฎหมายกําหนดเรื่องการห้ามนําพยานบุคคลเข้าสืบแทนพยานเอกสารตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 มาโดยสังเขป
(ข) โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท ที่จําเลยรับเหมาก่อสร้างสระว่ายน้ํา แล้วทําให้บ้านทรุด ตามรายงานการตรวจบ้านจากวิศวกรตรวจบ้าน จําเลยให้การต่อสู้ว่า ตนรับเหมาก่อสร้างเพียงสระว่ายน้ําและได้ก่อสร้างอย่างมีมาตรฐานไม่มีผลต่อบ้านโจทก์ ที่ทรุด ในการนี้จําเลยขอนํานายชัชชาติวิศวกรโครงการรับเหมาก่อสร้างบ้านเข้านําสืบ ถึงเรื่องดังกล่าว ศาลจะสามารถรับฟังนายชัชชาติที่มาเป็นพยานให้กับฝ่ายจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
(ก) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ได้กําหนดเรื่องการห้ามนําพยานบุคคล เข้าสืบแทนพยานเอกสารไว้ดังนี้ คือ เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้ นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีกเว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ
1. กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้
โดยประการอื่น
2. พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม
3. พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน
4. สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์
5. คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก….”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท ที่จําเลย รับเหมาก่อสร้างสระว่ายน้ําแล้วทําให้บ้านทรุด ตามรายงานการตรวจบ้านจากวิศวกรตรวจบ้าน จําเลยให้การต่อสู้ว่า ตนรับเหมาก่อสร้างเพียงสระว่ายน้ํา และได้ก่อสร้างอย่างมีมาตรฐานไม่มีผลต่อบ้านโจทก์ที่ทรุด ในการนี้จําเลย ขอนํานายชัชชาติวิศวกรโครงการรับเหมาก่อสร้างบ้านเข้านําสืบถึงเรื่องดังกล่าวนั้น เมื่อสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้าน เป็นสัญญาจ้างทําของซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องนําพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้น เมื่อจําเลย ขอนําพยานบุคคลเข้ามาสืบเพื่อให้เห็นว่าจําเลยก่อสร้างสระว่ายน้ําไม่มีผลต่อบ้านที่ทรุด และก่อสร้างอย่างได้ มาตรฐาน จึงมิใช่การขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารแต่อย่างใด จําเลยจึงสามารถนํานายชัชชาติเข้าสืบได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง
สรุป ศาลสามารถรับฟังนายชัชชาติที่มาเป็นพยานให้กับฝ่ายจําเลยได้